- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 01 September 2016 17:09
- Hits: 863
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ผันผวน กังวลสหรัฐขึ้นดอกแบี้ย & ต่างชาติชะลอซื้อ ควรปรับพอร์ต ขายหุ้นแพง ซื้อหุ้นกำไรเด่น 2H59 (BDMS, BCH, GFPT, BA, AJD) Top pick BLA(FV@B54) กำไรปกติดีต่อ 2H59 สำรองหนี้กรมธรรม์ลดลง สวนทาง Yield พันธบัตรฟื้นจากจุดต่ำสุด & ชอบ BDMS(FV@27) สดใส รับหุ้นใหม่ RJH(FV@B24)
การประชุมธนาคารกลางโลก vs การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐยังมีน้ำหนัก
ล่าสุดผลสำรวจ Fed Fund Future ยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง กล่าวคือ โอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมอีก 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ดังปรากฏในตารางข้างท้าย ทั้งนี้ภายหลังจากที่ ประธาน Fed นางเจเน็ต เยลเลน ได้แสดงความมั่นใจต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง น่าจะหนุน Fed ขึ้นดอกเบี้ยได้ในไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับยอดการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment ) เดือน ส.ค. ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดอยู่ที่ระดับ 1.77 แสนราย บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง โดยยังต้องให้น้ำหนักวันพรุ่งนี้ ในการรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm payrolls รายงานโดยกรมแรงงาน) เดือน ส.ค. ซึ่งตลาคคาดที่ 1.8 แสนราย ชะลอจาก 2.55 แสนราย
อย่างไรก็ตาม เดือน ก.ย. นี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ คือ การประชุมของธนาคารกลางโลก ซึ่งคาดว่ายังคงให้น้ำหนักต่อการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง และ ASPS ยังคงย้ำจุดยืนเดิมคือ FED ยังไม่น่าขึ้นดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ จากเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงต่อ BREXIT
หุ้นเข้า FTSE ผิดจากตลาดคาด และส่วนใหญ่มีการไล่ราคาแล้ว
วานนี้ FTSE (The Financial Times Stock Exchange) ประกาศรายชื่อหุ้นไทยที่ถูกนำเข้าและคัดออกในดัชนี FTSE Global Equity Index Series (ดังรูปด้านล่าง) โดยผลในการคำนวณตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2559 เป็นต้นไป เป็นที่สังเกตว่าผลการประกาศสะท้อนให้เห็นว่า การคาดเดาหุ้นไทยที่จะนำเข้าและคัดออกของดัชนีดังกล่าวไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ดัชนี FTSE เป็นดัชนีที่กองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกองทุนในทวีปยุโรปใช้เป็นตัวเทียบวัดในการวัดผลการดำเนินงาน ดังนั้นกองทุนดังกล่าวจำเป็นต้องปรับพอร์ตการลงทุนตามหุ้นที่ถูกนำเข้า เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 16 ก.ย. 2559 น่าจะมีแรงซื้อจากกองทุนต่างชาติเข้ามาหนุนในหุ้นดังกล่าว แต่อย่างก็ตามเนื่องจากหุ้นที่ถูกนำเข้าส่วนใหญ่ใกล้เต็มมูลค่าแล้ว ฝ่ายวิจัยฯจึงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่ได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าวอย่าง SCC(FV@B595) ส่วนหุ้นที่เหลืออย่าง KBANK, BEM, VIBHA, GPSC และ IMPACT แนะนำให้เก็งกำไรระยะสั้น โดยการเริ่มซื้อสะสมตั้งแต่วันนี้และขายทำกำไรก่อนวันเข้าคำนวณ
แม้ต่างชาติยังซื้อหุ้นไทย แต่เริ่มขายหุ้นในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง ด้วยมูลค่าราว 108 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และเป็นการขายสุทธิถึง 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซียขายสุทธิ 55 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 54 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6), ไต้หวัน 43 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 4 วัน) และเกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 92 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 48 ล้านเหรียญ หรือ 1.6 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิราว 1.3 พันล้านบาท
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 5.3 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิเล็กน้อยราว 37 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 5 วัน)
ปรับน้ำหนักหุ้นประกัน เป็นเท่ากับตลาด เลือก BLA เป็น Top pick
นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นประกันฯ จากเดิม "น้อยกว่าตลาด" เป็น "เท่ากับตลาด" เนื่องจากเห็นพัฒนาการเชิงบวกทั้งด้านธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย กล่าวคือ
ธุรกิจประกันชีวิต มีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจาก คปภ. ได้กำหนดแนวทางในการคำนวณ มูลค่าหนี้สินปัจจุบัน (ที่เกิดจากการถือครองกรมธรรม์ระยะยาว และนำมาคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบัน) โดยการกำหนดอัตราคิดลด โดยใช้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ย้อน 8 ไตรมาส โดยให้น้ำหนักต่อไตรมาสล่าสุด 51% และที่เหลือ 7 ไตรมาสคิดเฉลี่ยเท่าๆ กัน เทียบกับเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้คิดเฉลี่ย 8 ไตรมาสเท่าๆ กัน เริ่มตั้งแต่ 3Q59 เป็นต้นไป ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทประกันชีวิต เพราะหากพิจารณา อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรฯ 10 ปี ที่ผ่านมากระเตื้องขึ้น คือ จาก 1.96% งวด 2Q59 เป็น 2.08% ในงวด 3Q59 และตามเกณฑ์ใหม่จะเริ่มใช้ 