- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 07 August 2017 16:54
- Hits: 1221
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
Dollar ฟื้นตัว หลังตลาดแรงงานสหรัฐดีกว่าคาด ขณะที่เงินบาทชะลอการแข็งค่า หนุนหุ้นส่งออก ฟื้นตัวช่วงสั้น หลังราคาหุ้นสะท้อนเงินบาทที่แข็งเกินไป และเตรียมปรับลดสมมติฐาน FX จาก 35 บาท เหลือ 34 บาท ถือว่าสะท้อนในราคาหุ้นแล้ว วันนี้เลือก HANA(FV@B53) เป็น Top pick ผลกำไรยังโดดเด่นต่อเนื่องในปีนี้กว่า 24% แม้หลังปรับลด FX และราคาหุ้นมี upside 22% ขณะที่ยังนำแนะให้สะสมหุ้นปันผลเฉพาะกาลเด่น (KKP, TCAP, LH)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย… หุ้น ธ.พ. ยังกดดันตลาดฯ
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index แทบไม่เปลี่ยนแปลง ปิดบวกไป 0.01 จุด มูลค่าการซื้อขาย 3.46 หมื่นล้านบาท หุ้นกลุ่ม Market Cap ใหญ่พักตัว ส่วนกลุ่มที่ปรับขึ้นโดดเด่น คือ กลุ่มขนส่ง ดันตลาดฯ มากสุด 1.1273 จุด โดยเฉพาะหุ้นเดินเรือและโลจิสติกส์ นำโดย RCL เพิ่มขึ้น 4.55% ตามด้วย JUTHA เพิ่มขึ้น 3.17% WICE เพิ่มขึ้น 2.74% PSL เพิ่มขึ้น 2.06% และ TTA เพิ่มขึ้น 1.74% ส่วน AOT เพิ่มขึ้น 1.18% ราคาหุ้นขึ้นทำ new high ต่อเนื่อง
อีกกลุ่มที่ปรับขึ้น คือ กลุ่มพลังงาน โดยหุ้นโรงกลั่นยังโดดเด่น นำโดย ESSO ปรับขึ้นแรงมากถึง 11.92% เนื่องจากค่อนข้าง laggard เมื่อเทียบกับหุ้นโรงกลั่นอื่นๆ ขณะที่ TOP, SUSCO, BCP ยังคงปรับขึ้นได้ 2.35%, 1.69%, 1.39% ตามลำดับ
ตามด้วย กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ นำโดย STANLY ราคาขึ้นแรง 2.33% ตามด้วย IHL เพิ่มขึ้น 0.93%
สำหรับหุ้นอื่นๆ ที่ปรับขึ้นแรง คือ AMARIN เพิ่มขึ้น 21.05% ปิดที่ 6.90 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาปิดวันที่ 30 มิ.ย. ก่อนที่ราคาหุ้นจะถูกเทขายลดลงอย่างต่อเนื่อง 7 วันทำการ จากประเด็นการเพิ่มทุนกว่า 840 ล้านหุ้นแบบ RO อัตราส่วน 1 : 2 ที่ 4.25 บาทต่อหุ้น ตามด้วย ASIAN เพิ่มขึ้น 8.13% จากแรงเก็งกำไรงบฯ 2Q60 ที่น่าจะออกมาเติบโตดีกว่า 2Q59
ตรงข้าม กลุ่มที่ปรับลดลง คือ กลุ่ม ธ.พ. กดดันดัชนีไป 1.8530 จุด โดย TMB ลงไปหนักสุด 2.52% ตามด้วย BBL, SCB และ KTB ลดลง 1.65%, 1.38% และ 1.11% ตามลำดับ
กลุ่มรับเหมาฯ เป็นคราวของหุ้นขนาดเล็กที่ถูกขาย โดย PLE ลดลง 4.35% หลังจากวันก่อนหน้าปรับขึ้นไปแรง ตามด้วย NWR ลดลง 3.42% ส่วนหุ้นรับเหมาฯ ขนาดใหญ่ เริ่มชะลอการปรับลดลง
โดยภาพรวม SET Index แทบไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้มุมมองยังไม่เปลี่ยนเช่นกัน คือ แนวต้าน 1585 จุด ยังเป็นแนวต้านสำคัญ ส่วนแนวรับยังอยู่ที่เดิมที่ 1570 จุด
Dollar ฟื้นตัวช่วงสั้น ดัชนีชี้นำดีกว่าคาด กดดันบาทอ่อนค่า
ล่าสุดสหรัฐการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจฟื้นตัวกว่าคาด โดยเฉพาะตลาดแรงงาน พบว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 2.09 แสนราย มากกว่าตลาดคาดที่ 1.83 แสนราย หนุนให้อัตราการว่างงานในเดือนเดียวกันลดลงกลับมาที่ 4.3% (ระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี และถือว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มที่ (Full employment) หนุนให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นในช่วงสั้นราว 0.84% ในวันเดียวกัน หลังจากที่อ่อนค่าราว 8.58% ตั้งแต่ต้นปี แต่อย่างไรก็ตามดอลลาร์จะแข็งค่าต่อเนื่องได้หรือไม่ ขึ้นกับความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะต้องขึ้นกับการประกาศเงินเฟ้อสหรัฐ เดือน ก.ค. ในวันศุกร์นี้ 11 ส.ค. ตลาดคาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8%yoy จาก 1.6%yoy (ตามราคาน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. ที่ฟื้นตัวราว 3.5%mom หรือ 6.1%mtd)
