- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 23 May 2017 17:18
- Hits: 2493
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนี เริ่มฟื้นตัวแต่น่าจะมีกรอบจำกัด 1,550-1,564 จุด หลังตอบรับผลประกอบการงวด 1Q60 และต่างชาติชะลอการขายและสลับมาซื้อ นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ฟื้นตัว จากความหวังว่าผู้ผลิตน้ำมันโลกจะคงการผลิตอีกระยะหนึ่ง กลยุทธ์ให้เลือกหุ้น PER ต่ำ+มีเงินปันผลสูง (LANNA) Top picks VNG([email protected]) และ PTTEP(FV@B116)
สินค้านำเข้ายังเน้นผลิตเพื่อส่งออก สะท้อนการลงทุนเอกชนยังไม่ฟื้นตัว
กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศเดือน เม.ย. 2560 มีสัญญาณที่ดีขึ้นต่อเนื่อง กล่าวคือ ยอดส่งออก(X) ในรูปดอลลาร์ ขยายตัว 8.5%yoy(ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2) แม้ชะลอตัวเล็กน้อยจากอัตรา 9.22%yoy ใน มี.ค. (เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 5.7%yoy) โดยยอดส่งออกที่ดีขึ้นในเดือนนี้ มาจากสินค้าหมวดยางเพิ่มขึ้น 54.3%yoy, เคมีภัณฑ์เพิ่ม 30.68% , น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่ม 22.33% เม็ดพลาสติกเพิ่ม 4.99% อัญมณีและเครื่องประดับ 2.37% (ยอดส่งออกรวม 5 รายการคิดเป็น 18.8% ของยอดส่งออกรวม) และหากพิจารณาตลาดส่งออกพบว่าตลาดอาเซียนเพิ่มมากสุด 13.2% โดยเฉพาะจีนเพิ่มขึ้น 20.2%, ขณะที่ตลาดพัฒนาแล้วเพิ่มในอัตราน้อยกว่า เช่น สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5%yoy ญี่ปุ่นเพิ่ม 3.3%, ยกเว้น ยุโรป (15 ประเทศ) ยังหดตัว 1.7%
ขณะที่การนำเข้า(M) ในเดือนเดียวกันขยายตัว 13.4%yoy แต่ชะลอจาก 19.3%ในเดือน มี.ค. (เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 14.5%yoy) หลักๆเป็นการนำเข้าสินค้ากึ่งวัตถุดิบได้แก่ เชื้อเพลิง อาทิ เพชร พลอย และอัญมณี เพิ่มขึ้น 80.27% yoy รองลงมาคือ แผงวงจรไฟฟ้า 46.6%, น้ำมันดิบ 30.26% , สินแร่โลหะเพิ่ม 20.7%yoy, เคมีภัณฑ์ 9.59% (ยอดนำเข้ารวม 5 รายการคิดเป็น 29% ของยอดนำเข้ารวม) จะเห็นว่าสินค้านำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเพื่อส่งออก มิใช่สินค้าทุน อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งทำให้เกิดการลงทุน และการบริโภค สะท้อนว่าการลงทุนเอกชนยังไม่ฟื้นตัว
และพรุ่งนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%(ติดต่อกันตั้งแต่ เม.ย. 2558) หลังจากในช่วงกลาง พ.ค. ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อย (MRR) ลง 0.5% ตามที่กระทรวงการคลัง ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งถือว่าเป็นการสวนกระแสโลก จึงคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นเพียงสั้น ๆ เท่านั้น
ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
หลังจากตลาดหุ้นไทยปรับฐานมาระยะหนึ่งสะท้อนผลประกอบการงวด 1Q60 และ การจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ขณะที่ปัจจัยภายนอกเริ่มผ่อนคลาย โดยเฉพาะการเมืองในยุโรป และ ราคาน้ำมันดิบโลกที่ฟื้นตัว ด้วยความคาดหวังว่า Oversupply ของน้ำมันจะเข้าสู่ภาวะสมดุลตามคาด หากผู้ผลิตน้ำมันโลกยังคงร่วมมือกันคงกำลังการผลิตไปถึง มี.ค. ปีหน้า คงต้องติดตามผลการประชุม OPEC วัน 25 พ.ค. และ Dollar Index ที่อ่อนค่าต่อเนืองเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ล้วนเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน
