- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 08 August 2014 15:16
- Hits: 2163
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ยังให้น้ำหนักกับหุ้นรายตัว ที่มีผลกำไรโดดเด่น + P/E ต่ำเพียง 5 เท่าคือ RML([email protected]) และนักวิเคราะห์ ASP คาดจะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกในปีนี้ ตามมาด้วยหุ้นปันผลสูง 6.5% + upside สูงเกิน 60% คือ INTUCH(FV@B109) เลือกเป็น Top picks
โลกเสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังรัสเซียตอบโต้การค้ายุโรป
มาตรการตอบโต้ทางการค้าของรัสเซียจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมารัสเซียได้สั่งห้ามนำเข้าเนื้อไก่จากสหรัฐ และผลไม้จาก EU ล่าสุด รัสเซียได้ประกาศห้ามนำเข้าอาหารจำนวนหลายรายการจาก EU ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ปีก ปลา ผลิตภัณฑ์นม ผลไม้ และผัก ที่มาจากสหรัฐ สหภาพยุโรป 28 ประเทศ, แคนาดา, ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศนอก EU อย่างนอร์เวย์ เป็นเวลา 1 ปี การตอบโต้ครั้งใหม่นี้นับเป็นปัญหาใหญ่กับเศรษฐกิจการค้าของ EU และกระทบต่อสหรัฐ เนื่องจาก EU ส่งออกผักและผลไม้ไปรัสเซียมากที่สุด ส่วนสหรัฐส่งออกเนื้อสัตว์และปลาไปรัสเซียมากเป็นลำดับ 2 ขณะที่รัสเซียเองก็น่าจะได้รับผลกระทบในระยะสั้นเช่นกันจากราคาสินค้าที่จะถีบตัวสูงขึ้นเพราะเงินเฟ้อจากสินค้าขาดแคลน แม้ทางด้าน รมต. เกษตรของรัสเซียได้เตรียมแก้ปัญหาโดยการนำเข้าอาหารเหล่านี้จากบราซิล และนิวซีแลนด์เป็นการทดแทน แต่หากพิจารณาตัวเลขที่รัสเซียนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในปี 2556 มูลค่า 4 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งในจำนวนนี้ราว 43%เป็นการนำเข้าจากประเทศที่ถูกคว่ำบาตร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่หาแหล่งทดแทนได้ในระยะเวลาสั้นๆ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของรัสเซียได้ขยับขึ้นมาที่ 7.8%yoy (6.6%ytd)
นอกจากนี้ การสั่งห้ามสายการบินยุโรปบินเหนือน่านฟ้าไซบีเรีย เพื่อมายังฝั่งเอเซียนั้น ยังส่งผลกระทบในเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงที่สิ้นเปลืองมากขึ้น เนื่องจากต้องบินอ้อมใช้ระยะทางมากขึ้นนั่นเอง ขณะที่รัสเซียก็สูญเสียรายได้จากการขายน้ำมันเครื่องบินและค่าธรรมเนียมไปกว่า 100 ล้านเหรียญต่อเที่ยวบินแต่ละครั้ง โดยสรุป การตอบโตทางการค้าของรัสเซีย น่าจะกดดันเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยมิใช่แต่เฉพาะคู่กรณี ทั้งรัสเซีย ยุโรป และสหรัฐ เท่านั้น แต่น่าจะกระทบต่อประเทศคู่ค้าในส่วนอื่น ๆ ของโลก เช่น ประเทศในฝั่งภูมิภาคเอเซีย ได้แก่ ไทย ซึ่งมีสัดส่วนการค้ากับยุโรปราว 10% ของการค้ารวม เป็นต้น
เชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปรับฐานของหุ้นโลก ทั้งนี้นับจากกลางเดือน มิ.ย. จนถึงวานนี้ พบว่าตลาดหุ้นยุโรปประสบภาวะตกต่ำมากสุด นำโดยอิตาลี ลดลงมากสุดถึง 15% ตามมาด้วยฝรั่งเศส และเยอรมัน ลดลงเฉลี่ย 10% จากยอดสูงสุดที่เกิดขึ้นใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา นับเป็นการตกต่ำที่มากที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ของโลก ที่เพิ่งมีการปรับฐานในช่วงกลาง ก.ค. เป็นต้นมาคือ อังกฤษ ลดลง 3.9% สหรัฐลดลงเฉลี่ย 3% (Dow Jones ลดลง 4% NASDAQ ลด 3% และ S&P500 ลดลง 3.9%) และ ญี่ปุ่นลดลงเพียง 3.6% แม้เพิ่งปรับฐานในช่วงต้นเดือน ส.ค. เป็นต้นมา ส่วนตลาดหุ้นเอเซีย ปรับฐานน้อยกว่ามาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP จึงทำให้ตลาดหุ้นเอเซีย ยังอยู่ในภาวะผันผวนต่อไป
อังกฤษ-ยุโรป ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่เดิม
ผลการประชุมของธนาคารกลางโลกล่าสุดไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม กล่าวคือ
อังกฤษ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% (คงที่มานานกว่า 5 ปี) และคงปริมาณ QE ที่เท่าเดิม 3.75 แสนล้านปอนด์ (6.23 แสนล้านเหรียญฯ) โดย BOE ยังกังวลต่อตลาดแรงงาน เนื่องจากอัตราการว่างงานล่าสุดที่ 6.97% (ใกล้ เป้าหมายที่ 7%) แต่ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติ ซึ่งเคยต่ำสุดที่ระดับ 5.2% นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าแรงงานยังเป็นไปอย่างล่าช้า แม้อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. จะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.9% (ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% เล็กน้อย) อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งจากการสำรวจของบลูมเบิร์กและ ING Bank ต่างคาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นราวเดือน พ.ย. นี้
