- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 20 January 2017 18:23
- Hits: 1981
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ประธาน ECB ส่งสัญญาณอาจจะยืด QE กังวลต่อ Brexit ขณะ IEA คาดความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ประกอบกับ dollar index แกว่งตัว หนุนสินค้าโภคภัณฑ์แกว่งตัวขาขึ้น กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นเลือกหุ้นที่มีเงินปันผลสูง (ASK, SCCC, TCAP, LH, PTTGC) และหุ้น Global (PTT, PTTEP, PTTGC, TTA) เลือก PTTGC(FV@B76) และ TTA([email protected]) เป็น Top picks
(0) ECB ยังใช้นโยบายผ่อนคลายต่อ กังวลต่อ Brexit
วานนี้ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงให้ยืนนโยบายการเงินเดิม คือ ยืนดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 0% (ติดต่อกันตั้งแต่ มี.ค. 2559) และยังคงระยะเวลาโครงการ QE สิ้นสุด ธ.ค.2560 (วงเงิน QE 6 หมื่นล้านยูโร/เดือนตั้งแต่เดือน เม.ย. - ธ.ค.2560 (ลดลงจาก 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน โดยรวมโครงการ QE ทั้งสิ้น 34 เดือน มี.ค.2558 – ธ.ค.2560 ใช้เม็ดเงินรวม 2.29 ล้านล้านยูโร หรือคิดเป็น 65.4% ของวงเงิน QE สหรัฐ) และแม้เศรษฐกิจยุโรป มีสัญญาณที่ดีขึ้น ล่าสุด IMF ปรับเพิ่ม GDP Growth ยุโรป ปี 2560 ขึ้น 0.1% เป็น 1.6%yoy (ปรับเยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน ขึ้นประเทศละ 0.1% แต่ปรับลด อิตาลีลง 0.2%) อย่างไรก็ตามยังให้น้ำหนักต่อ Brexit ทำให้มีโอกาสที่ยุโรปยังต้องพึ่งนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป
ขณะที่สหรัฐ วันนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะสาบานตนขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ โดยต้องติดตามว่าจะมีการแถลงนโยบายเศรษฐกิจอะไรเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนครั้งแรก เมื่อกลางสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งได้สร้างความผิดหวังต่อตลาด เพราะไม่ได้พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การลดภาษีทุกกลุ่ม นโยบายกีดกันทางการค้า มีเพียงมุ่งเน้นที่ สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ การฟื้นฟูอุตสาหกรรมยาและชีวภาพ และการลงมือสร้างกำแพงกั้นพรมแดน ระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก อย่างไรก็ตามเชื่อว่านายทรัมป์ฯ น่าจะสงวนท่าที เพราะเกรงว่าอาจจะกระทบความสัมพันธ์กับประเทศที่เคยโจมตีไว้เมื่อครั้งหาเสียง โดยเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐได้สะท้อนนโยบายของทรัมป์ระดับหนึ่ง จากนี้ไปน่าจะมีทิศทางแกว่งตัว และรอจนกว่าจะถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ ในวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.2560 ในระยะสั้นทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงผันผวนต่อไป
(0) สต๊อกน้ำมันเพิ่ม แต่ Demand มีแนวโน้มดีขึ้น ยังหนุนน้ำมันแกว่งตัวขึ้น
วานนี้มีรายงานสต็อกน้ำมันของสำนักสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) รายสัปดาห์ สิ้นสุด 13 ม.ค. สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล สวนทางตลาดคาดว่าจะลดลง เช่นเดียวกับน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเพิ่มของน้ำมันเบนซิน 6 ล้านบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดีเซลลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนช่วงฤดูหนาวยังมีอยู่มาก)
