- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 07 December 2016 18:41
- Hits: 8145
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : SET Index เมื่อวานนี้รีบาวด์ ปิดตลาดบวก 14.82 จุด นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1.3 พันล้านบาท สถาบันในประเทศและพอร์ตบล.ซื้อ/ขายกลุ่มละ 200-300 กว่าล้านบาท ด้านรายย่อยนำขายสุทธิ 1.8 พันล้านบาท ปัจจัยที่ติดตาม ได้แก่
• ผลประชุม ECB วันที่ 8 ธ.ค.นี้ ... ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม (ขยายโครงการ QE)
- ประเทศกลุ่มโอเปกและรัสเซียผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นมากในเดือนพ.ย.59...คาดเป็นการเร่งผลิตก่อนลดตามข้อตกลงในปี 60
•/+ ผลประชุมประเทศกลุ่มโอเปก & นอกกลุ่มโอเปก 10 ธ.ค. ลุ้นว่าประเทศนอกโอเปกจะลดการผลิต 0.6 ล้านบาร์เรล/วันหรือไม่
• โอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 13-14 ธ.ค.นี้สูงถึง 93% (ผลสำรวจของ CME Group FedWatch)
+ คาดมาตรการชอปช่วยชาติจะออกมาเร็วๆนี้ (เมื่อวานยังไม่มีเรื่องนี้เข้าพิจารณาในครม.)...เพิ่มลงทุนกลุ่มค้าปลีกและท่องเที่ยวหุ้นเด่น คือ COM7, CPALL, AOT, ERW
-/• ส่งออกยังไม่สดใส แต่ยังสามารถเลือกซื้อลงทุนในบางบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องได้ เช่น VNG, GFPT, TU
+ แรงซื้อ LTF โค้งสุดท้ายปลายเดือนธ.ค.ช่วยพยุงตลาด
กลยุทธ์ : การซื้อเล่นรอบยังเน้นตามด้วยค่าบวกของราคาหุ้นและดัชนี, ถือหุ้นดีที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ และทยอยสะสมหุ้นเติบโตแกร่งช่วงราคาปรับฐาน/อ่อนตัว หุ้นแนะนำเชิงกลยุทธ์วันนี้เป็น VNG
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้นสัญญาณพลิกเป็นบวก (ปรับขึ้น+ปิดสูง และเหนือ SMA10) ซื้อใหม่เน้นตามด้วยค่าบวก ค่าลบดูไม่ค่อยดี ลดพอร์ตตาม/ตัดขายขาดทุนเมื่อ SET หลุด 1500 จุด แนวต้านระยะสั้น 1520, 1530 จุด
ปัจจัยต่างประเทศ
+ สหรัฐ : ยอดสั่งซื้อโรงงานเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพแรงงานดีขึ้น และนำเข้าเติบโต
# ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐ +2.7%MoM ในเดือนต.ค. ซึ่งปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2015 หรือในรอบเกือบ 1 ปีครึ่ง และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6%MoM
# ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3.1%YoY มากที่สุดในรอบ 2 ปีในงวด 3Q59 ส่วนผลผลิตต่อแรงงานพุ่งขึ้น 3.6%YoY ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ปี สำหรับผลผลิตต่อแรงงานเพิ่ม 3.6% ในไตรมาส 3 โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ปี หลังจากอยู่ที่ระดับ 1.6% ในไตรมาส 2 ส่วนต้นทุนแรงงานต่อหน่วย ซึ่งเป็นมาตรวัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สำคัญ เพิ่มขึ้น 0.7% ในไตรมาส 3
# ตัวเลขขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 17.8% ในเดือนต.ค.สู่ระดับ 4.26 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากอยู่ที่ระดับ 3.62 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. ทั้งนี้สหรัฐส่งออกสินค้าและบริการลดลง 1.8% สู่ระดับ 1.864 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนต.ค. ขณะที่นำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 1.3% สู่ระดับ 2.290 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.58
• สหรัฐ : โอกาสที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 13-14 ธ.ค.นี้สูงถึง 93%
