- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 28 February 2017 17:14
- Hits: 4486
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ความคาดหวังการลดภาษีทั้งระบบของนายทรัมป์ฯ ยังหนุนหุ้นสหรัฐ แม้ดอลลาร์อาจแกว่งตัวช่วงสั้น หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ขณะที่ยอดส่งออกที่ดีขึ้น หนุนเงินบาทแข็งค่า แต่ไม่ได้ช่วยตลาดหุ้น เพราะ fund flow ยังไหลออก และตลาดย่อยข่าวงบงวด 4Q59 และการจ่ายเงินปันผลปี 2559/2H59 ทำให้ SET ยังแกว่งตัวในกรอบ 1546-1565 จุด กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นที่มีการเติบโตเหนือตลาดฯ (PTTGC, TASCO, FSMART) Top picks เลือก TASCO(FV@B30) และ JMT(FV@B33) เติบโตตามโอกาสประมูลหนี้สินเชื่อบุคคลที่เพิ่มขึ้น
(0) ดอลลาร์เริ่มแกว่งตัว ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มขัดแย้งบ้าง
เชื่อว่าตลาดหุ้นโลกมุ่งให้น้ำหนักต่อการแถลงนโยบายต่อสภาคองเกรสของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งในคืนนี้ 21.00 น.ตามเวลาสหรัฐ (หรือวันพรุ่งนี้ 9 โมงเช้าตามเวลาไทย) โดยตลาดคาดหวัง การยกเครื่องระบบภาษี โดยการลดภาษีทั้งระบบ เพื่อชดเชยสินค้านำเข้าที่แพงขึ้นจากการ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้า(Import Tax) (ล่าสุดจะขึ้นภาษีจากเม็กซิโก 20% หรือประเทศอื่นๆ) และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การผ่อนปรนกฎระเบียบในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประเด็นเหล่านี้ตลาดหุ้นสหรัฐทยอยรับรู้ไปแล้ว
ขณะที่การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มสะดุดบ้างเล็กน้อย ล่าสุดยอดขายบ้านรอปิดการขาย (Pending home sales) เดือน ม.ค. ติดลบ 2.8%mom (ต่ำสุดในรอบ 1 ปี) สวนทางฝั่งการผลิตกลับดีขึ้น สะท้อนจาก ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน(Durable Goods Orders) ขยายตัว 1.8%mom (ขยายตัว 3 เดือนติด) ด้วยเหตุนี้ทำให้ความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปน่าจะมีน้ำหนักน้อย แม้ผลสำรวจ Bloomberg ล่าสุดเดือน มี.ค. มีโอกาสปรับเพิ่มดอกเบี้ยมากขึ้นเป๋ย 40% ก็ตาม
ขณะที่ความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปมีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งหลายประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น (15 มี.ค.60 เลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วย ฝรั่งเศสเลือกตั้งรอบแรก 23 เม.ย. และรอบที่สอง 7 พ.ค. และปลายปี 22 ต.ค. เลือกตั้งเยอรมนี) พบว่า คะแนนนิยมพรรคฝ่ายขวาหรือชาตินิยมที่ชูประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปเริ่มเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะ เนเธอร์แลนด์ (Nexit) นาย Geert Wilders นักการเมืองของพรรค Party for Freedom ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายขวา ชูประเด็นการยกเลิกรับผู้อพยพ ต่อต้านชาวมุสลิม และเช่นเดียวกับฝรั่งเศส (Frexit) นาง Marine Le Pen นักการเมืองจากพรรค National Front พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด มีจุดยืนว่าอยากนำฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรปและจะกลับไปใช้เงินสกุลฟรังค์แทน ซึ่งเป็นการเดินตามรอย Brexit ลงประชามติ 24 มิ.ย. 59และ Italexit เมื่อ 4 ธ.ค.59 สิ่งเหล่านี้ สะท้อนว่ายุโรปอาจจะกลับมาแตกสลายอีกครั้ง ทุกอย่างอาจกลับไปที่เดิมคือก่อนที่จะมีการรวมตัว Single market ทำให้โดยรวมสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินยูโรให้มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในระยะยาว
(0) ส่งออกเพิ่มต่อเนื่องหนุนบาทแข็ง..แต่น่าจะเริ่มจำกัด 34.5 บาท/ดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศเดือน ม.ค. 2560 ยังดีขึ้นต่อเนื่อง คือ ยอดส่งออก(X) เพิ่ม 8.8%yoy ขยายตัว 3 เดือนติดต่อ (จากหมวดน้ำมันสำเร็จรูปและเกษตรปรับเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก โดยเฉพาะ ยางพารา ยาง เม็ดพลาสติก น้ำตาล ประกอบกับผลของฐานการส่งออกที่ต่ำมากในปี 2559) เช่นเดียวกับการนำเข้า(M) ในช่วงเดียวกันขยายตัว 5.5%yoy เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 เดือน โดยรวมหนุนให้เกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 ซึ่งหนุนเงินบาททรงตัวถึงแข็งค่า 2.4% จากปลายปี 2559 มาที่ 34.8 บาท/ดอลลาร์ ขณะนี้ แต่คาดว่าน่าจะมีกรอบจำกัด 34.5 บาท
และในวันนี้ ตลาดคาดหวัง ครม. จะเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริหาร นักธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่ (EEC) 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งสามารถเลือกจ่ายภาษีเงินได้ในอัตราเดิม (5-35%) หรืออัตราคงที่ 17% ตามเกณฑ์ใหม่ หลังให้สิทธิพิเศษการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก(EEC) ควบคู่กับการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีนิติบุคคล (ยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 9-13 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคลไม่เกิน 50%) ซึ่งนโยบายเร่งการลงทุนเอกชน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนควบคู่กับการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านการประมูลและประกวดราคา ปี 2559 รวม 15 เม็ดเงินลงทุนก่อสร้างรวมราว 5.81 แสนล้านบาท (จาก 21 โครงการ วงเงินรวม 1.38 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะเกิดการลงทุนจริงใน 2H60 น่าจะทำให้ GDP Growth ปี 2560 เติบโตที่ 3.5%
(-) แรงซื้อหุ้นในภูมิภาคเริ่มแผ่วลง และมีการสลับมาขายในบางประเทศ
วานนี้แม้ตลาดหุ้นไต้หวันหยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันสันติภาพ แต่ตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติขายสุทธิหุ้นภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่ากว่า 222 ล้านเหรียญ และยังเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 184 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 7 วัน) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 15 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3), ฟิลิปปินส์ 3 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 20 ล้านเหรียญ หรือ 707 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิราว 241 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท สวนทางกับสถาบันฯ ที่ยังคงซื้อสุทธิราว 1.6 หมื่นล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
(-) แรงขายหุ้นรับงบยังมีอยู่ เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการประกาศงบฯ ...................................
เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการประกาศงบฯ งวด 4Q59 ล่าสุดจนถึงช่วงเย็นวานนี้ มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้ว 412 บริษัท (จากทั้งหมด 576 บริษัท คิดเป็น 86% ของ Market cap ทั้งตลาด) ทำกำไรสุทธิ 4Q59 รวมกันได้ 1.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.8%yoy แต่ลดลง 3.2%qoq โดยกลุ่มฯ ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิอย่างโดดเด่น yoy (รวบรวมเฉพาะบริษัทที่ประกาศงบฯ แล้ว) ยังคงเป็นไปในแนวโน้มเดิมดังที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ กล่าวคือ เป็นหุ้นในกลุ่ม Global โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี และเหล็ก เป็นต้น ตรงกันข้าม กลุ่มฯ ที่ดีการลดลงของกำไร yoy จะเป็นธุรกิจในประเทศ เช่น กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มบันเทิง เนื่องจากภาระต้นทุนและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น สรุปได้ดังนี้ :
