- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 15 February 2017 19:25
- Hits: 16282
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
เลือกซื้อหุ้นดีจังหวะอ่อนตัว
หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : เมื่อวานนี้ดัชนี SET ปิด -13.00 จุดที่ 1572.24 แรงขายแรงในหุ้นใหญ่ เช่น PTT, PTTEP, BBL, KBANK, AOT, SCC, SCCC, SAMART ฯลฯ สถาบันในปท.และต่างชาตินำขายสุทธิ สำหรับปัจจัยสำคัญในช่วงนี้ ได้แก่
+ การปรับลดภาษีครั้งใหญ่ในสหรัฐที่ทรัมป์จะประกาศในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าหนุนตลาดหุ้นสหรัฐ
เงินเฟ้อด้านต้นทุน & สินค้าส่งออกนำเข้าของสหรัฐเร่งตัวขึ้นในเดือนม.ค.60
ประธานเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ และมีท่าทีเห็นด้วยกับคำสั่งเรื่องการปฎิรูปภาคการเงินของทรัมป์
กลุ่มเหล็กปี 60 ไปได้ดี แม้มาร์จิ้นจะไม่สูงเท่าปีก่อน (ดีผิดปกติเพราะอุปทานน้อยลงหลังจีนลดการผลิตและหลายประเทศประกาศใช้ AD) แต่ก็ดีกว่าช่วงหลายปีก่อนมากเพราะอุปสงค์เติบโตตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอุปทานไม่เพิ่มมาก หุ้นเด่น & ปันผลสูง คือ TMT
-/ AOT กังวลเรื่องราชพัสดุเรียกเก็บค่าเช่าย้อนหลัง 2.07 หมื่นล้านบาทอันเป็นผลจากการนับปีสัญญาที่ต่างกัน...และการต่อสัญญาเช่าใหม่ก็จะคิดค่าเช่าที่สุวรรณภูมิสูงขึ้นมากเพราะเปลี่ยนวิธีคิดจาก Profit Sharing เป็น Return on Assets...รอดูผลการเจรจาก่อน
จัดพอร์ตบนความสมดุลของ Risk & Return (แบ่งเป็น 3 หมวด : หุ้นปันผล, หุ้นมั่นคง และหุ้นเติบโต) และทำ Re-balancing ต่อเนื่อง ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยปีนี้มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น และเราเริ่มต้นปีบน Index ที่สูงด้วย หุ้นกลยุทธ์แนะนำวันนี้เป็น TMT
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้นภาพเป็นลบ ซื้อใหม่เน้นอ่อนตัว แนวรับ 1560-1550 จุด แนวต้านระยะสั้น 1580-1590, 1600 จุด
สำหรับการ SCAN หุ้นที่ราคามีโอกาสทำ New High พบว่าหุ้นที่เข้ามาใหม่ คือ JMT, PLAT, TIP ส่วนหุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ TLUXE, PACE, TMT, WORK, TVO, ORI, IVL, RS สำหรับหุ้นที่แนะนำไปแล้วและให้หาจังหวะ Take Profit คือ JTS หุ้นหลุด List เป็น AMA, BR
Need to know TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ & ในประเทศที่สำคัญ
ปัจจัยต่างประเทศ :
สหรัฐ : ประธานเฟดส่งสัญญาณค่อยๆปรับขึ้นดอกเบี้ยในการแถลงต่อสภาคองเกรสวันแรก
นางเยลเลน ประธานเฟดส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการแถลงรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสเมื่อวานนี้ โดยระบุว่าการรอเวลาปรับขึ้นดอกเบี้ยนานเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ซึ่งเสี่ยงต่อการกระทบตลาดการเงินและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ ปัจจัยที่เฟดใช้ประเมินเพื่อปรับดอกเบี้ย คือ การจ้างงาน & อัตราเงินเฟ้อ ว่ามีความสอดคล้องกับที่เฟดคาดการณ์ไว้หรือไม่ นอกจากนั้นนางเยลเลนได้แสดงท่าทีเห็นด้วยต่อหลักการเกี่ยวกับการออกคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในเรื่องการปฏิรูปทางการเงิน
สหรัฐ : เงินเฟ้อด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนม.ค.60
ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) +0.6%MoM ในเดือนม.ค.สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ +0.3% และเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.55 โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น
+ ตลาดหุ้นสหรัฐ : ดาวโจนส์ปิดบวก 92.25 จุด...หุ้นแบงก์พุ่งรับประธานเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย
ดัชนี DJIA ปิดที่ 20,504.41 จุด เพิ่มขึ้น 92.25 จุด หรือ +0.45% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,782.57 จุด เพิ่มขึ้น 18.61 จุด หรือ +0.32% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,337.58 จุด เพิ่มขึ้น 9.33 จุด หรือ +0.40% หนุนโดยกลุ่มธนาคารที่จะมี Spread กว้างขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
