- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 21 February 2017 18:29
- Hits: 959
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดยังย่อยข่าวงบงวด 4Q59 ของบริษัทจดทะเบียน และน่าจะมีการประกาศจ่ายเงินปันผลตามมา รวมถึงแนวโน้มการจ่ายหุ้นปันผลแทนเงินสด เพื่อเก็บเงินสดไว้ขยายธุรกิจ เช่น IFS, LIT ยังคงเป็นประเด็นกดดัน SET แกว่งตัว 1,585-1570 จุด กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นรายหุ้น Top picks ยังชอบ PTTGC([email protected]) เป็น Flagship ด้านปิโตรเคมีในประเทศไทย และ FSMART([email protected]) เติบโตสูงตามกระแสสังคมยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่
(+) GDP Growth ปี 2559 เป็นไปตามคาด และจะกระเตื้องต่อในปี 2560
สภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP Growth งวด 4Q59 เติบโตตามคาดที่ 3%yoy แต่ชะลอจากงวด 3Q59 ที่ 3.2%yoy การเติบโตในงวดนี้มีแรงหนุนมาจากการส่งออก(X)ในรูปดอลลาร์ ที่เพิ่มขึ้นกล่าวคือ เพิ่มขึ้น 4%yoy จาก 0.4% ในงวด 3Q59 (สินค้าส่งออกหลักๆ คือ ยาง +15%yoy ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ +14% เคมีภัณฑ์ 9.4% ปิโตรเคมี 5%) และการใช้จ่ายภาครัฐ(G) เพิ่ม 1.5%yoy จาก – 5.2% ในงวด 3Q59 เพราะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี งวด 1Q60 (ต.ค.-ธ.ค.59) อยู่ที่ 32% สูงกว่าเป้าที่คาด 30% (รายจ่ายประจำเพิ่ม 6%yoy) ตรงกันข้ามการบริโภคครัวเรือน(C) ชะลอลง ผลกระทบการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ หักล้างรายได้ภาคเกษตรที่มีสัญญาณที่ดีขึ้น (ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น) ทำให้โดยรวมทั้งปี 2559 GDP Growth ขยายตัวที่ 3.2%yoy จาก 2.8% ในปี 2558
ปี 2560 ASPS ประเมิน GDP Growth จะเพิ่มขึ้นที่ 3.5% (V.S. สภาพัฒน์ฯ คาดในช่วง 3-4%) โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงมาจากการลงทุนและการใช้จ่ายของรัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะเกิดการลงทุนจริงใน 2H60 รถไฟฟ้าสีส้ม ชมพู เหลือง และรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เป็นต้น และการลงทุนภาคเอกชน น่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังรัฐสนับสนุนการลงทุนผ่าน พรบ. ส่งเสริมภาคตะวันออก(EEC) ควบคู่กับการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีดึงดูดการลงทุนเอกชน (ยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 9-13 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคลใน ไม่เกิน 50%) น่าจะดึงดูดเอกชนมาลงทุนรอบใหม่ ซึ่งน่าจะหนุนอัตราส่วนการลงทุนเอกชน/ GDP จากปัจจุบันที่ต่ำ 20% เทียบกับที่เคยสูงถึง 30% ปี 2538 ซึ่งจะหนุนให้ GDP Growth ระยะยาว (GDP Growth ไทย ปี 2560 ต่ำสุดเมื่อเทียบในภูมิภาค คือ ฟิลิปปินส์ คาดโตราว 6.5% อินโดนีเซีย 5.3% มาเลเซีย 4.3%)
(0) ภาพรวมต่างชาติซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ขายกลุ่ม TIP
วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าราว 75.67 ล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อสุทธิเฉพาะในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ราว 46.31 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3) และไต้หวัน 57.10 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 8) สวนทางกับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่ต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ อินโดนิเซียถูกขายสุทธิราว 12.08 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 7.87 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 7.79 ล้านเหรียญ หรือ 272 ล้านบาท ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 373 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 9.3 พันล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันฯยังคงซื้อสุทธิราว 723 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
