- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 31 January 2017 17:36
- Hits: 1255
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ยังติด 1,600 จุด ขึ้นกับหุ้น Real sector ที่ทยอยรายงานงบ 4Q59 พร้อมจ่ายเงินปันผล ยกเว้น DTAC งดจ่ายปันผล เพราะกำไรต่ำกว่าคาดมาก กลยุทธ์ให้เลือกรายหุ้นที่มั่นใจกำไรและจ่ายเงินปันผลได้อย่างยั่งยืน (ASK, SCCC, TCAP, LH, PTTGC) Growth Stock (FSMART, COM7, WHA) และ Global (PTT, PTTEP, PTTGC) Top picks ยังเลือก PTTEP(FV@B116) และ COM7(FV@B14)
(+) สศค. ปรับเพิ่มเศรษฐกิจปี 2560 ขึ้น แต่เพราะเดิมทำไว้ต่ำเกินไป
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยเชื่อมั่น GDP Growth ปี 2559 จะขยายตัว 3.2% (ใกล้เคียงกับ ASPS คาดที่ 3.2%) หลังจากงวด 4Q59 ยอดส่งออก(X) ขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน (+10.1%yoy ใน พ.ย.59 +6.2%yoy ในเดือน ธ.ค.59 ทำให้ทั้งปี 2559 +0.45% บวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี) ยอดส่งออกงวด 4Q59 ที่ดีขึ้น ช่วยชดเชยการบริโภคครัวเรือนที่ชะลอลงจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ
และปี 2560 ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมีปัจจัยเร่งมาจาก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเริ่มดำเนินการได้ เช่น รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าสีเหลือง ชมพู ส้ม และแรงหนุนจากการลงทุนภาคเอกชน จากแผนส่งเสริมภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการต่ออายุมาตรการภาษีลดหย่อนภาษีจ่ายได้ 1.5 เท่า ออกไปอีก 1 ปี อีกทั้งแรงกระตุ้นของภาครัฐที่ตั้งงบกลางปีเพิ่มอีก 1.9 แสนล้านบาท ทำให้ สศค. ได้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP Growth ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 3.1-4.1%) จากเดิมที่คาด 3.4% (ผ่านสมมุติฐานคือปรับเพิ่มการลงทุนภาครัฐเป็น 9% จากเดิม 8% และการลงทุนเอกชนเป็น 2.7% จากเดิม 0% ยกเว้น C ลดเหลือ 3% จากเดิม 3.2% รวมถึงการส่งออก (รูปดอลลาร์) เพิ่มเป็น 2.5% จากเดิม 0%) แต่โดยรวมแล้วใกล้เคียงกับที่ ASPS คาดที่ 3.5% (ผ่านสมมุติฐาน การบริโภคภาคครัวเรือน 2.7% ลงทุนเอกชน 1.6% ลงทุนภาครัฐ 8% และส่งออก (รูปดอลลาร์) เพิ่มเป็น 2.1%) จึงถือว่าประเด็นนี้ไม่น่าตื่นเต้น เพราะที่ผ่านมาถือว่าทำประมาณการต่ำไป
(-) ตลาดหุ้นทั่วโลกกังวลต่อนโยบายต่างประเทศของทรัมป์
เชื่อว่าทั่วโลกยังให้น้ำหนักต่อการดำเนินนโยบายของทรัมป์ฯ หลังจากประกาศยกเลิกวีซ่ากับ 7 ประเทศมุสลิม เป็นเวลา 90 วัน และห้ามมิให้ผู้อพยพเข้าประเทศสหรัฐเป็นเวลา 120 วัน และเตรียมจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 20% เพื่อจะนำภาษีดังกล่าวมาสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐและเม็กซิโก เพื่อกีดกันแรงงานผิดกฎหมาย และเชื่อว่า จีน เป็นประเทศถัดมาที่น่าจะได้รับผลกระทบจากที่เคยนำเสนอมาตลอดว่า จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐสูงสุดราว 40% ของการขาดดุลทั้งหมดปีละ 4 แสนล้านเหรียญฯ (ขณะที่เม็กซิโกได้ดุลการค้ามากสุดอันดับ 4 ราว 7.6% ของขาดดุลการค้าสหรัฐทั้งหมด) โดยสินค้าส่งออกหลักของจีนคือ คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนเครื่องมือสื่อสาร (ราว 43.8% ของยอดส่งออกจีนทั้งหมด) รองลงมาคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 10.9% และ เหล็ก 5.7% โดยมีแนวโน้มจะขึ้นภาษีนำเข้าจากระดับต่ำสุดที่ 3% เป็น 45% เช่น ภาษีสิ่งทอฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 5-6.5% จะเพิ่มเป็น 10-13% เป็นต้น
