- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 14 July 2017 16:11
- Hits: 1502
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ที่กลับเข้ามาซื้อสุทธิ พร้อมเปิด Long ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า สำหรับปัจจัยแวดล้อมในวันนี้ดูยังไม่มีปัจจัยลบใหม่ๆ เข้ามาแทรก จึงมีโอกาสที่ Momentum เชิงบวกจากการซื้อขายวานนี้จะมีความต่อเนื่อง แต่ก็อาจต้องใช้เวลาในการที่จะผ่านแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 1585 จุด ในส่วนของผลกระทบจากการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว คาดจะไม่มีผลต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ หุ้น Top pick ยังเลือก JWD(FV@B11) ซึ่งกำไรปี 2560 จะพลิกกลับเป็นบวก และอาจสูงกว่าคาดจากการขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง แต่ความร้อนแรงน่าจะเริ่มลดลง
วานนี้ SET Index ปรับขึ้นได้อีก 4.48 จุด มูลค่าการซื้อขายลดลงจากวันก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 4.52 หมื่นล้านบาท นักลงทุนต่างชาติวานนี้สลับมาซื้อสุทธิด้วยมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านบาท พร้อมทั้งเปิดสถานะ Long สุทธิใน SET50 Index Futures ถึง 1.1 หมื่นสัญญา มากสุดนับตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
สำหรับกลุ่มที่ปรับขึ้นได้โดดเด่นวานนี้ คือ กลุ่มพลังงาน ทั้ง PTT, PTTEP และ PTTGC ขยับขึ้น 1.08%, 1.19% และ 0.72% ตามลำดับ อีกกลุ่มที่ Outperform ตลาดฯ วานนี้ คือ กลุ่มเหล็ก นำโดย SMIT ปรับขึ้นถึง 6.42% ตามด้วย TSTH ปรับขึ้น 6.19%, TGPRO ปรับขึ้น 5.88% และ TMT ปรับขึ้น 1.33% อีกหุ้นที่ปรับขึ้นได้โดดเด่นวานนี้ คือ GFPT ราคาพุ่งขึ้นถึง 4.37% ส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังถึงแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานงวด 2Q60 เติบโต 14.0% qoq และ 21.1% yoy จากการเข้าช่วงฤดูกาลส่งออกเนื้อไก่ หนุน gross margin คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูง 16.0% และคาดทั้งปีจะเติบโตถึง 17.7%
ตรงข้ามกับหุ้นที่ลดลงแรงวานนี้ คือ S ลดลงถึง -7.8% จากประเด็นการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) 400 ล้านหุ้น ในราคา 4.16 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดที่ 4.64 บาท จึงเป็นสาเหตุให้เกิดแรงเทขายหนักดังกล่าว ส่วนอีกหุ้นที่ลดลง คือ ERW ราคาปรับลง -3.54% ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นขายทำกำไร หลังจากปรับขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ถึงเกือบ 20% ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงาน 2Q60 เติบโตโดดเด่น YoY ตามการท่องเที่ยวและเปิดโรงแรมใหม่ ส่วน KTB ที่เจอปัญหาตั้งสำรองหนี้ฯ EARTH เพิ่มใน 2Q60 ราคาหุ้นวานนี้ลดลง -1.58%
โดยภาพรวม ตลาดฯ วันนี้ น่าจะแกว่งกรอบแคบหลังจากปรับขึ้นมาได้ 2 วันติดต่อกัน ส่วนมูลค่าการซื้อขายมีโอกาสลดลงเนื่องจากเป็นวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวที่ 1575 –1585 จุด
อังกฤษและยุโรปมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐและแคนาดา
จากการแถลงของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ระหว่างวันที่ 13 –14 ก.ค. 60 เยลเลนแสดงความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม (Neutral level) รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 1.9% ในเดือน พ.ค. นั้นเกิดจากสาเหตุที่ราคาของสินค้าบางกลุ่มลดลงเพียงชั่วคราว ส่งผลให้ Fed ยังเดินหน้าการใช้นโยบายการเงินตึงตัวตามแผนเดิมต่อไป โดยคาดว่า Fed จะยังคงขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ภายในปี 60 และจะขึ้นอีก 0.75% ในปี 61 รวมถึงการลดขนาดงบดุล (Balance sheet) ราว 50% จากยอดสินทรัพย์ทั้งสิ้น 4.25 ล้านล้านเหรียญฯ เพื่อดึงสภาพคล่องออกจากระบบ น่าจะค่อย ๆ เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับฐาน
เชื่อว่านับจากนี้ ธนาคารกลางโลกในฝั่งประเทศพัฒนาแล้วจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐ เช่น แคนาดาได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 7 ปี มาอยู่ที่ระดับ 0.75% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของแคนาคามีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น แม้ว่าจะมีการชะลอตัวในระยะสั้นแต่เป็นเหตุการณ์เพียงชั่วคราว ในส่วนอังกฤษและยุโรป คาดว่าอังกฤษมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าฝั่งยุโรป เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เช่น อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. ที่ลดลง และอังกฤษมีช่องว่างของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยกว้างกว่าราว 2.65% (เงินเฟ้อ 2.9% และดอกเบี้ย 0.25%) ขณะที่ยุโรปช่องว่างแคบกว่าราว 1.3% (เงินเฟ้อ 1.3% และดอกเบี้ย 0%)
ส่วนทางฝั่งเอเชีย มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยปีนี้น้อย แต่น่าจะขึ้นได้ในปี 2561 ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายจึงมีความจำเป็นไปอีกระยะหนึ่ง สะท้อนจากผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ 43 คนในญี่ปุ่น มีความเห็นตรงกันว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน จนกว่าจะถึงเดือน เม.ย. 61 ซึ่งเป็นเวลาที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ครบกำหนดวาระการบริหารประเทศ
