- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 06 August 2014 15:28
- Hits: 1809
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นฟื้นตัวก็ยังเป็นจังหวะปรับพอร์ต เชื่อว่าการรายงานงบ 2Q57 ยังมีแรงขายรับงบ วันนี้ ยังเลือก SEAFCO ([email protected]) เป็น Top pick ราคาหุ้นยังมี upside 23%
รัสเซียเตรียมตอบโต้สหรัฐ และยุโรป น่าจะกดดันตลาดหุ้นโลก
รัสเซียได้เริ่มออกมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ, EU และกลุ่มประเทศพันธมิตร ที่หนักหน่วงมากขึ้น เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐที่ก่อนหน้านี้ได้จำกัดการทำธุรกรรมและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารและสถาบันการเงินรัสเซียที่มีส่วนช่วยเหลือรัฐบาล รวมทั้งจำกัดอุตสาหกรรมพลังงานและการผลิตอาวุธ ขณะที่ EU ควบคุมการระดมทุนจากธนาคารและห้ามไม่ให้ขายหุ้นหรือพันธบัตรในยุโรป พร้อมกับยุโรป คุมเข้มการส่งออกอุปกรณ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรมน้ำมัน รวมทั้งระงับการส่งออกเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุทธปัจจัยทางทหาร
ก่อนหน้านี้การตอบโต้ของรัสเซีย เริ่มจากการห้ามบริษัทตรวจสอบบัญชีสัญชาติอเมริกัน เช่น Deloitte LLP และ KPMG LLP เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ และยังประกาศว่าจะสั่งห้ามการนำเข้าไก่จากสหรัฐฯและผลไม้จากยุโรป และล่าสุดถือว่าค่อนข้างแรงคือ รัสเซีย เตรียมสั่งห้ามเที่ยวบินของสายการบินยุโรปใช้น่านฟ้าเหนือ ไซบีเรียที่จะบินไปยังเอเซีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อสายการบินลุฟต์ฮันซา, บริติช แอร์เวย์สและแอร์ฟรานซ์ นอกจากนี้ ญี่ปุ่น ซึ่งเคยขึ้นบัญชีดำบุคคลสำคัญของรัสเซีย อาจต้องโดนการตอบโต้กลับเช่นกัน โดยรัสเซียได้เลื่อนประชุมผู้นำกับญี่ปุ่น เกี่ยวกับกรณีพิพาทเขตแดนที่เป็นอุปสรรคให้การค้าขายระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นต้องหยุดชะงัก รวมทั้งคาดหวังที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการค้า เนื่องจากญี่ปุ่นพยายามขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย
การตอบโต้ระหว่างคู่กรณี ที่กำลังจะนำไปสู่การคว่ำบาตรทางการค้า น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงกับทุกประเทศ เนื่องจากรัสเซียส่งออกสินค้ากับชาติยุโรปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับเยอรมัน สูงถึง 3 หมื่นล้านเหรียญ ส่งออกไปญี่ปุ่น 1.7 หมื่นล้านเหรียญฯ และสหรัฐ 1.3 หมื่นล้านเหรียญฯ ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นที่น่ากังวลต่อภาวะการฟื้นตัวเศรฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยฯในอังกฤษ ชัดขึ้น VS ไม่น่าจะมีมาตรการใหม่
อังกฤษ การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจดีกว่าคาด โดยล่าสุดดัชนี PMI ภาคบริการ (เป็นส่วนสำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุด) เดือน ก.ค. อยู่ที่ 59.1 นับเป็นระดับที่สูงสุดตั้งแต่ พ.ย. 2556 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 ขณะที่อัตราว่างงานล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 0.97% ลดลงต่อเนื่องและต่ำกว่าช่วงวิกฤติ ด้วยเหตุนี้น่าจะทำให้ธนาคารกลางของอังกฤษ น่าจะมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่ยืนที่ระดับ 0.5% มานานตั้งแต่ มี.ค 2552 โดยนักเศรษฐศาสตร์จาก Markit ของประเทศอังกฤษ ประเมินว่า BOE มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ อย่างเร็วที่สุดภายในปีนี้ ซึ่งอังกฤษน่าจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มพัฒนาแล้วที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความชัดเจนจากผลการประชุมของ BOE ในระหว่างวันที่ 6-7 ส.ค. นี้ ซึ่งความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ (ที่ได้จากการสำรวจของบลูมเบิร์ก) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%
ญี่ปุ่น แนวโน้มเศรษฐกิจอาจจะย่ำแย่กว่าที่คาด
โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ (การบริโภคครัวเรือน คิดเป็น 60% ของ GDP) น่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของการขึ้นภาษีขายไปเมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา สะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. หดตัว ถึง 3.3%mom รวมทั้งยอดส่งออกในงวด 2Q57 หดตัว 1.1%qoq (ต่ำกว่าคาด และจาก 1Q57 หดตัว 1%) ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะมีการปรับลดประมาณยอดส่งออกในปีนี้ลง ทั้งนี้หากอ้างอิงการประมาณการเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดย IMF คาดว่าปี 2557 จะขยายตัว 1.4% โดยที่งวด 1Q57 เติบโต 2.8% แสดงว่าในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ ต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 0.95%
อย่างไรก็ตามในการประชุม BOJ ระหว่างวันที่ 7-8 ส.ค. นี้ นักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก คาดว่า BOJ จะยังคงนโยบาย QE 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี (จากเป้าหมายที่ 101 ล้านล้านเยนต่อปี) ขณะที่ผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ส่วนน้อยราว 26% ของการสำรวจคาดว่า BOJ จะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในเดือน ส.ค.
