- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 05 April 2017 16:59
- Hits: 12877
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ยังมีปัจจัยกดดันภายนอก ทั้งการกีดกันทางการค้าสหรัฐ และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น หลังจีนขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งติดกัน และเข้าสู่เดือน เม.ย. ซึ่งมีวันหยุดยาว แต่ข้อมูลในอดีตพบว่าตลาดหุ้นไทยกลับให้ผลตอบแทนเป็นบวก หรือเกิดเหตุการณ์ April’s Rally และหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกคือ PTT, PTTEP, SCC, SNC, BDMS, RS Top picks: BDMS([email protected]), PTTEP(FV@B116)
(0) ดอกเบี้ยขาขึ้น และการกีดกันทางการค้าสหรัฐ ยังมีน้ำหนักต่อตลาด
ปลายสัปดาห์นี้ 6-7 เม.ย. นี้ ตลาดน่าจะให้ความสนใจต่อการพบปะครั้งแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับประธานาธิบดี สีจิ้นผิงของจีน ที่รัฐ Florida ซึ่งต้องติดตามผลการเจรจาการค้า 2 ประเทศจะได้ข้อสรุปอย่างไร หลังจากปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ทรัมป์ ได้ลงนามเตรียมการตอบโต้ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ 16 ประเทศ โดย จีน ได้ดุลการค้าสหรัฐมากที่สุดราว 40% ของการที่สหรัฐขาดดุลทั่วโลกทั้งหมด รองลงมาคือ เยอรมนี ญี่ปุ่น เป็นต้น
มาตรการตอบโต้ทางการค้าที่สหรัฐจะนำมาใช้คือขึ้นเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 35% กับสินค้าที่นำเข้าในลำดับต้นๆ คือ หมวดยานยนต์ ที่ปัจจุบันถูกจัดเก็บเพียง 2.5-10% และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ถูกจัดเก็บอัตรา 2.4-12.5% โดยสินค้าที่จีน ส่งออกไปสหรัฐมากคือ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนเครื่องมือสื่อสาร สัดส่วนราว 43.8% ของยอดส่งออกทั้งหมดของจีน และหมวดยางรถยนต์ราว 4.4%
ขณะที่ล่าสุด ธนาคารกลางจีน(PBOC) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยปรับขึ้นเฉพาะดอกเบี้ยระยะสั้น (SLF) 0.1-0.2% ขึ้นกับระยะเวลาเวลา (ข้ามคืนขึ้น 0.2% เป็น 3.3%, 7 วัน และ 1 เดือน ขึ้น 0.1 % เป็น 3.45% และ 3.80% ตามลำดับ) หลังจากที่ขึ้นครั้งแรกในวันที่ 16 มี.ค. เป็นการขึ้นดอกเบี้ยเท่ากันทุกประเภท 0.1% ทำให้ล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายจีนอยู่ที่ 4.45% เทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2.3% คาดว่าน่าจะเกิดจากกังวลเรื่องเงินทุนไหลออก สะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง 32 เดือน ล่าสุดเดือน ก.พ.2560 อยู่ที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 3.93 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มิ.ย. 2557
ส่วนสหรัฐ แม้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเริ่มบ่งชี้ชะลอตัวลงบ้าง เช่น ยอดขายรถยนต์เดือน มี.ค. ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ. ทรงตัวจากครั้งก่อนหน้า แต่โดยภาพรวมยังแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ติดตาม 14 เม.ย. จะมีรายงานอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. ซึ่งตลาดคาดที่ 2.6%yoy ชะลอตัวเล็กน้อยจาก 2.7%yoy ใน ก.พ. ยังหนุนให้ Fed คาดหมายว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ได้อีก 2 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 6 ครั้ง (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1%)
และไทย แม้เงินเฟ้ออาจจะชะลอตัวอยู่ที่ 0.76%yoy VS อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% (ตั้งแต่ เม.ย.2558) แต่สภาพคล่องในระบบการเงินจะมีแนวโน้มลดน้อยลง แม้ล่าสุดอยุ่ที่ 6 แสนล้านบาท เทียบกับ 1 ล้านล้านบาทในปี 2552-2553 แต่หากราคาน้ำมันยังยืนเหนือ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล คาด กนง. มีแนวโน้ม ขึ้นดอกเบี้ยปลายนี้ได้
(+) ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในกลุ่ม TIP
วานนี้ตลาดหุ้นไต้หวันยังคงหยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันเชงเม้ง แต่ตลาดหุ้นอื่นๆ ยังเปิดทำการปกติ และโดยภาพรวมต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 87 ล้านเหรียญ และหากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า มีเพียงเกาหลีใต้ที่ถูกขายสุทธิราว 42 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วัน) ที่เหลือเป็นตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิทุกแห่ง คือ ฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิสูงถึง 81 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยอินโดนิเซีย 46 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 83 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันฯในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิราว 1.19 พันล้านบาท
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิกว่า 4.13 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 6.30 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 2.37 หมื่นล้านบาท)
(+) เดือน เม.ย. หุ้นมักให้ผลตอบแทนชนะตลาด หุ้นเด่น PTTEP, BDMS
เดือนเมษายน แม้จะมีวันเปิดทำการน้อย เนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ติดต่อกันหลายวัน รวมทั้งมูลค่าการซื้อขายต่อวันที่ค่อนข้างเบาบาง เห็นได้ชัดเจนจากข้อมูลการซื้อขายในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550 - 2559) ปรากฏว่า เดือน เม.ย. มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่เพียง 2.95 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เรียกได้ว่าน้อยสุดเป็นลำดับที่ 2 ของปี รองจากเดือน ธ.ค. ที่อยู่ที่ 2.92 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเชิงปริมาณในช่วงเดียวกันกลับพบว่า เดือน เม.ย. ดัชนีตลาดให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึงกว่า 3% ด้วยความน่าจะเป็นกว่า 80% นับว่าเป็นผลตอบแทนดีที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของปี รองจากเดือน ก.พ. ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.5% ด้วยความน่าจะเป็น 80% (แต่ในเดือน ก.พ. ปีนี้ SET Index ปรับลดลงเล็กน้อย 1.1% ซึ่งเป็นจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยกำลังปรับฐาน) โดยเหตุผลหลักน่าจะมาจากแรงซื้อต่างชาติ ที่มักซื้อสุทธิในเดือน เม.ย. เฉลี่ยกว่า 3.26 พันล้านบาท ด้วยความน่าจะเป็น 60%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์