- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 14 July 2016 16:28
- Hits: 553
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
BOE มีโอกาสลดดอกเบี้ย เช่นเดียวกับมาเลเซียลดดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกในรอบ 7 ปี หนุน Fund flow และ SET แตะ 1,500 จุด แต่ความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรรายตัวยังมี ยังเลือกหุ้น Domestic ที่มีประเด็นหนุนรายหุ้น (BJC, ADVANC, ASK, CK) หรือหุ้น laggard (BBL, SYNTEC, TPIPL, RATCH) วันนี้เลือก Top pick TISCO(FV@B58) ASPS ปรับเพิ่มมูลค่าหุ้น 8 บาท ปรับเพิ่ม NIM จากสินเชื่อรถยนต์ใหม่ที่ดีกว่าคาด
SET Index 1,477.61
เปลี่ยนแปลง (จุด) 2.69
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 76,143.57
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ 4,542.98
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -116.25
นักลงทุนสถาบันในประเทศ -1,823.06
นักลงทุนรายย่อย -2,603.68
BOE มีโอกาสลดดอกเบี้ย เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ยังบ่งบอกถึงการฟื้นตัวไม่มั่นคง สะท้อนจากการรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) วานนี้ ซึ่งรวบรวมโดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) 12 ภูมิภาค สรุปว่า "ตลาดแรงงานจะขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 8 เดือน แต่ค่าแรงกลับขยายตัวไม่มาก ส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ขณะที่ภาคการผลิตที่ยังฟื้นตัวล่าช้า ซึ่งผลการเปิดเผยรายงานนี้ จะมีส่วนสำคัญในประชุม Fed วันที่ 26-27 ก.ค. นี้ เมื่อพิจารณาความเสี่ยงจากประเด็น Brexit เชื่อว่าจะกดดันให้ Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ (สหรัฐมีสัดส่วนการค้าสูงถึง 17.6% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของ EU) สอดคล้องกับ Fed Fund Future (สำรวจโดย Bloomberg) โอกาสขึ้นดอกเบี้ยเพียง 4% ในการประชุมที่จะถึงนี้ และ มีโอกาสเพียง 14% ในรอบ ก.ย.และพ.ย.คาด14% และ 30% ในรอบ ธ.ค.
และวันนี้ (14 ก.ค.) คาดว่าการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะลดดอกเบี้ยฯ ลงเหลือ 0.25% จาก 0.5% (ครั้งแรกในรอบ 7 ปี) เพิ่มเติมจากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้ลดการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่ม(CCyB) ลงเหลือ 0% จากเดิม 0.5%
และในฝั่งเอเชีย วานนี้ธนาคารกลางมาเลเซียได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 3.0%ครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (ล่าสุดเดือน พ.ค. อยู่ที่ 2% ลดจากระดับสูงสุด 4.2% ในเดือน ก.พ.) โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางมาเลเซียได้ ปรับลด RRR (Required Reserved Ratio) เป็นหลัก โดยลดลง 0.5% จากเหลือ 3.5% สอดคล้องกับธนาคารกลางเอเชียหลายแห่ง ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เช่นกัน อาทิ อินโดนีเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว 3 ครั้งในปีนี้รวม 75 bps เหลือ 6.75% เทียบกับเงินเฟ้อ 3.33% และ อินเดีย ปรับลด 25 bps ในเดือน เม.ย. 6.5% (RRR 4%) เทียบกับเงินเฟ้อ 5.86% ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกยังเปราะบาง โดยเฉพาะแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัวหลังได้รับผลกระทบ Brexit ซึ่งประเด็นดังกล่าวคาดว่าจะหนุนให้สภาพคล่องโลกสูงขึ้น ผลักดันเงินลงทุนให้เข้าสู่สินทรัยพ์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น
Money Supply โลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและยังหนุ้นตลาดหุน้โลกอีกระยะ
ผลจากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในวงกว้าง น่าจะหนุนให้สภาพคล่องโลกเพิ่มขึ้นนับจากนี้ ทั้งนี้หากพิจารณา Money Supply (M2) เป็นรายประเทศพบว่า ในช่วงปี 2558 ค่อนข้างทรงตัว (หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตัดสินใจยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เมื่อเดือน ต.ค. 2557) จนกระทั่งช่วงปี 2559 เริ่มเห็น Money upply โลก กระเตื้องขึ้น อีกครั้ง หลังจากสหรัฐชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และธนาคารกลางโลกที่เหลือ ยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง โดยในภูมิภาคเอเซียนั้น พบว่า ประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของ M2 นับจากต้นปี 2559 จนถึงปัจจุบัน นำโดย จีน เพิ่มขึ้นกว่า 5%ytd และที่ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นราว 2%ytd ขณะที่ในอาเซียน พบว่า ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นมากสุดราว 3.1%ytd ตามมาด้วย สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 2.9%ytd ไทยเพิ่ม 1.5%ytd และ อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 1.4%ytd
