- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 29 November 2016 17:53
- Hits: 3573
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันจะขึ้นยืนเหนือ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรลหรือไม่ ขึ้นกับผลประชุม OPEC พรุ่งนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังให้น้ำหนักกับเม็ดเงินช็อปช่วยชาติ แต่ถ่วงดุลกับ Fund Flow ไหลออก ทำให้ SET ยืนเหนือ 1,500 จุด ยาก Top Picks ยังเลือก BLA(FV@B62) เพราะได้ประโยชน์จาก Bond Yield ที่เพิ่มระยะสั้น และ BJC(FV@B64)
(+) มาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” หนุนหุ้นค้าปลีก : BJC เด่นสุด
คาดว่าตลาดหุ้นไทยวันนี้ น่าจะให้น้ำหนักไปที่ประเด็นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการประชุม ครม. ที่จะมีการเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีผ่านการใช้จ่ายซื้อสินค้า วงเงินไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเดือน ธ.ค. นี้ (เพิ่มวงเงินและเวลามากขึ้นจากเดิมที่ 1.5 หมื่นบาท และ 1 สัปดาห์ก่อนสิ้นปี) ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มการบริโภคในประเทศที่ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เช่น ค้าปลีก อาหาร ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนประเด็นดังกล่าวไปบ้างแล้ว แต่ยังเชื่อว่า momentum ยังคงมีอยู่ ส่งผลบวกต่อหุ้นค้าปลีกที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตโดดเด่นใน 4Q59 เนื่องจากเป็นช่วง High Season
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ยังคงให้ความสำคัญไปที่การประชุมของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ในวันพรุ่งนี้ 30 พ.ย. ที่กรุงเวียนนา ผลการประชุมมีโอกาสที่จะออกมาได้ทุกหน้า เพราะขณะนี้ประเทศสมาชิกยังมีความเห็นไม่ตรงกันทั้งซาอุดิอาระเบีย อิรัก และอิหร่าน ถ้าหากสามารถเจรจาได้ข้อยุติในประเด็นการตัดลดกำลังการผลิตลง เชื่อว่าปัญหา oversupply น่าลดลงในช่วงกลางปีหน้าได้ตามที่คาด ราคาน้ำในโลกจึงน่าจะมีโอกาสฟื้น แต่ไม่น่าจะขยับขึ้นมากนักเนื่องจากผู้ผลิต Shale Gas และ Shale Oil จะกลับมาผลิตอีกครั้ง แต่หากการประชุมล้มเหลวไม่ได้ข้อยุติ เชื่อว่าปัญหา oversupply ไม่น่าจะลดลงเข้าสู่สมดุลได้ในช่วงกลางปีหน้า กดดันราคาน้ำมันให้แกว่งเคลื่อนไหวในช่วง 45-50 เหรียญฯต่อบาร์เรล โดยสรุปจึงเชื่อว่าแนวโน้มหุ้นกลุ่มพลังงานในปีหน้า จึงไม่น่าจะเป็นกลุ่มนำตลาดได้อย่างมีนัยฯ
ภายใต้ประมาณการกำไรตลาดต่อหุ้น (EPS) ปีนี้ที่ 92.5 บาท และปีหน้าที่ 99.7 บาท ทำให้คาดการณ์ผลประกอบการปี 2560 จะเติบโตราว 8% เท่านั้น หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่าตลาดหุ้นไทยไม่โดดเด่นนัก (อินโดนีเซีย โต 19%, อินเดีย โต 24% ยกเว้นฟิลิปปินส์และมาเลเซียโตใกล้เคียงไทย 9% และ 8% ตามลำดับ) ขณะที่ Expected P/E ตลาดหุ้นไทยที่ 15 เท่า ก็ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน (อินโดนีเซีย 14 เท่า อินเดีย 14 เท่า มาเลเซีย 15 เท่า ฟิลิปปินส์ 16 เท่า) และหากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคยุโรป ไทยยังถือว่าแพงกว่า (รายละเอียดดังภาพด้านล่าง)
กลยุทธ์การลงทุน จึงยังแนะนำ selective buy เลือกลงทุนรายหุ้นที่แนวโน้มผลประกอบการเติบโตโดเด่น หรือได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐ หุ้นเติบโตสูงหรือหุ้นปันผลสูง อาทิ
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย Domestic Consumption : BJC (FV@B64) HMPRO ([email protected]) รวมทั้งหุ้นเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง THANI ([email protected]) SAWAD (FV@B57)
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างภาครัฐ CK ([email protected]) UNIQ (FV@B25)
หุ้นผลประกอบการเติบโตโดดเด่น 4Q59 WHA ([email protected])
หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bond Yield ที่ปรับสูงขึ้น BLA (FV@B62)
