- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 13 July 2016 16:22
- Hits: 522
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สภาพคล่องโลกที่เพิ่มขึ้น จากความคาดหวังว่าจะมีการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม มีโอกาสหนุนให้ดัชนีเกินเป้าหมายไปได้ 3-5% ระยะสั้นจึงมีโอกาสแตะ 1,500 จุด กลยุทธ์ยังเน้นหุ้น Domestic ที่เน้นสินค้าจำเป็น (BJC, BDMS, ADVANC) ได้ประโยชน์มาตรการรัฐ (ASK, CK) หุ้น laggard (BBL, RATCH) Top picks ยังเป็น ADVANC(FB@B189), BBL(FV@B180) มี Beta สูง และราคาหุ้น Laggard
ช็อปข่วยชาติมาอีกแล้วครับท่าน....ดีต่อ BJC ที่ยัง Laggard
การกระตุ้นเศรษฐกิจยังเป็นสิ่งจำเป็น ตราบที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศยังเป็นไปอย่างล่าช้า และ ปัญหาภายนอกจากผลกระทบของ Brexit ยังมีอยู่ ล่าสุดรัฐออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการบริโภค(C) เพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น OTOP กล่าวคือ ผู้ที่ซื้อสินค้า OTOP ในช่วง 1-31 ส.ค.นี้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ซึ่งครั้งนี้จะส่งเสริมให้ทั้งผู้ประกอบการOTOP และนักท่องเที่ยวต่างชาติ (สามารถยื่นขอสิทธิคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT จากการซื้อสินค้าคืนได้)
อย่างไรก็ตามสินค้า OTOP มีวางจำหน่ายกระจายตัวทั้งร้านค้าตามแหล่งท่องเที่ยวและตามห้างสรรพสินค้าติดแอร์ โดยเป็นที่สังเกตว่านโยบายครั้งนี้อาจจะแตกต่างจากนโยบายครั้งที่ผ่านมา อาทิ ช็อปช่วยชาติ ที่เน้นการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์ต่อห้างติดแอร์ อาทิ ROBINS, BIGC, MAKRO, LOTUS เกือบทุกราย แต่ในครั้งนี้ผู้ประกอบการห้างติดแอร์อาจจะได้ประโยชน์ไม่มากนัก ยกเว้นห้างที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค อย่าง BIGC, MAKRO, LOTUS, CPALL, TNP เป็นต้น น่าจะได้ประโยชน์ แต่หากพิจารณาราคาหุ้นปัจจุบัน เทียบกับมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม เห็นจะมีเหลือเฉพาะ BJC(FV@B47) (ถือหุ้น 98% ใน BIGC)
ขณะที่ราคาหุ้นอื่น ๆ ในกลุ่มที่เน้นขายสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ROBINS(FV@B55), HMRPO([email protected]) ถือว่าราคาหุ้นปัจจุบันเกินจากมูลค่าที่เหมาะสม แนะนำให้ Switch มายังหุ้น BJC (FV@B47)
กองทุน TFF พร้อมเดินหน้า คาดจะดึงเงินจากตลาดทุนบางส่วน
หลังจากที่ล่าช้ามานาน ได้ฤกษ์เดินหน้า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) มูลค่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนปิด และไม่กำหนดระยะเวลาโครงการ โดยได้คัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม 2 แห่ง บริหารและจัดการ คือ บลจ. กรุงไทย และ บลจ. เอ็มเอฟซี ซึ่งเตรียมเสนอ กลต. เพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิ้นเดือน ก.ค. และ คาดกองทุนดังกล่าวจะจ่ายผลตอบแทนราว 2-3% ต่อปี
ทั้งนี้แหล่งที่มาของเงินทุนหลัก ๆ จะมาจากประชาชน 90% ที่เหลือ 10% มาจากกองทุนวายุภักษ์ ซึ่ง ในช่วงแรกระหว่างขั้นตอนจดทะเบียนในตลาด จะให้กองทุนวายุภักษ์นำร่องลงทุนไปก่อน (นำเงินบางส่วนจากการขายหน่วยลงทุนวายุภักษ์เดิม เงินสดจากกระทรวงการคลัง และการแลกหน่วยลงทุนของวายุภัษ์ กับ กองทุน TFF) ส่วนของประชาชน กำหนดขาย เดือน ธ.ค. ปีนี้
สำหรับเงินที่ได้จะทยอยนำไปลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว 3 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการที่ได้ก่อสร้าง และ เปิดให้บริการ พร้อมมีกระแสเงินสดรับแล้ว เป็น โครงการก่อสร้างของกรมทางหลวง 2 เส้นทางคือ 1) มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 กรุงเทพ – บ้านฉาง และ 2) มอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 วงแหวนรอบนอก กรุงเทพ พระนครศรีอยุธยา - พัทยา โดยกองทุน TFF จะถือหุ้น 50% ของเงินทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท
ถัดมาเป็นโครงการที่ 3 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษา EIA ซึ่งเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้แก่ โครงการทางด่วนพิเศษ สายพระราม 3 ดาวคะนอง มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มประมูลปลายปีนี้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการปี 2563
