- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 27 April 2017 17:37
- Hits: 1820
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หุ้นธนาคารทรงตัว หลังตอบรับงบ 1Q60 แล้ว ตลาดน่าจะมี sentiment เชิงบวก จาก SCC ที่กำไรดีกว่าคาด และ ASPS ปรับเพิ่มกำไรขึ้นจากเดิม 8.4% แม้มีแรงกดดัน AOT ที่ต้องจ่ายค่าเช่าสนามบินภูมิภาคเฉพาะที่มีกำไรเพิ่มอีก 3% กดดันดัชนีแกว่งตัว 1560-1575 จุด แนะสะสม 1) หุ้น net cash (STEC) 2) EPS Growth สูง+upside (LPH, PTT) 3) หุ้น Turnaround (RS, JWD) และ 4) PER ต่ำ&เงินปันผลสูง (IRPC, THANI) Top picks: IRPC([email protected]), RS([email protected])
ตลาดหุ้นสหรัฐเดินหน้าต่อ?? …ขึ้นกับรัฐสภาอนุมัติแผนลดภาษีทั้งระบบ???
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้า เสนอปรับลดทั้งการลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 3 ขั้นจาก 7 ขั้น และลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% จาก 35%
การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อต่อประชาชนทุกกลุ่ม และกำไรของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ช่วยเพิ่มกำลังซื้อต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งการลดภาษีบุคคลธรรมดา ลดภาษีนิติบุคคล และภาษีมรดก ทั้งนี้แนวคิดการลดภาษีครั้งนี้ถือว่า ถอดแบบมาจากสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคเดียวกัน) ซึ่งเคยปฎิรูปกฎหมายภาษีครั้งใหญ่ในช่วงปี 2529-2531 โดยปรับลดทั้งภาษีนิติบุคคลเหลือ 34% จาก 46% และลดภาษีบุคคลธรรมดาลงเหลือ 15-28% ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐและหนุนให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้นขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ประเด็นดังกล่าวมิใช่เรื่องใหม่ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐตอบรับด้านบวกสั้น ๆ และยังติดแนวต้านเดิมที่ทำไว้ เนื่องจากการใช้ภาษีใหม่ทั้งระบบต้องได้รับ ความเห็นชอบจากสภาคองเกรสฯ ซึ่งอาจจะกินเวลาหรือมีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับการพิจารณาผ่าน เหมือนกรณีก่อนหน้าปลายเดือน 24 มี.ค.รัฐบาลทรัมป์ล้มเหลวจากการผลักดันนโยบายหลักเกี่ยวกับกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่(Trump care) ที่จะมาแทน Obamacare ของเดิม (ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ มีมติไม่ผ่าน กล่าวคือ เสียงสนับสนุนของ ส.ส.ในสภาไม่เพียงพอ คือ น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. จากทั้งหมด 435 เสียง)
นอกจากนี้ ประเด็นเพดานหนี้สาธารณะที่กำลังเข้าใกล้ขีดจำกัดสูงสุด และผ่านร่างงบประมาณใหม่ หากสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐ ไม่อนุมัติขยายกรอบเพดานหนี้ดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 29 เม.ย. อาจจะทำให้ เกิด Shut down ดังเช่นวันที่ 1-17 ต.ค.2556 (หน่วยราชการสหรัฐหยุดทำงาน)
และวันนี้ ติดตามผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)และธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ซึ่งคาดว่าจะยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายเช่นเดิม โดยไม่มีอะไรใหม่ (ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยฯ 0% ซึ่งติดต่อตั้งแต่ มี.ค. 2559) และคงวงเงิน QE ที่ลดเหลือเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรมีผล เม.ย. 2560 จนถึง ธ.ค. 2560) ขณะที่ BOJ จะคงดอกเบี้ยฯ ที่ -0.1 โดยรวมการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกจะสิ้นสุดการผ่อนคลายและเข้าสู่ภาวะตึวตัวตามสหรัฐ(Fed)
รัฐรีดค่าเช่าสนามบินเฉพาะที่มีกำไรจาก AOT อีก 3% กระทบ Cash Flow
ปัจจัยกดดันต่อ AOT ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเรียบเก็บค่าเช่าในการใช้สนามบิน โดย กรมธนารักษ์ ขอเจรจาเปลี่ยนเงื่อนไข การเก็บค่าเช่าใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ภายหลังจากใช้งานครบ 10 ปี (ปี 2550-2559) โดยครอบคลุมการเช่าสนามบินทุกแห่งทั่วประเทศ มิใช่เพียงสนามบินสุวรรณภูมิ แต่รวมถึงสนามบินอื่นอีก 4 แห่ง คือ เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ และ ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเก็บอัตราร้อยละ 2 ของรายได้ โดยต้องการเก็บเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 5 เท่ากับที่เก็บอยู่ที่สนามดอนเมือง
