- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 27 January 2017 17:31
- Hits: 8477
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET เผชิญ 1,600 จุด ครั้งแรกนับจาก ก.พ. 2558 อาจเกิดการขายทำกำไรหุ้นที่ราคาเกินมูลค่าพื้นฐาน ขณะที่ราคาน้ำมันดูไบใกล้ 55 เหรียญฯ ยังหนุนหุ้นน้ำมัน (PTT, PTTEP) และการรายงานงบ 4Q59 หุ้น Real sector หนุนรายหุ้น (WHA, AOT) กลยุทธ์สลับมาเข้าหุ้นปันผลเด่น (ASK, SCCC, TCAP, LH, PTTGC) Top picks ASK(FV@B27) และ PTTEP(FV@B116) นักวิเคราะห์ ASPS ปรับเพิ่มสมมติฐานการเติบโตระยะยาวขึ้นหนุน Fair Value
(-) ความกังวลต่อการใช้นโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ เพิ่มมากขึ้น
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แม้อาจจะมีการสะดุดบ้าง กล่าวคือ แม้ยอดขายบ้านใหม่(New Home sales) เดือน ธ.ค. หดตัว 10.4%mom สู่ระดับ 5.36 แสนหลัง(ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน) แต่ดัชนีฝั่งภาคบริการ ยังมีทิศทางที่ดี สะท้อนจาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น 2.2%mom สู่ระดับ 55.1 จุด (สูงสุดในรอบ 2 ปี) และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐปัจจุบันที่พุ่งขึ้นมา 2.1% เกินกว่าเป้าที่ Fedวางไว้ น่าจะสนับสนุนให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้งในปีนี้ หรือขึ้นราว 1% ติดตามผลการประชุม Fed ครั้งแรกในสัปดาห์หน้าคือ 30 ม.ค. – 1ก.พ. 2560
แต่หากพิจารณาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่า ซึ่งเชื่อว่าตลาดกังวลต่อการดำเนินนโยบายการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศ เพราะหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นการเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ม.ค. 2560 ก็ได้เดินหน้าตามแผนที่หาเสียงไว้ โดยการให้ความสำคัญกับชาวอเมริกันเป็นสิ่งแรก โดยเฉพาะการจ้างงาน ด้วยการชักชวนหรือส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายยังคงฐานการผลิตที่สหรัฐต่อไป และผลักดันให้เดินหน้าก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน คีย์สโตน เอ๊กซ์แอล และ ดาโกต้า แอคแซส แม้จะขัดกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม และ ยกเลิก Obamachare โดยให้งบประมาณแต่ละรัฐไปบริหารและจัดการเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทผลิตยา แข่งขันในการประมูล เพื่อลดภาระ ในการอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลรัฐบาล
ขณะที่ประกาศนโยบายการค้าต่างประเทศที่แข็งกร้าว ซึ่งสร้างความกังวลไปทั่วโลก เริ่มจากประกาศถอนตัวการค้าเสรี TPP ทบทวนเขตการค้าเสรี NAFTA และ จะสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก พร้อมจะห้ามชาวมุสลิมเดินเข้าสหรัฐ ทางฝั่งเอเชียก็น่าจะหนีไม่พ้นมาตรการกีดกันทางการค้า แต่น่าจะมุ่งไปที่ประเทศที่จีน ซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐสูงสุดราว 40% ของการขาดดุลทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ผลกระทบต่อไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ผลกระทบทางตรงอาจจะไม่มากนัก (สหรัฐนำเข้าไทยราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย สินค้านำเข้าหลักคือ แผงวงจรชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน ยางแผ่นและยางแท่ง และอาหารทะเล เป็นต้น) และไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐราว 2% ของการขาดดุลของสหรัฐทั้งหมด) แต่ผลกระทบทางอ้อม (ไทยส่งออกไปจีนราว 11.05% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด) น่าจะมีขนาดไม่แตกต่างจากผลกระทบทางตรง
(+) ปรับเพิ่ม Fair Value หุ้นน้ำมัน ตาม Long-term Growth ที่ดีขึ้น
