- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 28 March 2017 19:39
- Hits: 1433
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แรงซื้อต่างชาติกลับมาช่วงสั้น หลังผิดหวังต่อนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ฯ ล่าช้า ซึ่งหนุนให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.4-34.5 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญ จึง มีโอกาสปรับฐาน ขณะที่การประชุม กนง. ยังคงดอกเบี้ยฯ ที่เดิม กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น (BLA, ROBIN, BBL, AIT) ยังชอบ GFPT(FV@B19)/CPF([email protected]) และวันนี้เพิ่ม BBL([email protected]) เป็น Top picks เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นมากสุดในกลุ่ม ธ.พ.
(0) ดอลลาร์อ่อนค่า หนุนบาทแข็งเร็วเกินจึงอาจปรับฐาน 34.4-34.5 บาท
เชื่อว่าต่างประเทศยังไม่มีประเด็นใหม่ และยังคงผิดหวังต่อการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่ล่าช้าและไม่เป็นไปตามที่หาเสียง โดยเฉพาะกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ (American Healthcare) ที่ต้องการ มาแทน Obamacare กลับไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาฯ และถูกโยงไปถึงโอกาสการผลักดันการยกเครื่องภาษีทั้งระบบจะทำได้ยากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้น และตอบรับผลด้านบวกไปมากนับแต่ทรัมป์ฯ ชนะเลือกตั้ง
ระยะสั้นจึงยังเห็น Dollar index อ่อนค่า (นับจากต้นเดือน มี.ค. Dollar Index อ่อนค่ากว่า 2.6%) เมื่อเทียบกับสกุลหลักๆ เช่น เงินเยน พบว่าแข็งค่ามากสุดราว 4% ในช่วง 2 สัปดาห์หลัง (มีแนวโน้มแข็งค่าตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยรวมแข็งค่า 6%) ตามมาด้วย ยูโร และ ปอนด์ แข็งค่า 2.9% และ 2.4% ในช่วง 3 สัปดาห์ (แต่ทั้งเงินปอนด์และยูโร มีแนวโน้มแกว่งตัว ความกังวลต่อปัญหาของ Brexit ที่เพิ่มขึ้น หลังสมาชิกอื่น ๆ เช่น อิตาลี และ ฝรั่งเศส มีแนวคิดที่จะถอนตัวออกจาก EU)
และเมื่อเทียบกับเงินเอเชีย ในกลุ่ม TIP พบว่า Dollar index มีทิศทางทรงตัวถึงแข็งค่า ยกเว้นเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดคือราว 2.2% ในช่วงกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (และแข็งค่าเกือบ 4% นับจากกลาง ธ.ค. 2559) หลักๆ เกิดจากไทยได้ดุลการค้าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ หลังการส่งออกกระเตื้องขึ้น และเริ่มมีเงินทุนไหลเข้า (ตลาดตราสารหนี้ และหุ้น) หลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ยตามตลาดคาด อย่างไรก็ตามระยะสั้นเงินบาทกำลังเผชิญกับแนวรับ 34.4-34.5 บาทต่อดอลลาร์ จึงมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าเงินคือการประชุมของ กนง. 29 มี.ค. ที่คาดจะยืนดอกเบี้ยฯ ที่เดิม
(0) กนง. น่าจะเริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้
ประเด็นที่ทำให้เชื่อว่า กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยที่เดิมไประยะหนึ่งนั้น เนื่องจากสภาพคล่องในระบบของประเทศ ที่ปัจจุบันที่มีอยู่ราว 6 แสนล้านบาท (เทียบกับช่วงที่มีวิกฤติหนี้สาธารณะ ปี 2552-2553 ที่สภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่ในระดับ 1 ล้านล้านบาท) ยังนับว่าสูง (แม้ Fund Flow ที่ไหลออก ไปช่วงก่อนหน้า) ทั้งนี้แม้อัตราเงินเฟ้อไทยพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.44% ใกล้แตะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% (ติดต่อกันตั้งแต่ เม.ย.2558) และหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็ว และขึ้นมาสูงกว่าดอกเบี้ย นโยบายน่าจะหนุนให้ กนง. ต้องพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น จากในช่วงต้นปี 2560 ที่คาดว่า กนง. อาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยฯ ในปีนี้
หากพิจารณาสถิติในอดีตพบว่า กนง. มักจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่ เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นล่วงหน้า นานราว 6 เดือน โดยจากข้อมูลอดีตพบว่าใน 3 ครั้งหลังมีประวัติการขึ้นดังนี้
1. ช่วงปี 2544 พบว่าเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 2544 อยู่ที่ 1.32% หลังจากนั้นเงินเฟ้อพุ่งขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือน มาที่ 2.76% ใน พ.ค. ทำให้ กนง. จึงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย. 2554 ราว 1% เป็น 2.25% และหลังจากนี้ กนง. ไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกเลย
2. ช่วง ต.ค. 2546 เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.27%และพุ่งต่อเนื่อง 11 เดือนติดมาที่ 3.55% ใน พ.ค.2547 ทำให้ กนง. จึงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ส.ค. 2547 ขึ้น 0.25 เป็น 1.5% และหลังจากนั้นขึ้นอีก 12 ครั้งละ 0.25% จนขึ้นไปสูงสุดที่ 5% มิ.ย. 2549 และหลังจากนั้น กนง. ยืนดอกเบี้ยไปอีก 6 เดือน และ ดอกเบี้ยไทยได้เข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาลง ตามเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาหนี้ซับไพร์มในปี 2550 เป็นต้นมา
3. ส.ค. 2552 หลังจากที่เงินเฟ้อขยับขึ้นจากที่ติดลบ 1.05% ขึ้นมาเป็นบวกที่ 3.48% ใน ก.ค.2553 หนุนให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก 0.25% เป็น 1.5% ในเดือน ก.ค. 2553 และ ขึ้นต่อเนื่องอีก 8 ครั้ง รวม 2% เป็น 2.5% ใน ก.ย.2554
(+) ต่างชาติซื้อหุ้นไทย 7 วันต่อเนื่อง ซื้อหุ้นสอดคล้องพอร์ตกระดาษ ASPS
วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่าราว 396 ล้านเหรียญ แต่ยังคง ขายสุทธิบางประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิ 10 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) และเกาหลีใต้ 8 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่วนอีก 3 ตลาด ยังคงซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 336 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 11) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 30 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันนานถึง 15 วัน) และไทยที่ซื้อสุทธิ 48 ล้านเหรียญ หรือ 1.67 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 7 โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมรวมกว่า 7.52 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิราว 1.68 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันดียว)
และหากพิจารณาแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติผ่าน NVDR ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา (ตั้งแต่ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง) พบว่า มีหุ้น 7 ลำดับแรกที่ต่างชาติซื้อสุทธิมากที่สุด คือ SCB ซื้อสุทธิสูงที่สุดราว 4.4 พันล้านบาท ตามมาด้วย ADVANC 1.4 พันล้านบาท, AOT 903 ล้านบาท, CPF 793 ล้านบาท, PTTGC 752 ล้านบาท , SCC 529 ล้านบาท และ GFPT 300 ล้านบาท และเป็นที่สังเกตว่าในหุ้น 7 ลำดับแรกที่ต่างชาติเลือกที่จะซื้อสุทธิมากที่สุด มีอยู่ในพอร์ตกระดาษ ASPS ถึง 4 ตัว คือ GFPT ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6.51% ตามมาด้วย CPF เพิ่มขึ้น 6.36%, SCB เพิ่มขึ้น 2.87% ส่วน PTTGC ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 1.73%
(+) หุ้นไทยเป็นทางเลือก หลังตลาดหุ้นพัฒนาแล้วขึ้นไปล่วงหน้าหรือไม่
การที่ตลาดหุ้สหรัฐปรับตัวลงติดต่อกันต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 เชื่อว่าเป็นการสะท้อนถึงความกังวลต่อการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ล่าช้ากว่าที่หาเสียง แต่หากพิจารณาตลาดหุ้นสหรัฐพบว่าไปปรับขึ้นไปรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วกว่า 16% นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อ 8 พ.ย. 2559 จนถึงวันที่ตลาดหุ้นสหรัฐขึ้นไปทำ new high เมื่อ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา และหนุนให้ Expected P/E ตลาดหุ้น S&P500 พุ่งขึ้นไปสูงถึง 18.1 เท่า ขณะที่ Dow Jones อยู่ที่ 17.2 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในยุโรป คือ STOXX600 ที่มี Expected P/E 15.5 เท่า CAC40 ฝรั่งเศส 14.9 เท่า FTSE100 อังกฤษ 14.8 เท่า และ DAX เยอรมัน 13.8 เท่า และยังสูงกว่าตลาดหุ้นในเอเซีย คือ ฟิลิปปินส์ 17.6 เท่า มาเลเซีย 16.6 เท่า อินโดนีเซีย 16 เท่า และตลาดหุ้นไทย 15.5 เท่า เป็นต้น
แต่เมื่อเทียบกับคาดการณ์เติบโตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ พบว่า S&P500 มี EPS Growth อยู่ที่ 5.4% หรือคิดเป็น PEG ที่สูงถึง 2.04 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ คือ เยอรมัน EPS Growth อยู่ที่ 8.6% หรือคิดเป็น PEG ที่ 1.94 เท่า ยุโรป EPS Growth อยู่ที่ 9.6% หรือคิดเป็น PEG ที่ 1.41 เท่า และ อังกฤษ EPS Growth อยู่ที่ 7.8% หรือคิดเป็น PEG ที่ 0.91 เท่า
ส่วนตลาดหุ้นเอเซียนั้น ฟิลิปปินส์ ค่อนข้างแพงสุด คือ EPS Growth อยู่ที่ 5.06% หรือคิดเป็น PEG ที่ 3.47 เท่า มาเลเซีย EPS Growth อยู่ที่ 5.03% หรือคิดเป็น PEG ที่ 3.29 เท่า ส่วนไทย EPS Growth อยู่ที่ 7.1% หรือคิดเป็น PEG ที่ 2.70 เท่า
โดยสรุป ภายใต้ความคาดหวังถึงมาตรการภาษีที่ช่วยหนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและกำไรสุทธิขึ้น และน่าจะไปช่วยลด PER และเพิ่ม EPS Growth ของตลาดหุ้นสหรัฐนั้น หากเกิดขึ้นล่าช้า หรือไม่เกิดขึ้นจริง เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐก็มีเหตุผลที่เหมาะสมในการปรับฐานลงมา เนื่องมาจาก Valuation ที่แพงเกินไปนั่นเอง
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์