เอเซีย ขณะที่ประเทศในฝั่งเอเซียอีก 2 ประเทศ ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่เดิม แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ 2.5% (คงที่ในรอบเกือบ 1 ปี และเป็นไปตามคาด) เทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 3% (ดอกเบี้ยสุทธิติดลบ) เช่นเดียวกับธนาคารกลางอินเดีย คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 8% (ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3) เทียบกับอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง 7.31% ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ก่อนหน้านั้น มีบางประเทศที่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เช่น มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ โดยคาดว่าประเทศที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามมาคือ อินโดนีเซีย ขณะที่ไทยน่าจะยืนดอกเบี้ยนโยบายระดับ 2% ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2557 และ น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ในปี 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. อยู่ในระดับต่ำ 2.16% อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความชัดเจนของผลการประชุม กนง.ในวันนี้
Ticker Fund กลับซื้อหุ้น สวนทางต่างชาติ
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 559 ล้านเหรียญฯ (หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน 6 วันก่อนหน้า) โดยที่เป็นการสลับมาขายถึง 4 จาก 5 ประเทศ สูงสุดคือ ไต้หวัน ที่สลับมาขายสุทธิอย่างหนักราว 604 ล้านเหรียญฯ ส่วนประเทศในกลุ่ม TIP ยังขายสุทธิเบาบาง กล่าวคือ ไทยสลับมาขายสุทธิราว 26 ล้านเหรียญฯ (843 ล้านบาท) ตามมาด้วยอินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิเช่นกัน ราว 11 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้า) และ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 1 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิ 42 ล้านเหรียญฯ) สวนทางกับเกาหลีใต้ ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 84 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 63% จากวันก่อนหน้า)
ทั้งนี้ แม้ว่าต่างชาติจะสลับขายสุทธิหุ้นไทยออกมาอีกครั้งตามภูมิภาค แต่ดัชนีกลับปรับตัวสูงขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 2.8 พันล้านบาท และเชื่อว่าในระยะสั้นจะยังคงมีแรงซื้อจากนักลงทุนกลุ่มนี้จากกองทุน Trigger Fund ถึง 5 กองที่จะปิดการขายภายในสัปดาห์นี้ มูลค่ารวมโครงการกว่า 5 พันล้านบาท และจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น
ปรับลดคำแนะนำ KCE เป็นถือ ราหุ้นสะท้อนผลกำไรที่ดีแล้ว
IVL (FV@B40) รายงานกำไรงวด 2Q57 ใกล้เคียงที่ฝ่ายวิจัยคาด โดยเติบโตเกือบ 6 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับงวด 1Q57 เป็นผลจากปริมาณขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์หลัก รวมทั้งบันทึกขาดทุนจากสต็อกคงเหลือลดลง และบันทึกกำไรจากการซื้อกิจการ PHP Fiber และ TurkPET โดยรวมส่งผลให้กำไรสุทธิงวด 1H57 อยู่ที่ 1.85 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 162.5%yoy คิดเป็น 39.8% ของประมาณการกำไรทั้งปี ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการปี 2557 ไว้เช่นเดิม โดยคาดกำไรงวด 2H57 จะเติบโตโดเด่นกว่างวด 1H57 จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบพาราไซลีน ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ยังคงแนะนำ ซื้อ
KCE([email protected]) รายงานกำไรสุทธิเท่ากับ 479 ล้านบาท ใกล้เคียงคาด ทำ New High 4 ไตรมาสติดต่อกัน จากยอดขายรวมเติบโต 1.9% qoq สู่ 2.8 พันล้านบาท แม้ว่าค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า 0.6% qoq แต่อานิสงค์จากการเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลส่งออกมีน้ำหนักมากกว่า หนุนให้ยอดขายผลิตภัณฑ์กลุ่มยานยนต์เติบโต และฝ่ายวิจัยคาดว่าการเข้าสู่ช่วง High Season จะทำให้ผลการดำเนินงานงวด 3Q57 เติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ประกาศจ่ายเงินปันผล 0.40 บาท ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 18 ส.ค. 57 อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยบวกไปมากแล้ว โดยราคาปัจจุบันสูงกว่า Fair Value ที่ 40.50 บาท จึงแนะนำ ถือ เพื่อรับเงินปันผล
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล