- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 10 January 2017 16:06
- Hits: 1473
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
กองทุน LTF เริ่มมีแรงขาย ทำให้ SET ปรับฐานช่วงสั้น ขณะที่ปัญหานำท่วมภาคใต้น่าจะกดดันเศรษฐกิจระยะสั้น อย่างไรก็ตามติดตาม ถ้อยแถลงนายทรัมป์ฯ วันพุธนี้ ซึ่งยังคงมีอิทธิต่อ flow Flow ในภูมิภาคเอเชีย กลยุทธ์สะสมหุ้นปันผลสูง (ASK, RATCH) และหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ (TTA, PTT, PTTEP) Top picks เลือก TTA([email protected]) และ WHA([email protected]) ซึ่งกำไรเด่นงวด 4Q59
(-) น้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจภาคใต้ระยะสั้น
จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตั้งแต่ 10 ธ.ค. 2559 รวม 10 จังหวัด (พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ชุมพร และ ระนอง) 85 อำเภอ 490 ตำบท และ 3,376 หมู่บ้าน ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย 2.52 แสนครัวเรือน ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ (GDP) คิดเป็นราว 8.6% ของประเทศ (สูงสุดคือ กทม. 45.4% รองลงมาภาคตะวันออก 17.8% อีสาน 10.2% เหนือ 8.8% กลาง 5.7% และตะวันตก 3.6%) โดยเศรษฐกิจหลักภาคใต้ คือ การเกษตร คิดเป็น 27% ของ GDP ภาคใต้ รองลงมาคืออุตสาหกรรม (แปรรูปยาง และอาหารทะเลส่งออก) 12% ที่เหลือการค้าราว 10% อาทิการค้าชายแดน ขนส่ง 9% และภาคท่องเที่ยวและโรงแรมราว 8% ก่อสร้าง, อสังหาฯ 7% และอื่นๆ 27% ทั้งนี้ภาคเกษตรส่วนใหญ่กระจุกตัวในการผลิตยางพาราราว 77% ของสินค้าเกษตรทั้งหมด รองลงมาปาล์มน้ำมันราว 23% และสินค้าประมง อาทิ กุ้งขาว 17% ดังนั้นคาดว่าภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบลำดับแรกคือ
ยางพารา คาดว่าผลผลิตลดลงชั่วคราว เนื่องจากชาวสวนยางไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ และคาดว่ายังมีสวนยางพาราบางส่วนที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม แม้ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้วก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวหนุนให้ราคาวัตถุดิบยางแผ่นรมควันในประเทศได้ปรับเพิ่มขึ้นถึง 4.4% นับตั้งแต่ต้นปี 2560 จนล่าสุดอยู่ที่ 79.89 บาท/ก.ก. และสอดคล้องกับราคายางแผ่นรมควันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราสูง 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ขณะที่ผู้ประกอบการที่จัดทะเบียนในตลาดฯ คือ STA เป็นผู้แปรรูปยางพาราที่ใหญ่ที่สุด ของโลก ซึ่งมีศูนย์รับซื้อยางพาราจำนวนมาก และตั้งอยู่ใกล้แหล่งเพาะปลูกสวนยาง ทำให้การขนส่งยางพารา ทำได้ง่าย จึงคาดว่ามีปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบยางพารามาแปรรูป น้อยแต่การที่ราคายางอยู่ในภาวะขาขึ้นถือว่าดีต่อ STA(ซื้อ: FV@B25) อย่างมาก (ต้นทุนเพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาขาย) ส่วนบริษัทในตลาดฯ อีกแห่งคือ TRUBB แต่มีขนาดการผลิตที่เล็กกว่า STA น่าจะได้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน
ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลงเช่นกัน เนื่องจากเกิดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ทำให้ ชาวสวนเก็บเกี่ยวผลปาล์มสดได้ลดลงจากระดับปกติ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นช่วงนอกฤดูกาลเก็บเกี่ยว (low season) ผลผลิตที่ลดลงจึงไม่น่าจะกระทบมากนัก แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวช่วงกลางปี คาดว่าผลปาล์มสดจะออกสู่ตลาดในจำนวนที่มากกว่าปกติ เพราะได้น้ำเต็มที่
สำหรับโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบในตลาด อย่าง UPOIC ยังดำเนินการผลิตได้เป็นปกติ เนื่องจากอยู่ในที่สูง และยังมีลูกค้าของคู่แข่งบางราย ยังหันมาส่งผลปาล์มสดให้ UPOIC มากขึ้น เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบขนาดเล็กอื่นหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราวจากปัญหาน้ำท่วม แต่โดยรวมแล้วปริมาณผลปาล์มสดที่เข้าสู่โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบปัจจุบันยังถือว่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การเลื้ยงกุ้ง แม้ว่าพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ที่เกิดน้ำท่วมจะมีการเลี้ยงกุ้ง เป็นหลัก แต่คาดว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเป็นช่วงพักบ่อเลี้ยงกุ้งอยู่แล้วในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นปกติของอุตสาหกรรมฯ ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกกุ้งไทย (TU, CPF, CFRESH) ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด
ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ คาดว่าได้รับผลกระทบ รองลงมาคือ วัสดุก่อสร้าง คือ
VNG มีฐานการผลิตหลักอยู่ที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้เป็นโรงงานเพื่อส่งออก น่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะโรงงานและพื้นที่โดยรอบน้ำไม่ท่วม แต่อาจจะมีปัญหาการขนส่งสินค้าบ้าง กล่าวคือ การส่งออกไปตะวันออกกลาง สามารถใช้ท่าเรือภูเก็ต ซึ่งน้ำไม่ท่วม แต่การส่งออก ไปเอเชียตะวันออก( เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม) จะใช้ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งต้องวิ่งผ่านอำเภอไชยา ซึ่งมีน้ำท่วมหนัก แต่ VNG ได้มีการสต็อกสินค้ารอส่งออกเก็บไว้ที่โกดังบางปะกงไว้ล่วงหน้า
SCC มีโรงงานปูนซีเมนต์ที่ทุ่งสง ขนาด 7 ล้านตัน/ปี คิดเป็น 30% ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์โดยรวมในประเทศของ SCC ที่ 23 ล้านตัน แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจมากนัก เนื่องจากโรงงานที่ทุ่งสง จะเน้นสำหรับการส่งออกปูนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากอยู่ใกล้ท่าเรือ ซึ่ง margin จากการส่งออกปูนจะต่ำกว่าการขายในประเทศมาก
และ บริษัทเหล็กที่ได้รับผลกระทบคือ BSBM เพราะโรงงานอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ. ประจวบฯ ปริมาณน้ำท่วมอยู่ในระดับ 50 ซม. ยังไม่เท่าจังหวัดอื่นเช่น ตรัง พัทลุง ที่สูงถึง 1.5-2 เมตร ยังสามารถผลิตได้ แต่มีปัญหาในการขนส่งสินค้า จึงต้องรอติดจนกว่าการขนส่งจะกลับมาปกติ
และภาคบริการที่กระทบคือกลุ่มการบิน ที่ให้บริการในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม โดยเฉพาะ สนามบินนครศรีธรรมราชต้องปิดให้บริการระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2560 ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีเส้นทางบินดังกล่าว คือ AAV ที่ต้องยกเลิกเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ – นครศรีธรรมราช รวม 24 เที่ยว (วันละ 8 เที่ยวบิน) แต่ทั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.7% ของเที่ยวบินต่อสัปดาห์
ขณะที่สายการบินอื่นอาจจะกระทบน้อยกว่า เพราะปัญหาส่วนใหญ่ คือ เที่ยวบินล่าช้า จากภูมิอากาศไม่อำนวย ให้ขึ้น-ลงเท่านั้น เพราะผลกระทบจากการปิดให้บริการในสนามบินนครศรีธรรมราชชั่วคราว กล่าวคือ THAI (ให้บริการโดยสายการบินไทยสมายล์) มีเส้นทางบินไปยังสนามบิน ภูเก็ต กระบี่ หาดใหญ่ นราธิวาสและสุราษฎร์ธานี ส่วน BA มีเส้นทางบินไปยังสนามบินสมุย ภูเก็ต หาดใหญ่ และกระบี่ ขณะที่ AOT ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่ใช่ผู้ให้บริการสนามบินนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้การที่มีน้ำท่วมใกล้เคียง ทำให้อุปสรรคต่อการเดินทาง จึงเชื่อว่าผู้ให้บริการสายการทุกแห่งน่าจะได้รับผลกระทบ ทั้งจากกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ที่อาจยกเลิก หรือเลื่อนการเดินทางไปยังภาคใต้ในระยะสั้นบ้างจนกว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย ในสถานการณ์ปัจจุบันหุ้นปลอดภัยสุด ขณะที่ราคาหุ้นยังมี Upside อาทิ AOT(FV@B448)
และอุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ โรงแรม และโรงพยาบาล คือ
MINT : มีโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองในโซนน้ำท่วม คือที่สมุย 2 แห่ง สัดส่วนรายได้ไม่ถึง 5% ของรายได้โรงแรม หรือไม่เกิน 3% ของรายได้จากการดำเนินรวมของ MINT
CENTEL : มีโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองในสมุย 2 แห่ง และ หาดใหญ่ 1 แห่ง สร้างรายได้ประมาณ 8% ของรายได้โรงแรม หรือ 4% ของรายได้จากการดำเนินของ CENTEL
ERW : แม้มีโรงแรม 7 แห่งในโซนน้ำท่วม ประกอบด้วยในสมุย 2 แห่ง ที่เหลืออยู่ใน ชุมพร / นครศรีธรรมราช / สุราษฏร์ธานี / ตรัง และหาดใหญ่ รวมจำนวนห้องพักทั้งหมด 727 ห้อง คิดเป็นสัดส่วน 12% ของห้องพักทั้งหมด แต่เนื่องจากโรงแรมที่อยู่ในโซนน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นโรงแรม HOP INN ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ Budget ที่มีราคาห้องพักถูก ดังนั้นในแง่การสร้างรายได้จากโซนดังกล่าว จึงคิดเป็นสัดส่วน 5-6% ของรายได้ทั้งหมด
และ โรงพยาบาล คาดว่าจะมีกรุงเทพฯ ที่เกาะสมุย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง (จากกว่า 7000 เตียง และเป็น 1 ใน 43 โรงพยาบาลของในเครือ BDMS) ซึ่งมีรายได้ประมาณ 1% ของรายได้รวม และ 0.7% ของกำไรสุทธิของทั้งกลุ่ม BDMS
(+) ดอกเบี้ยขึ้นดีต่อ ธ.พ. หรือไม่
แม้สหรัฐได้นำร่องขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วนับจาก ธ.ค. ที่ผ่านมา แต่ ASPS ประเมินว่าทิศทางดอกเบี้ยในประเทศจะยังทรงตัวที่ 1.5% ในช่วง 1H60 เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในเกณฑ์ดี และ กระตุ้นภาครัฐยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามคาดว่าแนวโน้มดอกเบี้ยในช่วง 2H60 อาจจะเริ่มขยับขึ้น หากความต้องการสินเชื่อ เพื่อการลงทุนสาธารณูปโภค ที่ผ่านการประกาศผู้ชนะประมูลไปแล้วในปี 2559 เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม ชมพู และ เหลืองเป็นต้น
ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ได้ มีการขยับขึ้นตั้งแต่ 4Q59 เป็นต้นมา สะท้อนได้จาก bond yield curve ที่ชันขึ้นในทุกช่วงอายุ ทำให้ ธ.พ. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาวเพิ่มขึ้นไปบ้าง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากไว้ นอกจากนี้ยังเร่งออกหุ้นกู้ระยะยาว เพื่อตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไว้ รองรับการปล่อยสินเชื่อในปี 2560
การที่แนวโน้มดอกเบี้ย เริ่มจะเข้าสู่ขาขึ้น (ปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 เงินฝาก และ เงินกู้) ถือว่า เป็นผลบวกต่อผลกำไร เพราะจะหนุนส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM) ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากพิจารณาโครงสร้างดอกเบี้ย เงินฝาก และ ดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน พบว่า หากมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ ดังนี้
ได้รับผลบวก เริ่มจาก KTB จะได้รับผลบวกมากสุดจากดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะ โครงสร้างสินเชื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 75% ของสินเชื่อรวม ขณะที่เงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับ 60% ของเงินทุนรวม ส่วนทำให้มีส่วนต่าง 15% ที่จะได้ประโยชน์เมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ตามด้วย BBL ซึ่งมีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวถึง 65% ของสินเชื่อรวม ขณะที่โครงสร้างเงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในระดับที่ต่ำกว่าหรือเพียง 50% ของเงินทุนรวม
