WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน

      ตัวเลขการส่งออกที่ไม่รวมทองคำและยุทโธปกรณ์ เดือน ก.พ.2560 ที่เติบโต 8.5% YoY ยังถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกสำหรับเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทย สำหรับโอกาสที่จะเกิด Window Dressing สิ้น 1Q60 จากสถิติย้อนหลังพบว่ามีโอกาสน้อยมาก คาด SET Index ยังมีโอกาสถูกกดดัน กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นที่มีสัญญาณการฟื้นตัวของความต้องการสินค้า และปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น Top picks วันนี้คือ ROBINS(FV@B79) และGFPT(FV@B19)

(0) Window Dressing งวด1Q60 ไม่ร้อนแรงเท่าช่วงปลายปี แนะ SCB, BJC, BDMS และ CPF
      จากสถิติเดือน มี.ค.ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า นักลงทุนสถาบันฯ มักจะขายสุทธิเฉลี่ยราว 2.25 พันล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิถึง 7 ใน 10 ปี และยังเป็นเดือนที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ (เดือน ก.ค. เป็นเดือนที่ยอดขายสุทธิเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ราว 4.8 พันล้านบาท) และหากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก พบว่าในช่วงเวลา 7 วัน, 3 วัน และ 1 วันทำการสุดท้าย ก่อนสิ้นเดือน มี.ค.นักลงทุนสถาบันยังขายสุทธิเฉลี่ยทั้งสิ้นในทุกช่วงเวลา ด้วยมูลค่าราว 1.1 พันล้านบาท, 465 ล้านบาท และ 439 ล้านบาท ตามลำดับ (ดังตารางด้านล่าง)
และหากพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองเงินสดของกองทุนรวมหุ้นในเดือน ม.ค. พบว่าเหลือเพียง 3.00% เท่านั้น แต่ปัจจุบันนักลงทุนกลุ่มสถาบันฯ ยังคงเดินหน้าซื้อสุทธิสะสมหุ้นไทยมาตลอดช่วง มี.ค. 60 กว่า 2.05 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลถึงวันที่ 23 มี.ค.60) จึงทำให้เชื่อว่า น่าจะมีเงินสดเหลือไม่มากนักที่จะกลับเข้าซื้อหุ้นในช่วงท้ายของไตรมาส 1 ทำให้โอกาสที่จะเกิดการทำ Window Dressing ในงวดนี้อาจมีน้ำหนักน้อยกว่าช่วงปลายปีมาก อย่างไรก็ตามคาดว่าการจัดพอร์ตการลงทุนของสถาบันฯน่าจะเป็นไปในลักษณะ Switch หรือสลับการลงทุน โดยการขายหุ้นที่มี Upside เหลือน้อย แล้วไปซื้อหุ้นที่ยัง Laggard กว่าแทน ซึ่งหุ้นที่สถาบันถือครองมากที่สุด 15 อันดับแรกมีดังภาพทางด้านล่างนี้
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลาตลาดหุ้นผันผวนเช่นนี้ เน้นหุ้นที่สถาบันฯนิยมซื้อสะสม และราคาหุ้นยังถือว่า Laggard พื้นฐานอยู่มาก อย่าง SCB, BJC, BDMS และ CPF เป็นหุ้นเด่น Window dressing โดยนักลงทุนสามารถติดตามอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ใน Quantitative Analysis ในวันนี้

 

(0) ส่งออกไทย 2 เดือนแรกยังขยายตัว แต่ต้องระวังความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันของสหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออก (X) ในรูปดอลลาร์ เดือน ก.พ. พลิกกลับมาติดลบ 2.8%yoy จากที่ก่อนหน้าบวก 3 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากฐานที่สูงในเดือน ก.พ.2559 โดยเฉพาะทองคำและสินค้าหมวดอากาศยาน (ทั้งนี้หากตัดทองคำและยุทโธปกรณ์ออกไป ส่งออก ก.พ.60 จะขยายตัว 8.5%yoy โดยมาจากยางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่ม 65%yoy , กุ้งสดทะเลแช่แข็ง 59%yoy , แผงวงจรไฟฟ้า 16%yoy เป็นต้น ทำให้ยอดส่งออกเฉลี่ยม.ค.-ก.พ.ขยายตัว 2.5%yoy ขณะที่ยอดนำเข้า (M) ขยายตัว 20.4%yoy(เพิ่ม 6 เดือนติดต่อกัน) เฉลี่ย 2 เดือน ขยายตัว 12.4%yoy ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ก.พ.ขาดดุล แต่เฉลี่ย 2 เดือนยังเกินดุล 1,610 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้สมมติฐานของกระทรวงพาณิชย์ คาดยอดส่งออกทั้งปี 2560 อยู่ที่ 5% และค่าเงินบาทที่ 35.50-37.50 บาท/ดอลลาร์ (เทียบกับ ASPS คาดที่ 2.1% และ 35 บาท/ดอลลาร์) แม้การส่งออกยังเห็นสัญญาณที่ดีในปีนี้ อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐที่อาจจะเกิดขึ้น และความเสี่ยงจากการล่มสลายของ EU ทำให้ ASPS ประเมิน GDP Growth ปี 2560 ที่ 3.5% ซึ่งใกล้เคียงกับ Consensus

