- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 26 September 2016 16:28
- Hits: 1416
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนีกลับมาผันผวนหลังไม่ผ่าน 1,500 จุด ขณะที่ต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยเช่นเดียวกับ TIP ยังแนะนำให้ถือเงินสด 70% ที่เหลือลงหุ้นกำไรเด่น 3Q59 (BDMS, BCH, HANA, BA) หรือปันผลสูง (TTW, ASK, EASTW, MCS) Top pick BA([email protected])
ดัชนีการผลิตสหรัฐชะลอตัว..ตอกย้ำสหรัฐเลื่อนขึ้นดอกเบี้ยเป็น 1H60
หลังตลาดรับรู้ผลการประชุม Fed และ BOJ สัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าตลาดน่าจะผ่อนคลายต่อแผนการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่จะขึ้นดอกเบี้ยฯ 1 ครั้ง ภายในสิ้นปี 2559 แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่สหรัฐจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นปี 2560 ยังมีความเป็นไปได้ หากพิจารณา ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตจัดทำโดยมาร์กิต เดือน ก.ย. ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด(อยู่ที่ 51.4 จุด ลดลงจาก 52 จุด ในเดือน ส.ค. ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2) เช่นเดียวกับ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. ที่พลิกกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ขณะที่ฝั่งภาคบริการ เริ่มเห็นสัญญาณขัดแย้ง คือ ยอดค้าปลีก (Retail sales) เดือน ส.ค. พลิกกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ส่งผลให้ดัชนี PMI ภาคบริการ (ISM Non-Manufacturing) เดือนเดียวกัน ลดลงติดต่อกัน 2 เดือน (ทำระดับต่ำสุดตั้งแต่ ก.พ.2553) แม้จะสวนทางกับอัตราเงินเฟ้อ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.1%
ด้วยเหตุนี้ทำให้การสำรวจแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยฯ ยังแกว่งตัว ขึ้น – ลง สะท้อนจากผลสำรวจ Fed Fund Future ล่าสุด มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยรอบที่มีน้ำหนักสูงสุดคือ รอบ 13-14 ธ.ค. ราว 55% ลดลงจาก 58 % ในปลายสัปดาห์ก่อนหน้า (ขณะที่ รอบ 1-2 พ.ย. ราว 19.3%)
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมันและน้ำตาล ทรงตัว หนุน KSL, PTT
สัปดาห์นี้ยังต้องติดตาม ผลประชุมอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่ม OPEC วันที่ 28 ก.ย. นี้ โดยในเบื้องต้นคาดว่า ประเทศสมาชิกต้องการเห็นความร่วมมือในการคงกำลังการผลิตเพื่อประคองราคาน้ำมันในตลาดโลก สะท้อนจากที่ล่าสุด ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของ OPEC ยื่นข้อเสนอลดกำลังผลิตระดับปัจจุบันลงให้เหลือเท่ากับในช่วงเดือน ม.ค. แต่อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการหารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน จึงทำให้ตลาดฯ คาดหมายว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมี การประชุมรอบพิเศษ เพื่อตัดสินใจเรื่องกำลังการผลิตร่วมกันอีกครั้ง
นอกจากนี้ Dollar Index ยังคงแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่า เป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน ให้ยืนเหนือ 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ น้ำตาลให้ยังคงขึ้นต่อ วานนี้อยู่ที่ 22.7 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากแนวโน้มการขาดดุลของน้ำตาลโลกที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในอินเดีย จึงยังคงแนะนำซื้อ KSL(FV@6)
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นไทย หลังจากซื้อติดต่อกัน 3 วัน
วันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ต่างชาติจะซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แต่ด้วยมูลค่าเพียง 141 ล้านเหรียญ และยังเป็นการซื้อสุทธิเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ ตลาดหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิราว 155 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) และอินโดนีเซียที่ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 13 ล้านเหรียญ หลังจากธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 5% ในวันก่อนหน้า ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 22 วันทำการ) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 3 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วัน) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 18 ล้านเหรียญ หรือ 624 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิมา 3 วัน) ต่างกับกับนักลงทุนสถาบันฯที่ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 72 ล้านบาท
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 1.3 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 4.4 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5)
SET ไม่ผ่าน 1500 จุด ยังให้สะสมหุ้นเด่น 3Q59 ราคาหุ้น Laggard : HANA
การฟื้นตัวของ SET Index รอบนี้จากจุดต่ำสุดบริเวณ 1,410 จุด เมื่อ 12 ก.ย. สู่จุดสูงสุดที่ 1,506 จุด เมื่อ 22 ก.ย. หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 100 จุด โดยใช้เวลาเพียง 8 วันทำการ การ Rebound ขึ้นเร็วและแรงเกินไป ทำให้ดัชนีมีการปรับฐานได้แรงดังเช่นวันศุกร์ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ประกอบกับดัชนียังไม่สามารถขึ้นไปยืนเหนือ 1,500 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านทางจิตวิทยาที่แข็งแกร่ง ทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมาจากนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งมูลค่าซื้อขายที่เริ่มลดน้อยลงเป็นลำดับ ขณะที่ในเชิง Technical นั้น แม้ภาพ SET จะยังไม่สามารถกลับขึ้นไปยังแนวโน้ม Uptrend เดิมได้ แต่ก็เชื่อว่าบริเวณ 1,480 จุด น่าจะรับอยู่ โดยเชื่อว่าหุ้นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ น่าจะช่วยประคองตลาด
นำโดยกลุ่มพลังงาน น่าจะยังคาดหวังได้ถึงการประชุมนอกรอบของ OPEC วันที่ 26-28 ก.ย. นี้ ว่าจะมีความคืบหน้า หนุนให้ราคาน้ำมันโลกยังยืนเหนือ 40 เหรียญต่อบาร์เรลได้
กลุ่ม ธ.พ. อยู่ระหว่างการทำ Earning Preview ซึ่งไม่ได้แย่มาก 3Q59 ยังทรงตัวได้ใกล้เคียงกับ 2Q59 ขณะที่มองไปในปีหน้า จะเติบโตถึงเกือบ 11% แนะนำ KBANK, BBL และ TCAP
กลุ่มสื่อสาร แนวโน้มกำไรชะลอตัวในช่วง 2H59 แต่น่าจะได้ sentiment เรื่องการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในส่วนของ DTAC ที่ระยะเวลาสัมปทานคลื่น 1800 MHz 50 MHz จะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย. 2561 จึงต้องเตรียมเงินเพื่อใช้ประมูลใบอนุญาต ขณะที่มีโอกาสการควบรวมกิจการกับ JAS ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีและถือว่ามีความเป็นไปได้อยู่ หากพิจารณาข้อจำกัดของ DTAC และ JAS ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังชอบ ADVANC มากที่สุด เนื่องจากมีฐานลูกค้าใหญ่สุด มีกระแสเงินสดมั่นคง ทำให้จ่ายเงินปันผลในระดับ 5% ได้ต่อเนื่อง
ขณะที่กลุ่ม Market Cap ขนาดกลาง-เล็ก ก็น่าจะได้ปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล เช่น กลุ่ม ร.พ. ทั้งในส่วนของ BCH และ BDMS รวมทั้ง LPH
กลุ่มชิ้นส่วนฯ เช่น HANA ราคายัง laggard ตลาดฯ ค่อนข้างมาก
กลุ่มเกษตร-อาหาร อาทิ KSL, GFPT, TFG ก็ยังน่าสนใจ แต่ราคาปรับขึ้นมามากแล้ว แนะนำสะสมเมื่ออ่อนตัว
ตามด้วย ท่องเที่ยว-โรงแรม ที่ยังมีผลดำเนินงานที่ดี แม้จะไม่ใช่ High Season อย่าง ERW, CENTEL และ MINT รวมทั้งสายการบินอย่าง BA
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์