- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 02 March 2017 17:28
- Hits: 1371
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การแถลงนโยบายทรัมป์ฯ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน ตอกย้ำ Fund flow ไหลออก ขณะที่การรายงานงบ 4Q59 เสร็จสิ้น ซึ่งเป็นไปตามคาด แต่มีการปรับประมาณการปี 2560 ขึ้นจากเดิมในกลุ่ม ธ.พ. และ อิง Global ทำให้ต้องปรับเพิ่ม EPS ตลาดจากเดิม 4% เป็นหุ้นละ 101.4 บาท ได้ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2560 ใหม่ 1,622 จุด(อิง P/E16 เท่า) มี upside 3.5% กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นเติบโตเหนือตลาดฯ (PTTGC, TASCO, FSMART, JMT) Top pick เลือก VNG([email protected]) มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการและมูลค่าขึ้นสะท้อน ประสิทธิภาพกำไร และยอดขายที่เพิ่ม
(0) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐดีกว่าคาด หนุนปรับดอกเบี้ย
สรุปการแถลงนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ต่อสภาคองเกรสวานนี้ ยังไม่ให้รายละเอียดเช่นเดิม แต่ยังเน้นย้ำจะเดินตามแผนหาเสียงไว้ 3 เรื่องหลัก คือ
เรื่องแรก คือ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาควบคู่กับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาด้วย เรื่องการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ(Obamacare) หลังจากก่อนหน้าให้สิทธิส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตยาในสหรัฐหันกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้น (ผู้ผลิตที่ย้ายฐานการผลิต เช่น Mylan, Allergan, Valent) แทนที่จะผลิตในต่างประเทศแล้วนำเข้ามาขายในสหรัฐ พร้อมจะจัดระบบการประมูลราคายาในประเทศ เพื่อให้ราคายาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสุดท้ายกีดกันผู้อพยพและการตรวจคนเข้าเมือง จากก่อนหน้ามีคำสั่งยกเลิกวีซ่ากับ 7 ประเทศมุสลิม อิรัก, ซีเรีย, ลิเบีย, อิหร่าน, โซมาเลีย, ซูดาน และเยเมน เป็นเวลา 90 วัน และห้ามมิให้ผู้อพยพเข้าประเทศสหรัฐเป็นเวลา 120 วัน เตรียมสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก
เชื่อว่าประเด็นเรื่องการลดภาษีทั้งระบบจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐต่อไป เพราะหมายถึงกำไรของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นเท่ากับอัตราภาษีจ่ายที่ลดลง และดังที่นำเสนอไปวานนี้ว่า แนวคิดการลดภาษีดังกล่าวของนายทรัมป์ เชื่อว่าถอดแบบมาจากสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคเดียวกับนายทรัมป์) ซึ่งเคยปฎิรูปกฎหมายภาษีครั้งใหญ่ในช่วงปี 2529-2531 โดยปรับลดทั้งภาษีนิติบุคคลเหลือ 34% จาก 46% และลดภาษีบุคคลธรรมดาลงเหลือ 15-28% จาก 11-50% ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐในช่วงนั้นขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญคือ GDP Growth เพิ่มจาก 3.5% ปี 2529 เป็น 4.2% ในปี 2530 และ 3.7% ปี 2531 และหนุนให้อัตราเงินเฟ้อเป็น 6.1%yoy ณ. สิ้นปี 2531 จาก 4.4% ในปี 2529 และกดดัน Fed ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวรวม 5 ครั้งรวม 1.375% และหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้น 3-4 เท่าตัวในช่วงดังกล่าว ซึ่งเมื่อนำมาเทียบเคียงกับรอบนี้ การลดภาษีทั้งระบบ น่าจะส่งผลกระทบลักษณะเดียวกัน โดยตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสทำ new high ต่อเนื่อง
นอกจากนี้การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฝั่งภาคการผลิต ยังขยายตัวต่อเนื่อง คือดัชนี ISM Manufacturing PMI เดือน ก.พ.60 เพิ่มขึ้นมากกกว่าคาดอยู่ที่ระดับ 57.7 จุด (เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6) สอดคล้องกับรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน(Durable Goods Oreders) ขยายตัว 1.8%mom (ขยายตัว 3 เดือนติด) ทำให้ตลาดกลับมาคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุมรอบถัดไป 13-14 มี.ค. สะท้อนจากล่าสุด ผลสำรวจ Fed Fund Future คาดโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอย่างก้าวโดดที่ 80% จากที่วันก่อนหน้าคาดเพียง 50% หนุนค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง หนุนFund Flow ในภูมิภาคไหลออก
(-) สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าคาด การลด supply ยังหนุนอยู่
วานนี้สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ยังทรงตัวอยู่ที่ 54.01 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ลดลงเพียง 0.07% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า) หลังสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ สิ้นสุด 1 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้น 1.501 ล้านบาร์เรล แม้จะน้อยกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.079 ล้านบาร์เรล แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 520 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8) ขณะเดียวกันพบว่าจํานวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (ตามการรายงานของ Baker Hughes) สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ.60 เพิ่มขึ้น 5 แท่นมาอยู่ที่ 602 แท่น ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ด้วยปัจจัยดังกล่าวสร้างความกังวลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ทีมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้แนวโน้ม Dollar Index ที่แข็งค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 101.74 จุด (สูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์) ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันราคาน้ำมันดิบโลก
อย่างไรก็ตามในเดือน พ.ย. 59 ที่ผ่านมา มีการทำข้อตกลงร่วมมือกันตัดลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ว่าจะลดกำลังการผลิตลงมาอยู่ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน คาดว่าทำให้ปริมาณความต้องการ และอุปทานน้ำมันเข้ามาสู่จุดสมดุลได้ในปีนี้ หนุนราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง 50-55 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งยังสอดคล้องกับประมาณการ PTTEP (FV@B116) และ PTT (FV@B460)
(-) ต่างชาติขายทุกประเทศในภูมิภาค กลับไปหาตลาดที่โดดเด่นกว่า
วานนี้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้หยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันแห่งอิสรภาพ แต่ตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคทุกแห่ง ด้วยมูลค่าราว 201 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 132 ล้านเหรียญ (หลังจากหยุดทำการไป 2 วัน) ตามด้วยอินโดนีเซีย 26 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), ฟิลิปปินส์ 16 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทยที่ต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 27 ล้านเหรียญ หรือ 938 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ตรงข้ามกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิถึง 1.6 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 5.8 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3) ต่างกับสถาบันฯยังคงซื้อสุทธิราว 1.1 หมื่นล้านบาท
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์