ขณะที่ไทย แม้ส่งออกไปสหรัฐนำเข้าไทยราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย (สินค้าส่งออกหลัก คือ แผงวงจรชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน ยางแผ่นและยางแท่ง และอาหารทะเล เป็นต้น) แต่ไทยค้าขายกับจีนราว 11.05% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด (สินค้าส่งออกหลักคือ ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ยางพารา มันสำปะหลัง และเคมีภัณฑ์ ตามลำดับ) และประเทศสหรัฐสมาชิกในอาเซียนมีการค้าขายกับจีนด้วยเช่นกัน ผลกระทบสุทธิต่อไทยจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม
ส่วนในสัปดาห์นี้ การประชุมธนาคารกลางโลกหลายแห่งเชื่อว่าไม่มีอะไรใหม่ โดยวันที่ 30-31 ม.ค.60 ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) คาดคงดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และวงเงิน QE ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี เช่นเดิม และระหว่าง 31 ม.ค. - 1ก.พ.60 การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เชื่อว่าปี 2560 ยังเดินหน้าขึ้นนดอกเบี้ย 4 ครั้ง โดยผลสำรวจของ Bloomberg ให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยในงวด 2H60 เป็นต้นไป และ 2 ก.พ. การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% หลังจากได้ปรับลดลงไปเมื่อปลายปี 2559 เพราะกังวลต่อปัญหา Brexit
(-) DTAC กำไรงวด 4Q59 ต่ำกว่าคาด..งดจ่ายเงินปันผลใน 2H59
วานนี้หุ้นกลุ่มสื่อสารบริษัทแรกที่รายงานงบ 4Q59 คือ DTAC กำไรสุทธิหดตัวแรงเหลือเพียง 30 ล้านบาท (-95%qoq และ –97%yoy) และต่ำกว่าคาดว่าจะอยู่ที่ 263 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายพิเศษ 139 ล้านบาท (จากการปรับโครงสร้างองค์กร เช่น การลดพนักงาน) ขณะที่กำไรปกติยังอยู่ที่เพียง 169 ล้านบาท (ต่ำกว่าคาด) การหดตัวแรงของผลการดำเนินงานเกิดจากรายได้ค่าบริการ (ไม่รวม IC) ลดลง 1.2%qoq (-3.6%yoy) เนื่องจากเสียลูกค้า Prepaid ไปให้กับ TRUE ที่มีบริการในพื้นที่ต่างจังหวัดดีขึ้นหลังได้คลื่น 900 MHz สวนทางกับ DTAC ที่มีข้อจำกัดในการลงทุน (คลื่นส่วนใหญ่อายุสั้น ไม่คุ้มลงทุน) ขณะที่ต้นทุนดำเนินงานโดยรวมเพิ่ม 2.6%qoq โดยรวมปี 2559 กำไรสุทธิอยู่ที่เพียง 2.08 พันล้านบาท ลดลง 65%yoy
ขณะที่งบการเงินเดียวของ DTAC (ให้บริการ 2G และเป็นบริษัทแม่ถือหุ้นบริษัทย่อยให้บริการ 3G) ประสบปัญหา ขาดทุนสะสม สิ้นสุดในปี 2559 ราว 1.6 พันล้านบาท เพราะงวด 4Q59 บันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าในสินทรัพย์ (เครื่องมือและอุปกรณ์โทรคมนาคม) ในระบบสัมปทาน 2G จำนวน 5.18 พันล้านบาท (ลูกค้า 2G ลดลงจากการโอนไป 3G และสูญเสียให้กับคู่แข่งขัน ทำให้ประเมินมูลค่าสินทรัพย์สุทธิลดลงตามกระแสเงินสดที่จะเกิดขึ้นจนสิ้นสุดสัปทานเดิม) โดยรวมปี 2559 DTAC จึงจ่ายเงินปันผลเฉพาะงวด 1H59 0.42 บาท