- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 02 September 2016 23:57
- Hits: 3877
บล.เอเชีย เวลท์ : Daily Market Outlook
เตรียมทำใจ Fed ขึ้นดอกเบี้ย
คาดหุ้นไทบปรับตัวลงวันนี้ตามหุ้นทั่วโลกเมื่อวันก่อนที่ส่วนใหญ่ปิดลบและราคาน้ำมันที่ยังคงร่วงต่อ นักลงทุนน่าจะซื้อขายอย่างระมัดระวังก่อนการประกาศตัวเลขการว่าจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐคืนนี้ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะออกมาดีแล้วนำไปสู่การที่ Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นปลายเดือนนี้และในเดือน ธ.ค. ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอของสหรัฐในเดือน ส.ค. อาจไม่สามารถเปลี่ยนท่าทีเข้มขึ้นของ Fed ได้ เพราะเมื่อการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่แล้วตัวเลขก็อ่อนแอแบบนี้ ปัจจัยภายในประเทศวันนี้เป็นบวก ตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นบ่งชี้อำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค แนวโน้มการท่องเที่ยวสดใสขึ้นอีกหลังจาก ททท.ปรับเพิ่มเป้ารายรับการท่องเที่ยวปีนี้ขึ้นอีก และความเชื่อมั่น SMEs ในการค้าและบริการดีขึ้นมากในเดือน ก.ค. จากเดือน มิ.ย.
หุ้นเด่นวันนี้ : MTLS (ราคาปิด 18.70 บาท, ซื้อ, ราคาเป้าหมายปี 59 ของ AWS 26.00 บาท)
บมจ. เมืองไทย ลิสซิ่ง เป็นหุ้นเด่นในวันนี้เนื่องจากเราคาดว่าบริษัทจะยังสามารถทำกำไรสูงสุดใหม่รายไตรมาสต่อไปอีกในไตรมาสที่เหลือของปีนี้เนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น และโดยทั่วไปแล้ว ผลการดำเนินงานของบริษัทจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละไตรมาสและจะโตสูงสุดในไตรมาสสุดท้ายของปี หนึ่งในปัจจัยบวกของการเติบโตดังกล่าวคือ ฤดูกาลเพาะปลูกในช่วงนี้ ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าเกษตรกรมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และอีกหนึ่งปัจจัยหลักคือการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกระบบที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารพาณิชย์ได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ MTLS ได้ปรับเป้าหมายการขยายสาขาของปี 59 และปี 60 อยู่ที่ 1,600 สาขา และ 2,200 สาขา ตามลำดับ จากเป้าก่อนหน้าที่ 1,350 สาขาในปี 59 และ 1,750 สาขาในปี 60 ในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ในไตรมาส 2/59 คงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.94% ขยับขึ้นเล็กน้อยจากที่ระดับ 0.90% ในไตรมาส 1/59 ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสถานะอันแข็งแกร่งของบริษัททั้งในแง่ของการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ เราคาดสินเชื่อในปีนี้ของ MTLS จะกระโดดสูงขึ้นถึง 70% YoY เราคาดการณ์กำไรสุทธิจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 59.4% ในปี 59 และ 44.7% ในปี 60 Price Pattern ของ MTLS ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวระยะสั้น จากการเกิด Daily Buy Signal และจะมีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นหากสามารถปิดตลาดรายสัปดาห์ได้เหนือ 18.90 บาท เพราะจะทำให้กลับมาเกิดความแข็งแกร่งในระยะกลาง จากการกลับมาเกิด Weekly Buy Signal ครั้งใหม่ ในขณะที่แนวโน้มหลักของ MTLS ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลง (Downtrend) จากการเกิด Monthly Sell Signal อยู่ ทั้งนี้เมื่อพิจารณา Price Pattern ของ MTLS จากการเกิดความแข็งแกร่งในระยะสั้น มีเป้าหมายแรกอยู่ที่ 19.10 บาท และมีเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่ 19.60 บาท ตามลำดับ โดย MTLS มีจุด Stop Loss ระยะสั้นในรอบนี้อยู่ที่ 18.30 บาท (Resistance: 18.80, 19.10, 19.50; Support: 18.50, 18.20, 17.80)
ปัจจัยสำคัญ
ประเด็นในประเทศ :
ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับขึ้นห้าเดือนติด ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ส.ค. อิงสินค้าและบริการ 450 รายการ ปรับขึ้น 0.29% เทียบปีก่อนนับเป็นการบวกห้าเดือนติดต่อกันแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารสดและบุหรี่เพิ่มขึ้น สำหรับหกเดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 0.74% เทียบปีก่อน ขณะเดียวกัน ก.พาณิชย์คงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 59 ไว้ที่ 0-1% อิงการเติบโต GDP ที่ 2.8-3.8% (Bangkok Post) ความเห็น: การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อพื้นฐานสะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว
ปรับเพิ่มเป้ารายได้การท่องเที่ยวปี 59 ททท. ปรับเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวปี 59 ขึ้น 14% เป็น 2.58 ล้าน ลบ. จากการเติบโตในช่วงเก้าเดือนแรกที่แข็งแกร่งทั้งจากนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ ททท. ประมาณการรายได้ท่องเที่ยวเก้าเดือนแรกว่าจะพุ่ง 14% สู่ 1.88 ล้าน ลบ. (Bangkok Post) ความเห็น: แนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังดูสดใสและน่าจะยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตของประเทศ
ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการฟื้นตัวในเดือนก.ค. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ พบว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.8 ในเดือนก.ค. จาก 89.6 ในเดือนมิ.ย. ก่อนหน้า จากผลกระทบของภัยแล้งที่บรรเทาลง การฟื้นตัวของภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว ทั้งนี้ดัชนีที่ต่ำกว่า 100 แสดงถึงความเชื่อมั่นที่น้อยลง ขณะที่ดัชนีที่สูงกว่า 100 แสดงถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นในช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่ายังทรงตัวเหนือระดับ 100 ที่ 101.8 ในเดือนก.ค. (Bangkok Post)
ต่างประเทศ
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐที่จะประกาศในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้หรือในเดือนธ.ค.หรือไม่ จากผลการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์ส คาดว่าตัวเลขการจ้างงานฯ จะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 255,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. อัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 4.8% จาก 4.9% ในเดือนก.ค. คาดว่าการจ้างงานในเดือนส.ค. ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงหลังจากที่มีตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรสูงกว่า 250,000 ตำแหน่งติดต่อกัน 2 เดือน (Reuters)
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเคลื่อนไหวเล็กน้อยเมื่อวันพฤหัส ก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐในวันนี้ ราคาพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากเมื่อวันพุธและอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 1.571% ราคาพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเช่นกันและอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 0.789% (Reuters)
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบกับเงินสกุลหลัก ๆ เมื่อวันพฤหัส หลังจากกิจกรรมภาคการผลิตสหรัฐลดลงเกินคาด ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปิดลดลง 0.40% อยู่ที่ระดับ 95.635 หลังจากที่ปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 96.239 ในการซื้อขายช่วงก่อนหน้า ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 103.28 เยน หลังจากที่ปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 104.00 เยน สูงสุดนับแต่วันที่ 29 ก.ค. (Reuters)
สหรัฐ :
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อวันพฤหัส โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและตัวเลขผู้เข้ารับสิทธิประโยชน์คนว่างงานที่ต่ำกว่าคาดซึ่งชดเชยกับข้อมูลกิจกรรมภาคการผลิตที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ลดลง ในขณะที่นักลงทุนยังคงระมัดระวังก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ (Reuters)
ภาคการผลิตสหรัฐหดตัวในเดือนส.ค. ดัชนีภาคการผลิต (PMI) อยู่ที่ระดับ 49.4% ในเดือนส.ค. ลดลง 3.2 จุดจากระดับ 52.6 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการหดตัวในภาคการผลิตเป็นครั้งแรกนับแต่เดือนก.พ. 59 ทั้งนี้ ดัชนีหากอยู่เหนือระดับ 50 จะบ่งชี้ภาวะขยายตัว แต่หากต่ำกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 43.2% มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยปกติแล้วบ่งบอกถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น ดัชนี PMI ในส.ค. จึงบ่งบอกถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมติดต่อกันเป็นเดือนที่ 87 (ISM)
จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดในสัปดาห์ที่แล้ว บ่งชี้ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอย่างมีเสถียรภาพ โดยเพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 263,000 ราย ทั้งนี้ยังไม่มีการปรับแก้ตัวเลขของสัปดาห์ก่อนหน้า นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการฯ จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 265,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานได้อยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย ซึ่งเป็นระดับที่แสดงถึงตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง ติดต่อกัน 78 สัปดาห์ ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1970 (Reuters)
ยุโรป :
ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันพฤหัสบดีทรงตัว โดยการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มยาและเภสัชศาสตร์และหุ้นกลุ่มน้ำมันถูกชดเชยกับการปรับตัวสูงขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร ท่ามกลางความคาดหวังในการใช้มาตรการทางการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Reuters)
การขยายตัวของภาคการผลิตในยูโรโซนลดลงในเดือนส.ค. ผลสำรวจของ Markit ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนส.ค.ของยูโรโซน ลดลงสู่ระดับ 51.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และลดลงจากระดับ 52.0 ในเดือนก.ค. ทั้งนี้ดัชนี PMI ดังกล่าวยืนอยู่เหนือระดับ 50.0 ซึ่งบ่งชี้ภาวะการขยายตัว ติดต่อกันเป็นเวลา 38 เดือน ทั้งนี้ Markit ระบุว่า เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์มีการขยายตัวแข็งแกร่งที่สุด ขณะที่ฝรั่งเศสยังคงอยู่ในช่วงขาลง และอิตาลีได้ปรับตัวลดลงสู่ภาวะหดตัว (IHS Markit)
เอเชีย :
ภาคการผลิตญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่แย่ลงในเดือน ส.ค. แต่การผลิตดีขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากเดือน ก.พ. รายงาน Markit/Nikkei เปิดเผยว่า PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่น อยู่ที่ 49.5 ในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 49.3 ในเดือน ก.ค. ยังเป็นการส่งสัญญาณความอ่อนแอของภาคผู้ผลิต แม้ว่าจะเป็นระดับที่สูงสุด นับจากเดือน ก.พ. (IHS Markit)
การจัดอันดับเครดิตเรทติ้งของ S&P ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประกาศคงอันดับเครดิต A+/A-1 สำหรับหนี้สาธารณะของญี่ปุ่น และคงแนวโน้มมีเสถียรภาพต่อไป แม้จะมีภาระหนี้ที่หนัก แต่ว่าเสถียรภาพทางการเมืองและระบบการเงินที่มั่นคง เป็นตัวชดเชยความเสียหายทางการคลัง สถาบันการจัดอันดับเครดิตคาดว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 2% และอัตราดอกเบี้ยติดลบสำหรับพันธบัตรที่ออกใหม่จะยังคงผ่อนคลายและสร้างความมั่นคงแก่ภาระหนี้ของรัฐบาลในช่วงสองปีข้างหน้า (Reuters)
สินค้าโภคภัณฑ์ :
ราคาน้ำมันปิดลง 3% วันพฤหัส รวมแล้วเป็นการลดลงรายสัปดาห์ที่แรงที่สุดนับแต่ ม.ค. เพราะนักลงทุนเปลี่ยนความสนใจจากเรื่องการคุมกำลังการผลิตของ OPEC หันมาจับตาสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่พอกพูนขึ้น Brent ลบ 1.44 ดอลลาร์สหรัฐ (-3.1%) ปิดที่ 45.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบสหรัฐล่วงหน้าลบ 1.54 ดอลลาร์สหรัฐ (-3.5%) ปิดที่ 43.16 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (Reuters)
ทองคำกลับบวก หลังไปแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่าสองเดือนในวันพฤหัส เพราะดัชนีค่าเงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าเพราะตัวเลขการผลิตสหรัฐต่ำผิดคาด ราคาทองคำตลาดจรบวก 0.35% ปิดที่ 1,313.07 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทองคำล่วงหน้าสหรัฐส่งมอบ ธ.ค. บวก 0.4% ปิดที่ 1,317.10 ดอลลาร์สหรัฐ (Reuters)
Mr. Warut Siwasariyanon (No.17923) Tel: 02 680 5041
Mr. Krit Suwanpibul (No.17968) Tel: 02 680 5090
Mrs. Vajiralux Sanglerdsillapachai (No. 17385) Tel: 02 680 5077
Mr. Narudon Rusme, CFA (No.29737) Tel: 02 680 5056
Mr. Napat Siworapongpun, CFA, FRM (No.49234) Tel: 02 680 5094