- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 25 August 2016 17:51
- Hits: 6807
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
'ซื้อค่าบวก/ถือเมื่อ SET ไม่หลุด 1540'
หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : SET Index เมื่อวานนี้ปิดปรับขึ้น 7.49 จุดที่ 1547.55 โดยมีแรงซื้อกลับในหุ้น Big Cap เช่น KBANK, SCB, BCP, PTT, SCC, CK, ADVANC, INTUCH, DTAC เป็นต้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อ 1.5 พันล้านบาท สถาบันในประเทศพลิกกลับมาซื้อสุทธิ 1.5 พันล้านบาท พอร์ตบล.ซื้อ/ขายใกล้เคียงกัน รายย่อยเป็นกลุ่มเดียวที่ขายสุทธิ
ตลาดยังคงจับตามุมมองและสัญญาณเรื่องระยะเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อ Fund Flow และทิศทางตลาดหุ้นในระยะต่อไป แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวเตือนว่าอย่าหวังมากต่อถ้อยแถลงของประธานเฟดในวันศุกร์นี้ เพราะเฟดอาจรักษาท่าทีและไม่ส่งสัญญาณใหม่ๆก็ได้ ซึ่งเราก็มองในมุมนี้เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 8 พ.ย.นี้ สำหรับปัจจัยในประเทศ เห็นว่าการลงทุนโครงการภาครัฐอาจล่าช้ากว่าแผน เพราะในระยะเวลา 4 เดือนของปีนี้อาจไม่สามารถเปิดประมูลโครงการต่างๆ ตามที่เป็นข่าวได้หมด (ซึ่งประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม, สีชมพู, สีเหลือง โครงการมอเตอร์เวย์ และรถไฟรางคู่ เป็นต้น)
กลยุทธ์การลงทุน : ความไม่แน่นอนทำให้ต้องติดตามปัจจัยและตลาดอย่างใกล้ชิด การเข้าซื้อที่ราคาหุ้นโซนสูงไม่ควรหวัง Gap กำไรมาก เลือกซื้อ/ถือหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและยังเหลือ Upside พอสมควร และถ้ามีหุ้นอยู่ก็ควรพิจารณาแบ่งขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นสูงกว่าเป้าหมายที่ประเมินอย่าง Aggressive ไปแล้ว สำหรับหุ้นเชิงกลยุทธ์แนะนำวันนี้เป็น CPN
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ภาพตลาดเป็นบวกเล็กๆ แต่ยังคงระวังการแกว่ง/อ่อน การซื้อใหม่จึงเน้นตามด้วยค่าบวก ค่าลบดูไม่ดีและควร Stop loss ถ้าต่ำกว่า 1540 จุด แนวต้านระยะสั้นอยุ่ที่ 1550-1560 จุด ส่วนแนวรับ 1520, 1500 จุด
หุ้น SCAN ที่มีสัญญาณทางเทคนิคดีและมีโอกาสทำ New high ที่เข้ามาใหม่ประกอบด้วย UNIQ, SMPC ส่วนที่ยังอยู่ใน List คือ KAMART, MCS, CKP, IVL, S, GFPT, TOP, VGI หุ้นที่หลุด List คือ IVL และหุ้นที่หาจังหวะขายทำกำไรเป็น M, CPALL, TPOLY, PACE, IFEC, TPCH
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค & Retail research team - [email protected]
Need to know TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
- สหรัฐ : ยอดขายบ้านมือสองก.ค.ลดลง 3.2%MoM
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ระบุว่ายอดขายบ้านมือสองเดือนของของสหรัฐร่วงลง 3.2%MoM ในเดือนก.ค. สู่ระดับ 5.39 ล้านยูนิต ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดขายบ้านมือสองจะลดลง 0.4% สู่ระดับ 5.51 ล้านยูนิตในเดือนก.ค.
