- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 15 March 2017 16:01
- Hits: 1996
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ประเด็นเรื่องดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีน้ำหนักน้อยลงตามลำดับ แต่ต้องติดตามเรื่องสถานะของ EU มากขึ้นหลัง Brexit เดินหน้า รวมถึงการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ ส่วนปัจจัยภายในประเทศยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าความสนใจการลงทุนส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งจะทำให้ SET Index เคลื่อนไหวไม่มาก เลือก ROBINS (FV@B79) เป็น Top Pick
(0) ประเด็นในต่างประเทศ น้ำหนักไปอยู่ที่เรื่องของสถานภาพ EU มากขึ้น
ตลาดหุ้นทั่วโลกรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ระหว่าง 14-15 มี.ค. ซึ่งวันนี้ประชุมเป็นวันที่ 2 (จะทราบผลเช้าวันพรุ่งนี้ตามเวลาในประเทศ) ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ สะท้อนจากผลสำรวจของ Bloomberg ที่คาดโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 100% หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังเดินหน้าแข็งแกร่ง ทั้งฝั่งภาคการผลิตและภาคการบริโภค และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ Fed คาดไว้ มาอยู่ที่ 2.5% อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตลาดได้รับรู้ประเด็นดังกล่าวไปแล้ว
ขณะที่ความคืบหน้าของกระบวนการ Brexit ล่าสุด สภาสูงอังกฤษผ่านร่างกฎหมายการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 13 มี.ค. กระบวนการต่อไปคือ นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะเข้าสู่การเจรจากับ EU ตามมาตรการ 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ในช่วงสิ้นเดือนนี้ 27-30 มี.ค. ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องราว 18% นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้ง Brexit เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2559 ทำให้ประเด็น Brexit ยังคงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอังกฤษในระยะยาว และทำให้ผลสำรวจของนักวิเคราะห์ในตลาดคาดการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) วันที่ 16 มี.ค. ยังยืนดอกเบี้ยที่ 0.25% ตามเดิม
และในวันนี้ เลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ ก็เป็นประเด็นที่ตลาดฯ กังวลเช่นกัน คือ ในช่วงที่ผ่านมาคะแนนนิยมของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด นำโดยนาย Geert Wilders หัวหน้าพรรค Party for Freedom (PVV) ซี่งมีแนวความคิดต้องการนำเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรป ดังเช่น Brexit มีคะแนนสูสีกับพรรคเสรีนิยม People’s Party for Freedom and Democracy (VVD) ของนายกฯ เนเธอร์แลนด์คนปัจจุบันเล็กน้อย ทั้งนี้หากเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรปตามอังกฤษ จะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าต่อเนื่องในระยะยาว หลังจากที่อ่อนแล้ว 6.1% ตั้งแต่เหตุการณ์ Brexit เป็นต้นมา
(+) IMF ประเมินเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้น ขณะที่ดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี
ขณะที่เศรษฐกิจฝั่งเอเซียปี 2560 ยังคงถูกขับเคลื่อนจากหัวเรือใหญ่ในภูมิภาค คือ จีน ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณขยายตัว สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ คือดัชนีภาคการผลิตของโรงงาน เดือน ม.ค.- ก.พ. ขยายตัวมากกว่าที่ตลาดเฉลี่ยที่ 6.3%yoy ซึ่งสอดคล้องกับยอดการลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดียวกัน เพิ่มขึ้น 6.7%yoy (ลงทุนภาคเอกชนคิดราว 60%ของการลงทุนทั้งหมดในจีน) เช่นเดียวกับภาคการบริโภค คือยอดค้าปลีกในเดือนเดียวกัน ขยายตัว 9.5%yoy ทั้งนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มขยายตัว และน่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าในภูมิภาคโดยเฉพาะไทย เนื่องจากไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 ราว 10% ของยอดส่งออกรวม ซึ่งสอดคล้องกับยอดส่งออก (X) ของไทยมีทิศทางขยายตัว ล่าสุด เพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น วานนี้ IMF ได้ประเมินถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่ากำลังเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหนุนมาจาการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนต่อไป ทั้งนี้ ยังได้แนะนำให้ใช้นโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในปีนี้ ที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐ และราคาน้ำมันที่ยังเป็นแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยให้เพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งที่มากขึ้น โดยเงินเฟ้อเดือน ก.