- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 03 July 2017 17:41
- Hits: 1976
บล.ทิสโก้ : บทวิเคราะห์ภาวะตลาดหุ้นรายวัน
STRATEGY : ยังแนะนำทยอยขายถือเงินสดเพิ่ม จากความเสี่ยงในการปรับฐานของหุ้นโลกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้
เรามองตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงต่อการปรับตัวลงในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า (เดือน ก.ค. - ส.ค.) จาก (1) โอกาสเกิดการปรับฐานของหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะฉุดให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงตาม หลังการประเมินมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ ตึงตัวมาก โดยคิดเป็น 12m-Fwd. PER เกือบ 18x นับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ Dot Com Bubble ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่มีการพักฐานลงเกินกว่า 5% มานานเกือบ 1 ปีเต็มแล้ว ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจในแง่บวกแล้ว (2) การเริ่มลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งเราคาดว่า FED จะประกาศแผนการลดงบดุลลงในการประชุมเดือน ก.ย. สิ่งนี้น่าจะกดดันให้ราคาหุ้นโลกผันผวนคล้ายๆ กับช่วงที่ FED ยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QEs) ซึ่งหากดูผลกระทบในอดีตแล้ว หุ้นโลกจะแกว่งลงโดยเฉลี่ยประมาณ 8-10%
ผสานกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่เริ่มส่งสัญญาณเข้มงวดเร็วขึ้นกว่าที่คาดเดิม (3) ห่วงเงินบาทจะกลับทิศ เพราะในช่วงครึ่งปีแรก เงินบาทแข็งค่าขึ้นมามากแล้ว ขณะที่ครึ่งปีหลังมักอ่อนค่าตามปัจจัยฤดูกาล นอกจากนี้ เงินบาทกำลังทดสอบกรอบแนวรับสำคัญทางเทคนิค ซึ่งเราให้น้ำหนักน้อยที่บาทจะแข็งค่าลงไปเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ฯ มากๆ (4) กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยใน 2Q17F ที่จะประกาศช่วงกลางเดือน ก.ค. - กลางเดือน ส.ค. มีแนวโน้มเป็นลบ เบื้องต้นคาดจะลดลง 12% YoY และ 8% QoQ จากโอกาสเกิดผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน-สินค้าคงคลังของหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ประกอบกับฐานกำไรของหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ค่อนข้างสูงในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี เรามองความผันผวนของราคาหุ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้เป็นโอกาสดีในการเข้าซื้อสะสม คาดตลาดจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป (ก.ย. - ต.ค. เป็นต้นไป) โดยจะได้รับปัจจัยขับเคลื่อนจากภาวะเศรษฐกิจที่คาดจะเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเรามอง GDP Growth จะค่อยๆ เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 4% ในไตรมาส 4 จาก GDP Growth ในไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะเป็นจุดต่ำของปีนี้ที่โต 3.1% (สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขช่วงกลางเดือน ส.ค.) ด้านแนวโน้มกำไรปี 17-18F ของบริษัทจดทะเบียนไทยยังเติบโตน่าพอใจ เฉลี่ยราว 10% ต่อปี ซึ่งกำไรที่เติบโตนี้จะสนับสนุน SET Index ให้ปรับตัวสูงขึ้นเอง ด้วยปัจจุบันเราซื้อขายเหวี่ยวตัวในกรอบ Fwd. PER 14.5-15 เท่า และอิงจากความสัมพันธ์ SET Index กับคาดการณ์ EPS เราจะได้ระดับ SET Index ที่เหมาะสม ณ สิ้นปี 17F และ 18F ที่ 1650-60 จุด และ 1830-1840 จุด ตามลำดับ