วานนี้ PTTEP รายงานงบงวด 4Q59 ขาดทุน 872 ล้านบาท ผลจากค่าใช้จ่ายพิเศษกว่า 3.0 พันล้านบาท (ค่าใช้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และการรับรู้การด้อยค่าสินทรัพย์) แต่หากพิจารณาผลการดำเนินงานปกติงวด 4Q59 ยังเป็นกำไรอยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท แต่ลดลง 51.1% จากการปรับตัวลดลงของราคาขายก๊าซฯ และต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยรวมผลการดำเนินงานทั้ง 2559 กำไรสุทธิที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2558 ที่ขาดทุนสุทธิที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2560 เท่ากับ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล และเพิ่มขึ้นเป็น 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2561 และหลังจากปี 2562 กำหนดให้เท่ากับ 65 เหรียญฯต่อบาร์เรล ขณะที่ปริมาณการผลิตและจำหน่ายคาดจะทรงตัวใกล้เคียงในปี 2559
ทั้งนี้ ยังไม่รวม การทำ M&A โครงการใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นทั้งจากฝั่งสหรัฐ และ ยุโรป แม้ปัญหา Brexit ยังมีอยู่ก็ตาม ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ปรับ Long-term growth จากเดิม 1% เป็น 2% ได้มูลค่าหุ้นใหม่คือ 116 บาท (เดิม 102 บาท) เปิด upside กว้างขึ้น คงคำแนะนำซื้อ และ ผลจาการปรับเพิ่มมูลค่าหุ้น PTTEP ดังกล่าวจะทำให้ Fair Value ของ PTT เพิ่มขึ้น 60 บาท เป็น 460 บาท จากการที่ PTT ถือหุ้น 65.29% ใน PTTEP จึงแนะนำซื้อ PTT เช่นเดียวกัน
(+) เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน และ ธ.พ. เป็นหลัก
วานนี้ตลาดหุ้นไต้หวันยังคงหยุดทำการ และหยุดต่อเนื่องไปถึงจนถึงวันพุธหน้า เพราะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า Fund Flow ยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างไม่ขาดสาย โดยยังซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ด้วยมูลค่ากว่า 457 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวที่ยังขายสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่งต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิสูงถึง 355 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 17 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่กลับมาซื้อสุทธิสูงถึง 91 ล้านเหรียญ หรือ 3.2 พันล้านบาท (หลังขายสุทธิเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 765 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5)
และหากกลับมาพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 60 เป็นต้นมา พบว่า ต่างชาติซื้อหุ้นไทยไปแล้วกว่า 8.69 พันล้านบาท หนุนให้ SET Index ปรับเพิ่มขึ้นไปกว่า 48 จุด หรือ 3.11% โดยแรงซื้อส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในหุ้นกลุ่มพลังงาน และ ธ.พ. เป็นหลัก สังเกตได้จาก 5 อันดับหุ้นไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิผ่าย NVDR มากที่สุด คือ KBANK ถูกซื้อสุทธิผ่าน NVDR มากที่สุดในตลาดฯ ด้วยมูลค่ากว่า 7.6 พันล้านบาท ตามมาด้วย PTT 2.2 พันล้านบาท, SCB 2.1 พันล้านบาท, PTTGC 1.8 พันล้านบาท และ TISCO 1.2 พันล้านบาท
(+) มาตรการลดหย่อนภาษีเอกชนหนุน หุ้นกลุ่มสื่อสาร และ โรงพยาบาล
ตามที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ถึงการที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติให้ต่ออายุมาตรการภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนออกไปอีก 1 ปี แต่มีการปรับเงื่อนไข คือ ให้ลดหย่อนภาษีจ่ายได้ 1.5 เท่า (จาก 2 เท่าในปี 2559) ของเงินลงทุนในทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะที่มิใช่รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง และอาคารถาวร (แต่ไม่รวมที่ดินและที่อยู่อาศัย) ทรัพย์สินใหม่ที่มีการจ่ายเงินลงทุนในปี 2560 และพร้อมใช้งานภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เว้นแต่เครื่องจักรและอาคารถาวรจะพร้อมใช้งานหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ก็ได้
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวน่าจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ได้ BOI ซึ่งจากการสอบถามและรวบรวมข้อมูลจากนักวิเคราะห์ ASPS สามารถสรุปได้ดังนี้
กลุ่มที่คาดว่าได้รับประโยชน์เต็มที่ คือ สื่อสาร โรงพยาบาล และค้าปลีก
กลุ่มสื่อสาร : ADVANC และ DTAC ภายใต้สมมติฐานปัจจุบันซึ่งประเมินว่าในปี 2560 จะลงทุนโครงข่ายเพิ่มเติม 3.0 และ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้นำค่าเสื่อมราคา (ตัดจ่าย 5 ปี) ไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมในปี 2560-64 ได้ปีละ 3.0 และ 1.7 พันล้านบาท กรณีที่มองโลกในแง่ดี คือ สามารถนำงบลงทุนดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ใหม่ คาดช่วยให้ประหยัดภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละ 600 และ 340 ล้านบาท บวกกับ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการดังกล่าวที่มีผลตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งยังไม่เคยรวมในประมาณการอีกปีละ 1,600 และ 680 ล้านบาท (คำนวณจากงบลงทุน ADVANC และ DTAC ที่ 4.0 และ 1.7 หมื่นล้านบาท ให้ตัดจ่ายเป็นภาษีที่นำมาลดหย่อนเพิ่มปีละ 8.0 และ 3.4 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นในปี 2559-63 ปีละ 1,600 และ 680 ล้านบาทดังกล่าว) จะส่งผลให้รายจ่ายภาษี ADVANC และ DTAC ในปีนี้อาจจะดีกว่าประมาณการราว 2.2 และ 1.02 พันล้านบาท และอาจหนุนกำไรสูงกว่าประมาณการ ADVANC และ DTAC ราว 7.8% และ 38.4% ทั้งนี้ แม้มาตรการดังกล่าวจะถือเป็นข่าวดีระยะสั้นของกลุ่ม และคาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วนจากต้นทุนแทบทุกด้านที่เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันรุนแรง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยจึงยังขอยึดหลักอนุรักษ์นิยมคงประมาณการปัจจุบันไว้ก่อน จากปัจจัยเสี่ยงต้นุทนอื่นๆที่อาจเพิ่มขึ้นเกินคาดได้จากการแข่งขันดังกล่าว
ส่วน TRUE เนื่องจากงบลงทุนส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้ข้อตกลง Vendor Financing (ผ่อนส่ง/เช่าซื้อทรัพย์สิน) กับซัพพลายเออร์ ซึ่งไม่ตรงตามเงื่อนไขรัฐฯ จึงไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
กลุ่มโรงพยาบาล : ส่วนใหญ่จะมีการซื้อเครื่องมือ, อุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ทุกปี ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI จึงได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ โดย BDMS คาดมีการลงทุนใหม่ปีนี้ราว 2,250 ล้านบาท ได้ลดหย่อนภาษีและช่วยประหยัดภาษีปี 2560 ได้ 920 และ 184 ล้านบาท ตามลำดับ (กำไรปี 2560 เพิ่มขึ้น 2% จากประมาณการ) (โดยในปี 2559 BDMS มีการลงทุน 1829 ล้านบาท ได้ลดหย่อนและประหยัดภาษีจากมาตรการนี้ไปประมาณ 750 และ 150 ล้านบาท ตามลำดับ) BCH คาดมีการลงทุน 320 ล้านบาท ได้ลดหย่อนภาษีและช่วยประหยัดภาษีปี 2560 ได้ 70 และ 14 ล้านบาท ตามลำดับ (กำไรปี 2560 เพิ่มขึ้น 1.6% จากประมาณการ) (โดยในปี 2559 BCH มีการลงทุน 257 ล้านบาท ได้ลดหย่อนและประหยัดภาษีจากมาตรการนี้ 50 และ 10 ล้านบาท ตามลำดับ) และ BH คาดมีการลงทุนใหม่ปีนี้ราว 728 ล้านบาท จะสิทธิลดหย่อนภาษีและช่วยประหยัดภาษีปี 2560 ราว 525 และ 105 ล้านบาท ตามลำดับ จะหนุนกำไรปี 2560 เพิ่มขึ้นจากเดิม 2.6%) ขณะที่ปี 2559 BH มีการลงทุน 355 ล้านบาท ได้ลดหย่อนและประหยัดภาษีจากมาตรการนี้ไปประมาณ 255 และ 51 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มค้าปลีก : โดยรวมอาจจะผลประโยชน์น้อย แม้มีแผนลงทุนการขยายสาขาต่อเนื่อง (โดยนำค่าเสื่อมราคาไปลดหย่อนภาษีได้ทุกรูปแบบ ภายใต้สมมติปัจจุบันว่าในปี 2560 ผู้ประกอบการค้าปลีก BJC, MAKRO, CPALL, ROBINS และ HMPRO จะขยายจำนวนสาขา เริ่มดำเนินงาน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 7,600 ล้านบาท, 4,000 ล้านบาท, 3,200 ล้านบาท, 2,400 ล้านบาท และ 4,500 ล้านบาท ตามลำดับ คาดจะช่วยให้มีรายจ่ายค่าเสื่อมราคา (ทุกรายตัดจ่าย ราว 15 ปี ยกเว้น MAKRO ที่ตัดจ่าย 25 ปี ) ไปลดหย่อนภาษี ”เพิ่มเติม” ในปี 2560-2575 (2560-2585 สำหรับ MAKRO) ได้ปีละ 253 ล้านบาท, 80 ล้านบาท, 133 ล้านบาท, 160 ล้านบาท และ 150 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งช่วย ประหยัดภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละ 51 ล้านบาท, 16 ล้านบาท, 27 ล้านบาท, 32 ล้านบาท และ 30 ล้านบาท ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาผลบวกต่อกำไรสุทธิ ไม่น่าจะมีนัยสำคัญ กล่าวคือ แต่ละรายรายน่าจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิม (BJC คาดกำไรในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 0.6% , MAKRO เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% , CPALL เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% , ROBINS เพิ่มขึ้นเพียง 1.0% และ HMPRO เพิ่มขึ้นเพียง 0.6%)
