- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 22 March 2017 17:35
- Hits: 2302
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แม้จะกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ก็ยังมีผู้ที่ได้ประโยชน์ในสถานการณ์นี้ และช่วงสั้นปัญหาการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่จากบราซิล ถือเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทย คือ GFPT, CPF, TFG กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นที่มีสัญญาณการฟื้นตัวของความต้องการสินค้า และปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น (BBL, KTB, BLA, ROBINS, TASCO, AIT, STEC, LPH, RJH) Top picks BLA(FV@B60), ROBINS(FV@B79) และวันนี้เพิ่ม GFPT(FV@B19)
(0) ไก่ไทยได้รับอานิสงค์จากบราซิลประสบปัญหาภายใน ดีต่อ GFPT มากสุด
แนวโน้มอุตสาหกรรมส่งออกไก่ของไทยสดใสมากขึ้น หลังจากที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าผู้ประกอบการส่งออกเนื้อสัตว์ของบราซิลมีการติดสินบนพนักงานตรวจสอบคุณภาพเนื้อสัตว์ ก่อนส่งออกสู่ต่างประเทศ ทั้งเนื้อไก่และเนื้อวัว ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์จากบราซิล มีมาตรการเข้มงวดขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน โดยจีนได้ประกาศระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ทุกชนิดจากบราซิล ขณะที่สหภาพยุโรปก็ประกาศระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์จากโรงงาน 4 แห่งใหญ่ในบราซิล รวมไปถึงเกาหลีใต้ก็ประกาศตรวจเช็คสินค้าเนื้อสัตว์จากบราซิลเข้มงวดมากขึ้น
ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นผลบวกโดยตรงต่อผู้ส่งออกไก่ไทย (GFPT TFG และ CPF) ที่คาดว่าจะได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาขายไก่ส่งออกน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณผลิตที่หายไปจากตลาดโลก
และเมื่อรวมกับปัญหาไข้หวัดนกที่ระบาดในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ก็ยิ่งถือเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมส่งออกไก่ไทยชัดเจน และจะส่งผลบวกทางอ้อมต่อราคาไก่ในประเทศให้ดีดตัวขึ้นอีกด้วย โดยราคาไก่เป็นในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 38 บาท/ก.ก. และทำให้ราคาไก่เป็นเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2560 อยู่ที่ 39.13 บาท/ก.ก. ยังสอดคล้องกับสมมติฐานราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2560 ที่กำหนดไว้ที่ 39 บาท/ก.ก. ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มฯ มากกว่าตลาด โดยประเมินว่า GFPT (ซื้อ : FV@B19) จะได้ประโยชน์สูงสุดในกลุ่มฯ เนื่องจากมีรายได้จากธุรกิจไก่ในประเทศราว 70% และคาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2560 จะเติบโต 6.1%yoy ส่วน CPF(Buy : [email protected]) มีรายได้จากธุรกิจไก่ในประเทศราว 10% แม้ธุรกิจไก่และกุ้งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานปี 2560 จะอ่อนตัวลง 17.5% yoy จากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วน TFG (Switch : [email protected]) แนะนำเก็งกำไร เนื่องจากได้ประโยชน์จากทิศทางอุตสาหกรรมส่งออกไก่สดใสเช่นกัน (ติดตามอ่านได้จากบทวิเคราะห์ Industry Update กลุ่มเกษตร-อาหาร เช้าวันนี้)
(+) Upgrade กลุ่ม ธ.พ. เป็นมากกว่าตลาด จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ชอบ SCB
ภายหลังที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้น 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% และเริ่มเห็นธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน อาทิ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับขึ้นดอกเบี้ย Reverse Repo ขึ้น 0.1% ทำให้เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ทิศทางดอกเบี้ยโลกกำลังขยับเข้าสู่ขาขึ้นรอบใหญ่ ในส่วนของดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น เชื่อว่ามีโอกาสขยับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในช่วง 2H60 สะท้อนได้จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรระยะกลาง-ยาว ที่ขยับขึ้นไปแล้วตั้งแต่ช่วง 2H59 ตามการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประกอบกับสภาพคล่องทางการเงินในระบบธนาคาร (คำนวณจากเงินฝากรวมตั๋วเงินระยะสั้น B/E หักด้วยสินเชื่อที่ไม่รวมธุรกรรมด้าน interbank) ที่ลดลงต่อเนื่องมาที่ราว 5.85 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือน ม.ค.60 เทียบเท่าสัดส่วน L/D (รวม B/E) ที่ 95.3% ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างตึงตัว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนความต้องการสินเชื่อที่จะเติบโตเร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนใหญ่ของภาครัฐที่ทยอยเกิดขึ้น ล้วนผลักดันให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศขยับตัวขึ้นซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี (หลังจากคงที่ที่ระดับ 1.5% มาตั้งแต่ เม.ย. 2558)
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่า หากอัตราดอกเบี้ยกลับทิศทางเป็นขาขึ้น กลุ่ม ธ.พ.ใหญ่จะมีความได้เปรียบมากกว่า ธ.พ.กลาง-เล็ก แต่ต้องเป็น ธ.พ.ใหญ่ที่เข้าข่ายคุณสมบัติดังนี้
1) มีมูลค่าของสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมากกว่าเงินฝากที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
2) มีสถานะสุทธิเป็นผู้ให้กู้ยืม (Net Lender) ในตลาด interbank
โดย KTB, BBL เป็นธนาคารที่ได้เปรียบสูงสุดในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วน BAY และ KBANK เสียเปรียบสุด เนื่องจากมีเงินฝากที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมากกว่าสินเชื่อ
โดยรวมที่ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการเติบโตมากขึ้น ทำให้ฝ่ายวิจัยเพิ่มน้ำหนักลงทุนกลุ่ม ธ.พ. เป็นมากกว่าตลาด จากเดิม เท่าตลาด โดยคาดกำไรสุทธิปี 2560-61 ของ กลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 7.5% yoy และ 8.4% yoy โดย top picks เลือก SCB, BBL, TCAP
SCB (FV@B178) : ราคาหุ้นยัง laggard เมื่อเทียบกับโอกาสการเติบโตของธุรกิจที่จะกลับมาพร้อมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งประสิทธิภาพการหารายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่แข็งแกร่ง พร้อมกับคุณภาพสินทรัพย์ที่จะแข็งแกร่งขึ้นมากในปี 2560
BBL([email protected]) : เป็น ธ.พ.ใหญ่ ที่จะได้รับผลบวกมากเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มฯ (รองจาก KTB) ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยกลับทิศทางเข้าสู่ขาขึ้น ราคาหุ้นปัจจุบันยังถูกแถมปันผลจูงใจ
TCAP(FV@B53) : จากแนวโน้มการฟื้นตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2560 ประกอบกับพัฒนาการบวกของธุรกิจที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของผลการดำเนินงานจากนี้ ราคาปัจจุบันยัง laggard หุ้น ธ.พ.ขนาดกลาง-เล็กอื่นๆ แถมปันผลจูงใจเช่นกัน
(-) ตลาดหุ้นสหรัฐลงแรงหลังสะท้อนประเด็นบวกไปแล้ว แต่นโยบายทรัมป์ยังไม่คืบหน้า
วานนี้ตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐปรับลงแรง โดยดัชนี S&P500 ปรับลง 1.24% และ Dow Jones ลดลง 1.14% ทั้งนี้ เชื่อว่าตลาดฯ ได้ตอบรับประเด็นด้านบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐไปมากแล้ว จากความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะการลดภาษีทั้งระบบ (คาดว่าจะลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลครั้งใหญ่) อีกทั้งประเด็นความกังวลการยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพ Affordable Care Act (ACA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Obamacare แต่ผลักดันมาใช้กฎหมายฉบับใหม่ American Health Care Act ซึ่งลดความคุ้มครองการรักษาและอนุญาตให้บริษัทประกันภัยเรียกเก็บค่ากรมธรรม์ผู้สูงวัยแพงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 5 เท่า ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนสหรัฐสูงขึ้น
ขณะที่ปัจจัยที่ให้น้ำหนักวันพรุ่งนี้ คือ การกล่าวสุนทรพจน์ของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ที่ Washington, D.C. ซึ่งเชื่อว่าจะพูดถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังแข็งแกร่ง และทิศทางการใช้นโยบายการเงิน หลังจากที่ Fed ยังคาดหมายที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงที่เหลือ (ประชุม Fed ที่เหลืออีก 6 ครั้งในปีนี้ น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งราว 0.5% และในปี 2561 คาดว่าจะขึ้น 3 ครั้ง 0.75%) หลังขึ้นแล้ว 0.25% (เป็น 0.75-1.0%) ในการประชุมรอบที่ผ่านมา หนุนให้ Dollar index มีทิศทางแข็งค่าในระยะกลาง-ยาว
(0) แม้ต่างชาติยังคงซื้อหุ้นเอเชีย แต่มีโอกาสปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ด้วยมูลค่าสูงถึง 940 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทุก ประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไต้หวันที่ถูกซื้อสุทธิสูงถึง 536 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) และเกาหลีใต้อีกกว่า 330 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ถูกต่างชาติซื้อสุทธิเช่นกัน แต่ด้วยเม็ดเงินที่น้อยกว่ามาก คือ อินโดนิเซียถูกซื้อสุทธิราว 30 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 11) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 2 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และไทย 44 ล้านเหรียญ หรือ 1.53 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิเล็กน้อยเพียง 75 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8)
อย่างไรก็ตามในคืนที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลงถึง 237 จุด หรือ 1.14% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงสูงสุดภายในวันเดียวในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 59 เป็นต้นมา จึงมีโอกาสกดดันตลาดหุ้นในเอเชียให้ปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์