สำหรับธีมหุ้นเด่นในครึ่งปีหลัง เรามองหุ้นอยู่ 3 กลุ่ม คือ (1) หุ้นอิงนโยบายภาครัฐ Infrastructure - แนะนำ CK, SEAFCO / EEC - แนะนำ ROJNA (2) หุ้นได้ประโยชน์บาทอ่อนและการค้า-การส่งออกเติบโต - แนะนำ AMA, JWD และ (3) หุ้นอิงการบริโภคในประเทศ กำไรครึ่งปีหลังเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก - แนะนำ BEAUTY เพราะฉะนั้นหุ้นเด่นครึ่งปีหลังของเรา คือ AMA, BEAUTY, CK, JWD, ROJNA และ SEAFCO อนึ่ง ถ้าสังเกตหุ้นเด่นของเราในครึ่งปีหลัง เกือบครึ่งหนึ่งเหมือนกับหุ้นเด่นในครึ่งปีแรกเลย อาทิ BEAUTY, JWD และ SEAFCO เนื่องจากหลายตัวยังเป็นหุ้นที่มีสตอรี่ที่ดีในครึ่งปีหลัง, แนวโน้มกำไรยังเติบโตต่อเนื่อง และที่สำคัญราคายังมี Upside อยู่
ท่ามกลางความเสี่ยงในการปรับฐานลงของตลาดหุ้นโลกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า เรามองหุ้นเชิงรับ (Defensive Play) หุ้นปันผล (Dividend Play) และหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนและมีโอกาสชนะตลาด (Outperform) โดยเฉพาะหุ้นที่คาดว่างบไตรมาส 2 จะออกมาดี หุ้นเด่นที่เราแนะนำเฉพาะสำหรับเดือน ก.ค. คือ BBL, BEAUTY, BTS, MM, ROJNA, SEAFCO และ TPIPP ด้านแนวรับและแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1550-60, 1530+/- และ 1590-1600, 1620 จุด ตามลำดับ
ผ่านมาแล้วครึ่งปี หุ้นไทยไม่ไปไหนเลย…
ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีแรกแกว่งตัวแคบมากๆ High-Low เหวี่ยงตัวแค่ 4% ทำสถิติเหวี่ยงตัวน้อยที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเลย vs ค่าเฉลี่ยหุ้นไทยทุกๆ ครึ่งปีจะเหวี่ยงตัวเฉลี่ยราว 28% นอกจากจะเป็นครึ่งปีที่เหวี่ยงตัวน้อยมากๆ แล้ว ยังให้ผลตอบแทนในทิศทางที่แย่กว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) ในภูมิภาคนี้ด้วย (Underperform) เพราะปรับตัวขึ้นเพียง 8% (SET Index ปรับขึ้นราว 2% รวมกับผลกระทบค่าเงินบาทแข็งอีกประมาณ 6%) vs ค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น EM ที่ให้ผลตอบแทนรวมเฉลี่ยอยู่ที่ +14%
มองตลาดครึ่งปีหลังมี Upside จำกัด โดยเสี่ยงต่อการปรับลงในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
ด้วยตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีแรกแกว่งตัวแคบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้ว เราจึงเชื่อว่าจะเห็นความผันผวนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ เรามองตลาดมีความเสี่ยงต่อการปรับตัวลงจาก 4 เหตุผลหลักดังต่อไปนี้
(1) โอกาสเกิดการปรับฐานของหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะฉุดให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงตาม - ผลจาก (1.1) การประเมินมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ ตึงตัวมาก โดยคิดเป็น 12m-Fwd. PER เกือบ 18x นับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ Dot Com Bubble ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 และหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกในปัจจุบันก็ซื้อขายที่ 12m-Fwd. PER ที่สูงกว่าเฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วย (1.2) การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะหลังถือว่าร้อนแรงมาก เพราะไม่มีการพักฐานลงเกินกว่า 5% มานานเกือบ 1 ปีเต็มแล้ว vs ช่วง 4 ปีที่ผ่านมามักจะมีการปรับฐานลงทุกๆ 6 เดือน และ (1.3) โดยปกติ ราคาหุ้นมักจะปรับตัวไปตามการขึ้นลงของตัวเลขเศรษฐกิจ แต่จาก Citibank Economic Surprise Index ไม่ได้สร้างความประหลาดใจในแง่บวกแล้ว ดังนั้นต้องระวังการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นสหรัฐฯ รวมทั้งราคาหุ้นโลกอาจฝืนต่อได้อีกไม่นาน (Negative Divergence)