ตรงข้าม ธ.พ. ที่ได้รับผลลบ คือ TMB เพราะเงินฝากและเงินกู้ยืมที่ต้นทุนการเงินเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวถึง 98% ของเงินทุนรวม เทียบกับโครงสร้างสินเชื่อมีสัดส่วน 92% ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว รองลงมาคือ KBANK เทียบกับโครงสร้างเงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นต้นทุนเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวราว 67% ของเงินทุนรวม เทียบกับโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับ 61% ของสินเชื่อรวม และ TCAP โครงสร้างของเงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นต้นทุน เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 43% ของเงินทุนรวม เทียบกับ โครงสร้างสินเชื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 33%
ส่วน SCB ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะโครงสร้างเงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นต้นทุน ดอกเบี้ยลอยตัวในอัตรา 56% ของเงินทุนรวม สูงกว่าโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ที่ 53% ของสินเชื่อรวม เพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดอกเบี้ยขาขึ้นจะกระทบต่อผลประกอบการของ ธ.พ. บางแห่ง แต่ก็น่าจะชดเชยได้ด้วยความต้องการสินเชื่อที่จะกลับมาเติบโตในปีนี้ และส่งผลบวกต่อ yield ของสินเชื่อให้ปรับตัวสูงขึ้น ภายใต้สมมติฐาน NIM ปีนี้ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 3.13% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.10% ในปีที่แล้ว โดย Top picks เลือก SCB(FV@B177) จากความพร้อมในการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ทั้งประสิทธิภาพการหารายได้ดอกเบี้ยและที่มิใช่ดอกเบี้ย และคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งขึ้นมากในปี 2560 และ TCAP(FV@B50) จากแนวโน้มการฟื้นตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2560 อีกทั้งพัฒนาการบวกของธุรกิจใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของกำไรได้ดีกว่า ธ.พ.กลาง-เล็ก อื่นๆ
(+) แม้ตลาดหุ้นภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง แต่ต่างชาติยังซื้อสุทธิทุกแห่ง
แม้วานนี้ตลาดหุ้นเกือบทุกแห่งในภูมิภาคปรับตัวลดลง แต่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิทุกประเทศ ด้วยมูลค่ากว่า 266 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) เริ่มจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 193 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยไต้หวัน 22 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4), อินโดนีเซีย 2 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), ฟิลิปปินส์ 4 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) และไทยที่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ 44 ล้านเหรียญ หรือ 1.58 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 โดยมียอดรวมสูงถึง 1.70 หมื่นล้านบาท) สวนทางกับนักลงทุนสถาบันฯที่เริ่มกลับมาขายสุทธิกว่า 2.22 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) หลังจากที่ SET Index ปรับตัวขึ้นไปแล้วกว่า 1.3% (ytd) จึงน่าจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมาบ้าง
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 9.47 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิราว 1.48 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์