หุ้น Global ที่เพิ่มขึ้น yoy
กลุ่มพลังงาน : เพิ่มขึ้น 128%yoy หลักๆ มาจาก PTT กำไรสุทธิ 4Q59 เติบโตกว่า 10 เท่า รวมทั้งกำไรที่ต่ำผิดปกติในงวด 4Q58 ขณะที่งวดนี้มีการฟื้นตัวธุรกิจ ทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี (ถือหุ้น TOP 49.1%, PTTGC 48.89%) โดยงวด 4Q59 ราคาน้ำมันเฉลี่ย 52-53 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับเฉลี่ย 43-45 เหรียญฯต่อบาร์เรลในงวด 3Q59 ทำให้เกิดกำไรจากสต๊อกน้ำมันอีกด้านหนึ่ง ตามมาคือ IRPC กำไรสุทธิ 4Q59 เติบโตถึง 279%yoy ตามค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น และกำไรสต็อกน้ำมัน เช่นเดียวกับ TOP งวด 4Q59 เติบโต 55%yoy ส่วนโรงไฟฟ้านำโดย RATCH งวด 4Q59 กำไรโต 250%yoy จากกำไรอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย (โรงไฟฟ้าหงสา และ โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2)
กลุ่มปิโตรเคมี : เพิ่มขึ้น 163%yoy โดยมาจาก IVL กำไรสุทธิ 4Q59 เติบโตกว่า 9 เท่าตัว จากรายการพิเศษส่วนใหญ่คือสิทธิพิเศษทางภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศ แต่แนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานจะดีขึ้นในงวด 1Q60 เป็นต้นไป เพราะ spread ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และปริมาณผลิตที่จะเพิ่มตามฤดูกาล รวมถึงรับรู้โครงการที่เข้าไปซื้อใน North America (PTA, PET) และการขยายกำลังการผลิต PTA ที่ยุโรป เป็นต้น และ PTTGC กำไรสุทธิ 4Q59 โต 107%yoy จากธุรกิจโรงกลั่นที่ฟื้นตัวตามฤดูกาล รวมถึงกำไรจากสต๊อกน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมีมีการเดินเครื่องเพิ่มขึ้น (ทั้งสายอะโรเมติกส์ มีการกลับมาเดินเครื่องปกติ หลังจากหยุดซ่อมบำรุงตามปกติ และโอเลฟินส์ เดินเครื่องเพิ่มเพราะ spread ของ MEG-0.65 เอทิลีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว) หนุนประสิทธิภาพการทำกำไร ปี 2560 และ 2561 จะเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าไปถือหุ้นบริษัทย่อยในสายปิโตรเคมีจาก PTT
กลุ่มเหล็ก : พลิกกลับมามีกำไรหลังจากขาดทุนในงวด 4Q58 โดยมาจาก TSTH งวด 4Q59 พลิกกลับมาเป็นกำไรจากราคาเหล็กปรับขึ้น และบริหารต้นทุนได้ดี แต่คาดว่าปี 2560 การเติบโตเริ่มทรงตัวจากปี 2559 แม้ความต้องการก่อสร้างในประเทศ และของโลก โดยเฉพาะจากจีน แต่คาดว่าราคาเหล็กที่ขยับขึ้นสูงมากในปี 2559 ทำให้โอกาสปรับขึ้นจากนี้เริ่มจำกัด ตามมาด้วย TMT งวด 4Q59 เติบโต 220%yoy แรงหนุนมาจากการปรับขึ้นของราคาเหล็กโลกเช่นกัน แต่ประเมินว่าปี 2560 กำไรน่าจะลดลงจากปี 2559 ซึ่งมีฐานกำไรที่สูงมาก (ให้ Switch จาก TMT มายัง TSTH) และ SMIT กำไรสุทธิ 4Q59 เติบโตกว่า 118%yoy จากยอดขายของธุรกิจเครื่องจักร
ตรงข้ามกับ กลุ่มฯ ที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ มีการลดลงของกำไรฯ yoy คือ
กลุ่ม ICT : ลดลง 37% เกิดจากกำไรที่ลดลงของ ADVANC งวด 4Q59 ลดลง 40%yoy จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้เติบโตไม่ทัน ทำให้กำไรสุทธิโดยรวมหดตัวลง และน่าจะต่อเนื่องในปี 2560 ตามมาด้วย DTAC กำไรสุทธิ 4Q59 ลดลง 97%yoy ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายพิเศษ ธุรกิจหลักที่เสียลูกค้า Prepaid ไปให้กับ TRUE ขณะที่ต้นทุนดำเนินงานโดยรวมยังเพิ่มเพิ่มขึ้น และ INTUCH ลดลง 42%yoy ตามสัดส่วนการถือหุ้นใน ADVANC (40%) และ THCOM (41.1%) ขณะที่มีบางบริษัทขาดทุนในงวดนี้ หนึ่งในนั้นคือ THCOM พลิกมาเป็นขาดทุนจากธุรกิจแพร่ภาพที่ชะลอตัวตามทีวีดิจิตอลที่ประสบภาวะขาดทุน และ จ่ายค่าปรับ หลังแพ้คดีที่ออสเตรเลีย รวมทั้ง SAMART และ SIM ก็ขาดทุนในงวดนี้เช่นกัน