เช่นเดียวกับ Fund Flow หลังจากที่ขายสุทธิตลาดหุ้นภูมิภาค ได้กลับซื้อสลับขายเป็นระยะ โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP และวานนี้ ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคกว่า 361 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทุกประเทศ นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 267 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 51 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยไต้หวัน 33 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน), ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิราว 5 ล้านเหรียญ หรือ 184 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ยังคงซื้อสุทธิราว 1.2 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 5.3 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 1.4 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
ดัชนีฟื้นตัวด้วยหุ้น ธ.พ./พลังงาน หุ้นปันผล VNG และ PTTEP
เชื่อว่าการปรับฐานของดัชนีหุ้นไทยน่าจะใกล้สิ้นสุด หลังจากที่รับรู้ผลประกอบการงวด 1Q60 และ มีการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว ภาพดัชนีในช่วงที่เหลือของเดือน พ.ค. น่าจะทรงตัว หรือเคลื่อนไหวในกรอบ 1,550-1,564 จุดได้ และ ดังที่ได้นำเสนอไปในหลายวันที่ผ่านมาว่า ในเดือน มิ.ย. ตลาดหุ้นไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว หากพิจารณาพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยโดยอิง EPS ตลาดปี 2560 ที่หุ้นละ 101.36 บาท พบว่า Expected P/E 15.3 เท่า ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค ยกเว้นเพียงตลาดจีนเท่านั้น ที่มี P/E เพียง 14 เท่า และเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วที่มี Expected P/E ค่อนข้างสูงที่ระดับ 16 – 18 เท่า จึงเห็นว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่ถูกกว่า จุดนี้จึงน่าสะสม
และ นับว่าสอดคล้องกับ จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งพบว่า ดัชนีมักปรับตัวขึ้น 4 จาก 5 ปี เฉลี่ยราว 0.5% โดยกลุ่มฯ ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดฯ นำโดยหุ้นพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ ลิสซิ่ง ยานยนต์ และ โรงพยาบาล รายละเอียดดังปรากฏใน Market Talk วานนี้
นอกจากนี้ยังมีรายตัวที่คาดว่าจะมีความโดดเด่นในเรื่องผลประกอบการในงวดถัดไป คือ MCS (FV@B19) โดยราคาหุ้นได้ลดลงกว่า 14% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เพราะผลประกอบการงวด 1Q60 ไม่สดใส ซึ่งเป็นช่วงที่มีการส่งมอบงานเก่า และเป็นช่วงรอยต่อของการเริ่มงานใหม่ แต่คาดผลประกอบการจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่ 2Q60 เป็นต้นไป ตามงวดส่งออกที่ชัดเจนนับจาก 2H60
และจุดเด่นช่วงสั้น คือ การซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ โดยจะใช้เงินทุนภายใน จากที่มีฐานะการเงินสดสุทธิ สูง 1 พันล้านบาท) โดยการซื้อหุ้นคืนครั้งนี้ วงเงินไม่เกิน 380 ล้านบาท และกำหนดหุ้นซื้อคืนไม่เกิน 23 ล้านหุ้น (4.6% ของทุนเรียกชำระแล้ว) ซึ่งเท่ากับราคาขายเฉลี่ย 16.52 บาทต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด 10% ขณะที่ราคาหุ้นมี PER ต่ำ 8.6 เท่า และ Dividend Yield 6.8%
และ VNG ([email protected]) หลังผลประกอบการงวด 1Q60 ตกต่ำ จากผลกระทบของภัยน้ำท่วมหนักภาคใต้เมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มฟื้นแรงใน 2Q60 เพราะนอกจากกลับมาผลิตตามปกติ ยังดไ เข้าสู่ช่วง High Season และ การผลิตสินค้าที่มี Margin สูง ก็จะเริ่มสร้างรายได้เข้ามาเต็มที่ตั้งแต่ 2Q60 เป็นต้นไป ส่วน 3Q60 VNG เตรียมลงทุนใน 3 ทางเลือกเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีโอกาสปรับ Fair value ได้อีก 2 บาท เป็น 18.20 บาท จาก 16.20 บาท หากได้รับคัดเลือกให้ทำโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 20 MW ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี PER ต่ำราว 12 เท่า และยังมี Dividend Yield 4.3%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636