(0) คาดการณ์กำไรตลาดฯ 4Q59 น่าจะทำได้ถึง 2 แสนล้านบาท
การรายงานผลประกอบการงวด 4Q59 ยังคงทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง จากที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมจนถึงช่วงบ่ายวานนี้ พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 132 บริษัท (จากทั้งหมด 576 บริษัท คิดเป็น 60% ของ Market cap ทั้งตลาด) ทำกำไรสุทธิ 4Q59 รวมกันได้ 1.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.7%yoy แต่ลดลง 4.8%qoq โดยกลุ่มฯ ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิอย่างโดดเด่น yoy (รวบรวมเฉพาะบริษัทที่ประกาศงบฯ แล้ว) ส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่ม Global เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี และเหล็ก เป็นต้น ตรงกันข้าม ธุรกิจในประเทศที่เกี่ยวกับสื่อสารและบันเทิง ยังคงลดลงจากภาระต้นทุนและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกล่าวคือ:
หุ้น Global ที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มพลังงาน : เพิ่มขึ้น 138%yoy หลักๆ มาจาก PTT กำไรสุทธิ 4Q59 เติบโตกว่า 10 เท่า รวมทั้งกำไรที่ต่ำผิดปกติในงวด 4Q58 ขณะที่งวดนี้มีการฟื้นตัวธุรกิจ ทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี (ถือหุ้น TOP 49.1%, PTTGC 48.89%) โดยงวด 4Q59 ราคาน้ำมันเฉลี่ย 52-53 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับเฉลี่ย 43-45 เหรียญฯต่อบาร์เรลในงวด 3Q59 ทำให้เกิดกำไรจากสต๊อกน้ำมันอีกด้านหนึ่ง ตามมาด้วย TOP กำไรสุทธิ 4Q59 เติบโต 55%yoy ตามค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น และกำไรสต็อกน้ำมัน และโรงไฟฟ้านำโดย RATCH งวด 4Q59 กำไรโต 250%yoy จากกำไรอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย (โรงไฟฟ้าหงสา และ โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2)
กลุ่มปิโตรเคมี : เพิ่มขึ้น 150%yoy โดยมาจาก IVL กำไรสุทธิ 4Q59 เติบโตกว่า 9 เท่าตัว จากรายการพิเศษส่วนใหญ่คือสิทธิพิเศษทางภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศ แต่แนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานจะดีขึ้นในงวด 1Q60 เป็นต้นไป เพราะ spread ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และปริมาณผลิตที่จะเพิ่มตามฤดูกาล รวมถึงรับรู้โครงการที่เข้าไปซื้อใน North America (PTA, PET) และการขยายกำบังการผลิต PTA ที่ยุโรป เป็นต้น และ PTTGC กำไรสุทธิ 4Q59 โต 107%yoy จากธุรกิจโรงกลั่นที่ฟื้นตัวตามฤดูกาล รวมถึงกำไรจากสต๊อกน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมีมีการเดินเครื่องเพิ่มขึ้น (ทั้งสายอะโรเมติกส์ มีการกลับมาเดินเครื่องปกติ หลังจากหยุดซ่อมบำรุงตามปกติ และโอเลฟินส์ เดินเครื่องเพิ่มเพราะ spread ของ MEG-0.65 เอทิลีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว) ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตดีขึ้น หนุนประสิทธิภาพการทำกำไร แนวโน้มปี 2560 และ 2561 จะเติบโตต่อเนื่อง จากการเดินเครื่องเต็มกำลัง และ การเข้าไปถือหุ้นบริษัทย่อยในสายปิโตรเคมีจาก PTT
