- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 24 March 2017 15:58
- Hits: 4392
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงปรับฐาน เชื่อว่าตลาดยังย่อยผลกระทบของดอกเบี้ยขาขึ้นต่อหุ้นรายตัว ขณะที่โอกาสเกิด Window Dressing ปลายเดือน มี.ค. มีน้อย หากพิจารณาจากสถิติในอดีต ตรงกันข้ามกลับมีแรงขายของสถาบันสวนทางออกมาก กลยุทธ์เลือกรายหุ้นที่ปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น Top picks วันนี้คือ ROBINS(FV@B79) และตามมาด้วย GFPT(FV@B19) ธุรกิจไก่ส่งออกสดใส เกาหลีใต้เตรียมลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากไทย
(0) ราคาบ้านมือสองในสหรัฐหดตัว สะท้อนดอกเบี้ยขาขึ้น
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยการรายงาน ยอดขายบ้านใหม่(New home sales) เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 6.1%mom (ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี แต่ราคาขายบ้านใหม่กลับลดลง 4.9%yoy อยู่ที่ 2.96 แสนดอลลาร์ในเดือน ก.พ. โดยเป็นการขายบ้านที่เพิ่มขึ้นในเขต Midwestและในภาคตะวันตกสหรัฐ) อย่างไรก็ตามขัดแย้งกับยอดขายบ้านมือสอง ในเดือนเดียวกัน พบว่าหดตัวมากกว่าคาดที่ 3.7%mom ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากราคาบ้านมือสองที่พุ่งสูง 7.7%yoy และสต็อกบ้านลดลงเป็นเดือนที่ 21 ติดต่อกัน ซึ่งน่าจะถูกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐ บั่นทอนกำลังซื้อ
ขณะที่การกล่าวสุนทรพจน์ของประธาน Fed นางเจเน็ต เยลเลนวานนี้ น่าจะสร้างความผิดหวังให้กับตลาด เนื่องจากประเด็นที่พูดถึงมิใช่มุ่งประเด็นไปที่นโยบายเศรษฐกิจและการเงิน แต่เป็นการพูดถึง “อนาคตทางเศรษฐกิจของเด็กและชุมชน” เช่นเดียวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐของประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงล่าช้า โดยเฉพาะการลดภาษีทั้งระบบ และการเดินหน้ายกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพ Affordable Care Act (ACA) หรือ Obamacare และจะผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ (American Health Care Act) ที่ลดความคุ้มครองการรักษา เพื่อลดภาระของรัฐ แต่กลับอนุญาตให้บริษัทประกันภัยเรียกเก็บค่ากรมธรรม์ผู้สูงวัยแพงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 5 เท่า แต่ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้เลื่อนการลงมติใช้กฎหมาย American Health Care ดังกล่าว เนื่องจากเสียงสนับสนุนของ ส.ส.ในสภามีไม่เกินครึ่งนึงของ ส.ส. (จากทั้งหมด 435 เสียง แต่มีเสียงสนับสนุนเพียง 21 เสียง) ล้วนกดดันตลาดหุ้นและ Dollar index กลับมาอ่อนค่าช่วงสั้น
(0) ลดน้ำหนักหุ้นเช่าซื้อ ถูกกดดันจากดอกเบี้ยขาขึ้นยกเว้น JMT/SAWAD ดูดีสุด
ผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะกดดันให้ตลาดปรับฐานตามหุ้นรายตัวที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านบวกและลบจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ดังที่ ASPS ได้นำเสนอตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงผลกระทบต่อดอกเบี้ยขาขึ้นต่อหุ้นรายกลุ่ม ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์กลุ่มสถาบันการเงินเพิ่งได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็น มากกว่าตลาด เพราะเชื่อว่าทิศทางดอกเบี้ยที่เข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นของโลกนับจากนี้ น่าจะหนุน ธ.พ. ใหญ่ ที่มีมูลค่าของสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมากกว่าเงินฝากที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และมีสถานะสุทธิเป็นผู้ให้กู้ยืม (Net Lender) ในตลาด interbank
ในทางตรงข้าม กลุ่มเช่าซื้อ น่าจะได้รับผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้นโดยตรง จากการที่มีสถานภาพเป็นผู้กู้ยืมในระบบ ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น โดยเฉพาะ ASK และ THANI จึงอยู่ในฐานะเสียเปรียบมากสุดในกลุ่มฯ โดยทุกๆ 10bp ของ spread ที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560 ให้ลดลงเฉลี่ย 3% เพราะความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนดอกเบี้ยให้ลูกค้าได้น้อย จากข้อจำกัด โครงสร้างสินเชื่อเป็นดอกเบี้ยคงที่เกือบทั้งหมด อีกทั้ง yield เฉลี่ยของสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่ต่ำกว่าสินเชื่อเช่าซื้ออื่นๆ (สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต) ขณะที่ต้นทุนเงินกู้ยืมมีสัดส่วนที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวเฉลี่ย 40% ของเงินกู้ยืมรวม ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดน้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ เป็นน้อยกว่าตลาด จากเดิม เท่าตลาด
อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นที่มีเกราะป้องกันภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จึงสามารถแสดงกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ JMT (FV@B33) คาดกำไรปกติปี 2560 เติบโต 108% แรงขับเคลื่อนจากนี้จะมาจากธุรกิจบริหารหนี้และติดตามหนี้ ขณะที่มีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อทุนที่ลดลงเหลือ 1 เท่า ณ สิ้นปี 2559 (หลังลดสัดส่วนเงินลงทุนใน บ.เจ ฟินเทคฯ ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อหนี้เข้ามาบริหารมากขึ้น) และ SAWAD (FV@B57) คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560 เติบโตถึง 32.6% yoy ขับเคลื่อนด้วยการเติบโตของธุรกิจหลักคือ ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ และธุรกิจบริหารหนี้ ขณะที่หนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุน 1.9 เท่า และต้นทุนดอกเบี้ยลอยตัวสัดส่วนเพียง 28% ที่เหลือ เป็นดอกเบี้ยคงที่ เทียบกับสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 100%
(0) เกาหลีใต้เตรียมยกเว้นภาษีนำเข้าไก่จากไทย ดีต่อ GFPT มากสุด
ดังที่ได้นำเสนอไปในช่วงกลางสัปดาห์ถึง ภาวะอุตสาหกรรมส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยที่สดใสมากขึ้น หลังจากมีการนำเสนอข่าวว่ามีการพบว่าการพบสารปนเปื้อน ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (ไก่และเนื้อวัว) ของประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์จากบราซิล มีมาตรการเข้มงวดขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน ดังนี้ :
จีนระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ทุกชนิดจากบราซิล ขณะที่สหภาพยุโรปก็ประกาศระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์จากโรงงาน 4 แห่งใหญ่ในบราซิล และ เกาหลีใต้เข้มงวดกับการตรวจเช็คสินค้าเนื้อสัตว์จากบราซิลเข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้แหล่งข่าวจากหนังสือพิมพ์บางฉบับเช้านี้ระบุว่า เกาหลีใต้เตรียมยกเว้นผลิตภัณฑ์ไก่นำเข้าจากไทย กล่าวคือปัจจัยจัดเก็บภาษีนำเข้า 20% สำหรับไก่แช่และ จัดเก็บ 30% สำหรับไก่ปรุงสุก
ปัจจัยแม้เกาหลีใต้นำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยรวมกันกว่า 2 หมื่นตัน เมื่อเทียบกับการส่งออกรวมทั้งประเทศกว่า 8 แสนต้นถือว่าน้อย แต่เชื่อว่าตลาดเกาหลีใต้จะมีศักยภาพการเติบโตทีดี หากสามารถทดแทนการส่งออกจากบราซิลได้บางส่วน ในสถานการณ์นี้ถือว่าดีต่อ ผู้ส่งออกไก่ไทยทุกราย (GFPT TFG และ CPF) มิใช่แต่เพียง ปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศที่เพิ่มข้น แต่ supply ในตลาสดโลกที่หายไปน่าจะหนุนให้ ราคาไก่ส่งออกโดยรวมน่าจะดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา จึงยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มฯ มากกว่าตลาด โดยประเมินว่า GFPT (ซื้อ : FV@B19) จะได้ประโยชน์สูงสุดในกลุ่มฯ เนื่องจากมีรายได้จากธุรกิจไก่ในประเทศราว 70% และคาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2560 จะเติบโต 6.1%yoy รองลงมาคือ CPF(Buy : [email protected]) แม้รายได้จากธุรกิจไก่ในประเทศราว 10% แต่ธุรกิจไก่และกุ้งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน
(+) ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค รวมถึงไทยเล็กน้อย
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 183 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ถูกขายสุทธิราว 8 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 แห่งซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันซื้อสุทธิราว 123 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9) ตามมาด้วยอินโดนิเซีย 32 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 13), เกาหลีใต้ 25 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และไทยที่ซื้อสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ หรือ 396 ล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 411 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1.08 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 1.67 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6)
(-) ตลาดยังขาดปัจจัยหนุน ขณะที่ยังย่อยข่าว FED ขึ้นดอกเบี้ย
หลังจากที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ อีก 0.25% เป็น 0.75-1.00% ในการประชุมเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกกำลังปรับตัวและย่อยข่าวว่ามีธุรกิจหรือหุ้นใดบ้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในช่วงสั้นตลาดยังขาดปัจจัยสนับสนุนอยู่ ทั้งนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ของทรัมป์ที่ยังคงล่าช้า ดังกล่าวข้างต้น
ขณะที่ปัจจัยในประเทศก็ยังไม่มีปัจจัยบวกเช่นกัน โดยเฉพาะการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 9.77 หมื่นล้านบาท ที่ล่าช้าออกไปอีกกว่า 7-8 เดือนเพื่อจัดทำร่าง TOR ใหม่ ล่าสุด ร.ฟ.ท. เตรียมทบทวนโครงการรถไฟทางคู่อีก 9 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 3.9 แสนล้านบาท เพื่อให้ผู้รับเหมาเอกชนรายกลาง-ย่อย สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ซึ่งทำให้กระบวนการประมูลล่าช้าออกไปอีก
และเช่นเดียวกับ การทำ Window Dressing ไตรมาสแรกนั้น ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย และไม่น่าจะมีนัยฯ ต่อตลาดฯ สะท้อนจากข้อมูลในเชิงสถิติ 10 ปีย้อนหลัง พบว่า ในเดือน มี.ค. นักลงทุนสถาบันฯ มีการมักขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยถึง 7 ปี เฉลี่ยราว 2.25 พันล้านบาท และยิ่งเขาใกล้สิ้นเดือน มี.ค. นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวก็ยังคงขายสุทธิอยู่ นอกจากนี้ สถานะการถือครองเงินสดของกองทุนหุ้นเฉลี่ยจากข้อมูลถึงเดือน ม.ค. อยู่ที่ 3% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก แต่ปัจจุบันนักลงทุนกลุ่มสถาบันฯ ซื้อสุทธิสะสมหุ้นไทยมาตลอดช่วง มี.ค. ปีนี้กว่า 2.05 หมื่นล้านบาท จึงทำให้เชื่อว่า น่าจะมีเงินสดเหลือไม่มากนักที่จะกลับเข้าซื้อหุ้นในช่วงปลายไตรมาส 1 จึงยืนยันได้ว่าโอกาสที่จะเกิดการทำ Window Dressing ในงวดนี้มีน้อยมาก โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นการ Switch มากกว่า โดยการขายหุ้นที่มี Upside เหลือน้อย แล้วไปซื้อหุ้นที่ยัง Laggard กว่าแทน ซึ่งหุ้นที่เข้าข่ายกองทุนซื้อสะสม อาทิเช่น SCB, BJC, BDMS และ CPF (ติดตามอ่านรายละเอียดได้จากรายงาน Window Dressing Play ฉบับวานนี้)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์