หุ้นปันผลสูง ASK (FV@B27)
หุ้นเติบโตสูง FSMART (FV@B21)
(0) ส่งออกยังถดถอย การเติบโตยังมาจาก C, G เป็นหลัก
กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออก(X) รูปดอลลาร์ เดือน ต.ค. กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ระดับ 4.2%yoy (จากเดือน ส.ค. +6.54% และ ก.ย. +3.4% โดยเฉลี่ย 9M59 ยังหดตัว 1%) เป็นผลจากสินค้าประเภทเหล็ก ทองคำ และส่วนประกอบยานยนต์ลดลง ขณะที่การนำเข้า ยังขยายตัว 6.5%yoy ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 (โดยเฉลี่ย9M59 หดตัว 5.9%) เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ตามปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจนับจากนี้ยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ(G) ซึ่งในเดือน ต.ค.ยังขยายตามเป้าหมาย สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่ม 16.3%yoy (รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน เพิ่ม 17.5% yoy และ 17% yoy) และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย (C) ผ่าน แจกเงินให้เปล่าผู้มีรายได้น้อย 1.27 หมื่นล้าน และ ช็อปช่วยชาติ รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยว (19ประเทศ) ผ่านการยืดระยะเวลาพักในประเทศนานขึ้น รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า 1 พันบาท
โดยรวมคาดว่าจะช่วยหักล้างยอดการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอได้ ทำให้ GDP Growth ปี 2559 อยู่ราว 3.2% (งวด 4Q59 คาดว่าจะเติบโต 3.2%) และปี 2560 คาดปัจจัยขับเคลื่อนหลักยังคงเป็นการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เดินหน้าประมูลไปแล้วในปีนี้ คาดว่าจะลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมในปีหน้า อาทิ รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ รวมถึงโครงการใหม่ ๆ ที่จะเปิดประมูลอีก 20 โครงการรวม 7.21 แสนล้านบาท การลงทุนภายใต้ แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ระยะยาว 5 ปี น่าจะดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจะมีสำคัญทำให้ GDP Growth ปี 2560 ขยายราว 3.5% (อยู่ในช่วงทบทวนประมาณการปี 2559 และ 2560 ติดตามอ่านใน Economic Update ภายในสัปดาห์นี้)
(-) ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยเล็กน้อย หลังขายติดต่อกันนาน 25 วันทำการ
แรงขายหุ้นในภูมิภาคเริ่มชะลอตัวลง และเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาในบางประเทศ โดยภาพรวมวานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 201 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตามยังเป็นการขายสุทธิในตลาดหุ้นอินโดนีเซียราว 61 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 14) และฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่งเริ่มมีการกลับมาซื้อสุทธิบ้าง คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 140 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 127 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเป็นครั้งแรกในช่วงเดือน พ.ย. นี้ ด้วยมูลค่าที่ยังเบาบางราว 1.2 ล้านเหรียญ หรือเพียง 44 ล้านบาทเท่านั้น (หลังจากขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 25 วันทำการ โดยมียอดขายรวมสูงถึง 3.88 หมื่นล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 43 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว)
ทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯยังคงซื้อสุทธิราว 1.27 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 1.85 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) โดยทั้งแรงซื้อหุ้นและตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาบ้าง ส่งผลให้เงินบาทยังคงทรงๆตัวอยู่บริเวณ 35.53 บาท/เหรียญสหรัฐฯ
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์