3Q59 ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้โดยรวมมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลง (การสำรองฯ ลดลงตามยอดหนี้) กรณีนี้ดีต่อ BLA(FV@B54) จึงมีการปรับเพิ่มมูลค่าหุ้นไปใช้ปี 2560 แทน ขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิในงวด 2H59 น่าจะอยู่ที่ราว 1.7 พันล้านบาท เทียบกับงวด 1H59 ที่ 2.5 พันล้านบาท (งวด 2Q59 มีการโอนกลับรายการค่าใช้จ่ายสำรองเบี้ยฯ กว่า 9.5 พันล้านบาท) คาดปี 2559 กำไรสุทธิอยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท แต่ปี 2560 อาจลดลงมาอยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท เนื่องจาก นักวิเคราะห์ได้กำหนดสมมติฐานกำไรจากการซื้อขายเงินลงทุนให้ลดลงจากปี 2559 ตามหลักความระมัดระวัง โดยรวมเลือก BLA เป็น top pick ของกลุ่มฯ
ธุรกิจประกันวินาศภัย คาดว่าในช่วง 2H59 น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่า 1H59 ที่ประกันภัยในกลุ่มรถยนต์ชะลอตัวลงตามยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา รวมทั้งการลดลงอย่างมากของเบี้ยประกันภัยประเภททรัพย์สิน (Property insurance) เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในประเทศไทยบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างก็ปรับลดความเสี่ยงในการรับประกันภัยประเภทนี้ลง โดยชื่นชอบ BKI (FV@409 บาท) คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 3Q59 จะกลับมาเติบโตสูงและทำระดับสูงสุดของปีเช่นเดียวกับทุกปี เพราะเป็นช่วงต่อสัญญาประกันภัยโดยเฉพาะงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จะช่วยชดเชยรายได้จากการลงทุนที่ลดลง (จากเงินปันผลเนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาล) แม้คาดกำไรสุทธิทั้งปี 2559 อาจหดตัวลง 3.9%yoy แต่จะกลับไปเติบโตได้ที่ 6.1% yoy ในปี 2560 ตามสถานการณ์การเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับสุทธิรวมที่ยังอิงกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
ดัชนีมีโอกาสย่อมากกว่าไปต่อ เน้นหุ้นกำไรเด่นงวด 3Q59 ยังหนุนตลาด : BLA, BA
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ตลาดหุ้นไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นได้เพียง 1.6% ตลอดทั้งเดือนแกว่งตัวในกรอบ 1495 - 1560 จุด โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในเดือนนี้กว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ลดลงจากเดือน ก.ค. ที่ซื้อสุทธิไปสูงถึง 4.4 หมื่นล้านบาท ส่วน 8 เดือยแรก ซื้อสุทธิไปเป็นมูลค่ากว่า 1.15 แสนล้านบาท
สำหรับในเดือนกันยายนนี้ ตามสถิติ 10 ปีหลังสุด ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวลดลง 6 ปี ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยราว -1.64% สำหรับในปีนี้นั้น แม้จะมีโอกาสที่ SET Index จะแกว่งตัว แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะปรับลงรุนแรงมาก เนื่องจากยังมีหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่-กลาง ที่มีกำหนดขึ้น XD ในเดือนนี้อีกหลายบริษัท ซึ่งน่าจะเป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรับเงินปันผล จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยโอบอุ้มตลาดได้
ขณะที่ตลาดยังให้น้ำหนักต่อประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักมากพอที่จะกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นโลกผันผวนสูงเหมือนทุกครั้งที่เปลี่ยนการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (QE หรือลดดอกเบี้ย) มาเป็นนโยบายการเงินตึงตัว ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าจะทำให้ SET Index เดือนนี้ มีความผันผวนตามทิศทางตลาดโลกเป็นหลัก กลยุทธ์การลงทุน ยังแนะนำให้ขายหุ้นที่เกิน Fair Value หรือมี upside จำกัด และเลือกลงทุนรายหุ้น Selective buy หุ้นที่เข้าสู่ช่วง High Season หรือหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศที่ยังมี upside สูง คือ
กลุ่มเกษตร-อาหาร: ฤดูกาลส่งออกอาหารสู่ต่างประเทศ และแนวโน้มราคาไก่ - หมู ที่สูงขึ้น ผลักดันผลประกอบการ 2H59 โดดเด่น เลือก CPF (FV@B40) และ GFPT (FV@B17)
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์: เข้าสู่ช่วง high season ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ทั่วโลก หนุนคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น เลือก SVI (FV@B6), HANA (FV@B42) และ DELTA (FV@B80)
กลุ่มเช่าซื้อ: คาดเติบโตตามลงทุนภาครัฐ และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ แนะนำ ASK([email protected]), KCAR ([email protected])
กลุ่มสายการบิน: 3Q59 เป็นช่วง high season ฤดูกาลท่องเที่ยวในฝั่งเกาะสมุย ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อ BA ([email protected]) ซึ่งมีฐานรายได้จากเส้นทางบินไปสู่เกาะสมุยสูงที่สุด รวมทั้งการเปิดเส้นทางใหม่ กรุงเทพ-ดานัง ทั้งยังได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันต่ำ
กลุ่มโรงพยาบาล: การเข้าสู่ช่วงฤดูกาล หนุน BDMS (FV@B27) และ BCH (FV@B14) รวมทั้งประโยชน์จากการที่ BOI มีมติยกเว้นภาษีกิจการผลิตยา 5 - 8 ปี นอกจากนี้ ยังชอบ LPH (FV@B12)
กลุ่มประกัน: คาดว่าผลกำไรงวด 2H59 มีแนวโน้มดีขึ้น ชอบ BLA(FV@B54)
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : พาสุ ชัยหลีเจริญ
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์ : ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์