กลุ่มเหล็ก : เพิ่มขึ้นถึง 508% มาจาก TSTH งวด 4Q59 พลิกกลับมาเป็นกำไรจากราคาเหล็กปรับขึ้น และบริหารต้นทุนได้ดี แต่คาดว่าปี 2560 การเติบโตเริ่มทรงตัวจากปี 2559 แม้ความต้องการก่อสร้างในประเทศ และของโลก โดยเฉพาะจากจีน แต่คาดว่าราคาเหล็กที่ขยับขึ้นสูงมากในปี 2559 ทำให้โอกาสปรับขึ้นจากนี้เริ่มจำกัด ตามมาด้วย TMT งวด 4Q59 เติบโต 220%yoy แรงหนุนมาจากการปรับขึ้นของราคาเหล็กโลกเช่นกัน แต่ประเมินว่าปี 2560 กำไรน่าจะลดลงจากปี 2559 ซึ่งมีฐานกำไรที่สูงมาก (ให้ Switch จาก TMT มายัง TSTH)และ SMIT กำไรสุทธิ 4Q59 เติบโตกว่า 118%yoy จากยอดขายของธุรกิจเครื่องจักร
ตรงข้ามกับกลุ่มฯ ที่มีการลดลงของกำไรฯ yoy คือ
กลุ่ม ICT : ลดลง 36% เกิดจากกำไรที่ลดลงของ ADVANC งวด 4Q59 ลดลง 40%yoy จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้เติบโตไม่ทัน ทำให้กำไรสุทธิโดยรวมหดตัวลง และน่าจะต่อเนื่องในปี 2560 ตามมาด้วย DTAC กำไรสุทธิ 4Q59 ลดลง 97%yoy ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายพิเศษ ธุรกิจหลักที่เสียลูกค้า Prepaid ไปให้กับ TRUE ขณะที่ต้นทุนดำเนินงานโดยรวมยังเพิ่มเพิ่มขึ้น ตามด้วย THCOM ลดลง 115%yoy ตามธุรกิจแพร่ภาพที่ชะลอตัวตามทีวีดิจิตอลที่ประสบภาวะขาดทุน และ จ่ายค่าปรับ หลังแพ้คดีที่ออสเตรเลีย และ INTUCH ลดลง 42%yoy ตามสัดส่วนการถือหุ้นใน ADVANC (40%) และ THCOM (41.1%)
และวานนี้ JAS รายงานกำไรสุทธิงวด 4Q59 อยู่ที่ 923.6 ล้านบาท ลดลง 4.5%qoq หลักๆ มาจากกำไรพิเศษจากการขายทรัพย์สินส่วนเพิ่มเข้า JASIF ของรอบแรก (5 หมื่นล้านบาท) ขณะที่กำไรปกติแย่กว่าคาดมาก (ลดลง 15.6%qoq) ประสิทธิภาพการทำกำไรที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าเช่าทรัพย์สินจาก JASIF กลับมาใช้งานเพิ่มขึ้น และค่าเสื่อมราคาจากการเร่งลงทุนขยายโครงข่ายครบทุกตำบลที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานทั้งปี 2559 ลดลงถึง 81%yoy
JAS เตรียมขายสินทรัพย์กองเข้า JASIF รอบ 2 (5-7 หมื่นล้านบาท) เบื้องต้นคาดว่า JAS จะเงินนำที่ได้ ไปจ่ายหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 1.4 หมื่นล้านบาท และอาจนำเงินส่วนหนึ่ง มาจ่ายเป็นเงินปันผลพิเศษ ซึ่งอาจก่อให้เกิดกระแสเก็งกำไรราคาหุ้นขึ้นได้
ในระยะยาวภาพรวมของการดำเนินธุรกิจในระยะยาวยังดูไม่สดใสนัก จากแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ คือ ADVANC TRUE ที่มีศักยภาพสูงกว่าค่อยๆ ขยายตัวและเบียดแย่งลูกค้าไป ทำให้ฝ่ายวิจัยมีโอกาสปรับลดประมาณการกำไรปกติของ JAS ในปี 2560-61 จากประสิทธิภาพการทำกำไรที่แย่กว่าคาด รวมถึง ภายหลังการขายทรัพย์สินเข้า JASIF เพิ่มเติมและ JAS กลับไปเช่าใช้งาน (1 ใน 3 ของทรัพย์สินที่ขายเข้ากองฯ) ซึ่งจะเพิ่มภาระค่าเช่าระยะยาวอีก 6-7 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่การหารายได้มาชดเชยน่ายังทำได้ไม่ทันค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มบันเทิง : ลดลง 60%yoy เกิดจากการรายงานผลประกอบการของบางราย เช่น MAJOR กำไรลดลง 39%yoy, PLANB กำไรลดลง 44%yoy, VGI กำไรลดลง 46%
บริษัทที่มี Market Cap ใหญ่ ส่วนใหญ่ได้ทยอยประกาศงบฯ ไปแล้ว ยกเว้น CPALL, BDMS, CPN, CPF, TRUE เป็นต้น ทั้งนี้ หากอ้างอิงตามโครงสร้างกำไรในไตรมาสก่อนหน้า (3Q59) โดยให้บริษัทส่วนที่ยังไม่ประกาศมีกำไรเท่าเดิม คาดว่าภาพรวม 4Q59 กำไรสุทธิรวมของทั้งตลาดจะอยู่ที่ 2.06 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นระดับกำไรปกติ (แต่ลดลงเมื่อเทียบกับ 3Q59 ที่ทำได้ 2.14 แสนล้านบาท) และคาดว่ากำไรตลาดฯ ปี 2559 จะอยู่ที่ 8.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 6.5 แสนล้านบาท ราว 34%yoy ขณะที่ EPS ปี 2559 ที่ 92.5 บาท เพิ่มขึ้นจาก 68.8 บาทเมื่อปี 2558
ขณะที่ปี 2560 อิงตามประมาณการเดิมของฝ่ายวิจัย คาดว่ากำไรตลาดจะอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท (EPS 99.8 บาท) เติบโตราว 8%yoy โดยโครงสร้างกำไรสุทธิปี 2560 พบว่า 6 กลุ่มฯ หลัก (คิดเป็นกว่า 71% ของคาดการณ์กำไรทั้งตลาดฯ) มีแนวโน้มดังต่อไปนี้
