- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 05 June 2017 17:03
- Hits: 867
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) : Technical Daily
ภาพตลาดวันวาน
ดัชนีเปิดตลาดปรับตัวขึ้นทันที พร้อมกับแกว่งตัวผันผวนในกรอบแคบทิศทางขึ้นทั้งวันเพียง 6.26 จุด โดยมีกรอบล่างที่ 1564.70 จุด เพิ่มขึ้น 1.59 จุด ขณะที่กรอบบน 1570.96 จุด เพิ่มขึ้น 7.85 จุด ส่วนใหญ่เป็นแรงซื้อจากหุ้นในกลุ่มพลังงาน ขนส่ง และสื่อสาร สำหรับตัวหุ้นที่มี Impact ต่อการปรับตัวขึ้นของดัชนีได้แก่ AOT, ADVANC, PTT, CBG, HANA, SIS, BPP, KKP ก่อนดัชนีจะทำปิดที่ 1567.60 จุด เพิ่มขึ้น 4.49 จุด (+0.29%) มูลค่าการซื้อขาย 36,052 ล้านบาท
ภาพตลาดวันนี้
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีมีทิศทางผันผวน ซึม ๆ ช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะทิ้งตัวลงแรงกลางสัปดาห์ที่ Low 1558 จุด และสามารถดีดกลับขึ้นมาได้ช่วงท้ายสัปดาห์ โดยวันศุกร์ที่ผ่านมากลับขึ้นมายืน 1566 จุด ได้อย่างแข็งแกร่ง และขึ้นทำ High ที่ 1570 จุด จากภาพดังกล่าวส่งผลให้แนวโน้มดัชนีกลับมาดูดีอีกครั้ง และมีโอกาสฝ่าแนวต้าน 1574 จุด เนื่องจากกลับขึ้นมายืนเหนือกลุ่มเส้นค่าเฉลี่ย (1566) และค่าสัญญาณบ่งชี้อย่าง RSI // MACD ที่อยู่ในเชิงบวก ระยะสั้นมีแนวต้าน 1570-1574 จุด แนวรับ 1560-1565 จุด
แกว่งตัวผันผวน - มีโอกาสไปต่อทดสอบ 1574 จุดอีกครั้ง
Support 1550 // 1545 จุด Resistance 1570-1580 จุด
พรรณนภา เขมะสุรัตน์ Technical Analyst เลขทะเบียน : 060110 Tel 02- 6481124 Email: [email protected]
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) : Morning Bell
Company Update & News Comment
(+) PTG : เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของค่าการตลาด
ปัจจัยและทิศทางตลาดหุ้นไทย
นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ การประกาศจะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส สัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำว่า นโยบายที่จะทยอยออกมา คงไม่ได้ง่ายนัก และจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ตลาดผันผวนในบางวัน
การก่อการร้ายในประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่งเมื่อคืนวันเสาร์ (3) ก่อนการเลือกตั้งของอังกฤษเพียงไม่กี่วัน ยังไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้ง แต่อังกฤษ อาจมีมาตรการตอบโต้ทางการทหารออกมาในภายหลัง ข่าวนี้ ทำให้ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งมีมากขึ้น
โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุม 14-15 มิ.ย.ยังไม่แน่นอน ตัวเลขเศรษฐกิจสหรับฯ สลับบวกสลับลบ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด (+1.38 ; คาด +1.85 แสนตำแหน่ง) แม้โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ จะขึ้นแตะ 89% (Bloomberg) ก็ตาม แต่หาก Fed เห็นว่ายังมีความเสี่ยงและนโยบายของ Trump ยังไม่กระตุ้นให้เศรษฐกิจให้ร้อนแรง ก็อาจไม่จำเป็นต้องรีบร้อนปรับดอกเบี้ย หรือจำนวนครั้งของการปรับอาจเพียงแค่ 2-3 ครั้งในปีนี้
คาดนักลงทุน จะรอดูสองเหตุการณ์ ในวันที่ 8 มิ.ย. คือการเลือกตั้งของอังกฤษ คะแนนนิยมของพรรคอนุรักษ์นิยม ทิ้งห่างจากพรรคแรงงานเพียง 3% (YouGov) หากพรรคแรงงานชนะ จะเป็นลบต่อตลาด ส่วนการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ดอกเบี้ยยังไม่น่าปรับขึ้น แต่ให้ดูถ้อยแถลงในเรื่องนโยบาย QE ว่าจะปรับลด QE หรือไม่หลังเดือน ธ.ค.60 (ล่าสุด วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน)
ราคาน้ำมันดิบ WTI มี downside risk การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความเสี่ยงของตลาด รวมทั้งตลาดไปกังวลต่อการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงไปที่ $45 เหรียญอีกครั้ง
ปัจจัยในประเทศ วันนี้ (5) ธปท.จะมีการแถลงแนวทางปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หลังเงินบาทวิ่งทะลุ 34.0 บาทลงไป คาดแถลงครั้งนี้ จะมีผลต่อ การนำเงินเข้ามาเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรที่จะลดลง (หรืออาจมาถึงตลาดหุ้นด้วย) เงินบาทน่าจะอ่อนค่าลง เป็นบวกมาถึงธุรกิจส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งใน 1Q-60 แต่เราคาดว่า ธปท.จะไม่ออกมาตรการที่รุนแรงจนกระทบต่อตลาดหุ้น
ทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดจะมีความผันผวนในกรอบแคบๆ จากความไม่แน่นอนของบรรดาตัวแปรต่างๆ โดยเฉพาะตัวแปรในต่างประเทศ และวันนี้ช่วงบ่าย การแถลงของ ธปท. ในเรื่องแผนปฎิรูปอัตราแลกเปลี่ยน จะมีผลต่อตลาดหุ้นด้วย ถ้าเนื้อหามีนัยยะหรือทำให้มีการเปลี่ยนในเรื่องเงินทุนเข้า-ออก
กลยุทธ์การลงทุน ช่วงสั้นๆ ตลาดยังขาดปัจจัยหนุนที่จะทำให้เดินหน้าต่อไปได้ นักลงทุนอาจเลือกที่จะลดพอร์ตลงเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงนี้ หรือเลือกเข้าลงทุนในหุ้นที่มีความเป็น Defensive ให้ผลตอบแทนด้านงินปันผลที่สูง และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยให้เน้นลงทุนในกรอบเวลาสั้นๆไปก่อน ………… สำหรับหุ้นที่เราคาดว่าอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุนในวันนี้ อาทิเช่น CPALL , PSH , BEM , TNR* , MEGA* , VIH*
* เป็นหุ้นที่แนะนำในเชิงกลยุทธ์ โดย KTBST ไม่ได้จัดทำบทวิเคราะห์
ประเด็นสำคัญ
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (2 มิ.ย.) - SET Index ปิดที่ระดับ 1,567.60 จุด เพิ่มขึ้น 4.49 จุด +0.29% มูลค่าการซื้อขาย 36,052.01 ล้านบาท เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ออกมาดี โดยคนเริ่มมองการเติบโตเศรษฐกิจโลกมากกว่าจึงไม่กังวลเรื่องการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อีกทั้งตลาดในแถบเอเชียแปซิฟิกปรับตัวขึ้นได้น้อยกว่าตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไม่ถึง 7% ขณะที่ตลาดอื่นในเอเชียปรับตัวขึ้นไป 15-20% ดังนั้นตลาดบ้านเราถือว่ายัง Laggard อยู่ และมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปได้อีก
ตลาดหุ้นต่างประเทศ - ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิด 21,206.29 จุด เพิ่มขึ้น 62.11 จุด หรือ +0.29% ได้ปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์, S&P 500 และ Nasdaq เดินหน้าทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดติดต่อกันเป็นวันที่ 2 อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในตลาดได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน จากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แม้ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.ของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์ก็ตาม โดย ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง -0.2% ปิดที่ 391.35 จุด โดยดัชนี FTSE 100 ปรับตัวขึ้น +0.2% ปิดที่ 392.55 จุด
ราคาน้ำมันดิบ WTI - สัญญาน้ำมันดิบ ลดลง 70 เซนต์ หรือ -1.5% ปิดที่ 47.66 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจาก "ความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ" จะส่งผลให้สหรัฐขุดเจาะและผลิตน้ำมันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 20
เศรษฐกิจโลก - ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ที่ระดับ 2.7% และคงคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561 ที่ระดับ 2.9% โดยระบุว่า การค้าและภาคการผลิตทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกเตือนว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง จากการที่หลายประเทศหันมาดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ โดยรายงานดังกล่าวอ้างอิงถึงนโยบาย "America First" ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
เศรษฐกิจสหรัฐ - กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 138,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 174,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.3% จากระดับ 4.4% ในเดือนเม.ย. โดยภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 147,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 9,000 ตำแหน่ง และยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนมี.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 79,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนเม.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 174,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 211,000 ตำแหน่ง