ผลสำรวจของ CME Group FedWatch ระบุว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 93% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.59
• อิตาลี : จับตาว่า Mente dei Paschi di Siena จะเพิ่มทุนสำเร็จหรือไม่
จับตา Monte dei Paschi di Siena ซึ่งเป็นธนาคารอิตาลีที่มีสถานะการเงินย่ำแย่ที่สุดในประเทศ ขณะที่กำลังเผชิญปัญหาในการโน้มน้าวให้กองทุนการลงทุนจากกาตาร์อัดฉีดเงินจำนวน 1 พันล้านยูโรให้แก่ทางธนาคารตามแผนการเพิ่มทุน 5 พันล้านยูโร เนื่องจากไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองในอิตาลี หลังผลการลงประชามติพบว่าประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง
•/+ ตลาดหุ้นสหรัฐ : ขยับขึ้นต่อ
ดัชนี DJIA ปิดที่ 19,251.78 จุด เพิ่มขึ้น 35.54 จุด หรือ +0.18% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,333.00 จุด เพิ่มขึ้น 24.11 จุด หรือ +0.45% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,212.23 จุด เพิ่มขึ้น 7.52 จุด หรือ +0.34% หนุนโดยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานพุ่งขึ้นสุงสุดในรอบ 1 ปี และกลุ่มธนาคารได้รับอานิสงค์จากนโยบายของทรัมป์ที่จะผ่อนปรนกฎระเบียบลง
- ราคาน้ำมันดิบ : อ่อนลงเกือบ 2% หลังมีรายงานว่ากลุ่มโอเปก & รัสเซียผลิตเพิ่มในเดือนพ.ย.59
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 86 เซนต์ หรือ -1.7% ปิดที่ 50.93 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้าน BRENT ส่งมอบเดือนก.พ.ร่วงลง 1.01 ดอลลาร์ หรือ -1.8% ปิดที่ 53.93 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากมีรายงานในบลูมเบิร์กว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกในเดือนพ.ย.59 พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 34.19 ล้านบาร์เรล/วัน จาก 33.82 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนต.ค.59 (ตามข้อตกลงเมื่อ 30 พ.ย.59 จะลดการผลิตลงเป็น 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีผลตั้งแต่ต้นปี 60) ขณะที่การผลิตน้ำมันของรัสเซียในเดือนพ.ย.อยู่ที่ 11.21 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี
นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานของสหรัฐจะเพิ่มการผลิตน้ำมัน หากราคาพุ่งแตะระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล จับตาการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มวันที่ 10 ธ.ค.นี้ว่าประเทศนอกกลุ่มจะลดการผลิตลงตามที่คาดการณ์ 0.6 ล้านบาร์เรล/วันหรือไม่
- ราคาทองคำ : ร่วงลงต่อ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ลดลง 6.4 ดอลลาร์ หรือ 0.54% ปิดที่ระดับ 1,170.10 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในกลางธ.ค.นี้มีสูงมากเมื่อพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งผลักดันให้ค่าเงิน US$ ยังคงแข็งค่า
ปัจจัยในประเทศ & หุ้นเด่น
• มาตรการชอปช่วยชาติยังไม่เข้าพิจารณาในครม.
