- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 21 November 2016 16:59
- Hits: 3011
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : ตลาดหุ้นไทยวันศุกร์เป็นอีกวันที่ปิดทรงตัวที่ 1473.86 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อแต่น้อยลงเป็น 738 ล้านบาท แต่ยังต้องดูทิศทางสัปดาห์นี้ต่อ โดยเฉพาะดัชนีค่าเงิน US$ ซี่งพุ่งขึ้นเป็น 101.2 ในวันศุกร์ที่แล้ว สำหรับปัจจัยหลักวันนี้ ได้แก่
- การแข็งค่าของเงิน US$ กดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่รวมไทย และราคาทองคำ ล่าสุด Dollar index ทะลุ 101 แล้ว...จับตาถ้าดัชนีพักฐาน/อ่อนลง ตลาดหุ้นและราคาทองคำมีโอกาสรีบาวด์
- หุ้นธนาคารอิตาลีดิ่งแรง ห่วงถ้านายกฯลาออก การแก้ปัญหาภาคธนาคารจะยากลำบาก
• ราคาน้ำมันดิบแกว่งแคบ ภาวะอุปทานสูงยังจำกัดการปรับขึ้น เน้นหุ้นที่ธุรกิจกระจายความเสี่ยง เติบโตแกร่งในปี 60 และจ่ายปันผลสูง หุ้นเด่น คือ BCP, PTTGC
• การปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก PTT จะต้องใช้เวลา คาด PTTOR จะเข้าตลาดฯได้ประมาณ 1Q61
+ เกาหลีใต้พบเชื้อไข้หวัดนก H5N6 ในฟาร์ม 2 แห่ง...กระตุ้นให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยเร็วขึ้น...เป็นบวกกับ GFPT, CPF, TFG
กลยุทธ์ : ซื้อใหม่เน้นตามด้วยค่าบวกของราคาหุ้นและดัชนี, ถือหุ้นดีที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ และทยอยสะสมหุ้นเติบโตแกร่งช่วงที่ราคาอ่อนตัว ส่วนหุ้นแนะนำเชิงกลยุทธ์วันนี้เป็น LPH
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้นสัญญาณป็นลบ และค่าลบในวันนี้ดูไม่ดี ควร Wait & See ต่ำกว่า 1470 Stop loss แนวต้านระยะสั้น 1480-1490, 1500 จุด ส่วนการ SCAN หุ้น พบว่าหุ้นที่เข้ามาใหม่ คือ EPG, SCN, TMT, SPA หุ้นที่ยังอยู่ใน List ได้แก่ TWPC, SPRC, FSMART, TISCO, GLOBAL หุ้นที่หลุด List คือ BLA และหุ้นที่ให้หาจังหวะ Take Profit เป็น TVO, PAP
ปัจจัยต่างประเทศ
- อิตาลี : กังวลภาคธนาคาร
ผลการสำรวจล่าสุดบ่งชี้ว่าชาวอิตาลีจะลงประชามติคัดค้านแผนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลให้นายเรนซีต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสัญญาก่อนหน้านี้ และการลาออกของนายเรนซีจะยิ่งสร้างความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาในภาคธนาคารของอิตาลี หุ้นกลุ่มธนาคารจึงร่วงลงแรง
• สหรัฐ : เจ้าหน้าที่เฟดระดับสูงหนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 13-14 ธ.ค.59
เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า โดยนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด นางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ และนายเจมส์ บูลลาร์ดประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ต่างก็ออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. พร้อมกับเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญความเสี่ยงหากเฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป เนื่องจากจะทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วยิ่งขึ้นในอนาคต
-/• ตลาดหุ้นสหรัฐ : ปิดลดลงเล็กน้อย
ดัชนี DJIA ปิดที่ 18,867.93 จุด ลดลง 35.89 จุด หรือ -0.19% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,321.51 จุด ลดลง 12.46 จุด หรือ -0.23% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,181.90 จุด ลดลง 5.22 จุด หรือ -0.24% โดยมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์ และหุ้นส่งออกซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงิน US$ แต่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับขึ้นรับการขยับขึ้นของราคาน้ำมัน
• ราคาน้ำมันดิบ : ปรับขึ้นอย่างจำกัด
วันศุกร์สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 45.69 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วน BRENT ส่งมอบเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 37 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 46.86 ดอลลาร์/บาร์เรล ปัจจัยหนุน คือ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่พยายามให้ข่าวทางบวกว่าในการประชุม 30 พ.ย.นี้จะบรรลุข้อตกลงเรื่องจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันได้ แต่ความกังวลเรื่องอุปทานสูงทำให้ราคาเพิ่มอย่างจำกัด
ทั้งนี้นายคาหลิด อัล-ฟาลีห์ รมว.พลังงานของซาอุดิอาระเบีย เชื่อมั่นว่า โอเปกจะสามารถให้การรับรองอย่างเป็นทางการสำหรับข้อตกลงที่ได้มีการเจรจาไปเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา (ก่อนหน้ารมว.น้ำมันอิรักและรัสเซีย ก็ให้ความเห็นในทางนี้เช่นกัน) รวมทั้งกลุ่มโอเปกได้ยื่นข้อเสนอต่อรองให้อิหร่านผลิตน้ำมันไม่เกิน 3.92 ล้านบาร์เรล/วัน (ก่อนหน้าอิหร่านเสนอว่าจะผลิตที่ 4.0-4.2 ล้านบาร์เรล/วัน)
- ราคาทองคำ : ร่วงลงต่อ การแข็งค่าของเงิน US$ กดดัน
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 8.2 ดอลลาร์ หรือ 0.67% ปิดที่ 1,208.70 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากดัชนีค่าเงิน US$ แข็งค่าขึ้นต่อทะลุระดับ 101 แล้ว สะท้อนโอกาสสูงที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในกลางเดือนธ.ค.นี้