เศรษฐกิจสหรัฐ - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนเม.ย. โดยตัวเลขขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 5.2% ในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 4.76 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. หลังจากที่ขาดดุล 4.53 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. และหากปรับค่าตามเงินเฟ้อ สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. จากระดับ 6.07 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ตัวเลขส่งออกสินค้าและบริการลดลง 0.3% สู่ระดับ 1.910 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ขณะที่นำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 0.8% สู่ระดับ 2.386 แสนล้านดอลลาร์ นำโดยการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีมูลค่าพุ่งขึ้น 1.8 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าน้ำมันลดลง 1.9 พันล้านดอลลาร์
น้ำมัน - เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันสหรัฐ เปิดเผยรายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันรายสัปดาห์ พบว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 11 แท่น สู่ระดับ 733 แท่น และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 20 ติดต่อกัน เทียบกับระดับ 325 แท่นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การขุดเจาะน้ำมันที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกัน ซึ่งจะช่วยให้การผลิตน้ำมันของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีหน้า
กลุ่มพลังงาน - นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อรองรับสภาวะวิกฤตก๊าซธรรมชาติปี 64-66 ที่เกิดจากความล่าช้าการบริหารจัดการก๊าซฯในอ่าวไทย และความล่าช้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าราว 1,700 เมกะวัตต์ (MW) ซื่งเบื้องต้นอาจจะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) รวมถึงการเจรจาซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มเติมจากสัญญาในช่วงสั้น ๆ สำหรับโครงการที่มีศักยภาพ ทั้งโครงการน้ำเทิน 1 ,ไซยะบุรี โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้ราว 400-500 เมกะวัตต์ รวมถึงการเจรจาขอซื้อก๊าซฯจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะสรุปแผนชัดเจนได้ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้
News Release :
กลต.ตั้งคำถามมิทซึจิ ก่อนเงื้อมดาบเชือด!! โบรกฯส่ายหน้าแนะเลี่ยงลงทุนหุ้น GL
+ ก.ล.ต. สั่ง "มิทซึจิ โคโนชิตะ" ผู้บริหาร "กรุ๊ปลีส" (GL) แจงกรณีถูกลงโทษจากหน่วยงานกำกับดูแลในญี่ปุ่นภายใน 7 วัน เผยข้อมูลที่ ก.ล.ต.ได้รับจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่าได้ลงโทษทางปกครองนายมิทซึจิจริง สวนทางกับการให้ข่าวว่าไม่มี ก่อนมีบทลงโทษต่อไปนักวิเคราะห์เผยไม่มีใครเชื่อคำพูดผู้บริหาร GL จึงไม่ทำบทวิเคราะห์ หรือหากมี ก็แนะนำ "ขาย" พร้อมจับตางบ Q2 ยันลงทุนที่ศรีลังกา เมื่อหลักประกันด้อยค่าลง ยังไงก็ต้องตั้งสำรองฯ(ข่าวหุ้น)
AOT วิ่งหาเป้า 47.50 บาท 7 เดือนผู้โดยสารโต7.4%
+ "AOT" วิ่งหาราคาเป้าหมาย 47.50 บาท ข่าวดียอดนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวพุ่งแตะ 8 แสนรายต่อเดือน พ้นวิกฤติทัวศูนย์เหรียญ โชว์ยอดผู้โดยสาร 7 เดือนแกร่ง 76 ล้านคน โต 7.4% หนุนราคาหุ้นวิ่งบวกนิวไฮในรอบ 14 ปี
(ข่าวหุ้น)
GGC ลุ้นงบQ2 กำไรโตเด่น ซื้อเป้า17บาท
+ "GGC" มีลุ้นผลงานไตรมาส 2/60 กำไรโตเด่น รับอานิสงส์นโยบายภาครัฐหนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพใช้ B7 โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" การันตีพื้นฐานแกร่ง กำหนดราคาเป้าหมาย 17 บาท(ข่าวหุ้น)
วัดใจแปลง'IVL-W1' เข็นหุ้นแม่เกิน 40 บ.
