WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน


กลยุทธ์การลงทุน
  แรงขายรับงบ 2Q60 ยังมีอยู่ และปัญหาความขัดแย้งในเกาหลีเหนือ หนุนให้เม็ดเงินไหลเข้าเก็งกำไรยังทองคำมากขึ้น ขณะที่เงินบาทชะลอการแข็งค่า หนุนหุ้นส่งออกในช่วง 3Q60 ยังชื่นชอบ HANA รวมถึงหุ้นหุ้นปันผลเฉพาะกาลเด่น (KKP, TCAP, LH) Top pick: MTLS(FV@B38) มีการเติบโตสูงตามสินเชื่อทะเบียนรถ

 

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย สลับขายรายตัวตามงบ 2Q60
  วานนี้ SET Index ค่อนข้างเงียบเหงา มูลค่าการซื้อขายหดลงเหลือ 3.32 หมื่นล้านบาทเท่านั้น โดยแม้ดัชนีดันขึ้นมาสู่แดนบวกในช่วงปิดตลาดได้สำเร็จ แต่เพิ่มเพียง 0.13 จุด กลุ่มที่ปรับขึ้นได้ดี คือ กลุ่มเกษตร-อาหาร อานิสงส์จากเงินบาทที่ชะลอการแข็งค่า นำโดย GFPT ปรับขึ้นแรงมากถึง 5.38% ตอบรับงบ 2Q60 ที่ดีกว่าคาด เพิ่มขึ้นถึง 16.4% qoq และ 29.7% yoy ตามมาด้วยกลุ่มรับเหมาฯ ปรับขึ้นเช่นกัน นำโดย STEC ปรับขึ้น 2.46% ตอบรับข่าวชนะการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ นครปฐม-หัวหิน สัญญา 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน โดยเสนอราคาต่ำสุดที่ 7,520 ล้านบาท จากราคากลาง 7,676 ล้านบาท ซึ่งการขึ้นแรงของ STEC ดีงให้หุ้นรับเหมาฯ รายใหญ่อื่นๆ ขึ้นตาม เช่น UNIQ ขึ้น 2.3% CK ขึ้น 0.93% และ ITD ขึ้น 0.52% สำหรับรายหุ้นที่ปรับขึ้นแรง คือ PACE เพิ่มขึ้น 11.88% เป็นการ rebound จากลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดฯ เป็นวันที่ 2 อย่าง INGRS ยังคงขึ้นต่อได้อีก 6.38%
  ส่วนกลุ่มที่ปรับลดลง คือ ICT นำโดย JMART ลดลงแรง 5.81% ตามด้วย SYNEX ลดลง 2.26% ตามแรง Sell on Fact หลังประกาศงบฯ 2Q60 เติบโต 86%yoy และ 1.6%qoq ขณะที่หุ้นที่ปรับลงแรง คือ AMANAH ลดลง 17.07% ตามด้วย GC ลดลง 14.73% GJS ลดลง 6.98% และ WICE ลดลง 6.67%


  สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้ คาดว่ามูลค่าการซื้อขายที่เบาบางอยู่แล้ว มีโอกาสที่จะน้อยลงอีกเนื่องจากมีวันหยุดยาวติดต่อกัน ประกอบกับยังมีประเด็นความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้ดัชนีน่าจะแกว่งในกรอบแคบๆ 1570-1576 จุด

ยังให้น้ำหนักต่อค่าเงินดอลลาร์ที่กลับข้าง เพราะเงินเฟ้อยังคงต่ำ
  วันนี้ตลาดให้น้ำหนัก การรายงานอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ เดือน ก.ค. ซึ่งตลาดคาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8%yoy จาก 1.6%yoy แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ Fed คาด หลังจากช่วงก่อนหน้าเงินเฟ้อชะลอ 4 เดือนติดคือ มิ.ย.อยู่ที่ 1.6%yoy จาก 1.9% เดือน พ.ค. จาก 2.2% เม.ย. จาก 2.6% สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต(PPI) ในเดือนเดียวกันชะลอตัวลงติดกันเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 1.9%yoy ทำให้เชื่อว่าโอกาสที่ Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้หรืออาจจะไม่ขึ้น แต่ไปขึ้นในปีหน้าอีก 3 ครั้ง สอดคล้องกับความเห็นของประธาน Fed แต่ละสาขาตลอดสัปดาห์นี้ส่วนใหญ่มองว่า Fed อาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ และสอดคล้องกับผลสำรวจโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Bloomberg ล่าสุด พบว่าเดือน ก.ย. พ.ย. อยู่ที่ 5.6% 8.3% และรอบ ธ.ค. โอกาสขึ้นมากที่สุดราว 42.2% หนุน ดอลล่าร์ฟื้นตัวช่วงสั้น