ทั้งนี้คาดว่าการระดมเงินดังกล่าวน่าจะเป็นการแย่งเม็ดเงินลงทุนจากตลาดหุ้น แต่เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่ยังอยู่ในระดับสูงจึงไม่น่าส่งผลกระทบมากนัก
ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคทั้ง 5 ประเทศ
ความคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม เพื่อรองรับปัญหาเศรษฐกิจโลก หลังจาก Brexit หนุนให้ Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยวานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าสูงถึง 778 ล้านเหรียญ และยังเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิราว 391 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) รองลงมาคือเกาหลีใต้ 153 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 120 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11), ฟิลิปปินส์ 20 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทยที่ถูกซื้อสุทธิราว 93 ล้านเหรียญ หรือ 3.3 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิราว 1.8 พันล้านบาท
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิสูงถึง 2.6 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิราว 3.7 พันล้านบาท
กลยุทธ์ระยะสั้น แนะนำหุ้น Domestic ที่ Beta สูง ยัง Laggard : ADVANC, BBL, TMB
Fund Flow ที่ยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากตลาดคาดหวังถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่ายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจาก Brexit โดยรวมทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงเดินหน้าขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบปีต่อไป ในปีนี้ให้ผลตอบแทนในปีนี้แล้วสูงถึง 14.5% ดัชนีปัจจุบันไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 1475 จุด แล้ว ทำให้ระดับ Expected P/E สูงกว่า 16.6 เท่า ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ตลาดหุ้นมาเลเซีย ที่ 16 เท่า อินโดนีเซีย ที่ 16.5 เท่า และจีน ที่ 13.9 เท่า (แต่ยังต่ำกว่าฟิลิปปินส์ที่ 20.2 เท่า)
แต่อย่างไรก็ตามหากประเมินในภาวะตลาดที่มีสภาพคล่องสูงที่ผ่านมาทุกครั้ง ดัชนีตลาดหุ้นไทยมักจะเคลื่อนไหวเกินไปจากเป้าหมาย 3-5% หรือ ขยับ P/E ขึ้นเป็น 17-18 เท่า (ดังเช่นปี 2555 P/E อยู่ที่ราว 16.5 เท่า, ปี 2557 ดัชนีหุ้นไทยพุ่งขึ้นทดสอบ 1600 จุด ขณะที่ระดับ P/E สูงถึงกว่า 21 เท่า และปี 2558 ระดับ P/E อยู่ที่ประมาณ 18.8 เท่า) จึงทำให้ดัชนีมีโอกาสขึ้นไปแตะ 1,500-1,525 จุด ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับแนวทางการประเมินมูลค่าหุ้น โดยใช้มูลค่าเป้าหมายของหุ้นรายตัว มาคำนวณดัชนีเป้าหมาย หรือ แนวคิด Bottom-Up ซึ่งสมมติให้ราคาหุ้นทุกบริษัทใน Coverage ของฝ่ายวิจัยมาอยู่ที่ Fair Value ส่วนราคาหุ้นอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น สมมติให้คงที่ ได้ SET Index target ประมาณ 1,535 – 1,550 จุด (ซึ่งส่วนต่างของทั้ง 2 วิธีนี้ มาจากกระบวนการทำ Valuation รายบริษัทที่มีทั้ง Price Relative ซึ่งสะท้อนประมาณการกำไรในปี 2559 เพียง 1 ปี และ Discounted-Cash Flow ที่ Fair Value สะท้อนภาพกระแสเงินสดในระยะยาว)
ดัชนีปัจจุบันถือว่าความเสี่ยงต่อการปรับฐานยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่เชื่อว่า ดัชนีน่าจะสลับหรือหมุนเวียน จากการขายทำกำไรหุ้นที่มีราคาแพง หรือเกิน Fair Value เช่น BAY, SCB, KTB, KBANK, TRUE, JAS, HMPRO, ROBINS, THAI, BEM, AAV, VGI, BANPU, LANNA, TISCO, EGCO, BANPU และ THANI เป็นต้น สลับมาลงทุนในหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ มี upside สูง ดังปรากฏในตารางถัดไป หรือ ในช่วงสั้น ๆ แนะนำหุ้น Domestic ที่มี Beta สูง แต่ราคาหุ้นยัง Laggards อยู่มาก คือ INTUCH, ADVANC, BBL, TMB, SYNTEC, CENTEL, TPIPL, BEC รายละเอียดปรากฏในภาพถัดไป
ลดความผันผวน เน้นลงทุนหุ้น Domestic : ADVANC, RATCH, ASK
กลยุทธ์การลงทุนภายใต้ความเสี่ยงจาก Brexit ยังมีอยู่แนะนำให้ลงทุนในกลุ่ม Domestic Play ที่มี upside สูงดังต่อไปนี้คือ :