สัญญาน้ำมันดิบ : ขยับขึ้นเล็กน้อย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 53.20 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้าน BRENT ส่งมอบเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 38 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 55.97 ดอลลาร์/บาร์เรล กลุ่มโอเปกรายงานว่าได้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 890,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. ด้าน IEA รายงานว่ากลุ่มโอเปกผลิตลดลง 1 ล้านบาร์เรลในช่วงเวลาเดียวกัน แต่การผลิตน้ำมันดิบสหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทำให้การปรับขึ้นของราคาน้ำมันจำกัด
สัญญาทองคำ : ปิดทรงตัว
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 40 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 1,225.40 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยค่าเงิน US$ ค่อยๆแข็งค่าขึ้นอีกรอบหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดี และคาดว่ามาตรการด้านภาษีของทรัมป์จะช่วยหนุนการเติบโตของกำไรภาคธุรกิจ ขณะที่เฟดส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้
ปัจจัยในประเทศ :
- กรมธนารักษ์เตรียมปรับค่าเช่าที่ราชพัสดุใหม่
ทางกรมธนารักษ์กำลังพิจารณาปรับค่าเช่าที่ดินราชพัสดุใหม่ ซึ่งผู้เช่าที่ดินรายใหญ่ที่สุด คือ AOT รองลงมาเป็น PTT, TOP, กสท., ท่าเรือเจ้าพระยา, ไปรษณีย์ไทย, เอ็นซีซี เป็นต้น (ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 15 ก.พ.60) ทำให้ค่าเช่าที่ดินในสัญญาใหม่ของบริษัทเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องติดตามดูว่านอกจากการปรับขึ้นอัตราค่าเช่าแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการคิดค่าเช่าด้วยหรือไม่ เพราะอย่างรายของ AOT ทางกรมธนารักษ์มีแนวคิดที่จะคิดค่าเช่าที่ดินสนามบินสุวรรณภูมิในสัญญาใหม่เป็น Return on Assets แทนการคิดแบบ Profit Sharing ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อสรุปกันอยู่
-/ AOT (ราคาปิด 39.50 บาท) : กังวลเรื่องค่าเช่าที่ถูกเรียกย้อนหลัง & ปรับเพิ่มบนการต่อสัญญา
มีประเด็นกังวลเรื่องราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เรียกเก็บค่าเช่าย้อนหลัง 2.07 หมื่นล้านบาท อันเป็นผลจากการนับปีสัญญาที่ต่างกันทำให้วันที่สัญญาครบอายุ 10 ปีแตกต่างกัน (ทางราชพัสดุนับตั้งแต่ปี 2545 ส่วน AOT นับตั้งแต่ปี 2549 ที่เริ่มเปิดสุวรรณภูมิ) ซึ่ง AOT ระบุว่าเรื่องนี้ต้องเจรจาและใช้เวลาระยะหนึ่ง
ส่วนเรื่องอัตราค่าเช่าในการต่อสัญญาเช่าที่ดินจากราชพัสดุที่จะเปลี่ยนแปลง คือ ในส่วนของสุวรรณภูมิจะเปลี่ยนจากการคิดค่าเช่าแบบ Profit Sharing เป็น Return on Assets ที่ 2-5% ซึ่งสูงกว่าเดิมมาก ส่วนสนามบินอื่นอีก 5 แห่งคิดค่าเช่าในรูปแบบเดิมคือ Profit Sharing แต่จะขยับอัตราขึ้นในบางสนามบิน ซึ่งส่วนนี้ทาง AOT กำลังหาคำตอบว่าทำไมราชพัสดุจึงจะคิดค่าเช่าสุวรรณภูมิในรูปแบบใหม่ที่ต่างจากสนามบินอื่น ซึ่งทำให้ค่าเช่าสูงขึ้นมากและทำให้การคิดการบริการสนามบินจะสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งต้องติดตามผลการเจรจาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทาง DBSV ได้ทำการวิเคราะห์ Sensitivity โดยมีสมมติฐานว่า 1. ไม่มีการเรียกเก็บค่าเช่าแบบ Return on Assets, 2. อัตราค่าเช่าที่ดินสุวรรณภูมิเพิ่มจาก 5% เป็น 7% , ดอนเมืองอยู่ที่ 5% เหมือนเดิม และอีก 4 สนามบิน คือ เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่ และเชียงราย เพิ่มจาก 2% เป็น 5% พบว่ากำไร AOT จะลดลง 3.2% ต่อปี และราคาพื้นฐานจะลดลง 1.80 บาท/หุ้นเป็น 43.7 บาท/หุ้น (จากปัจจุบันที่ 45.50 บาท) เราเห็นว่าการอ่อนตัวของราคาหุ้นเป็นจังหวะทยอยซื้อสะสมเพื่อลงทุน
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค – [email protected]