ยุโรป ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.15% โดยยังคงมีความกังวลต่ออัตราการว่างงานที่สูง 11.5% และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ 0.4% และปัญหาในบางประเทศยังมีอยู่ โดยเฉพาะอิตาลีล่าสุด พบว่าอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 12.34% ในเดือน มิ.ย. โดยสูงในระดับนี้มานานกว่า 15 เดือน และ GDP Growth งวด 2Q57 ติดลบ 0.3%yoy (แม้จะลดลงจาก ติดลบ 0.4% ในงวด 1Q57) และแม้แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่าง เยอรมัน ล่าสุดพบว่าคำสั่งซื้อภาคโรงงาน ใน มิ.ย. ติดลบ 2.3%mom (ต่ำสุดตั้งแต่ 2554) ด้วยเหตุนี้ทำให้ ECB พร้อมจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยการเข้าซื้อพันธบัตรที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) หรือมาตรการ QE หากความเสี่ยงเรื่องเงินฝืดยังมีอยู่ ประกอบกับปัจจัยกดดันระยะสั้น โดยเฉพาะการตอบโต้ทางการค้าของรัสเซียต่อ สหภาพยุโรป ดังกล่าวข้างต้น น่าจะกดดันเศรษฐกิจในปี 2557
ไทยน่าจะได้รัฐบาล ปลายเดือน ส.ค. ปีนี้
หลังจากรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ ลำดับถัดไปจะเป็นการเปิดประชุม สนช. ครั้งแรกในวันนี้ (8 ส.ค.2557) โดยวาระหลักในการประชุม จะมีการเลือกผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการรับสนองพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ผู้ที่ตลาดมีการคาดหมายว่าจะเข้ามารับตำแหน่งประธาน สนช. ได้แก่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ดังนั้นเมื่อมีการลงมติแล้วเสร็จ และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว กระบวนการต่อไปก็จะเป็นการสรรหาตัวบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1–2 สัปดาห์ข้างหน้า และหลังจากนั้นก็จะมีการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้เมื่อประเมินจากกรอบเวลาดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ในช่วงปลายเดือน ส.ค. หรือ ต้น ก.ย.2557
อีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในโรดแมพ ระยะที่ 2 ของ คสช. คือ สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งจะมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 250 คน จะเริ่มกระบวนการเปิดรับสมัคร 14 ส.ค.2557 ซึ่ง กกต. ประเมินว่าน่าจะมีผู้สมัครเข้ามาไม่น้อยกว่า 2 พันคน ขณะที่กระบวนการในการคัดสรรน่าจะจบและได้ สปช. ครบช่วงต้นเดือน ต.ค. 2557 หลังจากนั้นกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และน่าจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ พร้อมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ช่วงกลางเดือน ก.ย.2558 และจะนำไปสู่การเลือกตั้งช่วงปลายปี 2558 และได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ในลำดับต่อไป
จะเห็นได้ว่ากระบวนการต่างๆ มีความคืบหน้าไปตามลำดับ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเชื่อมั่น เห็นได้จากการวัดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน อย่างไรก็ตามสำหรับ SET Index น่าจะตอบสนองต่อปัจจัยดังกล่าวไปแล้ว จากนี้ไปการตอบสนองจะเป็นไปตามผลของการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน โดยระหว่างนี้ SET Index น่าจะผันผวน
เงินทุนเริ่มไหลออกแต่ด้วยปริมาณเบาบาง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง แต่ยังเบาบาง ราว 195 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อใน 4 วันหลังสุด) ทั้งนี้เป็นการขายสุทธิในทุกประเทศ เริ่มจากประเทศที่ขายสุทธิสูงสุดคือเกาหลีใต้ ขายสุทธิราว 90 ล้านเหรียญฯ (ซื้อติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวันสลับมาขายสุทธิราว 49 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 4 วันหลังสุด) เช่นเดียวกับไทยที่สลับมาขายสุทธิราว 32 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 5 วันหลังสุด) ส่วนอินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 20 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 80% จากวันก่อนหน้า) และสุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 เบาบางราว 4 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 67% จากวันก่อนหน้า)
แม้ว่าวานนี้ต่างชาติจะขายสุทธิออกมาในทุกประเทศ แต่ปริมาณการขายยังเบาบาง โดยเน้นขายสุทธิประเทศในกลุ่ม TIP โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่ถูกขายต่อเนื่องถึง 14 จาก 18 วันทำการหลังสุด หรือกว่า 3 สัปดาห์ ในขณะที่ประเทศไทยยังเป็นไปในลักษณะการซื้อสลับขายรายวัน ส่วนในตลาดตราสารหนี้ของไทย นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 สูงถึง 8.8 พันล้านบาท (สูงสุดในรอบเกือบ 5 เดือน) ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวต่อเนื่องแตะระดับ 32.26 บาทต่อเหรียญฯ และน่าจะเป็นปัจจัยกดดันเงินทุนไหลเข้าในระยะสั้น
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล