WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
  ดัชนียังแกว่งตัว และสลับหมุนเวียนรายกลุ่มก่อนการประกาศงบ 2Q60 วันนี้อาจเห็นแรงขายทำกำไรระยะสั้น IRPC แม้กำไรงวดนี้เป็นไปตามคาด และแนวโน้มจะดีขึ้นในงวด 2H60 ขณะที่ราคาปิโตรเลี่ยมยังฟื้นตัวต่อ และหนุนหุ้นพลังงาน กลยุทธ์ยังให้สะสมหุ้นปันผลระหว่างกาลเด่น (KKP, TCAP, LH) Top picks ยังเลือก COM7([email protected]) และ BANPU (FV@B24)

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย…หุ้นโรงพยาบาล และ ICT หนุนตลาด
  วานนี้ SET Index ถูกแรงเทขายกดดันช่วงท้ายตลาด ปิดปรับตัวลดลง 2.29 จุด มูลค่าการซื้อขายเพียง 3.85 หมื่นล้านบาท กลุ่มนำตลาดคือ โรงพยาบาล นำโดย BH ปรับขึ้น 4.14% โดยปรับเป็นวันที่ 4 ตามด้วย VIBHA ปรับขึ้น 3.76% (วันนี้ VIBHA-W3 จะเข้าซื้อ-ขายเป็นวันแรก) ส่วน CHG และ BCH ปรับขึ้น 2.29% และ 2.13% ตามลำดับ ตามด้วย ICT หนุน นำโดย JMART ปรับขึ้นถึง 4.05% ตามด้วย THCOM เพิ่มขึ้น 2.50% ADVANC ปรับขึ้น 1.90% และ INTUCH ปรับขึ้น 1.28%และชิ้นส่วนยานยนต์ นำโดย AH ขึ้นแรง 6.93% แม้ผลการดำเนินงานงวด 2Q60 คาดจะอ่อนตัว QoQ จากช่วงวันหยุดยาวในเดือน เม.ย. แต่เติบโตอีกครั้งช่วง 2H60 จากจำนวนวันผลิตที่มากกว่า 1H60 บวกกับอานิสงส์ สิ้นสุดโครงการรถคันแรก และยังคาดหวังส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วม หนุนกำไรปกติปีนี้โต 51%
  ส่วนรายหุ้นที่ปรับขึ้นได้มากสุดวานนี้ คือ PLE ราคาขยับขึ้นมาถึง 13.11% ตอบรับประเด็นข่าวชนะการประมูลงานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 มูลค่า 16,000 ล้านบาท
  ตรงข้ามกับกลุ่มที่ปรับลดลง เริ่มจาก กลุ่มพลังงาน กดดันตลาดฯ มากสุด แต่กระจุกตัวในหุ้นพลังงานทางเลือกคือ SUPER ลดลง 4.51% ตามด้วย EGCO, SGP และ BPP ลดลง 2.22%, 1.94% และ 1.85% ตามลำดับ ตามด้วยกลุ่มค้าปลีก โดย BJC ลดลงถึง 3.78% GLOBAL ลดลง 2.21% และ HMPRO ลดลง 2% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้รับแรงกดดันจาก SCCC ราคาหุ้นลงแรงถึง 2.25% หลังจากประกาศงบ 2Q60 ต่ำกว่าคาดมาก จนนำไปสู่การปรับประมาณการ อีกหุ้นที่ลงหนัก คือ TASCO ลดลง 1.75% และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง STEC ลดลงถึง 5% ตามด้วย SEAFCO ลดลง 4.70% PYLON และ UNIQ ลดลง 2.78% เท่ากัน ITD ลดลง 2.01% และ CK ลดลง 1.82%
โดยภาพรวม ยังประเมิน SET Index เคลื่อนไหวแกว่งตัวเหมือนเดิม ตลาดยังมีแรงขายรับงบ 2Q60 และการทยอยขึ้น XD ของหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ แต่การพักฐานไม่น่าจะลึกมาก เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจประเทศยังแข็งแกร่ง คาดดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1570–1585 จุด

 

BOE มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า เช่นเดียวกับ ECB ยังดึงเงินไหลเข้ายุโรป
  ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(BoE) วานนี้เป็นไปตามที่คาด คือ ยังคงอัตราดอกเบี้ยฯ 0.25% แต่เป็นที่สังเกตว่าการประชุมรอบนี้ มีคณะกรรมการ 2 ใน 8 เห็นว่าควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (ลดลงจาก 3 คนใน 8 คนจากรอบที่แล้ว) เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว อาทิ PMI ภาคการก่อสร้าง เดือน ก.ค. ลดลง 2 เดือนและต่ำสุดในรอบ 11 เดือน และเงินเฟ้อเริ่มอ่อนตัวแต่ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยฯ ล่าสุด 2.6%yoy จาก 2.9%ในเดือน พ.ค.
  ด้วยเหตุนี้ทำให้ BoE ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2560-2561 เหลือ 2.58%yoy และ 2.19% จากเดิมคาดที่ 2.64% และ 2.20% ตามลำดับ และปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ปี 2560-2561 เหลือ 1.7%yoyและ 1.6%yoy จากเดิมคาดที่ 1.9% และ 1.6% ตามลำดับ ทำให้ความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะล่าช้าออกไป และกดดันให้เงินปอนด์เทียบดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าระยะสั้น 0.1% แต่เชื่อว่าระยะยาวยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ


  เช่นเดียวกับยุโรป มีโอกาสใช้นโยบายการเงินตึงตัว ผ่านการลด QE หรือขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนจากการประชุมรอบที่ผ่านมา ECB ส่งสัญญาณอาจปรับการใช้นโยบายการเงินตึงตัวเร็วขึ้น หลังจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวชัดเจน ล่าสุด ฝั่งภาคการบริโภค คือ ยอดค้าปลีก(retail sales) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 3.1%yoy สวนทางกับตลาดคาดจะขยายตัวลดลง 2.5%yoy (เพิ่มขึ้น 2 เดือนติด) และตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง คือ อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.1%(ต่ำสุดในรอบ 9 ปี) จาก 9.2% ในเดือน มิ.ย. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวที่ 1.3%yoy VS. ดอกเบี้ยฯ 0% ทำให้คาดว่ายุโรปมีโอกาสจะปรับขึ้นในปีหน้าแต่ค่อยเป็นค่อยไป
  ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องราว 9.3% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นต่อประธานาธิบดีทรัมป์ และ Fed ที่ส่งสัญญาณยังไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ โดยคาดว่าน่าจะไปขึ้นในปีหน้า 3 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปี 2560 อยู่ที่ 1.25% และ 2% ในปี 2561 สถานการณ์เช่นนี้เชื่อว่า กระแส Fund flow จะไหลจากสหรัฐ เนื่องจากตลาดหุ้นค่อนข้างแพง สะท้อนจาก PER ตลาดสหรัฐสูงสุดในกลุ่ม 18.9 เท่า และประเทศในแถบเอเซียซึ่งยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และน่าจะไหลไปสู่ยุโรปที่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน และตลาดหุ้นยังถูกกว่า มี PER เพียง 15.9 เท่า

 

การประมูลโครงข่ายโทรคมนาคมเดินหน้า บวกต่อผู้ให้บริการรายเล็ก ITEL, AIT
  ความคืบหน้าการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการลงทุนโครงข่ายโทรคมนาคมในแถบชายขอบ น่าจะเป็น Sentiment บวกต่อผู้ให้บริการรายเล็ก ๆ ทั้งนี้เมื่อ ก.พ. 2560 TOT ได้มีการเปิดประมูลโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านจำนวน 24,700 แห่ง (และได้ผู้ชนะประมูลที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดฯ คือ AIT, SVOA และ FORTH)
  ล่าสุดมีการเปิดประมูล โครงการอินเตอร์เนตชายขอบอีก 3,920 หมู่บ้าน มูลค่าราว 1.29 หมื่นล้านบาท (กำหนดให้สร้างโครงข่ายและให้บริการหลังจากนั้น โดย กสทช. จะเหมาจ่ายผลตอบแทนตามสัญญา) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.โครงข่ายอินเตอร์เนตมีสาย และ 2. โครงข่ายอินเตอร์เนตไร้สาย แต่ละส่วนแบ่งประมูลเป็น 4 สัญญา ตามพื้นที่ให้บริการ คือ ภาคเหนือตอนบน, ภาคเหนือตอนล่าง, ภาคอีสาน และ ภาคกลาง+ใต้ รวมทั้งสิ้น 8 สัญญา ประมูลเสร็จสิ้นไปแล้วทั้งหมดในวันที่ 1-2 ส.ค. โดยมีหลายผู้ประกอบการร่วมประมูล อาทิ ADVANC,TRUE, TOT, CAT และ ITEL