DTAC กำไรดีกว่าคาด แต่ยังมีความเสี่ยงระยะยาวรออยู่ แนะนำ switch
วานนี้ DTAC รายงานผลประกอบการ 2Q60 ออกมาดีกว่าคาดมาก โดยเพิ่มขึ้นถึง 224%qoq และ 427%yoy ปัจจัยหนุนมาจากการลดค่าใช้จ่ายโฆษณา และต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ กสทช. ที่ลดลงเหลือ 4% จาก 5.25% รวมทั้งต้นทุนการเชื่อมต่อข้อมูลที่ลดลง ขณะที่รายได้ค่าบริการค่อนข้างทรงตัว qoq และ 1.3%yoy โดยจำนวนลูกค้าลดลง 2.9%qoq แต่ได้ชดเชยจาก ARPU ที่สูงเพิ่มขึ้น
ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการฯ ปี 2560 ขึ้นเป็น 1.96 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนผลกำไร 2Q60 ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า 2Q60 น่าจะเป็นจุดสูงสุดของปี โดยหลังจากนี้ DTAC น่าจะกลับมาเพิ่มงบโฆษณาอีกครั้งเพื่อรักษาฐานลูกค้า และฐานรายได้ รวมทั้งต้องบันทึกต้นทุนคลื่น 2300 MHz เข้ามาตั้งแต่ 3Q60 นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากพื้นที่บริการที่ครอบคลุมน้อยกว่าคู่แข่ง เนื่องจากลูกค้า DTAC ที่มีโทรศัพท์มือถือรองรับคลื่น 2300 MHz มีเพียง 70% เท่านั้น จึงต้องเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ให้ได้ เพื่อรองรับลูกค้า 2G ที่มีอีกกว่า 5-6 ล้านราย นอกจากนี้คลื่น 850 MHz ยังถูกดึงไปใช้งานรถไฟความเร็วสูงอีก 5 MHz ทำให้มีคลื่นนี้เหลือเพียง 5 MHz
โดยรวม แม้จะมีการปรับประมาณการและ Fair Value ขึ้นเป็น 50 บาท (จากเดิม 42.3 บาท) แต่ยังต่ำกว่าปัจจุบัน อีกทั้งความเสี่ยงระยะยาวในเรื่องพื้นที่บริการที่น้อยกว่าคู่แข่งดังกล่าว จึงยังแนะนำให้ switch ไป ADVANC (FV@B210) ที่ธุรกิจมีเสถียรภาพมั่นคงพร้อมกลับมาเติบโตได้ดีกว่า
ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค รวมทั้งไทย
วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคมูลค่าราว 386 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) โดยแรงซื้อหลักๆ ยังคงอยู่ในตลาดหุ้นแถบเอเชียตะวันออก คือ เกาหลีใต้และไต้หวันมูลค่ากว่า 344 ล้านเหรียญ และ 67 ล้านเหรียญ ตามลำดับ สำหรับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP อินโดนีเซียยังคงถูกขายสุทธิอย่างต่อเนื่องกว่า 61 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8) เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิมูลค่าราว 6 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ด้านตลาดหุ้นไทยต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิมูลค่า 42 ล้านเหรียญ หรือ 1.4 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 953 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 2.12 หมื่นล้านบาท สวนทางกับต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกว่า 5.9 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 มูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท) หนุน Bond yield มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 2.55% จากจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 2.46% ณ 27 มิ.ย. 60)
กฎหมายต่างด้าวปี 2560 กระทบตลาดหุ้นไทยจำกัด
วานนี้ฝ่ายวิจัย ASPS ออกบทวิเคราะห์ Investment Strategy ถึงผลกระทบของกฎหมายต่างด้าวปี 2560 โดยได้พิจารณาถึงเนื้อหาและขอบเขตของกฏหมายฉบับใหม่ พบว่า ยังคล้ายกับกฏหมาย 2 ฉบับเดิม คือ พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าวปี 2551 และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศปี 2559 แต่เพิ่มบทลงโทษที่สูงขึ้นกับทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากลูกจ้าง แม้อาจจะทำให้เกิดภาระต้นทุนกับผู้ประกอบการที่เคยใช้แรงงานผิดกฎหมาย และอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศในระยะยาว เพราะนอกจากเป็นการควบคุมแรงต่างด้าวแล้ว ยังเป็นการจำกัดการใช้ทรัพยากรของประเทศ เช่น การรักษาพยาบาล หรือ สาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ล้วนเป็นเงินมาจากภาษีของคนไทย แต่อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัว เพราะ คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้บทลงโทษ ตามกฎหมายแรงงานต่างด้าวปี 2560 ออกไป 180 วัน
ในส่วนของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหลายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก คือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง รองลงมาคือ ภาคบริการ ภาคเกษตรและปศุสัตว์ ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น อันอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานระยะสั้น หากกระบวนการทำงานภาครัฐเกิดความล่าช้า แต่อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทจดทะเบียนได้มีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฏหมาย และการหันไปใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงกว่าตลาดฯ ไปแล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าผลกระทบจากการใช้กฏหมายดังกล่าวน่าจะจำกัด โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่ได้มีปรับตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารส่งออก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ฯ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจเดินเรือ เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636