เงื่อนไขล่าสุด กรมธนารักษ์ ต้องการเก็บค่าเช่า สนามบินภูมิภาคเฉพาะที่มีกำไร (เชียงใหม่ และ ภูเก็ต สนามบินที่เหลือขาดทุน) จากเดิมที่คิดบนกำไรในอัตราร้อยละ 5% ของรายได้ ซึ่งส่วนนี้ ประเมินในเบื้องต้นน่าจะกระทบต่อกำไรสุทธิปีละ 100 ล้านบาท ตั้งแต่งวดบัญชี 3Q60 เป็นต้นไป (สิ้นสุด ก.ย. 2560) ซึ่งหมายถึงกระทบต่อกำไรสุทธิหลังหักภาษีในปี 2560 2 ไตรมาส เพียงราว 40 แต่ในปี 2561 เต็มปีราว 80 ล้านบาท จึงกระทบต่อมูลค่าพื้นฐานราว 0.1 บาท
แต่อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์ต้องการเก็บย้อนหลังไป 10 ปี (2550-2559) ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงต้องมีการปรับผ่านส่วนของผู้ถือหุ้น (กระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นราว 0.9 บาทต่อหุ้น) แต่จะมีการจ่ายเงินสดออกไปจริง (กระทบกระแสเงินสด) ราว 1.26 พันล้านบาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรมธนารักษ์ต้องการจะเก็บค่าเช่าที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มจากเดิมที่ คิดในอัตรา ร้อยละ 5 เพิ่มเติมผลตอบแทนจากการใช้ประโยชน์บนสินทรัพย์ ซึ่งทำให้ค่าเช่าใหม่เฉพาะที่สุวรรณภูมิเท่ากับ อัตราร้อยละ 5 ของรายได้ + ผลตอบแทนบนทรัพย์สินที่ใช้เชิงพาณิชย์ (ROA) แต่ในรายละเอียดยังคงต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้งราวงวด 3Q60
ในเบื้องต้นนักวิเคราะห์ ASPS ประเมินว่าส่วนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกินจากที่จ่ายอยู่ปีละ 1,300 ล้านบาท หรือกรณีเลวร้ายสุดเป็น 2 เท่าจากของเดิมคือ 2,600 ล้านบาท ทั้งจากหากศึกษาผลกระทบความอ่อนไหวของค่าใช้จ่ายกล่าวต่อ มูลค่าพื้นฐานพบว่า ทุกๆ 500 ล้านบาทที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม จะกระทบมูลค่าพื้นฐานราว 0.8 บาท หรือหากเพิ่มอีก 1,000 ล้าบาท จะกดดันมูลค่าพื้นฐาน 1.60 บาท หรือจะกดดันมูลค่าปัจจุบันที่ 44.8 บาท ลดเหลือ 44 บาท และ 43.2 บาทตามลำดับ จะเห็นว่า Upside จำกัด โดยภาพรวมจึงยังคงคำแนะนำให้ Switch ไป BA([email protected]) ที่ยังมี Upside 36%
SCC กำไรดีเกินคาด..ปรับเพิ่มกำไร 8.4% แต่มูลค่าหุ้นปรับเพิ่ม 1.6%
วานนี้ SCC (FV@B620) รายงานกำไรสุทธิ 1Q60 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.74 เติบโตถึง 39.3%qoq และ 28.9%yoy ดีกว่าคาด ปัจจัยหนุนมาจากธุรกิจปิโตรเคมี (76% ของกำไรสุทธิในไตรมาสนี้) โดยยอดขายเติบโตและ Spread ของผลิตภัณฑ์หลักที่ทรงตัวระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุน (หลังหักภาษี) ในธุรกิจปิโตรเคมีและ Packaging รวมกันถึง 1.9 พันล้านบาท ขณะที่ธุรกิจหลักอื่นๆ ทั้ง ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ packaging กำไรปกติเพิ่มขึ้น 25%yoy และ 5%yoy ตามลำดับ จากผลกระทบด้านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานและค่าเสื่อมราคา สำหรับแนวโน้มกำไรช่วงที่เหลือของปีน่าจะอยู่ในช่วง 1.2-1.4 หมี่นล้านบาท/ไตรมาส หากไม่มีรายการพิเศษอื่นใดเข้ามา โดยองค์ประกอบหลักๆ ยังคงมาจากธุรกิจปิโตรเคมีที่น่าจะดีต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี จาก Supply ทั่วโลกที่มีออกมาอย่างจำกัด ทำให้วัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมีในรอบนี้ยาวนานกว่าปกติ ส่วนธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ Packaging แม้จะมีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายเติบโตแต่แรงกดดันด้านต้นทุนยังคงเป็นปัจจัยกดดันอัตรากำไรในระยะสั้น อย่างไรก็ตามวัฏจักรการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ น่าจะทำให้ธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กลับมาโดดเด่นขึ้นในปี 2561 เป็นต้นไป
