WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      ดัชนียังแกว่งตัวลง มีโอกาสลงแตะ 1,450 จุด ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยมีแรงกดดันจากแรงขายต่างชาติ กลยุทธ์เน้นหุ้น Domestic Play (ASK, WHA, BJC, FSMART, CK, UNIQ) และหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเช่น GFPT(FV@B19) ได้ประโยชน์ เกาหลีใต้กลับมานำเข้าไก่จากไทยอีกครั้งในรอบ 12 ปี หนุนราคาไก่ยังยืนในระดับสูงต่อเนื่อง

(0) ตลาดน่าจะตอบรับ FED ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ใน ธ.ค. นี้
       ความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐยังมีน้ำหนักต่อตลาดเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ หลังจากเงินเฟ้อ ในเดือน ต.ค. ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยมาที่ 1.6%yoy จาก 1.5% ในเดือน ก.ย. และก้าวกระโดดจาก 0.8% เดือน ส.ค. (สูงสุดในรอบ 6 เดือน) ผลค่าเช่าที่อยู่อาศัย และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐมีพัฒนาการเชิงบวก และเริ่มขัดแย้งน้อยลง กล่าวคือ ภาคการบริโภค พบว่ายอดสั่งสร้างบ้าน (Housing Start) เดือน ต.ค. ยังเพิ่มขึ้น 25.5%mom อยู่ที่ระดับ 1.32 ล้านหลัง (สูงสุดในรอบ 9 ปี) และภาคการผลิต พบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) และผลผลิตอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน และพลิกมาเป็นบวก จากที่เคยติดลบนาน 3 เดือน ตามลำดับ
       ขณะที่ประธาน Fed คือ นางเจเน็ต เยลเลน แสดงความเห็นต่อ สภาคองเกรส (เมื่อคืนวานนี้ 4 ทุ่มตามเวลาไทย) "การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในไม่ช้า หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในตลาดแรงงานและเงินเฟ้อยังขยายตัวต่อเนื่อง เพราะหาก Fed ชะลอออกไปจะเป็นความเสี่ยงต่อการปรับขึ้นในอนาคต" หนุนให้ Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้คือ 13-14 ธ.ค. และสอดคล้องกับผลสำรวจ Bloomberg พบว่าความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มสูงถึง 96% จาก 84% ในปลายสัปดาห์ก่อนหน้า แต่เชื่อว่าตลาดรับรู้ประเด็นนี้ไปแล้ว กล่าวคือ หากขึ้น 0.25% น่าจะรับรู้ แต่หากขึ้นมากกว่านี้อาจจะทำให้มีการปรับฐานได้

(+) ไก่ส่งออกสดใส เกาหลีใต้หันมาซื้อไทยอีกครั้ง หลังหายไป 12 ปี
      อุตสาหกรรมไก่ของไทยมีแนวโน้มสดใสมากขึ้น ล่าสุดเกาหลีใต้เริ่มมาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากไทย เริ่มจาก พ.ย. 2559 หลังจากที่หยุดนำเข้านานติดต่อกัน 12 ปี เพราะปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งปัจจุบันได้รับการพิสูจน์ว่าไทยพ้นจากวิกฤติดังกล่าวแล้ว สะท้อนจากที่ญี่ปุ่นนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน หลังจากที่หยุดนำเข้ามาหลายปีเช่นกัน
     ในสถานการณ์นี้ถือว่าดีต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากเกาหลีใต้เคยนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยราว 4 หมื่นตัวต่อปี หรือคิดเป็นราว 5% ของยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ของไทยราว 7 แสนตันต่อปี กำลังซื้อที่เกิดจากภายนอกนี้ น่าจะหนุนให้ราคาผลิตไก่ในไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง นับจากปลายปีนี้ และ ต่อเนื่องถึงปีหน้า แม้ปัจจุบันเริ่มอ่อนตัวลงมาที่ระดับ 37 บาทต่อกก. แต่เป็นระดับที่สูงกว่าต้นทุนราว 9% โดยคาดว่าผู้ได้ประโยชน์สูงสุดคือ GFPT เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไก่คิดเป็น 70% ของรายได้รวม (ที่เหลือคือ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์) และผลิตภัณฑ์ไก่ส่วนใหญ่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ (คือราว 50% อีก 20% ขายในประเทศ)
       ผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยปัจจุบันส่งออกไปยังญี่ปุ่นเป็นหลักราว 48% ของมูลค่าส่งออกรวม รองลงมาคือ สหภาพยุโรปราว 45% และที่เหลืออีก 7% เป็นการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เป็นต้น จึงไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ภายใต้การนำเข้าของประธานาธิบดีคนใหม่
      นอกจากนี้เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงที่เหลือ และต่อเนื่องอย่างน้อยในไตรมาสแรกของปีหน้าถือยังหนุนหุ้นส่งออก โดยชื่นชอบ GFPT(FV@B19) มากสุด เนื่องจากธุรกิจมาจากผลิตภัณฑ์ไก่เป็นหลัก และมี Expected P/E ราว 10 เท่า ต่ำสุดในกลุ่ม รองลงมาคือ CPF(FV@B42) ติดตามอ่านรายละเอียดใน Equity Talk กลุ่มอาหารเช้านี้

(0) แรงขายต่างชาติในภูมิภาคนี้เริ่มชะลอลง หลังขายติดต่อนานกว่า 17 วัน
      วานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 17 แต่ด้วยมูลค่าที่เบาบางลงเหลือ 177 ล้านเหรียญ เทียบกับยอดขายสุทธิเฉลี่ยต่อวัน นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. จนถึงปัจจุบัน (mtd) ที่สูงราว 478 ล้านเหรียญ และมี 2 ตลาดที่เริ่มติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิราว 35 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และฟิลิปปินส์ 1.2 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 6 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่ง ยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันขายสุทธิราว 134 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 11 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) และไทยที่ถูกขายสุทธิราว 69 ล้านเหรียญ หรือ 2.44 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 19) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 169 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว)
     และหากพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทย พบว่า ต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยติดต่อกันมานานเกือบ 2 เดือน สังเกตได้จากยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่เคยทำจุดสูงสุดที่ 1.36 แสนล้านบาท (ณ วันที่ 22 ก.ย. 59) ลดลงมาเรื่อยๆ กว่า 4.62 หมื่นล้านบาท จนทำให้ปัจจุบันมียอดซื้อสุทธิสะสมเหลืออยู่ 8.96 หมื่นล้านบาทเท่านั้น (ytd) และยังคาดว่าจะขายต่อเนื่องในช่วงที่เหลือ หาก Fed ส่งสัญญานขึ้นดอกเบี้ยตามตลาดคาดในเดือน ธ.ค. นี้
      ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1.3 หมื่นล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิราว 1.1 หมื่นล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 โดยมียอดรวมสูงถึง 6.93 หมื่นล้านบาท)