  ทั้งนี้กสทช. ได้เปิดเผยผู้ชนะในกลุ่มแรก TRUE ชนะสัญญาภาคเหนือตอนบน, TOT ชนะสัญญาภาคเหนือตอนล่าง, ADVANC ชนะภาคอีสาน และ ITEL ชนะสัญญาภาคกลาง+ใต้ อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะประมูลในกลุ่มผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง ADVANC และ TRUE อาจจะมีผลต่อ กำไรไม่มากจากฐานเดิมที่ใหญ่ แต่น่าจะเป็นบวกต่อผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง
  ส่วน AIT และ SAMTEL แม้ไม่ได้เข้าร่วมประมูลโดยตรง เพราะติดข้อจำกัดที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบที่ 3 (เพื่อให้บริการหลังจากติดตั้งโครงชาย) แต่เชื่อว่ามีโอกาสได้รับงานต่อจากรัฐวิสาหกิจ อาทิ CAT และ TOT โดย CAT เตรียมเปิดประมูลแผนขยายอินเตอร์เนตเกตเวย์และเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ ภายใต้งบประมาณ 5.0 พันล้านบาท ซึ่ง ครม. อนุมัติวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปีนี้ จึงน่าจะเป็นประเด็นหนุนผู้รับเหมางานวางระบบ ICT ภาครัฐฯต่อเนื่อง
  นอกจากนี้ คาดว่าปริมาณงานภาครัฐที่ทยอยออกมา น่าจะลดความร้อนแรงในการแข่งขัน น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกำไรระยะถัดไป

 

IRPC รายงานงบ 2Q60 เป็นไปตามคาด และมีแนวโน้มดีขึ้นใน 2H60
  วานนี้มีการรายงานงบฯ 2Q60 เพิ่มเติมออกมา คือ IRPC ([email protected]) รายงานกำไรสุทธิ 2Q60 ออกมาตามคาด ลดลง 48%qoq โดยกำไรสุทธิที่ลดลงเป็นผลมาจากการบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมันและ hedging (เทียบกับงวดก่อนหน้าที่บันทึกเป็นกำไรฯ) นอกจากนี้ กำไรจาก Fx ลดลงอย่างมีนัยฯ เทียบกับงวดก่อนหน้า แต่หากพิจารณาเฉพาะกำไรปกติพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 280%qoq จากการกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังหลังจาก shutdown ไปใน 1Q60 แต่ Market GIM ลดลง 13.4%qoq จาก spread ปิโตรเคมีที่ลดลง โดยรวม แม้กำไรสุทธิงวด 1H60 คิดเป็น 39.1% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2560 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ แต่ก็เชื่อว่า แนวโน้มกำไร 2H60 จะดีกว่า 1H60 แรงหนุนมาจากอัตราการเดินเครื่องผลิตที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ของส่วนขยายกำลังการผลิต หนุนปริมาณขายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ IRPC ยังมีแผนลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในการปรับปรุงประสิทธิการดำเนินงานของโรงกลั่นเพื่อต่อยอดกำไรต่อจาก UHV ฝ่ายวิจัยจึงยังคงประมาณการปีนี้ นอกจากนี้ยังคาดหวังได้กับ upside ส่วนเพิ่มจากการรับรู้เงินชดเชยค่าเสียหายจากประกันภัยกรณีโครงการ UHV และแผนที่จะขายที่ดินภายในปี 2560 ซึ่งทั้งเงินชดเชยเคลมประกัน และกำไรจากการขายที่ดินฝ่ายวิจัยยังไม่รวมไว้ในประมาณการ
  แม้ว่าราคาหุ้นวันนี้อาจถูกแรงขายรับงบฯ แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ยังแข็งแกร่ง อีกทั้งยังให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 4.4% ต่อปี รวมถึง PER ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ จึงเป็นโอกาสดีในการซื้อลงทุนระยะยาวเมื่อราคาย่อตัวลงมา

กระแส Fund Flow สลับจากหุ้นไปเข้าตราสารหนี้ชัดเจนขึ้น


  วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 705 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวที่ถูกซื้อสุทธิ 2.7 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติยังขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 409 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยไต้หวัน 200 ล้านเหรียญ, อินโดนีเซีย 23 ล้านเหรียญ และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีกกว่า 76 ล้านเหรียญ หรือ 2.5 พันล้านบาท ตรงข้ามกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 1.8 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
  และหากย้อนกลับไปดูในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า กระแส Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และมียอดขายสุทธิหนาแน่นกว่า 2.65 พันล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ถูกขายสะสมสุทธิสูงสุดถึง 1.87 พันล้านเหรียญ ส่วนไทยถูกขายสะสมกว่า 469 ล้านเหรียญ หรือ 1.56 หมื่นล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันมาแล้วกว่า 7)


สวนทางกับทางด้านตราสารหนี้ที่ต่างชาติคงซื้อสุทธิต่อเนื่องกว่า 2.20 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 โดยมูลค่ารวม 3.62 หมื่นล้านบาท) จนทำให้ยอดซื้อสุทธิในปี 2560 นี้ขึ้นทำจุดสูงสุดกว่า 1.76 แสนล้านบาท กดดันให้ Bond Yield 10 ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.464% ซึ่งใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดของปี ณ วันที่ 27 มิ.ย. 60 ที่ 2.462%

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!