กลุ่มพลังงาน กำหนดสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยระดับ 55 เหรียญฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 45 เหรียญฯ/บาร์เรลในปี 2559 หากไม่รวมรายการพิเศษที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตคาดว่ากำไรจะเติบโตในอัตรา 9% YoY
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดว่า Loan Growth ปี 2560 จะอยู่ทึ่ 5.88% และ NIM อยู่ที่ 3.09% ซึ่งเป็นสมมุติฐานที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ส่วนรายการตั้งสำรองหนี้สูญใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คาดกำไรเติบโต 7%
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ฐานกำไรหลักอยู่ที่ SCC ซึ่งคาดว่าปี 2560 จะทรงตัวจากปี 2559 โดยภาพรวมคาดกำไรกลุ่มเติบโตเล็กน้อย 5% YoY
กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเมินกำไรเติบโต 10% YoY ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโอนฯ Backlog (รวมโครงการ JV) บวกกับยอดขายใหม่ในโครงการแนวราบ ขณะที่ยอด Presale ใหม่ยังคงต้องติดตาม
กลุ่มค้าปลีก คาดหมายกำไรเติบโต 22% โดยที่ BIGC มีการเติบโตอย่างโดดเด่นจาก Synergy หลังการควบรวมกิจการ และการปรับโครงสร้างสินค้า นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการนับซ้ำกำไรหลัง BJC ทำงบการเงินรวมกับ BIGC
กลุ่ม ICT ยังคงได้รับแรงกดดันจากต้นทุนค่าใบอนุญาต การลงทุนโครงข่าย และการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้คาดหมายว่ากำไรปี 2560 จะหดตัวในอัตรา 11% YoY
(0) เข้าฤดูจ่ายเงินปันผล การจ่ายปันผลเงินสดลด และเริ่มแปลงเป็นหุ้นแทน
ดังที่กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ถึงภาวะตลาดในปัจจุบันน่าจะซึมซับการรายงานงบ 4Q59 ซึ่งทุกบริษัทต้องรายงานให้ครบภายในสิ้นเดือนนี้ และหลังจากนี้บริษัทจดทะเบียนจะประกาศจ่ายเงินปันผลตามมา โดยคาดว่าจะทยอยขึ้น XD (สิทธิได้รับเงินปันผล) และจ่ายเงินปันผล ช่วง มี.ค.- พ.ค. 2560 (สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 2H59 หรือ 4Q59 ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 5 ปี พบว่า หุ้นที่มีประวัติการจ่ายปันผลที่ดี ราคาหุ้นมักจะเคลื่อนไหว หรือตอบสนองในด้านบวกก่อนล่วงหน้าประกาศจ่ายเงินปันผลเสมอ ทั้งนี้หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 1.5 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD มีโอกาสได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 6.44% และความน่าจะเป็นที่มีผลตอบแทนเป็นบวกกว่า 77% โดยฝ่ายวิจัยฯได้คัดกรองหุ้นปันผลสูงที่น่าสนใจลงทุนจากหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯแนะนำ “ซื้อ” มี Upside สูงกว่า 10% ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
หุ้นปันผลสูงที่กำหนดจ่ายปันผลปีละครั้ง หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 1.5 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 9.43% ด้วยความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกกว่า 87%
หุ้นปันผลสูงที่กำหนดจ่ายปันผลปีละครั้ง
หุ้นปันผลสูงที่กำหนดจ่ายปันผลปีละ 2 ครั้งขึ้นไป หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 1.5 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 5.67% ด้วยความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 75%
หุ้นปันผลสูงที่กำหนดจ่ายปีละ 2 ครั้งขึ้นไป
หมายเหตุ: หุ้นที่ประกาศจ่ายปันผลแล้ว สามารถดูวันที่ขึ้น XD ได้ในแถว X-Date ส่วนหุ้นที่ยังไม่ประกาศจ่ายปันผล สามารถเทียบเคียงวันที่ขึ้น XD ในปีที่แล้วได้ในแถว XD-Date58
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์