 

(-) ดัชนีบ้านสหรัฐสะดุดเล็กน้อย ส่วนเหตุก่อการร้ายที่อังกฤษสร้าง sentiment ลบต่อตลาดฯ
ปัจจัยที่ตลาดให้น้ำหนักในวันนี้ คือ การกล่าวสุนทรพจน์ของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ที่ Washington, D.C. เวลา 19.45 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) คาดว่าจะยังแสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังแข็งแกร่งทั้งฝั่งการผลิตและการบริโภค แม้ล่าสุดวานนี้ ดัชนีชี้นำบางสัญญาณสะดุดเล็กน้อยแต่โดยรวมยังขยายตัวต่อเนื่อง กล่าวคือ ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. หดตัวมากกว่าคาดที่ 3.7%mom แต่เพิ่ม 5.4%yoy ทั้งนี้สาเหตุมาจากราคาบ้านที่พุ่งสูง 7.7%yoy และสต็อกบ้านลดลงเป็นเดือนที่ 21 ติดต่อกัน และทิศทางการใช้นโยบายการเงิน หลังจากที่ Fed ยังคาดหมายที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงที่เหลือ (ประชุม Fed ที่เหลืออีก 6 ครั้งในปีนี้ น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งราว 0.5% และในปี 2561 คาดว่าจะขึ้น 3 ครั้ง 0.75%) หลังขึ้นแล้ว 0.25% (เป็น 0.75-1.0%) หนุนให้ Dollar index มีทิศทางแข็งค่าในระยะกลาง-ยาว แม้ระยะสั้นอาจจะชะลอการแข็งค่าไปบ้าง
ขณะที่อังกฤษ วานนี้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายใกล้กับอาคารรัฐสภา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 40 ราย ทั้งนี้ ยังไม่ทราบถึงผู้ก่อการร้ายว่าเป็นฝ่ายใด แต่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อภาวะการลงทุนได้ในระยะสั้น สะท้อนจากตลาดหุ้นอังกฤษวานนี้ลดลง 0.73% DAX เยอรมันลดลง 0.48% และ STOXX600 ลดลง 1.34%

 

(-) ต่างชาติสลับมาขายหุ้นในภูมิภาค หลังซื้อติดต่อกัน 7 วัน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 52 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 7 วัน) โดยเป็นการขายสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ราว 104 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), ฟิลิปปินส์ 19 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ แม้ต่างชาติจะซื้อสุทธิ แต่แรงซื้อแผ่วลงไปมาก ได้แก่ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 59 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8) ตามมาด้วยอินโดนิเซีย 10 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 12) และไทยที่ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยเพียง 1.5 ล้านเหรียญ หรือ 51 ล้านบาทเท่านั้น (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 760 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 8 วัน)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 3 พันล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 6 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5)

 

(-) ราคาน้ำมันอ่อนตัวลง จากสต็อกน้ำมันสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด
ราคาน้ำมันดิบโลกวานนี้อ่อนตัวลง ทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 เดือน โดยสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า Brent ส่งมอบเดือน พ.ค. ลงมาอยู่ที่ 50.65 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วน WTI ส่งมอบเดือนเดียวกันอยู่ที่ 48.04 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และดูไบ อยู่ที่ 49.30 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยกดดันช่วงสั้นมาจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ สิ้นสุด 15 มี.ค. เพิ่มขึ้นกว่า 4.95 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ 533.1 ล้านบาร์เรล ขณะเดียวกันพบว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ รายงานโดย Baker Huges ล่าสุดเมื่อ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 โดยปริมาณแท่นขุดเจาะปรับเพิ่มขึ้น 21 แท่น มาอยู่ที่ 789 แท่น แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 ส่งผลให้ปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ล่าสุด 10 มี.ค. พุ่งขึ้นเป็น 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ สิ้นปี 2559 โดยมีการคาดหมายว่าหำลังการผลิตของสหรัฐฯ ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 0.36 และ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้และปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังอาจมี upside บนความคาดหวังที่กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC จะขยายระยะเวลาการตัดลดกำลังการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (จากเดิมที่จะสิ้นสุด มิ.ย. 2560) ซึ่งจะช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นมาเป็นขาขึ้นได้อีกครั้ง โดยรวมยังมองว่าหุ้นในกลุ่มน้ำมัน ทั้ง PTTEP (FV@B116) และ PTT (FV@B460) ยังคงได้รับอานิสงส์เชิงบวกในระยะยาว จึงแนะนำสะสมเมื่อราคาอ่อนตัว

นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์: พาสุ ชัยหลีเจริญ
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์: ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!