- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 05 July 2017 17:21
- Hits: 2192
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด กนง. น่าจะยังยืนดอกเบี้ยนโยบาย จากเงินเฟ้อต่ำและสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง ถือเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ขณะที่เข้าสู่ช่วงการทำ Earnings Preview งวด 2Q60 ของ ธ.พ. แม้อ่อนตัว แต่มีสัญญาณที่ดีขึ้นในงวด 2H60 จากโครงการลงทุนรัฐที่คืบหน้า ทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนจากสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับหุ้นก่อสร้างที่คาดว่าจะหนุนให้ Backlog สามารถขยับขึ้นแตะ 5 แสนล้านบาทในปี 2561 Top pick SCB(FV@178) หุ้น The Laggards
SET Index ยังแกว่งตัว 1570-1590 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับลดลง -0.34% ลงมาทดสอบแนวรับ 1574 จุด แม้ช่วงเช้าดัชนีบวกเล็กน้อยจากแรงหนุนกลุ่มพลังงาน แต่ก็ไม่สามารถยืนได้ และดัชนีอ่อนตัวตลอดช่วงบ่ายก่อนปิดตัวปรับลดลงไป -5.30 จุด ทั้งนี้กลุ่มที่กดดันตลาดมากที่สุด คือ กลุ่มขนส่ง ตามด้วยกลุ่มค้าปลีก สื่อสาร และธนาคารพาณิชย์ ส่วนกลุ่มที่ปรับขึ้นยังคงเป็นกลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มอสังหาฯ บรรยากาศตลาดหุ้นไทยคล้ายกับตลาดหุ้นในภูมิภาคฯ คือตลาดหุ้นฮ่องกงลดลงแรงสุดคือ -1.53% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ลดลง -0.76% และ -0.41% ส่วนจีนลดลง -0.39% เป็นต้น
เป็นที่สังเกตว่าหุ้นที่ปรับขึ้นสวนตลาดวานนี้ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดกลาง-เล็ก อาทิ BTC, IT, Q-CON ขณะที่หุ้นในกลุ่มอสังหาฯ ที่โดดเด่นวานนี้ คือ PSH ปรับขึ้น 2.68% ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากราคาหุ้นที่ยัง laggard หุ้นอื่นๆ ในกลุ่มฯ บวกกับความน่าสนใจในเชิง Valuation ที่มีค่า Expected P/E ต่ำเพียง 8 เท่า และคาดหวัง Div. Yield ได้ราว 6.2% รวมถึงแนวโน้มผลประกอบการ 2Q60 คาดจะฟื้นตัวจาก 1Q60 และดีขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2H60 ถัดมาคือ BDMS ขยับขึ้นอีกวัน 2.05% แม้งวด 2Q60 ผลประกอบการจะอ่อนตัว แต่น่าจะดีขึ้นตั้งแต่ 3Q60 อีกทั้งมีแผนลดค่าใช้จ่ายอย่างจริงจัง พร้อมเลื่อนแผนลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไป โดยรวมแล้วน่าจะทำให้กำไรทั้งปีเติบโตได้ 19%YoY
ตรงข้ามหุ้นที่ปรับลดลง คือ TKN ลดลง 4.19% รวม 2 วันลดลงไป 8.04% ตามมาด้วย SVI ลดลง 3.91% หลังจากวันก่อนหน้าฟื้นตัวแรง และ BEC ยังเจอแรงขายทำกำไรต่อเนื่อง ลดลงอีก 3.81% รวม 5 วันทำการหลังสุดลดลงไปถึง 15.83% หลังจากราคาหุ้นปรับขึ้นตอบรับทีมผู้บริหารใหม่ จนราคาหุ้นเกินพื้นฐาน และ KTC ราคาหุ้นลดลงต่ำสุด 9.91% ก่อนที่จะมีฟื้นตัวช่วงท้ายเหลือติดลบ 3.60%
โดยรวม SET Index ยังแกว่งตัวในกรอบ 1570-159 จุด โดยปัจจัยที่มีอิทธิต่อตลาดยังให้น้ำหนักต่อการการลงทุนภาครัฐ และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ติดแนวต้าน ประกอบกับปัจจัยในประเทศที่ยังไม่มีแรงหนุนเชิงบวกใหม่ๆ เข้ามา รวมทั้ง Fund Flow ที่ยังไม่มีมาเหมือนเดิม ทำให้ดัชนีอาจลงไปทดสอบ 1567 จุด
กนง. ยังคงยืนดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อและสภาพคล่องไทยยังสูง
การประชุมธนาคารกลางแห่งประเทศไทย หรือ กนง. ในวันนี้ (ทราบผล เวลาบ่าย 2 ตามเวลาในประเทศ ) เชื่อว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือ คาดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตามเดิม(ยืนที่เดิมตั้งแต่ เม.ย.2558) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อ ที่ชะลอตัว ล่าสุด เดือน มิ.ย. อยู่ที่ -0.05%yoy จาก -0.04% ใน พ.ค. ทั้งนี้เชื่อว่ามีโอกาสที่ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างเร็วสุดคือ ต้นปี 2561 ตามหลัง สหรัฐที่นำร่องขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ และคาดว่าจะขึ้นอีก 1 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้ง โอกาสขึ้นมากสุดคือ เดือน ธ.ค. ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 1.5% สิ้นปี เช่นเดียวกับ ยุโรป และอังกฤษ จะหันใช้นโยบายการเงินตึงตัว ตามหลังสหรัฐ แม้ยังมีปัญหาทางการเมืองอย่าง Brexit
ทั้งนี้เชื่อว่า กนง. น่าจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ในปีหน้า ตามฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามขึ้นกับทิศทางเงินเฟ้อ และสภาพคล่องในระบบส่วนเกินของไทย ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระดับสูงราว 5.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4.5 แสนล้านบาท ในช่วง ธ.ค.2559 และยังรองรับแผนใช้เงินลงทุนภาครัฐที่จะอยู่ในอัตราเร่งมากขึ้นในปี 2561 โดยในในช่วง 4Q60 - ปี 2561 มีแผนระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Thailand Future Fund : TFF) ซึ่งน่าจะดูดซับสภาพคล่องบางส่วน เท่านั้น
กฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าว กระทบในระยะสั้น
การที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2560 มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา หากมองกันในระยะยาว น่าจะเป็นเจตนาที่ดีของภาครัฐที่ต้องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในอยู่ในระบบและสามารถควบคุมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในระยะสั้น อาจทำให้เกิดความกังวลทั้งต่อตัวแรงงานเอง และนายจ้างในส่วนของบทลงโทษที่มีการเพิ่มโทษปรับไว้รุนแรงกว่าเดิม โดยมีโทษปรับอัตราสูงสุดถึง 8 แสนบาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน แม้ว่าการไหลออกของแรงงานต่างด้าวอาจจะยังไม่กระทบต่อนายจ้างมากนัก แต่หากไม่มีการบริการจัดการที่ดี ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากรณีนี้ น่าจะเป็นรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากมีการใช้แรงงานสูงราว 20-30% ของต้นทุนรวม และ ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าว (เฉพาะแรงงานที่ทำงานโยธา และไม่ใช่งานฝีมือ) สูงถึง 70-90% ดังนั้น หากเกิดการไหลออกของแรงงาน โดยที่ยังไม่สามารถหาทางควบคุมได้ อาจเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา และอาจกระทบต่องานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รวมทั้งโครงการก่อสร้าง EEC ที่มีความต้องการแรงงานในอนาคตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานขึ้นมาจริงๆ อาจทำให้เกิดการล่าช้าหรือแผนงานต้องเลื่อนออกไป นับเป็นความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง
และที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน คือ โครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับผลกระทบต่อเนื่อง มาจากผู้รับเหมาหากเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่น่าจะกดดันให้ผู้พัฒนาต้องปรับตัวไปใช้ เทคโนโลยีการก่อสร้างที่สูงขึ้น คือใช้ชิ้นส่วน Precast มากขึ้น เพื่อลดการใช้แรงงานและทำให้การก่อสร้างเร็วขึ้น
ในส่วนของกลุ่มที่คาดว่าจะใช้แรงงานสูงลำดับถัดมาน่าจะเป็นกลุ่ม เกษตร-อาหารนั้น นักวิเคราะห์ ASPS ได้ทำการสำรวจไปยังผู้ประกอบการบางรายพบว่ามีการใช้แรงในระดับ 10% บวกลบไม่มาก แต่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าวในโรงงานสูง ได้แก่
TU (Switch FV@B21) จัดอยู่ในบริษัทที่ใช้แรงงานต่างด้าวสูง 90% ของคนงานทั้งหมด (ต้นทุนแรงงานคิดเป็น 7% ของต้นทุนทั้งหมด ที่เหลือเป็นต้นทุนวัตถุดิบและค่าเสื่อมราคา) เนื่องจากต้องใช้คนงานในการล้างปลาทูน่า ตัดแต่งปลาทูน่าและแกะเปลือกกุ้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม TU ได้ปรับตัวและใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฏหมาย ทั้งหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 ทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่จำกัด
CPF (Buy FV@B30) ถือว่าใช้แรงงานต่างด้าวปานกลาง คือ ราว 30% ของแรงงานทั้งหมด (ต้นทุนแรงงานคิดเป็น 13% ของต้นทุนรวม) และถือว่ามีการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการตัดแต่งเนื้อไก่ ผลิตอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงไก่และสุกร มากขึ้น และน่าจะผลักดดันให้บริษัทต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Robot ที่มีปัญหาประดิษฐ (AI) มาใช้ในการขบวนการผลิต อย่างไรก็ตามปัจจุบันถือว่า CPF มีการใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว เช่นกัน ต้นค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงประเมินผลกระทบค่อนข้างจำกัดเช่นกัน
ส่วนผลกระทบต่อหุ้นอื่น ๆ ในกลุ่มได้แก่ GFPT, KSL, STA เป็นต้น จะนำเสนอต่อในวันถัดไป
ทั้งนี้ การที่ คสช. ได้ประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อยืดอายุการบังคับใช้บทลงโทษออกไปอีก 6 เดือน (180 วัน) มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2560 ถึง 1 ม.ค. 2561 เพื่อให้แรงงานที่ทำผิดกฎหมายไปจดทะเบียนดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้อง ถือเป็นโอกาสในการผู้ประกอบการและแรงงานที่จะต้องแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้น ดังนั้น ประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัจจัยกระทบระยะสั้นที่อยู่ในช่วงรอยต่อที่ต้องใช้เวลาแก้ไข ซึ่งหากลุล่วงไปได้ก็น่าจะทำให้ปัญหาต่างๆ ผ่อนคลายลง และจะเป็นผลดีในระยะกลาง-ยาว มากกว่า
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค โดยมีมูลค่ารวม 415 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 149 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) รองลงมาคือไต้หวัน 146 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 86 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า), ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 24 ล้านเหรียญ หรือ 803 ล้านบาท ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 490 ล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 3.20 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ยังสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 259 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 โดยมีมูลค่ารวมราว 5.9 พันล้านบาท)
Derivative Team:
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636