เป็นที่สังเกตว่าเงินเฟ้อสหรัฐยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ Fed คาดที่ 2% หลังจากช่วงก่อนหน้าเงินเฟ้อชะลอ 4 เดือนติด คือ มิ.ย.อยู่ที่ 1.6%yoy จาก 1.9% เดือน พ.ค. จาก 2.2% เม.ย. เทียบกับอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ 1.25% ทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อแคบลง ซึ่งเชื่อว่าโอกาสที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ลดลงน้อยลง สอดคล้องกับผลสำรวจโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ Bloomberg คาดว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือยังเทไปที่ปลายปี หรือรอบ ธ.ค. แต่ถือว่าโอกาสยังต่ำอยู่ราว 40.2% และ รอบ ก.ย และ พ.ย. มีโอกาสราว 5.6% และ 10.3%
และสัปดาห์นี้ปัจจัยต่างประเทศที่ตลาดให้น้ำหนักคือ 7-8 ส.ค. 60 การประชุมฉุกเฉินเพิ่มเติมของผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่ม OPEC และนอก Non-OPEC ณ เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตลอดทั้งสัปดาห์จะมีการแถลงสุนทรพจน์ของประธาน Fed แต่ละเขตซึ่งบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ
หุ้นส่งออกเริ่มน่าสนใจ หากเงินบาทเริ่ม U-Turn (ทรงตัว-อ่อนค่า): HANA เด่นสุด
การที่ดอลลาร์มีโอกาสกลับทิศแข็งค่าขึ้นดังกล่าว สวนทางกับเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงในเชิงเปรียบเทียบ โดยปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.27 บาทต่อเหรียญ และค่าเงินบาทเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2560 อยู่ที่ 34.60 บาทต่อเหรียญ และหากประเมินว่าหากค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2560 จะทรงตัวใกล้เคียงปัจจุบันที่ระดับ 33.30 บาทต่อเหรียญ ทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2560 จะอยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญ แข็งค่ากว่าสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 2560 ที่ ASPS กำหนดไว้ที่ 35 บาทต่อเหรียญ จึงเตรียมปรับสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 2560-61 เหลือ 34 บาทต่อเหรียญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประมาณการฯ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีฐานรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์เป็นหลัก อีกทั้งหุ้นในกลุ่มฯ นี้ บางบริษัท (DELTA, KCE) ฝ่ายวิจัยแนะนำ sell มาก่อนหน้านี้แล้ว
ยกเว้น HANA ที่ยังแนะนำ ซื้อ เนื่องจากแนวโน้มผลการดำเนินงานของ HANA (ที่มีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 100% และมีต้นทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯราว 60% ของรายได้รวม) หลังการปรับสมมติฐานเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท แม้จะทำให้กำไรสุทธิปี 2560 ของ HANA ลดลง 6% และ FV ลดลง 6.6% จากเดิม โดยภายหลังปรับปรุงประมาณการ คาดกำไรสุทธิปี 2560 จะยังเติบโตถึง 32% yoy และจะทรงตัวสูงต่อเนื่องในปี 2561 ส่วนแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงาน (ตัดรายการพิเศษออก)ปี 2560-61 จะยังเติบโตถึง 24% yoy และ 9% yoy โดย Fair Value ภายหลังปรับปรุงประมาณการจะเท่ากับ 53 บาท ยังมี upside จากราคาปัจจุบันถึง 22% โดยประเมินว่าราคาหุ้นได้สะท้อนค่าเงินบาทที่แข็งค่าไปมากแล้ว เลือกเป็น Top pick
ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคถึง 9 ใน 10 วันที่ผ่านมา
วันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่า 301 ล้านเหรียญ สะท้อนจาก ช่วง 10 วันที่ผ่านมา มียอดซื้อสุทธิเพียงวันเดียวเท่านั้น และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวที่ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อย 3.6 แสนเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติยังขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 174 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยไต้หวัน 85 ล้านเหรียญ, อินโดนีเซีย 14 ล้านเหรียญ และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 28 ล้านเหรียญ หรือ 936 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 8 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 1.68 หมื่นล้านบาท) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 1.11 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน)