แต่อย่างไรก็ตาม IEA (สำนักงานพลังงานสากล ตั้งที่กรุงปารีส) ได้ปรับเพิ่มคาดการความต้องการใช้น้ำมันโลกขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 98.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า ปริมาณผลิตและความต้องการ น่าจะใกล้ระดับสมดุลมากขึ้นภายใน 1H60 ทั้งนี้ไม่ได้คำนึงถึงแผนการตัดลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ทั้งกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ซึ่งตามข้อตกลงล่าสุดจะต้องตัดลดการผลิต 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 0.558 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยขณะนี้ประเทศในกลุ่ม OPEC ได้ทยอยตัดลดกำลังผลิตไปแล้วรวมกันราว 2.2 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือราว 12% ของแผนที่จะลดกำลังผลิต) ต้องติดตามผลการตัดลดกำลังการผลิตอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีการประชุมกันที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในวันที่ 21-22 ม.ค. 2560
นอกจากนี้การที่ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัว หรือแกว่งในทิศทางอ่อนค่า หลังจากแข็งค่ากว่า 8% ในช่วงเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2559 ซึ่งถือว่าช่วยพยุงให้ราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวในระดับ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า Brent อยู่ที 54.16 เหรียญฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 0.45% จึงน่าจะหนุนให้ราคาตลาด spot น้ำมันดูไบแกว่งตัวที่ 52-53 เหรียญฯต่อบาร์เรล ยังถือว่าเป็น sentiment เชิงบวกต่อ PTT(FV@B400), PTTEP (FV@B102)
(-) สถาบันในประเทศ เทขายหนัก ในทิศทางเดียวกับต่างชาติ
แม้วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นภูมิภาคเล็กน้อยราว 22 ล้านเหรียญ โดยแรงซื้อหลักๆอยู่ในตลาดหุ้น 2 แห่ง คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิสูงถึง 111 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และอินโดนีเซีย 14 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) แต่ตลาดอีก 3 แห่งยังขายสุทธิ คือ ไต้หวันขายสุทธิ 90 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) ฟิลิปปินส์ 8 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันแรก) และไทยขายสุทธิเล็กน้อยราว 4 ล้านเหรียญ หรือ 154 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่สลับมาขายสุทธิสูงถึง 3.45 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีไปราว 3.06 พันล้านบาท) และยังเป็นการขายสุทธิที่สูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะมาจากแรงขายของกองทุน LTF ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนตั้งแต่ปี 2556 เริ่มกลับมาขายอีกครั้ง หลังจากดัชนีในระดับปัจจุบัน ปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าต้นทุน LTF เฉลี่ยเทียบเท่า SET Index (ฝ่ายวิจัยฯประมาณไว้ที่ 1501 จุด) จึงต้องระมัดระวังแรงขายที่อาจมีมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯยังคงซื้อสุทธิราว 2.58 หมื่นล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิราว 4.70 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วัน)
(0) ดัชนีค่าระวางเรือฟื้นตัวต่อเนื่อง ยังชื่นชอบ TTA
คาดว่าแนวโน้มดัชนีค่าระวางเรือ BDI ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ได้ปรับขึ้นมามากกว่า 231% จากจุดต่ำสุดในช่วงต้นปี 2559 (ใกล้เคียงกับราคาน้ำมัน) ตามความต้องการใช้นำเข้าสินแร่เหล็กและถ่านหินของโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะนจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก เนื่องจากเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ช่วง 1Q60 เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวสาลีในออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา ซึ่งทำให้มีการส่งมอบสินค้า และหนุนให้เกิดความต้องการเรือเทกองในงวด 1Q60 และคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือเป็น sentiment บวกต่อ TTA และ PSL