เมื่อวานนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังไม่มีการพิจารณามาตรการชอปช่วยชาติ แต่อาจจะนำเข้าพิจารณาในรอบต่อไป (ก่อน 15 ธ.ค.) ซึ่งตามกระแสข่าวแล้วมาตรการจะมีระยะเวลามากกว่าปีก่อน โดยอาจเป็น 2 สัปดาห์ ส่วนจำนวนเงินใช้จ่ายที่มีใบกำกับภาษีถูกต้องที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อยู่ที่ 15,000 บาท/คน
ความเห็นเชิงกลยุทธ์ Retail Research : คาดว่ามาตรการชอปช่วยชาติจะออกมาในไมช่ ้านี้เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในโค้งสุดท้ายของปี หลังจากที่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ออกมาแล้ว เรายังคงมีมุมมองที่เป็นบวกกับกลุ่มค้าปลีกและท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีเหตุการณ์บ้านเมืองและถูกกระทบจากการจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่คาดว่าจะเป็นเพียงชั่วคราว ขณะที่ธุรกิจยังมีแนวโน้มดีต่อในปี 60 เพราะธุรกิจ มี Economy of scale มากขึ้น มีการบริหารด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เห็นได้ชัดใน ERW ที่จะไม่ขาดทุนในช่วง Low season นับตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นไป สำหรับหุ้นเด่นในกลุ่มค้าปลีก คือ COM7 (ราคาพื้นฐาน 17.50 บาท) และ CPALL (ราคาพื้นฐาน 75 บาท) ส่วนหุ้นเด่นในกลุ่มท่องเที่ยวเป็น AOT (ราคาพื้นฐาน 455 บาท) และ ERW (ราคาพื้นฐาน 5.80 บาท) หมายเหตุ : AOT จะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 8 ธ.ค.จ่ายปันผลหุ้นละ 6.83 บาท (พาร์ 10 บาท) และจะแตกพาร์จาก 10 บาทเป็น 1 บาท เพื่อเพื่อสภาพคล่องในการซื้อขาย
+ VNG (ราคาปิด 14.10 บาท) : คาดกำไรยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
# บริษัทรายงานกำไรสุทธิ 3Q59 เท่ากับ 405 ล้านบาท (-13%YoY และ -11%QoQ) แนวโน้ม 4Q59 คาดว่าจะดีขึ้นเมื่อมีกำลังการผลิต MDF Board เข้ามาเพิ่ม 3 แสนลบม.ต่อปีเข้ามา (เป็นการเปลี่ยนไลน์การผลิตจาก Particle board เป็น MDF board ซึ่งมีมาร์จิ้นสูงกว่า) แต่ส่วนหนึ่งถูกชดเชยด้วยระยะเวลาของการขายที่น้อยลงเพราะมีช่วงคริสต์มาสจะมีการชะลอซื้อขายสินค้า อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ MDF board ของตะวันออกกลางยังแข็งแกร่ง และความต้องการใช้ Laminate flooring ยังคงสูง ด้านต้นทุนพลังงานก็ไม่ได้กดดันมาก เราประมาณการกำไรปี 59 ไว้ที่ 1.6 พันล้านบาท เติบโต 13%YoY
# คาดผลกำไรปี 60 เติบโตได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจาก 1) กำลังการผลิต MDF board ในส่วนที่เปลี่ยนสายการผลิตมาจาก Particle board เข้ามาเต็มปี และ MDF board มีราคาและมาร์จิ้นดีกว่า, 2) ปริมาณขาย Laminate flooring สูงขึ้น ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมที่พักอาศัยและการใช้ทดแทนไม้จริงหรือกระเบื้องเซรามิค, 3) มีการขยายกำลังการผลิตคอขวดของแต่ละสายการผลิต และ 4) มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็น Flooring ที่ปิดผิวด้วยไม้จริงเข้ามาในช่วง 2H60 เราจึงคาดการณ์อย่างอนุรักษ์นิยมว่ากำไรสุทธิปี 60 จะเติบโตเป็น 1.75 พันล้านบาท (+9%YoY)
# ระยะยาวไปได้ดี โดยจะมีการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต MDF board อีก 2.1 แสนลบม./ปี คาดว่าโรงงานใหม่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้กลางปี 61 และกำลังศึกษาการลงทุนเพิ่มเติม เช่น การขยายกำลังการผลิต Laminated Flooring อีก 5-10 ล้านตรม./ปี จากปัจจุบันที่มี 10 ล้านตรม.ต่อปี, โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 20-30 MW ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 70-80 ล้านบาท/MW ทั้งนี้บริษัทมีวัตถุดิบของตัวเองที่ใช้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างน้อย 10-12 MW
# แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 16.70 บาท/หุ้น อิงกับ P/E ปี 60 ที่ 15 เท่า ความเสี่ยงหลัก คือ อัตราการใช้กำลังการผลิต MDF board น้อยกว่าคาด, ราคาวัตถุดิบไม้ยางที่อาจปรับขึ้นหลังราคายางสูงขึ้นและฤดูฝนยาวนานและความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของ MDF board
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค – [email protected]