- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 22 June 2016 17:48
- Hits: 4790
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
'แกว่งรอผล Brexit'
หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ปรับขึ้นได้ 8.81 จุดปิดที่ 1430.80 โดยตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าโอกาสที่อังกฤษจะออกจาก EU มีน้อยลง หลังผลโพลล์ล่าสุดระบุว่าสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่หนุนให้อังกฤษอยู่ (IN) ใน EU ยังมีมากกว่าที่หนุนให้ออก (OUT) นักลงทุนจึงมีการเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการขายทำกำไรในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยสูง เช่น ทองคำ นักลงทุนสถาบันในประเทศนำซื้อสุทธิ 1.4 พันล้านบาท ส่วนต่างชาติและพอร์ตบล.ซื้อ/ขายใกล้เคียงกัน ด้านรายย่อยขายสุทธิ 1.3 พันล้านบาท
สำหรับ วันนี้ คาดว่าตลาดจะแกว่งรอข่าวใหม่ (ตลาดหุ้นเอเชีย บวก/ลบเล็กน้อย ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ทรงๆ ที่ 94+/- ค่าเงินปอนด์แกว่งแคบที่ 1.47+/- ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์) ปัจจัยสำคัญที่ติดตาม คือ ผลการทำประชามติของประชาชนอังกฤษในวันที่ 23 มิ.ย.ว่าจะอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิก EU (มีผลต่อตลาดไทยและเอเชียเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย.) ส่วนแถลงการณ์ของประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา ไม่ได้มีประเด็นใหม่ โดยเฟดยังคงระมัดระวังเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน แต่ยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือถ้าอังกฤษถอนตัวออกจาก EU ด้านการประชุมกนง.ไทยวันนี้ (22 มิ.ย.) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ก่อนโดยมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กลยุทธ์ : ยังคงให้เลือกลงทุนเป็นรายบริษัท (Selective Play) โดยหุ้นพื้นฐานแนะนำวันนี้เป็น IVL
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ภาพตลาดเป็นบวก การปรับขึ้นต่อมีแนวต้านระยะสั้น 1440, 1450 จุด การอ่อนตัวต่ำกว่า 1420 จุดดูไม่ดี ควรลดพอร์ตตาม กลยุทธ์ ซื้อเก็งกำไร/ถือต่อตามค่าบวก
การ SCAN หุ้นที่มีสัญญาณทางเทคนิคดีและมีโอกาสปรับขึ้น พบว่าหุ้นที่เข้ามาใหม่ คือ FSMART, IVL, MCS, SPA ส่วนหุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ BCH, TMT, BTSGIF, AP, JMART, MAJOR หุ้นที่หาจังหวะ Take Profit คือ BJC, CPN หุ้นที่หลุด List -ไม่มี-
Need to know TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
+ อังกฤษ : ผลสำรวจล่าสุดชี้กลุ่ม OUT คะแนนเริ่มตีตื้นแต่ยังน้อยกว่า IN
ผลการสำรวจล่าสุดเมื่อวานนี้ของ Survation พบว่ากลุ่มที่สนับสนุนให้อังกฤษยังคงรวมตัวกับ EU มีจำนวน 45% ขณะที่กลุ่มที่ต้องการแยกตัวมีจำนวน 44% ซึ่งคะแนนของกลุ่ม OUT ตีตื้นขึ้นมาจากผลการสำรวจเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ระบุว่ากลุ่มที่สนับสนุนให้อังกฤษรวมตัวกับ EU มีจำนวน 45% ขณะที่กลุ่มที่ต้องการแยกตัวมีจำนวน 42%
สหรัฐ : เฟดเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แม้อังกฤษถอนตัวจาก EU
# นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เข้าแถลงนโยบายการเงินและรายงานภาวะเศรษฐกิจรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) โดยระบุว่าสำหรับกรณีการลงประชามติในอังกฤษเกี่ยวกับการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ ตนจะไม่เลือกข้างหนึ่งข้างใด แต่เฟดจะจับตาสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง
# ประธานเฟดกล่าวว่า หากอังกฤษตัดสินใจถอนตัวจาก EU ตลาดก็จะอยู่ในบรรยากาศของการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินปลอดภัย เช่น ฟรังก์สวิส และเยน ทะยานขึ้น แต่ นางเยลเลนไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยมีสาเหตุจากการที่อังกฤษถอนตัวจาก EU
# สำหรับเรื่องดอกเบี้ย ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการ (ประสิทธิภาพการผลิตสหรัฐที่ต่ำ การจ้างงานในกลุ่มคนที่ไม่ใช่อเมริกันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น ฯลฯ) ซึ่งทำให้เฟดจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนการชะลอตัวของการจ้างงานในเดือนเม.ย.และพ.ค.59 เฟดกำลังติดตามว่าเป็นภาวะชะลอตัวชั่วคราว หรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตดีขึ้นในไตรมาส 2/59
# ในวันนี้ (22 มิ.ย.) นางเยลเลนจะเข้าแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งคาดว่าความเห็นจะไม่แตกต่างจากที่แถลงเมื่อวานนี้
ตลาดหุ้นสหรัฐ : ปิดบวกเล็กน้อย...ประธานเฟดเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ถดถอยถ้าอังกฤษออกจาก EU
ดัชนี DJIA ปิด +24.86 จุด ดัชนี NASDAQ ปิด +6.55 จุด ดัชนี S&P500 ปิด +5.65 จุด โดยถ้อยแถลงประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเป็นไปตามคาด โดยเฟดยังเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือถ้าอังกฤษถอนตัวจาก EU ส่วนเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น ประธานเฟดระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญความไม่แน่นอนหลายเรื่อง ทำให้ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง
-/+ ราคาน้ำมันดิบ : อ่อนลงเล็กน้อย...รอดู Brexit
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 52 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 48.85 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วน BRENT ส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 3 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 50.62 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยเป็นผลจากแรงขายทำกำไร และนักลงทุนระมัดระวังก่อนการทำประชามติของอังกฤษในวันที่ 23 มิ.ย.59 รวมถึงข่าวรัฐบาลไนจีเรียและกลุ่มกบฎบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 1 เดือนก็กดดันราคาน้ำมันในระยะสั้นด้วย
- ราคาทองคำ : ร่วงแรง
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 19.60 ดอลลาร์ หรือ 1.52% ปิดที่ 1,272.50 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยหลักเป็นเพราะผลโพลล์ที่ออกมาล่าสุดที่สัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่หนุนให้อังกฤษอยู่ (IN) ใน EU ยังมีมากกว่าที่หนุนให้ออก (OUT) และราคาทองคำพุ่งขึ้นราว 100 ดอลลาร์ในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์จึงมีการขายทำกำไรออกมา
ปัจจัยในประเทศ & หุ้นเด่น
กนง.ประชุมวันนี้ (22 มิ.ย.)...คาดคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% & เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
การประชุมกนง.วันที่ 22 มิ.ย.นี้ เราคาดว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ก่อน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในตลาดเงินตลาดทุนเพราะเรื่อง Brexit ซึ่งจะมีการทำประชามติกันวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆขยับขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้เป็นประเด็นกดดันจนทำให้ต้องขยับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงมากและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำของภาคอุตสาหกรรมที่ประมาณ 60% ทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนมากนัก ด้านค่าเงินบาทก็มีแนวโน้มอ่อนลงในระยะกลาง-ยาวหากสหรัฐขยับขึ้นดอกเบี้ยซึ่งก็เป็นผลดีกับภาคส่งออกไทย โดยที่ไม่ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ในระดับปัจจุบันถึงสิ้นปี 59 ถ้าไม่มีเหตุการณ์ Surprise รุนแรงเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก
/+ AAV (ราคาปิด 6.00 บาท, ราคาพื้นฐาน 7.15 บาท) : คาดมี Synergies จากผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ในระยะยาว
ในงาน AAV Open House บริษัทแถลงว่าการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจหลังเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง โดยทีมงานบริหารยังคงเดิม คุณธรรศพลฐ์ ยังคงเป็น CEO อีกอย่างน้อย 5 ปี แต่มีการเปลี่ยนบอร์ด 3 คน โดยมาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ (คิงเพาเวอร์) และกลุ่มคุณธรรศพลฐ์ ได้สิทธิในการซื้อหุ้น AAV ก่อนถ้ากลุ่มคิงเพาเวอร์จะขายออก สำหรับกลยุทธ์ที่กำลังศึกษา คือ ธุรกิจออนไลน์ดิวตี้ฟรี โดยจะใช้กับทุกสายการบินไม่เฉพาะกลุ่มแอร์ เอเชีย และการทำโปรโมชั่นร่วมกันกับคิงเพาเวอร์ ซึ่งจะต้องมีการเจรจากัน นอกจากนั้นคุณธรรศพลฐ์ ยังมีความสนใจซื้อนกแอร์ แต่ยังไม่สรุปว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ และถ้าซื้อจะเป็นในนามส่วนตัวหรือบริษัท อย่างไรก็ดี Synergies จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยยังไม่เห็นอะไรมากนักในปีนี้ ดังนั้นเป้าหมายธุรกิจปี 59 ยังคงเดิม ฝ่ายวิจัยฯ DBSV คงคาดการณ์กำไรสุทธิปี 59-60 ของ AAV ไว้ที่ 71% และ 26% ตามลำดับ ณ ราคาปัจจุบัน ซื้อขายที่ P/E ปี 59-60 ที่ 15.8 และ 12.5 เท่า ตามลำดับ ฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนต่ำเพียง 0.1 เท่า แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 7.15 บาท
+ IVL (ราคาปิด 32.75 บาท, ราคาพื้นฐาน 40.00 บาท) : กำลังการผลิต HVA ช่วยหนุนมาร์จิ้นและกำไรสุทธิ
# เรามีมุมมองที่เป็นบวกกับแนวโน้มผลประกอบการบริษัทหลังจากที่ได้เข้าซื้อกิจการที่เป็นผลิตภัณฑ์ High-value-added (HVA) ในปี 58 และในปี 59-60 ซึ่งส่วนนี้จะทำให้กำไรของบริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งทำให้ EBITDA/ตันสูงขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้ Core EBITDA/ตันของ HVA ในไตรมาส 1/59 อยู่ที่ 209 ดอลลาร์/ตัน สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่เพียง 24 ดอลลาร์/ตัน ฝ่ายวิจัยฯ DBSV คาดว่า Core EBITDA/ตัน จะขยับขึ้นต่อเนื่อง จาก 93 ดอลลาร์/ตันในปี 58 เป็น 97-98 ดอลลาร์/ตันในปี 61 เนื่องจากสัดส่วนสินค้า HVA เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ (สัดส่วน HVA ในปี 58 อยู่ที่ 21% ของทั้งหมด) และคาดการณ์ว่า Core EBITDA/ตันจะสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์/ตันในปี 62 เมื่อโรงงานเอทธีลีนในสหรัฐเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปี 60 หรือต้นปี 61 เป็นต้นไป
# Spread ของ PET/PTA ในเอเชียกระเตื้องขึ้นในช่วง 2H58 และปรับขึ้นต่อ 29%YTD เป็น 220 ดอลลาร์/ตันในเดือนพ.ค.59 ม่าจะต่ำกว่าระดับสูงสุดในปี 58 ที่ 290 ดอลลาร์/ตัน และระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่กว่า 400 ดอลลาร์/ตัน แต่ก็ถือว่าดีขึ้น และเป็นบวกกับธุรกิจในย่านเอเชียของ IVL ซึ่งทำรายได้ราว 42% ของทั้งหมดในปี 58
# สำหรับกำลังการผลิตรวม เราคาดว่าจะเพิ่มเป็น 12.7 ล้านตัน/ปีในสิ้นปี 61 จากระดับ 8.8 ล้านตันต่อปีในสิ้นปี 58 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% ต่อปีในช่วงปี 59-61 ประมาณการว่าบริษัทจะทำ EBITDA ได้ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 62 จาก 651 ล้านดอลลาร์ในปี 58 หรือขยายตัวเฉลี่ย 13% ต่อปี แนะนำซื้อ โดยให้ราคาพื้นฐานขึ้น 40 บาท อิงกับ P/BV กลางปี 60 ที่ 2.1 เท่า (ประมาณการว่า BVS กลางปี 60 จะอยู่ที่ 19 บาท/หุ้น) ความเสี่ยงหลัก คือ Spread PTA ที่อาจจะอ่อนตัวลงเมื่อมีอุปทานใหม่เข้ามา รวมถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอตามเศรษฐกิจจีน และการเพิ่มประสิทธิภาพหลังเข้าซื้อกิจการช้ากว่าคาด
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค - [email protected]