เมื่อ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา (Div. Yield เพียง 1.01% ) ส่วนในปี 2560 บริษัทจะกลับมาจ่ายเงินปันผลได้ ก็ต้องทำการล้างขาดทุนสสะสมที่มีอยู่กว่า 1.6 พันล้านบาท ให้หมด โดยการนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่มีอยู่ 8.116 พันล้านบาท และ กำไรสะสมที่จัดสรรแล้ว 474 ล้านบาท (โดยยังมีทุนเรียกชำระที่มีอยู่ 4.735 พันล้านบาท) แต่ภายใต้ผลการดำเนินงานปี 2560 ที่คาดว่า DTAC ยังต้องเผชิญกับการเสียลูกค้าไม่ต่างจากปีก่อน (ลูกค้า Prepaid จะลดลง โดยสูยเสียให้กับ TRUE ที่ใช้กลยุทธ์แจกเครื่อง ขณะที่ลูกค้า Postpaid ยังต้องปกป้องส่วนแบ่งทางการตลาดจาก ADVANC และ TRUE ที่มีศักยภาพดีกว่า) ฝ่ายวิจัยจึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2560 และ 2561 ลงจากเดิมเฉลี่ย 68% ส่งผลให้กำไรปี 2560 ลงมาอยู่ที่ 756 ล้านบาท ลดลง 63.8 %yoy และปี 2561 กำไรสุทธิอยู่ที่ 827 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้จึงยังแนะนำให้ Switch จาก DTAC ไป ADVANC (FV@B180) ที่มีคลื่นในมือแล้วและมีศักยภาพดีกว่า โดยนักวิเคราะห์ ASPS คาดกำไรสุทธิงวด 4Q59 จะอยู่ที่ 5.37 พันล้านบาท ลดลง 17.6%qoq (-50.2%yoy) ผลกระทบการรับรู้ค่าเช่าใช้คลื่น 2.1 Ghz จาก TOT ไตรมาสละ 975 ล้านบาท โดยรวมคาดกำไรสุทธิปี 2559 อยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 25% ขณะที่คาดกำไรสุทธิปี 2560 ลดลง 4.6% มาอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท เกิดจากการรับรู้ต้นทุนที่ทยอยเข้ามาระหว่างปีก่อนเต็มปี อาทิ ค่าตัดจำหน่ายคลื่น 900 MHz ค่าเช่าใช้ทรัพย์สินจาก TOT ทั้งนี้ น่าจะชดเชยบางส่วนจากรายได้ค่าบริการปีนี้ที่เติบโตดีขึ้น หนุนโดย 4G ที่ครอบคลุมมากสุดและการรุกธุรกิจใหม่อินเตอร์เนต ทั้งบริการอินเตอร์เนตบนมือถือและบ้าน และการร่วมกับพันธมิตรต่างอุตสาหกรรพัฒนาดิจิทัล คอนเท้นท์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังสามารถคาดหวัง Div Yield จาก ADVANC เกิน 4.5% ต่อปี แม้คาดปรับลดอัตราจ่ายปันผลเหลือ 80% นับจากปีนี้ มี Upside อยู่ที่ 11% ยังแนะนำ “ซื้อ”
(0) แรงซื้อหุ้นจากต่างชาติเริ่มเบาบางลง
คาดแรงซื้อหุ้นจากต่างชาติน่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากนักลงทุนน่าจะรอความชัดเจนของผลการประชุม Fed ที่จะเริ่มต้นในคืนนี้ และสิ้นสุดในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งสอดคล้องกับวานนี้ที่แรงซื้อจากต่างชาติเริ่มเบาบาง โดยสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในกลุ่ม TIP เล็กน้อยเพียง 28 ล้านเหรียญ (ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันยังคงหยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันตรุษจีน) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ยังคงซื้อตลาดหุ้นอินโดนีเซียราว 23 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิเล็กน้อยเพียง 3.2 แสนเหรียญ หรือ 11 ล้านบาทเท่านั้น (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิเพียง 18 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯ ยังคงซื้อสุทธิราว 9.76 พันล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 795 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์