ตรงข้ามกับทางด้านตราสารหนี้ ที่ทั้งสถาบันในประเทศและต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ 8.75 พันล้านบาท และ 2.68 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยต่างชาติซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 6 และมีมูลค่ารวม 3.89 หมื่นล้านบาท จนทำให้ยอดซื้อสุทธิในปี 2560 (ytd) ขึ้นทำจุดสูงสุดกว่า 1.79 แสนล้านบาท และกดดันให้ Bond Yield 10 ปี สร้างจุดต่ำสุดของปีที่ 2.458%
ยังมี sell on fact งบงวด 2Q60
จนถึงบ่ายวันศุกร์ มีบริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศผลประกอบการ 2Q60 แล้วราว 29% ของ Market Cap ทั้งตลาด มีกำไรสุทธิรวม 8.35 หมื่นล้านบาท และหากเปรียบเทียบเฉพาะบริษัทที่ประกาศแล้ว พบว่ากำไรฯ ลดลง 8.3%yoy และ 16.1%qoq โดยเป็นการลดลงของกลุ่ม ธ.พ. (-9.2%yoy และ -12.1%qoq) และกลุ่ม FIN (-44.9%yoy และ -59.8%qoq) ส่วน Real Sector ดีขึ้น (+40%yoy, -9.8%qoq)
สำหรับสัปดาห์นี้ คาดว่าจะทยอยประกาศของบริษัทที่เหลือเกือบทั้งหมด เริ่มจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ลิสซิ่ง และพลังงาน เป็นต้น จึงคาดว่าน่าจะยังมีแรงขายรับงบ 2Q60 หากงบประกาศออกมาแล้วใกล้เคียงกับประมาณการที่นักวิเคราะห์ได้ทำไว้ล่วงหน้า แต่หากทำได้มากประมาณการเดิม และผลักดันให้นักวิเคราะห์ ASPS มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการ คาดว่าน่าจะผลักดันให้หุ้นมีโอกาสขยับขึ้น เช่น MTLS นักวิเคราะห์ ASPS ประเมินไว้ว่ากำไรงวด 2Q60 เท่ากับ 543 ล้านบาท เติบโต 1.3% qoq และ 80.8% yoy หนุนด้วยการขยายตัวเชิงรุกของสินเชื่อตามสาขาที่ขยายตัว แม้ spread อ่อนตัวบ้าง จากการออกหุ้นกู้ระยะยาว แต่ยังอยู่ในระดับปกติ ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ยังสามารถควบคุมได้ดี
โดยสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์ยังเป็นตัวแปรหลักในปี 2560 ด้วยเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่ต่ำกว่า 50% yoy หนุนด้วยเครือข่ายสาขาที่ขยายตัวต่อเนื่อง และโครงการรัฐที่จะชัดเจนมากขึ้นในช่วง 2H60
ขณะที่แนวโน้มการการกำไรงวด 3Q60 ขึ้นทำ new high ต่อเนื่อง ด้วยแรงส่งหลักจากการเติบโตของสินเชื่อทะเบียนรถ และสินเชื่อโฉนดที่ดิน ซึ่งจะช่วยหักล้างผลกระทบจากแนวโน้มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ยังเดินหน้าปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2560 และ 2561 ขึ้นจากเดิมหลังประกาศงบ 2Q60 ในช่วงกลางเดือนนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะปรับเพิ่ม Fair value ปี 2560 ขึ้นจากเดิมราว 5 บาท เป็น 40 บาท แต่ราคาหุ้นมี upside จำกัด จึงแนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
ตามด้วย SYNTEC(FV@B6) แม้ช่วงไตรมาส 2 จะมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง แต่การรับรู้รายได้จาก Backlog ที่มีมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เชื่อว่า SYNTEC จะรักษาฐานรายได้ก่อสร้างระดับ 2 พันล้านบาทไว้ได้ โดยการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ บวกกับงานก่อสร้างหลายโครงการเช่น Marque สุขุมวิท, The Bangkok Sathorn,ศุภาลัย เวลลิงตัน ทยอยจบลง โดยมีค่าใช้จ่ายในการเก็บงานช่วงท้ายต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้ gross margin ไตรมาสนี้ ยังทำได้สูงถึง 18% จึงประเมินกำไรสุทธิที่ 207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%YoY และคาดว่า SYNTEC จะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.05 บาท มากกว่างวด 1H59 ที่จ่าย 0.04 บาท ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายบน PER ต่ำเพียง 10 เท่า ฝ่ายวิจัยประเมิน FV อิง PER 12 เท่า ใกล้เคียงกับหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของ SYNTEC จะให้ราคาเหมาะสม 6.00 บาท มี Upside อีก 20%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636