สหรัฐ : จับตาสุนทรพจน์ของนางเยลเลนในการประชุมประจำปีของเฟดศุกร์นี้
ตลาดจับตาการแสดงสุนทรพจน์ของประธานเฟดในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค.นี้ โดยการประชุมประจำปีของเฟดในครั้งนี้จะจัดขึ้นวันที่ 25-26 ส.ค.59 มีหัวข้อว่า "การออกแบบกรอบนโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่นสำหรับอนาคต" ซึ่งเฟดมักจะแถลงนโยบายสำคัญในการประชุมประจำปีนี้
อย่างไรก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนออกมากล่าวเตือนว่าอย่าหวังมากต่อถ้อยแถลงของประธานเฟดในวันศุกร์นี้ เพราะเฟดอาจรักษาท่าทีและไม่ส่งสัญญาณใหม่ๆก็ได้ ด้านนายโรเบิร์ต มาร์ติน นักวิเคราะห์จากธนาคารบาร์เคลย์ส เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 20-21 ก.ย.59 แม้ว่านักวิเคราะห์ที่ได้รับการสำรวจในตลาดราว 80% คาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าวก็ตาม
- ตลาดหุ้นสหรัฐ : ปิดลดลงเพราะราคาน้ำมันดิ่งแรง & แรงขายหุ้นกลุ่ม Health care
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,481.48 จุด ลดลง 65.82 จุด หรือ -0.35% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,217.69 จุด ลดลง 42.39 จุด หรือ -0.81% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,175.44 จุด ลดลง 11.46 จุด หรือ -0.52% นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่ม Health care หลังนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ออกมาโจมตีบริษัทมายแลน อิงค์ (Mylan Inc.) ที่ปรับขึ้นราคายา "EpiPens" ที่ใช้รักษาอาการแพ้ยาขั้นรุนแรง ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณธรรม เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่ประชาชนใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งความเห็นนี้ทำให้หุ้นกลุ่ม Health care อื่นๆ ร่วงตามไปด้วย นอกจากนั้นหุ้นกลุ่มพลังงานก็ได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของราคาน้ำมันดิบด้วย
- ราคาน้ำมันดิบ : ดิ่งลงแรง
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค.ร่วงลง 1.33 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 46.77 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้าน BRENT ลดลง 91 เซนต์ หรือ 1.8% ปิดที่ 49.05 ดอลลาร์/บาร์เรล โดย EIA รายงานสต็อกน้พมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 523.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าสต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 455,000 บาร์เรล ทางด้าน API เปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับการประชุมกลุ่มโอเปกอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ นักลงทุนไม่ได้คาดหวังว่าจะมีข้อสรุปเรื่องการตรึงปริมาณการผลิตเท่าใดนัก (เพราะการประชุมทั้งในและนอกรอบที่ผ่านมาไม่บรรลุผล)
- ราคาทองคำ : ดิ่งแรง
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 16.4 ดอลลาร์ หรือ 1.22% ปิดที่ระดับ 1,329.7 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยนักลงทุนชะลอการซื้อทองคำก่อนการประชุมประจำปีเฟด 25-26 ส.ค.นี้
ปัจจัยในประเทศ & หุ้นเด่น
-/ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.59 ลดลงต่อ แต่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้าขยับสูงกว่า 100 ได้
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนก.ค.59 ลดลงเป็น 84.7 จาก 85.3 ในเดือนมิ.ย.59 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 2 ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง คือ กังวลกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (วัตถุดิบ) การแข่งขันตัดราคา และปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของ SME ขณะที่ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย และภาคก่อสร้างเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่จะก่อสร้างได้น้อยลง การส่งออกยังซบเซาและฟื้นตัวช้า สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 100.7 เพิ่มขึ้นจาก 99.8 ในเดือนมิ.ย.59 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเกิน 100 ในรอบ 5 เดือน ปัจจัยหนุน คือ ความหวังว่าจะมีการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเข้ามากระตุ้นมากขึ้น
+ TCAP (ราคาปิด 39.50 บาท) : คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น อัตราภาษีจ่ายต่ำถึงปี 60
คุณภาพสินทรัพย์ธนาคารดีขึ้นเป็นลำดับ โดย NPL ลดลง 8 ไตรมาสต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้ -9%QoQ และ NPL ratio ลดลงมาที่ 2.71% จาก 2.81% ในสิ้นมี.ค.59 แม้ว่สินเชื่อจะหดตัว ธนาคารมีสำรองสะสม 126% ในสิ้นมิ.ย.59 (เพิ่มจาก 118% ในสิ้นมี.ค.59) ด้านสินเชื่อใน 2Q59 หดตัวที่ -1.7%QoQ ซึ่งเป็นการหดตัวในสินเชื่อแทบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อที่พักอาศัยที่ +4.5%QoQ ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อ (51% ของสินเชื่อรวม) -2.5%QoQ อย่างไรก็ตาม NIM เพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนการเงินต่ำลง และกำไรใน 2Q59 ขยายตัวได้ (+5%YoY และ +9%QoQ) เป็น 1.5 พันล้านบาทโดยมีอัตราภาษีจ่ายที่ต่ำเพียง 4% เข้ามาช่วยหนุนด้วย (อัตราภาษีต่ำเพราะมีผลขาดทุนจากการชำระบัญชี SCIB เข้ามาช่วย (ณ สิ้นมิ.ย.59 ยังเหลือผลขาดทุนจากการชำระบัญชี SCIB มาหักภาษีได้อีก 18.3 พันล้านบาท หรือเอาไปหักภาษีได้ 3.7 พันล้านบาทหากคำนวณด้วยอัตราภาษีจ่าย 20% ซึ่งคาดว่า TCAP จะจ่ายภาษีในอัตราต่ำมากไปถึงปี 60)
ในเชิงกลยุทธ์ เราชอบ TCAP เนื่องจากธนาคารมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากมี Synergies จากการเข้าซื้อ SCIB ทำให้ต้นทุนการเงินต่ำลง โอกาสในการทำ Cross Selling Products มีมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการเติบโตของ EBT ในระยะสั้นยังไม่มาก เพราะถูกจำกัดจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ชะลอตัวและเศรษฐกิจไทยซบเซา แต่มีแนวโน้มดีในระยะยาว ธนาคารจ่ายปันผลสูง คาดการณ์เงินปันผลปี 59 ไว้ที่ 1.8 บาท คิดเป็น Dividend Yield 4.5% ส่วนของปี 60 ประเมินไว้ไม่น้อยกว่า 5%
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค - [email protected]