  ขณะที่ไทยสัปดาห์หน้า 16 ส.ค.ประชุม กนง. คาดยังคงดอกเบี้ยฯที่ 1.5% ตามเดิมตั้งแต่เม.ย.2558 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อไทยยังต่ำ ล่าสุด 0.17%yoy และผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้น่าจะยืนไปจนถึงปีหน้า อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่เริ่มชะลอการแข็งค่า ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการส่งออก(X)ของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ดีขึ้น โดยยอดส่งออก(X) เฉลี่ย ม.ค.-มิ.ย.เติบโตสูง 7.9%yoy ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทำให้หลายสถาบันเศรษฐกิจมีมุมมองเชิงบวกต่อการส่งออกของไทยทั้งปีนี้ดีขึ้น สะท้อนจากล่าสุดหลายสำนัก ประเมินการส่งออกปี 2560 จะเติบโตได้มากกว่าเดิมที่คาดราว 5%yoy (ASPS คาด 2%yoyและมีโอกาสปรับเป็น 5%) โดยสินค้าส่งออกที่โดดเด่น อาหารและอุตสาหกรรมอาหาร และหมวดยางพารา เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับงวด 3Q60 เป็นช่วง Peak การส่งออก ทำให้แนะนำซื้อหุ้นส่งออกยังมีโอกาส outperform และยังมี Upside ชื่นชอบ CPF และ HANA

ภาพรวมตลาดหุ้นในภูมิภาคยังคงถูกกดดันจาก Fund Flow ที่ไหลออก


  วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่า 96 ล้านเหรียญ โดยเป็นการขายสุทธิอยู่ 2 ประเทศเกาหลีใต้และอินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 178 ล้านเหรียญ และ 5 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่ง ต่างชาติซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 62 ล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ 3 ล้านเหรียญ และไทย 20 ล้านเหรียญ หรือ 678 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 435 ล้านบาท


  อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดหุ้นในภูมิภาคยังขาดแรงหนุนจาก Fund Flow แม้จะมีแรงซื้อสลับเข้ามาบ้างในบางประเทศ แต่ในเดือน ส.ค. 60 นี้ (8 วันทำการที่ผ่านมา) ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคไปแล้วกว่า 1,295 ล้านเหรียญ (mtd) ซึ่งใกล้เคียงกับยอดขายทั้งเดือน ก.ค. ที่เป็นเดือนที่มียอดขายมากสุดตั้งแต่ต้นปี 60 กว่า 1,318 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทย แม้ล่าสุดจะมีแรงซื้อจากต่างชาติกลับเข้ามา 2 วัน แต่แรงขายก่อนหน้านี้กดดันให้ยอดซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันที่เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1.86 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 18 ก.ค. 60 ปรับตัวลดลงมาอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันเหลือเพียง 630 ล้านบาทเท่านั้น (ytd) (รายละเอียดการซื้อขายตลาดหุ้นในประเทศอื่นๆ ดังตารางทางด้านล่าง)

 

แรงขายรับงบยังมีอยู่ แต่ให้สะสมรายหุ้น MTLS
  บริษัทจดทะเบียนยังทยอยประกาศงบฯ 2Q60 อย่างต่อเนื่อง จากที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมจนถึงช่วงค่ำวานนี้ มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 213 บริษัท คิดเป็น 55% ของ Market Cap ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1.32 แสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบกันเฉพาะบริษัทที่รายงานงบฯ พบว่าลดลง 18.7% จากงวด 2Q59 (yoy) และลดลง 22.3% จากงวด 1Q60 (qoq) แต่ถ้าไม่รวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่า ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 8.13 หมื่นล้านบาท ลดลง 16.3%yoy และลดลง 26.4%qoq


  เบื้องต้นประเมินว่ากำไรตลาดฯ 2Q60 นี้ น่าจะเกินกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับ 1Q60 ที่ทำกำไรสุทธิรวมกัน 2.85 แสนล้านบาท จึงยังน่ายังคงประมาณการกำไรปีนี้ที่ 9.9 แสนล้านบาท แม้จะมีการปรับลดสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากเดิม 35 บาท เหลือ 34 บาทต่อเหรียญ ซึ่งทำให้มีการปรับกำไรกลุ่มเกษตร-อาหารและ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลงเฉลี่ย 5% จากประมาณการเดิม แต่กำไรทั้ง 2 กลุ่มมีสัดส่วนน้อยราว 4% ของกำไรทั้งตลาด คาดว่าผลกระทบต่อ EPS ตลาด ไม่มากนัก กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้แนะนำหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง (KKP, TCAP, LH) หุ้นส่งออกที่แนวโน้มสดใสในงวด 3Q60 (HANA) หุ้นที่มีการเติบโตเด่น (COM7, BEAUTY, MTLS) หุ้นอิงการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก (PTTGC, IVL, IRPIC) และ หุ้น ธนาคารพาณิชย์ที่ราคาหุ้นลงลึกมากเกินไป จากความกังวลปัญหาหนี้เสียที่มีโอกาสเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับ EARTH (SCB, BBL) เป็นต้น