ด้วยผลประกอบการ 1Q60 ที่โดดเด่น ทำให้ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2560 ขึ้นอีก 8.4% เป็น 57,097 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการสร้างกำไร New High ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ส่งผลให้ Fair value เพิ่มขึ้นจาก 610 บาท เป็น 620 บาท มี Upside จากราคาปัจจุบัน 13.14% บวกกับ Dividend Yield อีก 3.47% แนะนำ ซื้อ
โดยฝ่ายวิจัยยังชอบ SCC มากที่สุดในกลุ่มฯ เนื่องจากมีการ Diversified ไปยังธุรกิจต่างๆ สร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่อง ทั้งยังมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง Net Gearing เพียง 0.6 เท่า และมีงบลงทุนในปีนี้สูงถึง 6-7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ระดับ Expected P/E ราว 12.4 เท่า และ Dividend Yield ราว 3.4% เทียบกับ SCCC (switch : FV@B275) ที่มีรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเพียงอย่างเดียว ทั้งยังมี Expected P/E ที่สูงถึง 18.2 เท่า และ Dividend Yield ลดลงเหลือ 3.6% ขณะที่ TPIPL (ซื้อ : [email protected]) มีรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจโรงไฟฟ้าจากบริษัทลูก TPIPP (ถือหุ้น 70.24%) แต่ Valuation ยังค่อนข้างแพง คือ Expected P/E สูงถึง 32.8 เท่า และ Dividend Yield ค่อนข้างต่ำเพียง 1.3%
ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัว แม้สต็อกลดลงมากกว่าคาด
วานนี้สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.12% มาอยู่ที่ 49.62 เหรียญฯต่อบาร์เรล แม้ว่าสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ (EIA) จะรายงานสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ 19 เม.ย. 60 ลดลงมากกว่าที่ตลาดฯคาด โดยลดลงถึง 3.641 ล้านบาร์เรล ขณะที่ตลาดฯคาดว่าจะลดลงเพียง 1.661 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ล่าสุดปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับ 9.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.2558 โดยผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง อีก 5 หลุม มาอยู่ที่ 688 หลุม และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 14 ส่งผลให้ทาง EIA คาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 60 จะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี นอกจากนี้ตลาดยังรอสัญญาณความชัดเจนในการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 172 ในวันที่ 14 - 25 พ.ค. 2560 นี้
สรุปคือยังไม่มีประเด็นใหม่ๆเข้ามาหนุนหุ้นน้ำมัน ในระยะสั้นจึงแนะนำให้หันไปลงทุนในหุ้นปิโตรเคมีที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่า อย่าง IRPC([email protected]) ซึ่งมีแนวโน้มกำไรงวด 1Q60 เติบโตโดดเด่นกว่า 48.3%qoq และอาจเป็นเซอร์ไพรส์ เพราะเดิมคาดกำไรจะลดลง อีกทั้งตั้งแต่งวด 2Q60 สามารถกลับมาเดินเครื่องด้วย UHV เต็มกำลัง และอานิสงค์จากโครงการ Everest ยิ่งหนุนให้กำไรของ IRPC แข็งแกร่งนับจากนี้
ต่างชาติยังซื้อสุทธิตลาดหุ้นภูมิภาคทุกแห่ง ยกเว้นไทย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่าสูงถึง 801 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิถึง 4 ประเทศคือ ไต้หวัน 387 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 290 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) อินโดนีเซีย 143 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 15) และฟิลิปปินส์ 12 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ยกเว้นไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 31 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.0 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) อย่างไรก็ตามต่างชาติยังซื้อสุทธิในสัญญา SET50 Index Futures กว่า 9,749 สัญญา (โดยซื้อสุทธิตลอดทั้งเดือน เม.ษ. กว่า 3.23 หมื่นสัญญา) ส่วนสถาบันฯในประเทศวานนี้สลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยราว 1.2 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 3 พันล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ยังคงซื้อสุทธิราว 3.1 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 วัน)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636