(2) การดำเนินนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของ FED ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและการลดงบดุล - (2.1) Deutsche Bank (DB) ซึ่งเป็นพันธมิตรงานด้านวิจัยของเรา และเส้นทางการขึ้นดอกเบี้ย (Dot Plot) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้ จะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.25-1.50% จากระดับปัจจุบันที่ 1.00-1.25% หรือจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดย DB คาดว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ น่าจะมีผลให้ Bond Yield ขยับตัวขึ้นตามในที่สุด เรามองส่วนต่างระหว่าง Bond Yield และ Fed Funds Rate อยู่ในระดับต่ำมากแล้ว vs ค่าเฉลี่ยในอดีตที่ราว 1.8% แสดงนัยถึงโอกาสที่ Bond Yield จะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่จะปรับตัวลง (2.2) DB ยังคาดอีกด้วยว่า FED จะประกาศแผนลดงบดุลในการประชุมเดือน ก.ย. (ซึ่งเราให้น้ำหนักในประเด็นนี้มากกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะทำให้ตลาดหุ้นโลกเกิดความผันผวน) โดยคาดว่า FED จะเริ่มกำหนดเพดานการลดงบดุลขั้นสูงสุดที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ/เดือนใน 4Q17 และจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มเพดานขึ้นไตรมาสละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากการประเมินของเราคาดว่า ใน 4Q17 งบดุล FED จะลดลงราว -2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ, ปี 2018 จะลดลงรวม -3.3 แสนล้านดอลลาร์ฯ และปี 2019 จะลดลง -5.3 แสนล้านดอลลาร์ฯ เรามองการลดงบดุลของ FED น่าจะกดดันให้ราคาหุ้นโลกผันผวนคล้ายๆ กับช่วงที่ FED ยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QEs) ซึ่งหากดูผลกระทบในอดีตแล้ว หุ้นโลกจะแกว่งลงโดยเฉลี่ยประมาณ 8-10% แต่สำหรับหุ้นไทยจะผันผวนน้อยกว่า เพียงครึ่งเดียว ผสานกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ส่อแววเข้มงวดเร็วขึ้นกว่าที่เดิม หลังประธาน ECB ส่งสัญญาณนโยบายการเงินอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในระยะข้างหน้า และผู้ว่าการ BOE ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงินและพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
(3) ห่วงเงินบาทจะกลับทิศ - ห่วงเงินบาทจะกลับทิศ เพราะในช่วงครึ่งปีแรก เงินบาทแข็งค่าขึ้นมามากแล้ว ขณะที่ครึ่งปีหลังมักอ่อนค่าตามปัจจัยฤดูกาล นอกจากนี้ เงินบาทกำลังทดสอบกรอบแนวรับสำคัญทางเทคนิค ซึ่งเราให้น้ำหนักน้อยที่บาทจะแข็งค่าลงไปเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ฯ มากๆ
(4) ภาพแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยใน 2Q17F เป็นลบ คาดจะลดลงทั้ง YoY และ QoQ - ด้วยราคาน้ำมัน Brent ใน 2Q17 เฉลี่ยอยู่ที่ 51 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล และปิดสิ้นไตรมาสที่ประมาณ 47-48 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ลดลงประมาณ 7% และ 10% เมื่อเทียบกับ 1Q17 ที่ประมาณ 55 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล และ 53 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ตามลำดับ) น่าจะกดดันผลประกอบการหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีจากโอกาสเกิดผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน-สินค้าคงคลัง นอกจากนี้ ฤดูฝนปีนี้ที่มาเร็วกว่าปกติจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่น่าจะกระทบต่อการบริโภคด้วย ประกอบกับฐานกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ค่อนข้างสูงในไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ทั้งบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ สิ้นสุดปลายเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว) กลุ่มบริการ ( อาทิ หุ้นค้าปลีกและท่องเที่ยว เพราะในปีนี้ไม่มีมาตรการกิน-เที่ยวช่วงสงกรานต์เหมือนปีที่แล้ว) และกลุ่มสื่อสาร (ช่วง 2Q16 ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนใบอนุญาต 4G ไม่สูงมากนัก) สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์คาดทรงตัวทั้ง YoY และ QoQ ดังนั้น จากการประเมินเบื้องต้น เราจึงมองการประกาศผลประกอบการโดยรวม 2Q17F ในช่วงกลางเดือน ก.ค. - กลางเดือน ส.ค. นี้ จะออกมาน่าผิดหวัง โดยคาดว่าจะลดลง 12% YoY และ 8% QoQ
แต่เรามองเป็นโอกาสดีในการเข้าซื้อสะสม เน้นเลือกหุ้นเป็นรายตัว (Selective Buy)
แม้เรามองตลาดหุ้นไทยเสี่ยงต่อการปรับตัวลงในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า แต่ไม่น่าปรับตัวลงลึก (เบื้องต้นมอง SET Index เริ่มน่าทยอยสะสมเมื่อต่ำกว่า 1550 ลงมา) และจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป (ก.ย. - ต.ค. เป็นต้นไป) โดยจะได้รับปัจจัยขับเคลื่อนจาก
(1) เศรษฐกิจที่คาดจะเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลัง - เรามอง GDP Growth จะเร่งตัวแตะระดับ 4% ในไตรมาส 4 จาก GDP Growth ในไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะเป็นจุดต่ำของปีนี้ที่โต 3.1% (สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขช่วงกลางเดือน ส.ค.) ลดลงจากไตรมาส 1 ที่โต 3.3% โดยเราคาดว่า GDP Growth จะเริ่มเติบโตดีขึ้นเป็น 3.7% และ 4% ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ตามลำดับ ถ้า GDP เติบโตดีขึ้นน่าจะหนุน SET ขยับขึ้นในทิศทางเดียวกัน (ดูรูป "ความเคลื่อนไหว SET Index vs GDP Growth" ประกอบ) โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดจะมีการส่งออกเป็นตัวนำ ตามด้วยการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นบวก (จากที่ -1.1% ใน 1Q17) ขณะที่การลงทุนภาครัฐ (หลายโครงการเริ่มก่อสร้าง Q3 และเริ่มมีข่าวประมูลงานใหม่มากขึ้น) และการบริโภคยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี
(2) กำไรปี 17-18F ยังโตน่าพอใจ เฉลี่ย 10% ต่อปี - ด้านกำไรโดยรวม บจ.ยังคงเติบโตอยู่เฉลี่ย 10% ในช่วงปี 17-18F ซึ่งกำไรที่เติบโตนี้จะสนับสนุน SET Index ให้สูงขึ้นเอง ด้วยปัจจุบันเราซื้อขายเหวี่ยวตัวในกรอบ Fwd. PER 14.5-15 เท่า และอิงจากความสัมพันธ์ SET Index กับคาดการณ์ EPS เราจะได้ระดับ SET Index ที่เหมาะสม ณ สิ้นปี 17F และ 18F ที่ 1650-60 จุด และ 1830-1840 จุด ตามลำดับ
3 ธีมหุ้นเด่นครึ่งปีหลัง และ 7 หุ้นเด่นสำหรับเดือน ก.ค.
สำหรับ ธีมหุ้นเด่นในครึ่งปีหลัง เรามองหุ้นอยู่ 3 กลุ่ม คือ (1) หุ้นอิงนโยบายภาครัฐ Infrastructure - แนะนำ CK, SEAFCO / EEC - แนะนำ ROJNA (2) หุ้นได้ประโยชน์บาทอ่อนและการค้า-การส่งออกเติบโต - แนะนำ AMA, JWD และ (3) หุ้นอิงการบริโภคในประเทศ กำไรครึ่งปีหลังเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก - แนะนำ BEAUTY เพราะฉะนั้นหุ้นเด่นครึ่งปีหลังของเรา คือ AMA, BEAUTY, CK, JWD, ROJNA และ SEAFCO อนึ่ง ถ้าสังเกตหุ้นเด่นของเราในครึ่งปีหลัง เกือบครึ่งหนึ่งเหมือนกับหุ้นเด่นในครึ่งปีแรกเลย อาทิ BEAUTY, JWD และ SEAFCO เนื่องจากหลายตัวยังเป็นหุ้นที่มีสตอรี่ที่ดีในครึ่งปีหลัง, แนวโน้มกำไรยังเติบโตต่อเนื่อง และที่สำคัญราคายังมี Upside อยู่
ท่ามกลางความเสี่ยงในการปรับฐานลงของตลาดหุ้นโลกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า เรามองหุ้นเชิงรับ (Defensive Play) หุ้นปันผล (Dividend Play) และหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนและมีโอกาสชนะตลาด (Outperform) โดยเฉพาะหุ้นที่คาดว่างบไตรมาส 2 จะออกมาดี หุ้นเด่นที่เราแนะนำเฉพาะในเดือน ก.ค. คือ BBL, BEAUTY, BTS, MM, ROJNA, SEAFCO และ TPIPP ด้านแนวรับและแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1550-60, 1530+/- และ 1590-1600, 1620 จุด ตามลำดับ
โทรศัพท์: (66) 2633-6999 โทรสาร: (66) 2633-6490 E-mail: [email protected]