  GFPT ([email protected]) รายงานงบงวด 2Q60 ยังเติบ 16.4% ดีกว่าคาด 5% gross margin ดีกว่าคาด เพราะต้นทุนวัตถุดิบยังทรงตัวต่ำ และราคาขายผลิตภัณฑ์ไก่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น จากตลาดส่งออกหลัก ๆ โดยเฉพาะ ญี่ปุน ทั้ง 2 ปัจจัยช่วยหักล้างค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ทั้งหมด แต่เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าคาดจากต้นปีจนปัจจุบันทำให้มีการปรับสมมติฐานเงินบาทลงจากเดิม 35 บาท ลง เหลือ 34 บาทในปี 2560 และ 2561 แต่เนื่องจากมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในงวด 2Q60 จากการทำการป้องกันความเสี่ยง ทำให้ประมาณการกำไรปี 2560 ลดลงเล็กน้อยเพียง 1.6% และ ประมาณการใหม่พบว่ากำไรสุทธิยังเติบโต 15.8% ในปีนี้ และ 7.0% ปี 2561 และ Fair Value ใหม่ลดลงเหลือ 20.95 บาท จากเดิม 21.0 บาท (อิง PBV 1.5 เท่า ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่า PER เพียง 12 เท่า) จึงยังแนะนำ ซื้อ ตามด้วย CPF ปรับเพิ่มขึ้นโดดเด่น 3.85% BR เพิ่มขึ้น 3.62%
  เมื่อเทียบกับราคาตลาดพบว่ามี upside เหลือน้อย จึงแนะนำอ่อนตัว หรือ switch ไปซื้อ CPF ที่มี upside มากกว่า

MTLS น่าจะโดดเด่นสุดในกลุ่มสินเชื่อทะเบียนรถยนต์
  MTLS (FV@B38) ราคาย่อตัว น่าจะเป็นโอกาสสะสม เพราะคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคล ตามเกณฑ์ใหม่ ในการกำกับ ดูแล การปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. นี้ (จะใช้กับลูกค้าใหม่ ไม่มีผลย้อนหลังกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อไปก่อนหน้านี้) ผลกระทบดอกเบี้ยรับจะหายไปทันที จากที่เคยกำหนดเพดาน 20% เหลือ 18% ของยอดคงค้าง รวมทั้งเม็ดเงินสินเชื่อที่ลดลงจากการจำกัดวงเงินการปล่อยสินเชื่อเป็นขั้นบันไดตามรายได้ ซึ่งกระทบต่อหุ้นในกลุ่ม non-bank ตรง ๆ คือ KTC และ AEONTS (ได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากการดำเนินธุรกิจปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 2 เท่าของเงินเดือนอยู่แล้ว แต่ผลกระทบน่าจะมีผลต่อการเติบโตในระยะยาว) แต่ราคาหุ้นน่าจะสะท้อนประเด็นดังกล่าวแล้ว
  ในทางกลับกัน ผู้ประกอบธุรกิจการปล่อยสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกัน น่าจะได้ประโยชน์ตรงนี้ ทั้ง SAWAD และ MTLS อย่างไรก็ตาม SAWAD ขณะที่ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการควบรวมกิจการกับ BFIT ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นในช่วง 4Q60 ทำให้มีโอกาสที่จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. จึงต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ ขณะที่ MTLS (FV@B38) แม้ port สินเชื่อจะประกอบด้วยสินเชื่อบุคคล (5%) และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท.) แต่ก็มีสัดส่วนราว 2% เท่านั้น ที่เหลือเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันทะเบียนรถยนต์, รถจักรยานยนต์,รถเพื่อการเกษตร และโฉนดที่ดิน ซึ่ง ฝ่ายวิจัยประเมินถึงการเติบโตของสินเชื่อสุทธิปี 2560-61 สูงถึง 60% yoy และ 39.8% yoy รวมทั้ง spread ปี 2560-61 คาดว่าจะอยู่ที่ 20.00% และ 19.30% โดยรวมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560-61 เติบโตอย่างมีนัยฯ ถึง 50.6% yoy และ 55.8% yoy อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันปรับฐานลงมาจนเริ่มมี upside จุงแนะนำ ซื้อลงทุนระยะยาว

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!