กลุ่มสื่อสาร นับว่าให้ผลตอบแทนใกล้เคียงตลาดราว 14.9%ytd (เทียบกับ SET ให้ผลตอบแทน 14%ytd) โดยเชื่อว่าน่าจะสะท้อนปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2559 โดยเฉพาะประเทศเรื่องของต้นทุนค่าใบอนุญาตที่สูงขึ้น และ การแข่งขันที่รุนแรงจนนำไปสู่การปรับลงประมาณการกำไรในปีนี้และปีหน้า แต่หากพิจารณาราคารายหุ้นพบว่า ราคาได้ลดลงไปมากเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะ ADVANC (FV@B189) แม้จะมีภาระต้นทุนใบอนุญาต 4G ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้ยังครองความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ต่อไป ปัจจุบันราคาหุ้นมี P/E 15.8 เท่า และ มี div.yield 6.3% และ INTUCH (FV@B74) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ถือหุ้น ADVANC 40.45% ขณะเดียวกัน INTUCH ยังถือหุ้น THCOM 41.14% ซึ่งยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่รัฐบังคับให้ THCOM จะต้องเปลี่ยนการจ่ายค่าใบอนุญาตไทยคมดวงที่ 7 และ 8 (ปัจจุบันจ่ายที่ 5.25%) มาเป็นการจ่ายแบบสัมปทานในอัตรา 25% ของรายได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาระที่สูงขึ้น และ อาจจะทำให้ต้องมีการปรับลดประมาณกำไรในปี 2560 ลงราว 10% แต่ยังรอความชัดเจนว่ารัฐจะกล้าสั่งหรือไม่
กลุ่มค้าปลีก น่าจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการบริโภคในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว แต่หากพิจารณารายหุ้นพบว่าส่วนใหญ่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงและชนะตลาดเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น BJC(FV@B47)เนื่องจากยังติดปัญหาการเพิ่มทุนยังไม่เรียบร้อย จากเดิมที่ต้องการเพิ่มทุน 2 ส่วนคือ RO และ PP ผลปรากฏว่าเพิ่มทุนผ่าน PP ไม่สำเร็จ ต้องกลับมาเพิ่ม RO รอบ 2 แต่คาดว่าน่าจะสำเร็จเพราะเชื่อว่าฝั่งผู้ถือหุ้นพร้อมจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด หากนักลงทุนปฏิเสธ โดยได้ขึ้นเครื่องหมาย XR รอบ 2 วันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้หากมองภาพระยะยาวถือว่า BJC เป็นผู้ให้บริการค้าปลีกรายใหญ่ที่ครอบวงจรในประเทศไทย หลังจากเข้าไปซื้อ BIGC ในรอบที่ผ่านมา และน่าจะสามารถเบียดกลุ่ม CPALL ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปซื้อ MAKRO แล้ว ได้อย่างสบาย ๆ
ทั้งนี้ หลังทำงบการเงินรวมกับ BIGC คาดว่าจะเห็นการเติบโตของ BJC ในปี 2559 14% แต่เมื่อหัก Dilution Effect ที่ 60% (หุ้นใหม่ 2 ส่วนคิดเป็น 1.5 หุ้นใหม่ เทียบกับหุ้นเดิม 1 ส่วน)แต่จะเติบโตอย่างอย่างโดดเด่นในปี 2560 ราว 119% และ EPS growth ในอัตราเดียวกัน ) นอกจากได้ผลบวกจากการจัดทำงบการเงินรวมยังได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงจากการนำเงินเพิ่มทุนไปชำระหนี้ต่างประเทศ ที่อยู่ในรูปของยูโร (ในการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม) และในสถานการณ์ที่ยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่า เมื่อเทียบกับเงิน ถือว่าเอื้ยประโยชน์ให้มีโอกาสกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งน่าจะเหมาะเป็นที่หลบภัย กรณีที่มีปัญหาเศรษฐกิจจากภายนอก เพราะยังสามารถเติบโตจากคนในได้ประเทศได้อย่างต่อเนื่อง แนะนำ BDMS (FV@B25)
กลุ่มรับเหมาฯ วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในช่วง 3-6 เดือนจากนี้ยังคงเกาะกระแสการลงทุนภาครัฐ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ CK (FV@B36) ที่มีธุรกิจกระจายตัวทำให้มีช่องทางในการได้งานเหนือคู่แข่งขัน ตามมาด้วย UNIQ (FV@B20) มีประสบการณ์ตรงในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของรถบรรทุก ยังชอบ ASK (FV@B23) ราคาหุ้นยัง laggard
หุ้นที่มีกระแสเงินสดมั่นคง จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เช่นหุ้นปันผล ได้แก่ หุ้นโรงไฟฟ้า ได้แก่ RATCH(FV@B60) ถือว่าหุ้นยัง laggard มากเมื่อเทียบกับหุ้นประเทศเดียวกัน เช่น EGCO(FV@BB188) ซึ่งปัจจุบันราคาหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว จึงแนะนำให้ switch จาก EGCO มายัง RATCH รวมถึงการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property fund/REIT) ซึ่งให้ผลตอบแทนที่แน่นอนเฉลี่ยทุกไตรมาส
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์