หรือแม้แต่หุ้นค้าปลีกขนาดเล็กอย่าง TNP งบลงทุนขยายสาขาปี 2560 60 ล้านบาท คาดจะช่วยให้มีรายจ่ายค่าเสื่อมราคาไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมในปี 2560-2572 (ตัดจ่ายราว 12 ปี) ”เพิ่มเติม” ได้ปีละ 3 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละ 0.5 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลให้กำไรในปี 2560 เพิ่มขึ้นราว 0.7% จากประมาณการเดิม จึงไม่น่าส่งผลอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
หุ้นกลุ่มที่คาดว่าได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษี
กลุ่มที่คาดว่าได้รับประโยชน์บางส่วน
กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ : KCE มีแผนขยายกำลังการผลิตโรงงานลาดกระบังใหม่เฟส 3 ราว 1.0 พันล้าน หลักๆ เป็นการลงทุนซื้อเครื่องจักรในปี 2560 รองรับแนวโน้มคำสั่งซื้อที่จะเพิ่มขึ้นใน 12 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ HANA ก็เตรียมงบลงทุนราว 650 ล้านบาทในปี 2560 แบ่งเป็นลงทุนเครื่องจักรระบบอัตโนมัติใหม่ที่โรงงานจ.อยุธยา ราว 500 ล้านบาท และปรับปรุงระบบ Software และระบบ Automation ภายในโรงงานอีกราว 150 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยประเมินว่า KCE และ HANA จะได้รับผลประโยชน์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากปัจจุบันก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI (เป็นส่วนใหญ่) ในหลายโครงการ (โรงงาน) อยู่แล้ว ขณะที่ DELTA และ SVI ไม่ได้มีแผนขยายกำลังการผลิตในประเทศไทย เนื่องจากมีกำลังการผลิตเพียงพอแล้ว
เกษตร-อาหาร : STA ตั้งงบลงทุนในปี 2560 สำหรับการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางแท่งและขยายกำลังการผลิต (ซื้อเครื่องจักรใหม่) ทั้งสิ้น 1.2 พันล้านบาท รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่ CPF ตั้งงบลงทุนราว 2.0 พันล้านบาท ในปี 2560 สำหรับขยายกำลังการผลิตโรงงานในประเทศไทย และ TU ก็ได้ตั้งงบลงทุนราว 1.0 พันล้านบาท ในปี 2560 สำหรับขยายโรงงานในไทยเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตร-อาหารทั้งหมด ล้วนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI ในหลายโครงการ (โรงงาน) เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้วเช่นกัน จึงได้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัดจากมาตรการดังกล่าว
กลุ่มที่คาดว่าไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้
สายการบิน : งบลงทุนสายการบินส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเครื่องบิน ซึ่งได้สิทธิภาษีจาก BOI อยู่แล้ว จึงไม่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากมาตรการดังกล่าว
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง : เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ ได้รับ BOI และส่วนหนึ่งจากการเข้าซื้อกิจการซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษี
กลุ่มยานยนต์ , กลุ่มโรงแรม , กลุ่มอสังหาฯ , กลุ่มอาหาร, กลุ่มเหล็ก , กลุ่มนิคม , กลุ่มขนส่งทางบก : ไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากมาตรการนี้
โดยรวมน่าจะเร่งให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนที่พร้อมจะลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเริ่มต้นของภาคเอกชนก่อนที่จะเข้าสู่ แผนลงทุนภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา (ให้สิทธิทางภาษีเป็นเวลา 13 ปี จากเดิม 8 ปี) นอกเหนือจากกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ น่าจะหนุนให้เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ขยายตัวใกล้เคียงที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ระดับ 3.5%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์