ปัจจัยในประเทศ & หุ้นเด่น
+ กลุ่มไก่ส่งออก : เกาหลีใต้อาจนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยเร็วขึ้น หลังพบไข้หวัดนก H5N6 จากวันศุกร์ที่ 18 พ.ย.59 ที่ได้นำเสนอข่าวว่าเกาหลีใต้ได้อนุมัติให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ 9 พ.ย.59 ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย.59 มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยประเมินไว้ว่าภายใน 2-3 ปี ยอดขายส่งออกไก่สดไทยในตลาดเกาหลีใต้จะทยอยเพิ่มขึ้นถึง 40,000 ตัน และช่วยนำรายได้เข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าสินค้าล็อตแรกจะส่งออกไปยังเกาหลีใต้ภายในเดือนธ.ค.59 หรืออย่างช้าไม่เกินม.ค.60 นอกจากนั้นมีข่าวว่ากระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้ออกมายืนยันพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N6 ในฟาร์ม 2 แห่งทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศต้องกำจัดสัตว์ปีกเพื่อป้องกันแพร่ระบาด ซึ่งสถานการณ์นี้จะช่วยเร่งให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยเร็วขึ้น เพราะประเทศไทยอยู่ใกล้เกาหลีใต้ที่สุด สามารถช่วยตอบสนองความต้องการในประเทศได้เร็ว
ความเห็นเชิงกลยุทธ์ Retail Research : ผู้ประกอบการคาดว่าปริมาณส่งออกไก่สดแช่แข็งไปเกาหลีใต้ของไทยจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 60 จะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 หมื่นตัน/ปี แล้วเพิ่มเป็น 4 หมื่นตัน/ปีในปี 61-62 และแตะ 5 หมื่นตันในปี 63 ซึ่งเป็นระดับที่เคยนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยเมื่อ 12 ปที ี่แล้วก่อนที่จะยกเลิกเพราะมีไข้หวัดนกระบาด ซึ่งปริมาณส่งออก 1.5-2.0 หมื่นตัน/ปี คิดเป็น 2-3% ของปริมาณส่งออก ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการส่งออกไก่ไทยในปี 60 จะเติบโตได้ถึง 4-5% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ก่อนมีเรื่องนี้ที่ 2-3%...นับเป็นเรื่องดีกับอุตสาหกรรมไก่ส่งออกของไทย โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ คือ GFPT (แนะนำซื้อ ราคาพื้นฐาน 16.50 บาท มี Upside 13%), CPF (แนะนำซื้อ ราคาพื้นฐาน 40 บาท มี Upside 44%) และ TFG (Not Rated, ราคาเป้าหมายใน Consensus อยู่ในช่วง 6-6.5 บาท มี Upside 3-11%)
• ไทย : การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 5-10 บาท/วัน...กระทบไม่มาก
ปลัดกระทรวงแรงงานคาดว่าจะเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5, 7 และ 10 บาท/วัน เป็น 305, 307 และ 310 บาท/วัน ใน 69 จังหวัดส่วน 8 จังหวัดไม่ปรับขึ้น ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสัปดาห์นี้ และเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วก็จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่าอัตราใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2560 ทั้งนี้
# กลุ่มที่ไม่ปรับค่าจ้างเลยมี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
# กลุ่มที่ปรับขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานีชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย
# กลุ่มที่ปรับขึ้น 7 บาท มี 13 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลาเชียงใหม่ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา
# กลุ่มที่ปรับขึ้น 10 บาท ใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ตทั้งนี้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป
ความเห็นเชิงกลยุทธ์ Retail Research : เราเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราค่าแรงงาน 1.7%-3.3% ไม่ได้กระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการมากนัก โดยหากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานอยู่ที่ 10% (กลุ่ม Capital intensive-ใช้ทุนหรือเครื่องจักร/ระบบ IT มาก) - 50% (กลุ่ม Labour intensive – ใช้แรงงานมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริการและ SME ขนาดเล็ก) ต้นทุนโดยรวมผู้ประกอบการจะปรับขึ้น 0.17%-1.67% ซึ่งไม่ได้รุนแรง และผู้ประกอบการน่าจะปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารด้านต้นทุน + ขยับขึ้นราคาขายต่อหน่วยขึ้นเล็กน้อยเพื่อรักษาระดับอัตรากำไรไว้ในระดับใกล้เคียงเดิมได้ ขณะเดียวกันอัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ช่วยทำให้กำลังซื้อในระบบขยับขึ้น ซึ่งในภาพรวมของระบบธุรกิจ ยอดขายจากกำลังซื้อที่เพิ่มจะชดเชยกับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราค่าแรงงานในรอบนี้ไม่มาก จึงอาจคาดหวังกับการบริโภคที่จะเพิ่มไม่ได้เท่าใดนัก ประกอบกับภาระหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยยังคงสูง การฟื้นตัวของภาคการบริโภคจึงต้องใช้เวลา และเห็นว่าปัจจัยที่จะเป็นตัวกระตุ้นที่ดี คือ การเติบโตและความคึกคักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการมีรายได้และการมีงานทำอย่างต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค – [email protected]