กลุ่มบันเทิง : พลิกมาขาดทุนในงวดนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกแห่งประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากมีช่วงการไว้อาลัยเป็นเวลา 1 เดือน ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาหดตัวลง อีกทั้งการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อช่วงชิงเรทติ้ง กลับคืนมา เริ่มจาก BEC ขาดทุนในงวด 4Q59 ราว 70 ล้านบาท จากรายได้จากการขายเวลาโฆษณาลดลง ตามด้วย RS งวด 4Q59 ขาดทุนราว 63 ล้านบาท จากการลดลงของทุกธุรกิจ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ช่องอื่นๆ ก็ขาดทุนเช่นกัน คือ NMG ขาดทุน 480 ล้านบาท MONO ขาดทุน 192 ล้านบาท AMARIN ขาดทุน 155 ล้านบาท ขณะที่ WORK แม้งวด 4Q59 จะขาดทุน 72 ล้านบาท แต่กำไรทั้งปียังเติบโตถึง 32% จากปีก่อนหน้าจากผลบวกของเรทติ้งที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
(-) SET ขาดปัจจัยบวกหนุน และยังถูกกดดันจากการจ่ายปันผล
SET Index อาจเผชิญกับแรงขายเก็งกำไรจากความคาดหวังในผลประกอบการ 4Q59 ที่รายงานเกือบครบทุกบริษัทแล้ว และหลังจากนี้จะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลจ่ายเงินปันผล (ในช่วงปลายเดือน มี.ค. – พ.ค. 2560) โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะทยอยประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น โดยจากสถิติในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 2559 พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนใน SET ประกาศจ่ายปันผลกว่า 408 บริษัท ซึ่งเม็ดเงินที่นำมาจ่ายปันผลให้กับนักลงทุน กดดันให้ SET Index ปรับตัวลดลงถึง 24.60 จุด (ในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 2559) ส่วนปี 2560 นี้ แม้บริษัทจดทะเบียนยังประกาศจ่ายปันผลยังไม่ครบทุกบริษัท แต่ล่าสุดได้ทยอยประกาศจ่ายปันผลในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 2560 ไปแล้วราว 157 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วน 38.48% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผลในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 2559 ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะกดดันให้ SET Index ปรับตัวลดลงถึง 0.93% หรือคิดเป็น 14.56 จุด โดยแบ่งผลกระทบออกเป็นแต่ละช่วงเวลาได้ดังนี้
เงินปันผลเฉพาะบริษัทฯที่ประกาศจ่ายในปี 60 แล้ว กดดันให้ SET Index ปรับตัวลดลง
หมายเหตุ: คำนวณเฉพาะบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผลแล้ว
แม้ในช่วงที่ผ่านมา หุ้นปันผลสูงจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดฯ แต่จากสถิติในอดีต พบว่า ยิ่งใกล้วันขึ้นเครื่องหมาย XD มากเท่าไหร่ ผลตอบแทนที่ได้จะลดน้อยลงตามลำดับ ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯจึงแนะนำอีกกลยุทธ์นึงที่น่าสนใจ คือ เน้นลงทุนในหุ้น Growth Stock หรือ หุ้นที่มีแนวโน้มกำไรโดดเด่น และยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายวิจัยฯคัดกรองด้วยวิธี 1B3H คือ 1. เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯแนะนำ “ซื้อ” 2. มี Upside สูง (Upside > 20%), 3. มีกำไรสูง (ROE ปี 60F > 20%), 4. เติบโตสูงต่อเนื่อง (EPS Growth เฉลี่ยปี 60-61F > 15%) ได้หุ้นออกมาดังนี้
หุ้น Growth Stock
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์