WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     เชื่อว่า Fed ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อชะลอตัวช่วงสั้น ส่วนสถานการณ์อหิวาต์ไก่ในประเทศ กดดัน Sentiment เท่านั้น ยังแนะนำหุ้นที่ได้รับแรงหนุนความคืบหน้าลงทุนภาครัฐ (ดีต่อหุ้นก่อสร้าง CK, UNIQ) และ window dressing ก่อนสิ้น 2Q60 (หุ้นเด่น ADVANC, SCB, BDMS, MINT) ทำให้ดัชนีมีโอกาสแตะ 1590-1595 จุด Top picks ยังเป็น AOT (FV@B56) และ BDMS (FV@B24)

 

สหรัฐยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แม้กังวลจากเศรษฐกิจโลก
การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) นางเจเน็ต เยลเลน ที่กรุงลอนดอน เมื่อวานนี้ มีใจความสำคัญคือ ยังเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐ เนื่องจากมีการปฎิรูปกฎระเบียบการดำเนินงานมาโดยตลอด และเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจาก ล่าสุด รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ (CCI) เดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากก่อนหน้าที่ลดลง 2 เดือน (ที่ระดับ 118.9 จุด) และดีกว่าตลาดคาดจะลดลง (ที่ 116 จุด) เนื่องจาก แรงงานที่แข็งแกร่ง คือ อัตราการว่างงานในเดือนล่าสุด ลดลงอยู่ในระดับต่ำ 4.3% (ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2550 และเท่ากับเป้าที่ Fed วางไว้) ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐในช่วงสั้นเริ่มชะลอตัว ล่าสุด พ.ค. อยู่ที่ 1.9%yoy (จาก 2.2% เดือน เม.ย. 2.4% ในเดือน มี.ค.และ 2.7% เดือน ก.พ.) แต่ยังสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% จึงทำให้สหรัฐน่าจะขึ้นดอกเบี้ยจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือราว 0.25% อีก 1 ครั้งในการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยฯ ณ สิ้นปี 2560 จะอยู่ที่ 1.5% และในปี 2561 คาดจะขึ้นอีก 3 ครั้งรวม 0.75% เป็น 2.25% พร้อมเตรียมลดขนาดงบดุล(Balance sheet) หรือการขายพันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่ออกโดยมีสินทรัพย์บ้านเป็นประกัน (Mortgage back securities) ราว 50% จากยอดสินทรัพย์ทั้งสิ้น 4.25 ล้านล้านเหรียญฯ แต่จะทยอยลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เป็นที่น่าสังเกตว่าค่าเงิน Dollar ในระยะสั้นกลับแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่าล่าสุดอยู่ที่ 96.12 จุด ซึ่งน่าจะเป็นผลจากความไม่เชื่อมั่นการเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐของประธานาธิบดีทรัมป์ล่าช้า สะท้อนจากล่าสุดวานนี้ วุฒิสภาสหรัฐได้เลื่อนการลงมติร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ (American Health Care) ออกไปเป็นวันที่ 4 ก.ค. หลังจากก่อนหน้าเคยถูกตีตกไปแล้วหลายครั้ง เนื่องจากเสียงสนับสนุนฝั่งประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับการปฎิรูปลดภาษีทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี โดยรัฐมนตรีการคลังสหรัฐคาดว่าจะยื่นกฎหมายภาษีและขออนุมติจากรัฐสภาภายใน 3Q60-4Q60 เชื่อว่าอาจไม่ราบรื่นนัก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในระยะกลาง-ยาว ค่าเงิน Dollar จะกลับไปอยู่ในทิศทางแข็งค่า


โรคอหิวาต์ไก่สุโขทัยกดดัน sentiment เท่านั้น ราคาหุ้น GFPT ตกต่ำเป็นโอกาสสะสม
ราคาหุ้น GFPT ปรับฐานแรงกว่า 7% วานนี้ จากข่าวเกี่ยวกับโรคอหิวาต์ไก่ระบาดที่ จ.สุโขทัย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ไก่ตายไปกว่า 1 พันตัว เนื่องจากมีฝนตกชุกและมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคตามน้ำและดินได้ โดยปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้เข้าควบคุมและสั่งทำลายไก่ในฟาร์มดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ฟาร์มดังกล่าวเป็นฟาร์มของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเลี้ยงในฟาร์มเปิด ทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในลักษณะเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากไม่มีฟาร์มเลี้ยงไก่ในที่ติดเชื้อโรคอหิวาต์ นอกจากนี้ลักษณะการเลี้ยงของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จะใช้การเลี้ยงแบบระบบปิด จึงมีความปลอดภัยต่อการระบาดของโรคได้ แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากโรคระบาดดังกล่าวมากับฝน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาหารที่ผลิตจำหน่ายและส่งออก ผลิตภัณฑ์ไก่ในไทย และมีฟาร์มเลี้ยงไก่ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากผลิตไก่สูงสุดนำโดย GFPT (สัดส่วนผลิตภัณฑ์ไก่ราว 70% ของรายได้รวม ที่เหลือเป็นอาหารสัตว์) ปัจจุบันโรงงานตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี และมีฟาร์มเลี้ยงไก่ของ GFPT เองทั้งหมดจะอยู่ใน จ.ชลบุรี
รองลงมาคือ TFG (65% ของรายได้รวม) ปัจจุบันมีโรงงานเชือดไก่อยู่ที่ จ.กาญจนบุรี และปราจีนบุรี ขณะที่พื้นที่เลี้ยงไก่ที่รับซื้อในระบบ contract farming กระจายอยู่ในภาคกลางหลายจังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี
และ CPF (10% ของรายได้รวม) ปัจจุบันมีโรงงานเชือดไก่อยู่ที่ จ.สระบุรี และนครราชสีมา ขณะที่พื้นที่เลี้ยงไก่ที่รับซื้อในระบบ contract farming กระจายอยู่ในภาคกลางหลายจังหวัด คือ สระบุรี ลพบุรี และนครราชสีมา
โดยรวมแล้ว ฝ่ายวิจัยประเมินว่าข่าวดังกล่าวเป็นเพียง sentiment เชิงลบเท่านั้น ประกอบกับราคาหุ้นในกลุ่มฯ ปรับตัวขึ้นแรงและมี upside จำกัด ทำให้เกิดการขายทำกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้น GFPT (Buy:FV@B21) ปรับหลังจากที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ตลอดกาล 22.1 บาท เกินกว่ามูลค่าหุ้นที่เหมาะสม เหตุการณ์นี้จึงถือเป็นการปรับฐานเท่านั้น แต่เชื่อว่าการส่งออกน่าจะสดใสนับจาก 2Q60 และ 3Q60 ตามฤดูกาลส่งออก ราคาหุ้นปรับลดลงมาที่ 19.20 บาท ทำให้มี upside จึงแนะนำให้รอซื้อเมื่อราคาปรับตัวลดลง


ราคาหุ้น CPF(Buy:FV@B30) ปรับลดลงเพียง 1% เท่านั้น และราคาตลาดยังมี upide 20% จึงแนะนำสะสม
ทั้งยกเว้นราคาหุ้นของ TFG (Sell:[email protected]) ยังทรงตัว และเกินกว่ามูลค่าหุ้นจึงแนะนำขายเช่นเดิม
สหรัฐคงอันดับสถานะปัญหาค้ามนุษย์ไทยที่ Tier 2 เฝ้าระวังเช่นเดิม


สหรัฐฯ เปิดเผยรายงานค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 60 โดยยังคงอันดับสถานะไทยไว้ที่ เทียร์ 2 เฝ้าระวังเช่นเดิม (Tier 2 Watch List) ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ โดยได้ระบุว่ารัฐบาลไทยแสดงความพยายามด้วยการปราบปรามและยึดทรัพย์ผู้ค้ามนุษย์มากขึ้น แต่ยังไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำสุดอย่างครบถ้วน โดยสหรัฐฯได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความพยายามเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และไม่ได้ดำเนินคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างแข็งขันมากนัก โดยสหรัฐฯได้ย้ำว่าปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยยังมีอยู่กว้างขวางและรัฐบาลไทยต้องแสดงความเป็นผู้นำในการดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยให้มีผลงานเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการค้าขายกับลูกค้าต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการอาหารทะเลยังสามารถส่งออกอาหารทะเลให้ลูกค้าได้ตามปกติ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยรัฐบาลและเอกชนก็ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จึงประเมินสถานการณ์การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จะดีขึ้นต่อเนื่อง