ทั้งนี้ หากเทียบเคียงกับปริมาณ M2 ในช่วงปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเกิดวิกฤตซับไพรม์ และธนาคารกลางสหรัฐเริ่มมีการอัดฉีด QE ครั้งแรกในปี 2551 พบว่า M2 ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในปีแรก และ จะเพิ่มขี้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากนี้ในปีที่ 2-3 หลัง (กล่าวคือ ในปี 2551 พบว่า M2 ขอไทย เพิ่มขึ้นราว 11% มาเลเซียเพิ่มขึ้น 18% อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 19% ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 10.5% ส่วนจีน เพิ่มขึ้น 19% ขณะที่ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นไม่มากนักเพียง 2.1% เท่านั้น) จึงเชื่อว่าสภาวะในขณะนี้ ค่อนข้างเอื้อต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน และน่าจะนำไปสู่การปรับขึ้นของตลาดหุ้นโลกได้
TISCO มีกำไรงวด 2Q59 ดีกว่าคาด แม้ทั้งกลุ่มไม่ดีนัก แต่สะท้อนในราคาแล้ว
ดังที่ได้นำเสนอแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2Q59 ของธนาคารพาณิชย์โดยรวมไม่สดใสนัก โดยทั้งกลุ่มคาดว่าจะมีกำไร 4.91 หมื่นล้านบาท เติบโต 3.3% qoq (แต่ลดลง 4.3% yoy) ซึ่งแม้ได้รับผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียว (ทุกประเภท) เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา กดดัน NIM ชะลอตัวลง แต่กลับมีการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงจาก 1Q59 (ยกเว้น SCB กันสำรองเพิ่มขึ้น และ KKP ทรงตัว) เพราะสัญญาน NPL โดยรวมเพิ่มในอัตราชะลอตัว และยังได้กำไรชดเชยจากธุรกิจประกันชีวิต ซึ่ง ธนาคารบางแห่งถือหุ้นอยู่ (SCB ถือหุ้น SCB Life, KBANK ถือหุ้น เมืองไทยประกันชีวิต และ TCAP ถือหุ้นประกันชีวิตนครหลวงไทย) มีกำไรดีขึ้น จาก ดอกเบี้ยตลาดฯ ที่ฟื้นตัวช่วงสั้น ๆ ในปลาย 2Q59 ซึ่งทำให้การตั้งสำรองฯ สินทรัพย์ คือ กรมธรรม์ลดลง หรือ กลับรายได้มาเป็นรายได้
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 3Q59 คาดว่าจะทรงตัวจากงวด 2Q59 เพราะเริ่มเห็นสัญญานการปล่อยสินเชื่อสุทธิที่ดีขึ้น และการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง ช่วยหักล้างผลกระทบจากการลดลงของ NIM ที่คาดว่าจะรับผลกระทบ เต็มที่ในงวดนี้
แต่อย่างไรก็ตาม วานนี้ TISCO เป็นบริษัทแรกที่รายงานผลประกอบการงวด 2Q59 และออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ ASPS คาดมากๆๆ เป็นผลจาก NIM ที่ดีขึ้นขึ้นกล่าวคือในงวด 1H59 สูงถึง 3.8% จากประมาณการที่บริษัทเคยเปิดเผยไว้ที่ 3.5% จึงทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2559 และ 2560 ขึ้นจากเดิม 9.8% ในปีนี้ และ 7.9% ปีหน้า พร้อมกับการตั้งสำรองฯ ที่เพิ่มขึ้น 6.7% และ 7.7% จากประมาณการเดิม ตามลำดับ พร้อมกับเพิ่มมูลค่าหุ้นขึ้นจากเดิม 50 บาทมาอยู่ที่ 58 บาท มี upside 16% จึงได้ปรับคำแนะนำมาเป็นซื้ออีกครั้งหนึ่ง
ภาพรวมยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธ.พ. น้อยกว่าตลาด โดยยังแนะนำให้ Switch จากหุ้นที่เต็มมูลค่าคือ SCB, (FV@B130) KBANK(FV@B175) และ KTB(FV@B17) มาหุ้นที่ยัง Laggards คือ BBL(FV@B180) และ TMB([email protected]) และราคาตลาดยังมี upside จากมูลค่าหุ้นปี 2559 ราว 8% และ 18% ตามลำดับ
ตลาดหุ้นทั้งภูมิภาคยังได้แรงหนุนจากการเข้าซื้อของต่างชาติต่อเนื่อง
Fund Flow ยังคงทะลักเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.1 พันล้านเหรียญ และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 3 นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 541 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) รองลงมาคือไต้หวัน 324 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 66 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 12), ฟิลิปปินส์ 52 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) และไทยที่ถูกซื้อสุทธิสูงถึง 129 ล้านเหรียญ หรือ 4.5 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิราว 1.8 พันล้านบาท
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 4.3 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 90 ล้านบาท
ลดความผันผวน เน้นลงทุนหุ้น Domestic : ADVANC, RATCH, ASK
กลยุทธ์การลงทุนภายใต้ความเสี่ยงจาก Brexit ยังมีอยู่แนะนำให้ลงทุนในกลุ่ม Domestic Play ที่มี upside สูงดังต่อไปนี้คือ :