(-) ตลาดหุ้นเอเชียยังแกว่งตัวลง และ SET น่าจะแตะ 1,450 จุด
      คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะผันผวน และมีโอกาสทดสอบ 1,450 จุดในระยะ 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยคาดว่าเกิดจากที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีประเด็นหนุนใหม่ ๆ ขณะที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการส่งออก หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งมีนโยบายกีดกันทางการค้าประเทศที่รุนแรง โดยเฉพาะกับประเทศที่ได้เปรียบและเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนการขายต่างชาติ สอดคล้องกับในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี นักลงทุนต่างชาติมักขายสุทธิอยู่แล้ว แต่จากสถานการณ์นี้เท่ากับเป็นการผลักดันการไหลของ fund flow สะท้อนจากที่ดัชนีตลาดหุ้นเอเซียผันผวนในทิศทางขาลงนับจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น
เช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคเอเซียที่ผันผวนเช่นกัน โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าไปราว 1.7% ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคก็อ่อนค่าลงเช่นกัน รายละเอียดดังปรากฏในภาพถัดไป
     แต่เป็นที่สังเกตว่าตลาดหุ้นสหรัฐ ยังคงปรับตัวขึ้นสวนทาง แม้อาจจะมีการปรับฐานบ้างในปลายสัปดาห์นี้ แต่แนวโน้มยังเป็นขาขึ้น ทั้งนี้น่าจะเป็นผลจากการลดภาษีนิติบุคคล เหลือ 15% (เดิมอยู่ที่ภาษีนิติบุคคล 15-39% เทียบกับประเทศไทยอยู่ที่ 20%) เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนฯ เพราะหมายถึงกำไรของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นทันทีเท่ากับอัตราภาษีที่ลดลง และยังเสนอลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 4 ช่วง (ฐานการเก็บภาษีลดลงจากเดิม 6 ช่วง) เท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้ประชาชนสหรัฐ ประกอบกับความเชื่อมั่นต่อการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐมีมากขึ้น หนุนให้สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยฯ ดังกล่าวข้างต้น ล้วนหนุนความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นสหรัฐ
เช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น สามารถปรับขึ้นได้สวนทิศทางตลาดหุ้นโลก แม้ค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าลงกว่า 4.4% ในช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม ซึ่งน่าจะเป็นผลเพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield) อายุ 10 ปี ที่สามารถขยับขึ้นมาพ้นจากแดนลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปรับนโยบายการเงินไปใช้การควบคุม Yield Curve แทนการเพิ่ม Money Supply ซึ่งทำให้ตลาดเชื่อว่า เงินเฟ้อญี่ปุ่นน่าจะกลับมาเป็นบวก
      และตลาดหุ้นจีน ปรับขึ้นมากกว่ากลุ่ม TIP ทั้งเนื่องจากตลาดหุ้นจีนค่อนข้างนิ่งในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นผลจากที่ทรัมป์เคยหาเสียงว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 45% อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งท่าทีที่เปลี่ยนไปของทั้ง 2 ฝ่ายแสดงถึงความร่วมมือประนีประนอมกันมากขึ้น
      เป็นที่สังเกตว่า แม้มีการปรับตัวลดลงในตลาดหุ้นภูมิภาค แต่พบว่า Expected P/E ยังลดลงไม่มากคือ 16.4 เท่าในปี 2559 และ 15 เท่าในปี 2560 ใกล้เคียงกับ Expected P/E ปี 2559-60 ตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 16.9 และ 14.2 เท่า และฟิลิปปินส์ที่ 17.9 และ 16.6 เท่า เทียบกับ Expected P/E ตลาดหุ้น Dow Jones ปี 2559 ที่ 17.3 เท่า และ 15.5 เท่าในปี 2560 ตลาดหุ้น STOXX600 ที่ 15.8 และ 14.1 เท่า และ FTSE100 ที่ 16.6 และ 14.2 เท่า
      อย่างไรก็ตาม หากเทียบกันในส่วนของอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ แม้จะสูงเกินกว่า 30% เนื่องมาจากฐานที่ต่ำในปี 2558 แต่ในปี 2560 ตลาดหุ้นไทยจะเติบโตเหลือเพียง 8% ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่เติบโต 8.2% แต่น้อยกว่าอินโดนีเซียที่ปี 2560 เติบโต 19% จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลก ยังคงเคลื่อนไหวภายใต้แรงกดดันจากตลาดโลก จึงต้องอาศัยแรงขับคลื่อนจากเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ กลยุทธ์การลงทุนจึงยังเน้นไปที่หุ้นแนวโน้มผลประกอบการ 4Q59 โดดเด่น WHA ([email protected]) , BJC (FV@B64), หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการก่อสร้างภาครัฐ CK ([email protected]), UNIQ (FV@B25) หุ้นปันผลสูง ASK (FV@B27), LH ([email protected]) และหุ้นเติบโตสูง FSMART (FV@B21)

นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : พาสุ ชัยหลีเจริญ
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์ : ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!