ทั้งนี้ ประเทศจีนได้ถูกปรับลดสถานะลงมาอยู่ Tier 3 (เดิมอยู่ในกลุ่ม Tier 2 เฝ้าระวัง) ซึ่งเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงสุด โดยอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศรัสเซีย อิหร่าน ซีเรีย ซูดานและเกาหลีเหนือ ถือว่าเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการอาหารทะเลไทย เนื่องจากมีโอกาสที่ลูกค้าอาหารทะเลที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์หรือใช้แรงงานผิดกฎหมายจะหันมาเพิ่มคำสั่งซื้อจากไทยมากขึ้นแทน ส่งผลบวกต่อ TU (Switch FV@B21) CPF (Buy FV@B30) และ CFRESH ([email protected])

 

ต่างชาติซื้อทั้งหุ้นและตราสารหนี้ไทย โดยให้น้ำหนักไปที่ตราสารหนี้
วานนี้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังคงหยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันหยุด ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆ ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าราว 119 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวที่ขายสุทธิราว 14 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่งต่างชาติซื้อสุทธิ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 72 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยไต้หวัน 9 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 92 ล้านเหรียญ หรือ 1.76 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 3 วัน) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิราว 891 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯสลับมาขายสุทธิราว 1.83 พันล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิกว่า 6.97 พันล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสร้างจุดสูงสุดใหม่ ด้วยมูลค่าราว 1.56 แสนล้านบาท (ytd) และทำให้ Bond Yield 10 ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.46% ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา

กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 3 ดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1575-1598 จุด


ความเสี่ยงโลกในช่วง 3Q60 ให้น้ำหนักไปที่การเมืองในยุโรป โดยเฉพาะการเลือกตั้งในอิตาลี และเงินเฟ้อทั่วโลกที่เริ่มชะลอตัวลง แม้อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลงต่ำกว่า 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล ทำให้ธนาคารกลางสำคัญ ๆ ของโลกบางแห่งอาจชะลอการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดออกไป แม้หลายประเทศได้เดินหน้านโยบายการเงินเข้มงวดไปแล้วก็ตาม โดยเฉพาะ สหรัฐ และ จีน เป็นต้น ขณะที่คาดว่าประเทศกลุ่ม TIPS น่าจะยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปจนถึงสิ้นปี
การชะลอใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในบางประเทศอาจดึงดูดให้ Fund Flow ไหลกลับมาในภูมิภาคสั้นๆ แต่น่าจะเป็นการเลือกรายประเทศที่มี Valuation ถูก โดยเมื่อพิจารณาถึงอัตราส่วนระหว่าง P/E เทียบกับ EPS Growth หรืออัตราส่วน PEG พบว่าอินโดนีเซียถูกสุดคือ 0.9 เท่า รองลงมาคือ จีน 1.9 เท่า และไทย 2.2 เท่า ซึ่งยังนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในภูมิภาคที่ 3 เท่า
แนวโน้มกำไรตลาดหุ้นไทยในงวด 2Q60 แม้มีโอกาสอ่อนตัวลงจาก 1Q60 แต่เป็นผลของฤดูกาล แต่โดยรวมตลาดปี 2560 ยังคงประมาณการ EPS Growth ที่ 7.1% แม้จะไม่จูงใจมากนัก แต่มีปัจจัยชี้นำที่จะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้าคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ


ภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความคืบหน้าของการระดมเงินเพื่อลงทุนในสาธารณูปโภคผ่านโครงการ Thailand Future Fund (TFF) ซึ่งหนุนหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก
กลยุทธ์การลงทุนเน้นรายหุ้นที่มีปัจจัยหนุน AIT, GUNKUL, KKP, IRPC, IVL, LPH, SCB และ UNIQ
หุ้นต่างประเทศ แนะนำ Ping An Insurance และ Sumitomo Mitsui กองทุนต่างประเทศ แนะนำ ASP-ASIAN และ ASPGIPLUS อ่านรายละเอียดใน Invest+, 3rd Quarter 2017


Derivative Team:
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!