- กลุ่มสื่อสาร นับว่าให้ผลตอบแทนใกล้เคียงตลาดราว 14.9%ytd (เทียบกับ SET ให้ผลตอบแทน 14%ytd) โดยเชื่อว่าน่าจะสะท้อนปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2559 โดยเฉพาะประเทศเรื่องของต้นทุนค่าใบอนุญาตที่สูงขึ้น และ การแข่งขันที่รุนแรงจนนำไปสู่การปรับลงประมาณการกำไรในปีนี้และปีหน้า แต่หากพิจารณาราคารายหุ้นพบว่า ราคาได้ลดลงไปมากเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะ ADVANC (FV@B189) แม้จะมีภาระต้นทุนใบอนุญาต 4G ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้ยังครองความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ต่อไป ปัจจุบันราคาหุ้นมี P/E 15.8 เท่า และ มี div.yield 6.3% และ INTUCH (FV@B74) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ถือหุ้น ADVANC 40.45% ขณะเดียวกัน INTUCH ยังถือหุ้น THCOM 41.14% ซึ่งยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่รัฐบังคับให้ THCOM จะต้องเปลี่ยนการจ่ายค่าใบอนุญาตไทยคมดวงที่ 7 และ 8 (ปัจจุบันจ่ายที่ 5.25%) มาเป็นการจ่ายแบบสัมปทานในอัตรา 25% ของรายได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาระที่สูงขึ้น และ อาจจะทำให้ต้องมีการปรับลดประมาณกำไรในปี 2560 ลงราว 10% แต่ยังรอความชัดเจนว่ารัฐจะกล้าสั่งหรือไม่
- กลุ่มค้าปลีก น่าจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการบริโภคในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว แต่หากพิจารณารายหุ้นพบว่าส่วนใหญ่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงและชนะตลาดเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น BJC(FV@B47) เนื่องจากยังติดปัญหาการเพิ่มทุนยังไม่เรียบร้อย จากเดิมที่ต้องการเพิ่มทุน 2 ส่วนคือ RO และ PP ผลปรากฏว่าเพิ่มทุนผ่าน PP ไม่สำเร็จ ต้องกลับมาเพิ่ม RO รอบ 2 แต่คาดว่าน่าจะสำเร็จเพราะเชื่อว่าฝั่งผู้ถือหุ้นพร้อมจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด หากนักลงทุนปฏิเสธ โดยได้ขึ้นเครื่องหมาย XR รอบ 2 วันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้หากมองภาพระยะยาวถือว่า BJC เป็นผู้ให้บริการค้าปลีกรายใหญ่ที่ครอบวงจรในประเทศไทย หลังจากเข้าไปซื้อ BIGC ในรอบที่ผ่านมา และน่าจะสามารถเบียดกลุ่ม CPALL ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปซื้อ MAKRO แล้ว ได้อย่างสบาย ๆ
ทั้งนี้หลังทำงบการเงินรวมกับ BIGC คาดว่าจะเห็นการเติบโตของ BJC ในปี 2559 14% แต่เมื่อหัก Dilution Effect ที่ 60% (หุ้นใหม่ 2 ส่วนคิดเป็น 1.5 หุ้นใหม่ เทียบกับหุ้นเดิม 1 ส่วน)แต่จะเติบโตอย่างอย่างโดดเด่นในปี 2560 ราว 119% และ EPS growth ในอัตราเดียวกัน ) นอกจากได้ผลบวกจากการจัดทำงบการเงินรวมยังได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงจากการนำเงินเพิ่มทุนไปชำระหนี้ต่างประเทศ ที่อยู่ในรูปของยูโร (ในการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม) และในสถานการณ์ที่ยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่า เมื่อเทียบกับเงิน ถือว่าเอื้ยประโยชน์ให้มีโอกาสกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
- กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งน่าจะเหมาะเป็นที่หลบภัย กรณีที่มีปัญหาเศรษฐกิจจากภายนอก เพราะยังสามารถเติบโตจากคนในได้ประเทศได้อย่างต่อเนื่อง แนะนำ BDMS (FV@B25)
- กลุ่มรับเหมาฯ วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในช่วง 3-6 เดือนจากนี้ยังคงเกาะกระแสการลงทุนภาครัฐ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ CK (FV@B36) ที่มีธุรกิจกระจายตัวทำให้มีช่องทางในการได้งานเหนือคู่แข่งขัน ตามมาด้วย UNIQ (FV@B20) มีประสบการณ์ตรงในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของรถบรรทุก ยังชอบ ASK (FV@B23) ราคาหุ้นยัง laggard
- หุ้นที่มีกระแสเงินสดมั่นคง จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เช่นหุ้นปันผล ได้แก่ หุ้นโรงไฟฟ้า ได้แก่ RATCH(FV@B60) ถือว่าหุ้นยัง laggard มากเมื่อเทียบกับหุ้นประเทศเดียวกัน เช่น EGCO(FV@BB188) ซึ่งปัจจุบันราคาหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว จึงแนะนำให้ switch จาก EGCO มายัง RATCH รวมถึงการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property fund/REIT) ซึ่งให้ผลตอบแทนที่แน่นอนเฉลี่ยทุกไตรมาส
นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์: พาสุ ชัยหลีเจริญ
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์: ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์