- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 22 September 2016 17:23
- Hits: 2826
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
'ถ้าผ่านและยืนเหนือ 1500 ได้...ถือต่อ'
หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : เมื่อวานนี้ตลาดหุ้นไทยดีดขึ้น 13.39 จุดที่ 1487.17 ตอบรับผลการประชุม BOJ ที่เดินหน้าปรับแผนด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นในการขยายฐานเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% โดยเร็ว รวมทั้งยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบที่-0.1% ต่อไป พอร์ตบล.นำซื้อสุทธิ 2.8 พันล้านบาท แต่ต่างชาติซื้อสุทธิเพียงเล็กน้อย 367 ล้านบาท ด้านสถาบันในประเทศและรายย่อยขายสุทธิ
การส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง (ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว ก็คือการประชุม 13-14 ธ.ค.59) และเฟดมีการปรับลดแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 60-61-62 และในระยะยาว รวมทั้งลดคาดการณ์จำนวนครั้งในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของปี 60-61 ลงเป็น 2 ครั้ง (เดิม 3 ครั้ง) ซึ่งอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินที่ต่ำลงเป็นบวกต่อตลาดหุ้น นอกจากนั้นการที่ BOJ ให้ความสำคัญกับการใช้นโยบายการเงินอย่างสมดุลต่อภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าการลดดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียว ก็เป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเช่นกัน ส่วนในประเทศ เรายังติดตามความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันออกมา
กลยุทธ์ : ยังคงแนะนำให้เลือกซื้อหุ้นที่ธุรกิจและกำไรยังเติบโตได้ดี ทั้งนี้ยังเน้นเพื่อการเล่นเด้งตามรอบไว้ก่อน (จนกว่า SET จะยืนเหนือ 1500 จุดได้อย่างมั่นคง) สำหรับหุ้นพื้นฐานแนะนำวันนี้เป็น TU
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : สัญญาณระยะสั้นเป็นบวกเล็กๆ แต่ยังต้องระวังการแกว่งจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น ให้แนวต้านระยะสั้นไว้ที่ 1495-1500, 1510 จุด การอ่อนตัวจนหลุด 1470 จุดแนะนำให้ชะลอการลงทุน/ลดพอร์ตตาม เพราะมีโอกาสอ่อนตัวลงแรงได้
สำหรับ การ SCAN หุ้นที่มีสัญญาณเทคนิคดีมีโอกาสทำ New High พบว่าที่เข้ามาใหม่ คือ TCAP, THANI, RJH, UTP ส่วนหุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ CPN, CKP, CPALL, TOP, CWT, AAV, BAFS, JASIF หุ้นที่หลุด List -ไม่มี- ส่วนหุ้นที่แนะนำไปแล้วและให้หาจังหวะ Take Profit คือ BA, BWG
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค - [email protected]
Need to know TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
+ ญี่ปุ่น : ปรับแนวทางใช้นโยบายการเงินเพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น
ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ปรับแนวทางการใช้นโยบายการเงิน ด้วยการเปิดช่องให้ปรับเปลี่ยนการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากที่เคยกำหนดไว้ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี เป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อระยะยาว 2.0% โดยเร็ว แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% คงวงเงินซื้อหุ้นกู้เอกชนไว้ที่ 5.4 ล้านล้านเยนต่อปี กองทุนหุ้น (ETF) 6.0 ล้านล้านเยนต่อปี และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ 9 หมื่นล้านเยนต่อปี นอกจากนั้นจะควบคุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ BOJ ได้เปลี่ยนแนวนโยบายมาที่การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนโดยคำนึงถึงผลกระทบของนโยบายที่ส่งผ่านไปยังภาคเอกชนแทน เพราะจากการศึกษาของ BOJ พบว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น-กลางที่ต่ำจะส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (เกิน 10 ปี) ที่ต่ำ) และส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อระยะยาวที่มากเป็นผลเสียต่อภาคการเงินเพราะทำให้ Spread ของธนาคารแคบลงมาก ไม่จูงใจให้ปล่อยกู้ ขณะเดียวกันผลตอบแทนที่ต่ำมากก็กระทบผู้ออมเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญฯ กองทุนประกันสังคม บริษัทประกันภัย เป็นต้น) …หลังจบการประชุม BOJ ค่าเงินเยนอ่อนลงและดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น (นิคเคอิ) ปรับขึ้นราว 1.9% และ Bond yield ขยับขึ้นประมาณ 3bps ทั้งในระยะ 5ปี 10 ปี และ 30 ปี .. นับเป็นก้าวย่างที่ดีของ BOJ ที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลทุกภาคส่งอย่างสมดุลและทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพโดยไม่ได้มุ่งเน้นแต่เรื่องการใช้ดอกเบี้ยต่ำแต่เพียงอย่างเดียว
+ สหรัฐ : เฟดคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ตามคาด...ปรับลดจำนวนครั้งและอัตราดอกเบี้ยในอนาคตลง
# เฟดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามคาด - คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 3 เสียงในการประชุมเมื่อวานนี้ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ (แต่คะแนนเสียงที่ไม่เห็นด้วย 3 ใน 10 รายนั้นถือว่ามากสุดในรอบเกือบ 2 ปี)
# แถลงการณ์หลังการประชุม - ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ที่มีน้ำหนักมากขึ้น โดยนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวหลังสิ้นสุดการประชุมว่าตนคาดหวังที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้เฟดยังเหลือการประชุมอีก 2 ครั้งในปี 59 คือ วันที่ 1-2 พ.ย. และ 13-14 ธ.ค. โดยส่วนใหญ่ประเมินว่าจะปรับขึ้นในการประชุมครั้งสุดท้าย เพราะสหรัฐจะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งเฟดน่าจะรอให้เหตุการณ์นี้ผ่านไปก่อนตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน
# มุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐ - เฟดมองว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นจนใกล้เป้าหมายระยะยาวแล้ว ส่วนความเสี่ยงในระยะใกล้ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในระดับค่อนข้างสมดุล เฟดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะ +1.8% ในปีนี้ (ลดจาก +2% ที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้) และ +2% ในปี 60 และปี 61 ส่วนในปี 62 คาดว่าจะ +1.8% และ +1.8% ต่อปีในระยะยาว (ลดลงจากเดิมที่ +2%) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% (ลดลงจากเดิมที่ 1.4%) ปี 60 เท่ากับ 1.9% ปี 61-62 อยู่ที่ 2% และระยะยาวเท่ากับ 2% ต่อปี สำหรับคาดการณ์อัตราว่างงานในปีนี้อยู่ที่ 4.8% ขณะที่ปี 60-62 อยู่ที่ระดับ 4.6%, 4.5% และ 4.6% ตามลำดับ ส่วนอัตราว่างงานในระยะยาวกำหนดไว้ที่ 4.8%
# คาดการณ์จำนวนครั้งในการปรับขึ้นดอกเบี้ย - เฟดได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนครั้งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 59 เหลือ 1 ครั้ง (เดิม 2 ครั้ง) ขณะที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 60 และปี 61 (เดิม 3 ครั้งในแต่ละปี) ส่วนคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยลดลงเป็น 0.63% ในปีนี้ (จากเดิม 0.88%) ส่วนปี 60 อยู่ที่ 1.13% (จากเดิม 1.63%) และในปี 61 เป็น 1.88% (จากเดิม 2.38%) ส่วนในปี 62 อยู่ที่ 2.63% และระยะยาวเท่ากับ 2.88% (จากเดิม 3.01%)
+ ตลาดหุ้นสหรัฐ : ดัชนี DJIA พุ่งขึ้น 163.74 จุด ขานรับผลประชุมเฟดและบีโอเจ
ดัชนี DJIA ปิดที่ 18,293.70 จุด พุ่งขึ้น 163.74 จุด หรือ +0.90% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,295.18 จุด เพิ่มขึ้น 53.83 จุด หรือ +1.03% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,163.12 จุด เพิ่มขึ้น 23.36 จุด หรือ +1.09% โดยดัชนีปรับขึ้นหลังผลการประชุมออกมาว่าคณะกรรมการเฟดมีมติตรึงดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ตามคาด ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง (ซึ่งเราและตลาดคาดว่าจะเป็นช่วงธ.ค.59) และปรับลดคาดการณ์จำนวนครั้ง & อัตราดอกเบี้ยในช่วงปี 60-62 รวมทั้งในระยะยาวลงด้วย
+ ราคาน้ำมันดิบ : ปรับขึ้นหลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลงมากกว่าคาด
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย.พุ่งขึ้น 1.29 ดอลลาร์ หรือ 2.9% ปิดที่ 45.34 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้าน BRENT ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 2% ปิดที่ 46.83 ดอลลาร์/บาร์เรล หนุนโดยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาด โดย EIA เปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐร่วงลง 6.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.4 ล้านบาร์เรล ปัจจัยจับตา คือ การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซียซึ่งจะจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ นอกรอบการประชุมพลังงานระหว่างประเทศ (IEF) ที่แอลจีเรีย โดยที่ประชุมจะหารือเรื่องการตรึงกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน
+ ราคาทองคำ : พุ่งขึ้น
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.พุ่งขึ้น 13.2 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 1,331.4 ดอลลาร์/ออนซ์ ตอบรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่เฟดมีการปรับลดลงจากที่เคยประมาณการไว้
ปัจจัยในประเทศ & หุ้นเด่น
JAS : ตลาดฯสอบซื้อขายหุ้น JAS วอลุ่มทะลัก-ราคาเดือนก.ย.พุ่ง 30%
ตลาดหลักทรัพย์รับตรวจสอบซื้อขายหุ้น JAS หลังวอลุ่มและราคาพุ่งแรง แจงกรณีทำรายการซื้อหุ้นก่อนถึงวันรับเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ สามารถทำได้เพราะกฎหมายไม่ได้มีข้อห้าม ขณะที่ราคาหุ้นในกระดานวิ่งทะลุราคารับเทนเดอร์ ส่วนราคาหุ้นเดือนก.ย.จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้น 30%
/+ คลังเล็งออกมาตรการเพิ่มกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
รมว.คลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในภาคการเกษตรและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีจำนวนกว่า 8.3 ล้านราย (แต่คาดว่าจะยังไม่ได้เสนอครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า เพราะอยู่ระหว่างเตรียมการและหารือกับสำนักงานงบประมาณ) หลังพบเศรษฐกิจมีสัญญาณอ่อนตัว แต่ยังมั่นใจว่าจีดีพีไตรมาส 3/59 จะเติบโตกว่า 3.5% ด้าน IMF พอใจเศรษฐกิจไทย และชี้ว่ามั่นคงที่สุดของตลาดเกิดใหม่ (Emerging market)
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค - [email protected]