พ. อยู่ที่ 1.44%yoy เทียบกับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.5% ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อ) หดแคบลง และมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะแซงหน้าดอกเบี้ยนโยบายได้ในระยะต่อไป ฝ่ายวิจัยจึงยังเชื่อว่า กนง. น่าจะต้องมาทบทวนเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และมีโอกาสที่ กนง. จะปรับดอกเบี้ยฯ ขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
(-) ภาพรวมต่างชาติยังซื้อหุ้นในภูมิภาค ยกเว้นไทย
วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกกว่า 629 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และเป็นการซื้อสุทธิถึง 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 353 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) ตามมาด้วยไต้หวัน 298 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), อินโดนีเซีย 34 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6) และฟิลิปปินส์ 2 แสนเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 4 วัน) ยกเว้นตลาดหุ้นไทยเพียงแห่งเดียวที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิกว่า 56 ล้านเหรียญ หรือ 1.98 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1.68 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯยังคงซื้อสุทธิราว 1.3 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิราว 4.0 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 11 วัน โดยมีมูลค่ารวมกว่า 3.04 หมื่นล้านบาท)
(-) เม็ดเงินสื่อโฆษณารวม 2M60 หดตัว ยกเว้นสื่อทีวีดิจิตอล...WORK เด่นสุด
จากรายงานของ AGB Nielsen พบว่าเม็ดเงินโฆษณารวม 2M60 หดตัว 4.5% yoy เนื่องจากเอเจนซี่โฆษณาส่วนใหญ่ ชะลอการเซ็นสัญญาโฆษณาล่วงหน้ากับช่องทีวีไปจนถึงเดือน มี.ค. 60 ทำให้เม็ดเงินโฆษณาทีวีอนาล็อกใน 2M60 ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงถึง 43% ของเม็ดเงินรวมลดลง 9.5% yoy ฉุดให้เม็ดเงินรวมลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามหากเอเจนซี่โฆษณาเริ่มทยอยกลับมาเซ็นสัญญาโฆษณาอีกครั้งในเดือนมี.ค. 60 จะทำให้เม็ดเงินโฆษณารวมมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ส่วนสื่ออื่นๆที่มีการหดตัวแรงคือหนังสือพิมพ์ -16.5% yoy, นิตยสาร -39.8% yoy, วิทยุ -15.2% yoy และเคเบิ้ลทีวี -20.6% yoy ซึ่งต่างเป็นสื่อที่อยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคมารับสื่อ Online มากขึ้น ในขณะเดียวกันสื่ออื่นๆที่มีการเติบโตดีและเห็นการฟื้นตัวแล้ว ได้แก่ สื่อภายในร้านค้า +41.7% yoy, สื่อโรงภาพยนตร์ +35.4% yoy, สื่อนอกบ้าน +22.2% yoy, สื่อบนระบบขนส่ง +6.2% yoy และสื่อทีวีดิจิตอล +5.8% yoy เป็นบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการสื่อนอกบ้านอย่าง PLANB (ซื้อ: [email protected]) และ VGI รวมถึงผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ MAJOR (ซื้อ: FV@B36) แต่หุ้นที่กล่าวมาเหลือ Upside จากมูลค่าพื้นฐานจำกัด จึงแนะนำให้รอซื้อเมื่อย่อตัว และมองว่าตัวเลือกการลงทุนที่ดีที่สุดตอนนี้คือ WORK (ซื้อ: FV@B64) เพราะนอกจากจะได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิตอลที่จะกลับมาฟื้นตัวแรงใน 2Q60 แล้ว ยังมี Content ที่ดี ช่วยหนุนให้เรตติ้งพุ่งขึ้นต่อเนื่อง และสามารถแซงหน้าช่อง 3 ได้แล้วในกรุงเทพฯ ช่วงเวลา Primetime ส่งผลให้สามารถปรับ Ad. Rate ได้สูงขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรม โดยรวมคาดการณ์กำไรปี 2560 ของ WORK เติบโตเด่นสุดในกลุ่ม 176% YoY เป็น 550 ล้านบาท
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์