+ จับตาดันราคา IVL เกิน 40 บาท จูงใจนักลงทุนแปลงสิทธิ IVL-W1 รวม 481 ล้านหน่วย อัตรา 1:1 ในราคาหุ้นละ 36 บาท เปิดโอกาสใช้สิทธิแปลงครั้งสุดท้าย 24 ส.ค.นี้ หวังระดมทุน 1.7 หมื่นล้านบาท โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" เป้าราคา 42 บาท คาดปีนี้ฟาดกำไร 1.4 หมื่นล้านบาท โตแกร่ง 47% (ข่าวหุ้น)
BPP สบช่องเทกโอเวอร์ โรงไฟฟ้า 1700 เมกะวัตต์
+ BPP เตรียมลุยประมูลโรงไฟฟ้า SPP-VSPP เต็มสูบหลังกระทรวงพลังงานเตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้าเร็วๆนี้พร้อมเดินหน้าเทกโอเวอร์พลังงานอีก 1700 เมกะวัตต์แย้มศึกษาพลังงานใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย และพลังงานหมุนเวียน พลังงานลม-น้ำ-โซลาร์ฟาร์มในลาว เมียนมาและกัมพูชา คาดเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3-4/2560 นี้ การันตีผลงานทั้งปีสดใส (ทันหุ้น)
LHK เดินเกมทำดีล M&A ยานยนต์บูมดันยอดพุ่ง
+ LHK ลุยทำดีล M&A หวังยกระดับธุรกิจ บิ๊ก "ประสาน อัครพงศ์พิศักดิ์" ทุ่มงบก้อนโต 500-1,500 ล้านบาท แถมมีกระแสเงินสูง-กำไรสะสมกว่า 513 ล้านบาท D/E ต่ำ 0.46 เท่า เชื่อดีล M&A ฉลุย ส่วนงบทั้งปี 2560/61 (เม.ย.60-มี.ค.61) สดใส โชว์กลยุทธ์การบริหารจัดการต้นทุนเพื่อสร้างกำไร ปูพรมรายได้โต 5-10% เด้งรับกลุ่มยานยนต์-บิ๊กโปรเจ็กต์รัฐ-EEC หนุนฐานโต(ทันหุ้น)
BJC การันตีเติบโตทุกธุรกิจ ทุ่มหมื่นล.อัพฐานแกร่ง
+ BJC ตั้งเป้าโกยรายได้รวมปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1.37 แสนล้านบาท พร้อมอัดฉีดงบลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขยายสาขาของ BIGC ทั้งในและต่างประเทศ หนุนยอดขายเพิ่มและลงทุนเตาหลอมหวังเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของ BJC ส่วนดีลคาดถอน BIGC ออกจากตลท.ลุ้นผู้ถือหุ้นไฟเขียวมิถุนายนนี้(ทันหุ้น)
'SMT' เทิร์นอะราวด์ คว้าออเดอร์ล็อตใหม่ ปักธงรายได้ 3.4 พันล.
+ SMT ฟุ้งผลงานครึ่งแรกปี 2560 เทิร์นอะราวด์ จากช่วงครึ่งหลังปีก่อนที่ติดลบ หลังปริมาณออเดอร์เร่งตัวขึ้น แถมเดินหน้าเจรจาลูกค้าใหม่ 7 ราย ปักธงทั้งปี 2560 รายได้แตะ 3.4 พันล้านบาท ฟากโบรกชี้ "ธุรกิจพ้นจุดต่ำสุด" มั่นใจช่วงที่เหลือของปีผลงานพุ่งต่อเนื่อง แนะนำ "ซื้อ" ราคา เหมาะสม 7.25 บาท(ทันหุ้น)
นักวิเคราะห์ : มงคล พ่วงเภตรา
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
License No: 001937 Tel: 02-648-1123 และทีมวิเคราะห์