ส่วนดัชนีเรือคอนเทนเนอร์ (ขนส่งสินค้าสำเร็จรูป) คือ ดัชนี SHI โดย RCL เป็นตัวแทนค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์แถบเอเซีย สามารถฟื้นตัวได้เช่นกัน ล่าสุดอยู่ที่ 990 จุด จากจุดต่ำสุดที่ 400 จุด ช่วงต้นปี 2559 แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลบวกให้ภาคการค้าระหว่างประเทศฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตามธุรกิจเรือคอนเทนเนอร์ต่างจากเรือเทกองตรงที่ต้องแบกภาระต้นทุนน้ำมันทั้งหมด จึงมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ จึงทำให้การฟื้นตัวล่าช้ากว่าเรือเทกอง และคาดจะเผชิญความเสี่ยงขาดทุนในช่วง 1-2 ปีนี้อยู่
เชื่อว่าภาพธุรกิจเดินเรือมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยเลือก TTA ([email protected]) เป็น Top pick จากความโดดเด่นที่มีการกระจายรายได้หลายธุรกิจ นอกเหนือจากได้ประโยชน์จากดัชนีเรือเทกองที่ฟื้นตัวแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากการลงทุน บริษัทย่อย เมอร์เมด (ถือหุ้น 57%) ซึ่งทำธุรกิจเรือขุดเจาะน้ำมันและเรือวิศวกรรมสำรวจใต้ทะเล ซึ่งคาดจะได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และ UMS (ถือหุ้น 48.46%) ซึ่งเป็นผู้ค้าถ่านหิน น่าจะได้รับผลบวกจากราคาถ่านหินฟื้นตัวเช่นกัน โดยคาดว่า TTA จะพลิกฟื้นกลับมามีกำไรในปี 2560 จากปี 2559 ที่คาดว่าจะขาดทุน 244 ล้านบาท ได้ ขณะ PSL และ RCL แม้คาดผลการดำเนินงานดีขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงขาดทุนในปี 2560 โดย RCL(ซื้อ:[email protected]) เผชิญกับต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถผลักภาระให้ลูกค้าได้ทันที ขณะที่ PSL(Switch :FV@B9) ถูกกดดันจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก) แต่เชื่อว่าราคาหุ้นผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว การลงทุนจึงเป็นเพียงระยะสั้นๆ เพื่อรอผลประกอบการฟื้นตัว
(+) กลยุทธ์ Dividend Play ซื้อก่อนขึ้น XD 2 เดือน: ASK, LH, SCC, TCAP และ PTTGC
การประกาศงบการเงินงวดปี 2559 กำลังใกล้เข้ามา และหลังจากนี้จะเป็นช่วงการประกาศจ่าย เงินปันผล (รายไตรมาส ครึ่งปี หรือ 1 ปี) คือราวเดือน มี.ค.- พ.ค. ทำให้หุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง จะให้ผลตอบแทนที่ดี (รวมเงินปันผล และ capital gain) โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการลงทุนในหุ้นปันผลเด่น คือให้ซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือนและขายทำกำไรในวันขึ้น XD โดยแบ่งผลตอบแทนที่ได้ออกเป็น 2 กรณีหลักๆ ดังนี้
หุ้นที่จ่ายปันผลปีละครั้ง หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 11.66% (ด้วยความน่าจะเป็นกว่า 84%) ได้แก่ THANI ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 27.0% รองลงมา คือ IRPC 17.3%, IFS 15.6%, ASK 12.6%, TK 12.1%, SC 6.7%, TISCO 5.6%, KTB 3.9% และ SITHAI 4.3%
หุ้นที่จ่ายปันผลปีละมากกว่า 2 ครั้ง หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 7.57% (ความน่าจะเป็น 79%) ได้แก่ AH ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 15.8% ตามมาด้วย BCP 13.8%, SENA 13.4%, AIT 13.4%, MAJOR 12.5%, INTUCH 11.6%, MCS 11.1%, ADVANC 10.4%, HANA 10.3%, GLOW 10.3%, SPALI 9.8%, TCAP 7.5%, TTW 7.3 %, SAT 7.2%, LANNA 7.1%, BBL 6.9%, PTTGC 6.8% และบริษัทอื่นๆอีกกว่า 15 บริษัท
โดยฝ่ายวิจัยฯ เลือก ASK, LH, SCC, TCAP และ PTTGC เป็น Top Picks(อ่านรายละเอียดได้ในบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม Quantitative Analysis ในวันอังคารที่ 17 ม.ค. 2560)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์