- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 24 May 2017 17:48
- Hits: 1455
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนีฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการนำของหุ้นใหญ่นนกลุ่ม ธ.พ และน้ำมัน พร้อมกับการกลับมาซื้อของต่างชาติ จากที่ตลาดหุ้นไทยมีค่า Expected P/E ต่ำกว่าหุ้นหลายแห่งทั่วโลก จึงคาดดัชนีน่าจะแกว่งตัวเชิงบวก 1,560-1,572 จุด กลยุทธ์เน้นหุ้น 40% ของเงินลงทุน ผสมหุ้น Domestic และหุ้น Global (SCB, LANNA,) Top picks VNG([email protected]), PTTEP(FV@B116) และ SCB(FV@B178)
Dollar Index ใกล้ฟื้น หลังอ่อนค่ากว่า 6.5% ช่วง 2 เดือน
หลังจากที่ตลาดผิดหวังต่อการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะการปฎิรูปโครงสร้างภาษี ล่าสุดพบว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เริ่มจากดัชนีภาคการผลิต คือ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ของสถาบันมาร์กิต เดือน พ.ค. ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 52.5 จุด เช่นเดียวกับฝั่งผู้บริโภค พบว่ายอดขายบ้านใหม่(New home sales) ในเดือน เม.ย. กลับมาหดตัวอีกครั้ง -11.4%mom อยู่ที่ระดับ 5.69 แสนหลัง เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน และราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สต็อกบ้านใหม่ลดลง ทั้งนี้ขัดแย้งกับยอดค้าปลีก(Retail sale) เดือน เม.ย. ที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน และตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งสะท้อนจากอัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. ลดลงสู่ระดับ 4.4% (ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนพ.ค.2550) หนุนให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ล่าสุด อยู่ที่ 2.2%yoy สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เชื่อว่าจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 2 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 5 ครั้งในปีนี้ โดยการประชุม Fed ครั้งถัดไป 13-14 มิ.ย.จากผลสำรวจ Bloomberg คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.25% ด้วยความน่าจะเป็น 100%
ปัจจัยดังกล่าวได้กดดัน Dollar Index อ่อนค่ากว่า 4.5% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับเงินยูโรที่แข็งค่ากว่า 6.5% ในช่วงเดียวกัน (และเงินปอนด์แข็งค่า 6.2%) ทำให้มีโอกาสที่ Dollar Index จะฟื้นตัวในช่วงสั้น ๆ ได้ก่อนที่จะมีประชุม Fed ในรอบถัดไปคือ 13-14 มิ.ย. ขณะที่การเลือกตั้งนายกฯ ในอังกฤษ วันที่ 8 มิ.ย. นี้ ผลสำรวจล่าสุด ยังเชื่อว่า นางเทราซา เมย์ฯ มีโอกาสได้รับเลือกเป็นนายกฯ ต่อไป และยังเดินหน้าออกจากสหภาพยุโรป ตามการลงประชามติของประชาชนเมื่อ กลางปี 2559 ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันยุโรปในระยะกลางและยาว ขณะที่ยังมีปัญหาการก่อการร้ายในยุโรปเป็นระยะ ๆ ซึ่งกดดันค่าเงินยูโร
ขณะที่ไทย การประชุม กนง. วันนี้ (14.00 น.ตามเวลาไทย) คาดยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% (ติดต่อกันตั้งแต่ เม.ย. 2558) หลังจากในช่วงกลาง พ.ค. ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อย (MRR) ลง 0.5% ตามที่กระทรวงการคลัง ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งถือว่าเป็นการสวนกระแสโลก และการลดดอกเบี้ยรอบนี้น่าจะเกิดขึ้นครั้งเดียว
ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นทุกในภูมิภาค และกลับมาซื้อไทย
ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 154 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นเกาหลีใต้เพียงแห่งเดียวที่สลับมาขายสุทธิ 27 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกันกว่า 5 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 แห่งต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 110 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 51 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทย 50 ล้านเหรียญ หรือ 1.7 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่งผลให้ยอดซื้อสะสมสุทธิในเดือน พ.ค. (mtd) พลิกกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยมีมูลค่าราว 660 ล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่วานนี้ยังคงซื้อสุทธิราว 1.4 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 6)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1.6 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 1.2 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 3 วัน)
ตลาดหุ้นสหรัฐมีแนวโน้มทรง-ลง ส่วนตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวแต่อยู่ในกรอบจำกัด
ประเด็นที่ตลาดให้น้ำหนักในช่วงสั้น ๆ คงเป็นผลการประชุม OPEC ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ซึ่งตลาดเชื่อว่าจะมีการยืดระยะเวลาการคงกำลังการผลิตน้ำมันจากที่ครบกำหนดในเดือน มิ.ย. นี้เป็น มี.ค. 2561 ซึ่งทำให้ปัญหา Oversupply ของน้ำมันดิบโลกจะค่อย ๆ ลดลงและเข้าสู่สมดุลได้ในเวลาที่กำหนด
และถัดไปเป็นการประชุมธนาคารสหรัฐ (Fed) ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่จะถึง ซึ่งผลสำรวจของ Bloomberg คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยฯ 0.25% และน่าจะขึ้นอีก 1-2 ครั้งในการประชุมที่เหลือของปีนี้ 4 ครั้งหลังจากนี้
ถือว่าตลาดหุ้นโลกไม่มีประเด็นใหม่ ๆ เพิ่มเติม จึงคาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐ น่าจะมีแนวโน้มทรงกับลง หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐได้ทำ จุด Peak ไปแล้ว เป็นการตอบรับด้านบวกต่อนโยบายปรับโครงสร้างภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (ตลาดหุ้นสหรัฐทั้ง Dow Jones, S&P500 และ NASDAQ ปรับตัวขึ้นกว่า 14% โดยนับตั้งแต่ 8 พ.ย. 2559 จนถึงปัจจุบัน) แต่การที่นายทรัมป์ฯ ไม่สามารถผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงไว้ รวมถึงความไม่มั่นคงในตำแหน่งทางการเมืองของทรัมป์ ได้กดดันความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและค่าเงินดอลลาร์ดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้ความหวังที่บริษัทจดทะเบียนตลาดสหรัฐจะปรับเพิ่มกำไรสุทธิในปี 2560 มีน้อยลง ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐก็ซื้อขายกันด้วย Expectec P/E ที่ค่อนข้างแพง ที่ระดับ 17.3-18.4 เท่า
ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรป การผ่อนคลายความกังวลต่อเสถียรภาพของสหภาพยุโรป หลังการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ปรากฏว่ากลุ่มที่ต้องการให้ประเทศของตนอยู่ในสหภาพยุโรป ต่อไปเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง หนุนให้เงินยูโรเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม พบว่าตลาดหุ้นยุโรปมีค่า Expected P/E ที่ยังถูกกว่าสหรัฐ โดยตลาดหุ้น STOXX มี P/E อยู่ที่ 16 เท่า CAC40 ฝรั่งเศสอยู่ที่ 15.8 เท่า และ FTSE100 อังกฤษอยู่ที่ 15.3 เท่า เป็นไปได้ที่จะมีการโยกเงินจากตลาดหุ้นสหรัฐมายังตลาดหุ้นยุโรป
ขณะที่ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเซีย ยังเห็นกระแส Fund Flow ไหลเข้าในกลุ่มประเทศเอเชียเหนือ (เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ในเดือน พ.ค. ซื้อสุทธิกว่า 1.60 และ 1.41 พันล้านเหรียญฯ ตามลำดับ) เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศ TIP อย่าง อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ที่กลับมาซื้อสุทธิสะสมในช่วงหลัง ๆ รวมถึงไทยที่เพิ่งพลิกจากขายสุทธิเป็นซื้อสุทธิ
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังคงมี Expected P/E ที่ไม่สูงนัก อยู่ที่ 15.4 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 16.4 เท่า มาเลเซียที่ 16.6 เท่า และฟิลิปปินส์สูงสุดที่ 19 เท่า จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมะสมในการสะสมหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636