- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 17 June 2016 16:24
- Hits: 613
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
Brexit ยังกดดันตลาดหุ้นโลก กลยุทธ์ยังให้ขายเต็มมูลค่าหรือ upside จำกัด (AAV, THAI, SCB, PTTGC) และให้สะสมหุ้นเติบโตเด่น (WORK, RATCH) และหุ้นผันผวนน้อยกว่าตลาด มี P/E ต่ำกว่า 10 เท่า แต่มีเงินปันผล และ upside (2High2Low) คือ ASK, RATCH, TCAP ยังเลือก Top pick คือ RATCH(FV@B60)
SET Index 1,411.19
เปลี่ยนแปลง (จุด) -23.70
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 46,764.43
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ -967.34
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -1,224.20
นักลงทุนสถาบันในประเทศ -3,195.22
นักลงทุนรายย่อย 5,386.77
ผลประชุม BOJ & BOE มีน้ำหนักน้อยกว่า Brexit
หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ที่ทราบผลไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.5% ตามเดิม และในวันเดียวกันผลการประชุมของธนาคารกลางโลกอีก 2 แห่ง ทั้ง ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงยืนนโยบายการเงินเช่นเดิม เนื่องจากยังคงกังวลต่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้า และ ผลกระทบของ Brexit ทั้งนี้ BOJ ยังคงวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ (QQE) ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี และคงดอกเบี้ยเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารพาณิชย์ฝาก BOJ ที่ติดลบ 0.1% ตามเดิม ขณะที่ BOE ยังคงอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0.5% ที่เดิม ซึ่งถือว่านานติดต่อ 7 ปี
อย่างไรก็ตามคงต้องติดตาม ผลการลงประชามติออกจากสหภาพยูโรของสหราชอาณาจักร (Brexit) ในวันที่ 23 มิ.ย. ซึ่งผลการสำรวจล่าสุดของ Bloomberg ยังคงเทน้ำหนักไปที่ออกจากสหภาพยุโรป 47% ของผู้ตอบ ขณะที่ 44% ยังต้องการอยู่ต่อ และที่เหลือ 9% ไม่แสดงความเห็น ซึ่งถือว่าปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลก
ผลกระทบ Brexit โดยตรงต่อไทยอาจจำกัด แต่กระทบทางอ้อมมากกว่า
การคาดการณ์ต่อการลงประชามติของอังกฤษที่จะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ยังคงสร้าง แรงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินในวงกว้าง รวมถึงไทย กล่าวคือ ผลกระทบต่อการค้าของกลุ่มยูโรน่าจะมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบัน (ล่าสุดเดือน เม.ย. 2559) อังกฤษมีสัดส่วนการนำเข้า และ ส่งออก รวมกันสูงราว 50% ของการนำเข้า-ส่งออกทั้งหมดของอังกฤษ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ รถยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องยนต์เป็นหลัก และถือว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในการเข้าสู่กลุ่มยูโร รวมถึงอังกฤษยังเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินของกลุ่มฯ โดยปี 2556 มีเงินลงทุนของยุโรป (FDI) ไหลเข้าอังกฤษ ราว 4.52 แสนล้านเหรียญฯ หรือเพิ่มขึ้น 51% เทียบกับปี 2539 และยังมีบริษัทการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งของโลกมาตั้งสำนักงานใหญ่ในอังกฤษฯ อาทิ HSBC ซึ่งอังกฤษมีรายได้จากภาคการเงินราว 255 พันล้านเหรียญฯต่อปี หรือ 12% ของเศรษฐกิจรวม
ทั้งนี้ แม้อังกฤษอาจจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายค่าสมาชิกภาพปีละ 1.6 หมื่นล้านปอนด์ และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องผู้อพยพก็ตาม แต่การออกจากสหภาพยุโรป ก็มิได้หมายความว่าอังกฤษจะหลุดพ้นจากการต้องให้ความช่วยเหลือต่อผู้อพยพ ที่นับว่าแต่จะมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา มีผู้อพยพจากประเทศตะวันออกกลาง เช่น ซีเรีย อิรัก และ อิหร่าน และ อัฟกานิสถานปีละกว่า 1.2 ล้านคน
ขณะที่ปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถประเมินได้ คือ การลงทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือ ที่พัฒนาร่วมกันเช่นในเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สายส่งไฟฟ้า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
ขณะที่ผลกระทบต่อไทยคาดว่าน่าจะมีจำกัด เพราะแม้มูลค่าการค้าขายกับยุโรปจะรวมกัน ราว 10% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิ(Net Export) หรือเกินดุลการค้าตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นต้นมา แต่สินค้าส่งออกมีการกระจายตัว กล่าวคือ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก อาทิ อุปกรณ์บรรจุข้อมูล เช่น CD DVD ราว 4%, เนื้อสัตว์ 4%, Memory card 4% , ชิ้นส่วนเครื่องประดับ 2% และ เลนส์แว่นตา 2%
และการค้าขายกับอังกฤษ มีสัดส่วนเพียง 1.5% ของมูลค่าการค้ารวม โดยไทยยังเป็น Net Export กับประเทศอังกฤษ โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรก อาทิ ไก่แปรรูป มากสุด 14% รองลงมาคือ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 7.4% อัญมณีและเครื่องประดับ 7% อาหารทะเลกระป๋อง 5.7% และคอมพิวเตอร์ราว 3.7%
ส่วนด้านลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คาดว่ากระทบในระยะยาว โดยพบว่า เม็ดเงินจากยุโรปคิดเป็นราว 22% ของ FDI ทั้งหมด ที่เข้าประเทศไทย โดยมีเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่นำเงินเข้ามาลงทุนสูงสุดใน 3 ลำดับแรก
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในระยะสั้น คาวดว่าน่าจะเป็นเรื่องของ อัตราแลกเปลี่ยน เชื่อว่าจะทำให้ค่าเงินยูโรและเงินปอนด์มีทิศทางอ่อนค่าแรง ส่งผลกระทบต่อเงินบาท จะกลับมาแข็งค่า ซึ่งอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้น ๆ
ความกังวลต่อ Brexit กดดันให้ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาค
ความกังวลต่อ Brexit ยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่อตลาดหุ้นทั่วโลก อีกทั้งยังกดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชีย โดยวานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคสูงถึง 312 ล้านเหรียญ แต่มีอยู่ 2 ประเทศที่ซื้อสุทธิเล็กน้อย คือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ถูกซื้อสุทธิเพียง 8 ล้านเหรียญ และ 1 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงถึง 271 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน), เกาหลีใต้ 21 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 5) และไทย 28 ล้านเหรียญ หรือ 967 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิสูงถึง 3.2 พันล้านบาท
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิราว 1.2 หมื่นล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 603 ล้านบาท (ขายสุทธิวันที่ 3)
กลยุทธ์การลงทุน เลือกหุ้นผันผวนน้อยกว่าตลาด : RATCH, TCAP, GLOW
ในสถานการณ์การตลาดหุ้นโลกที่ยังผันผวนจากความกังวลที่อังกฤษอาจจะออกจากยุโรป ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นในวงกว้างดังกล่าวข้างต้น แต่ไทยจะกระทบโดยตรงจำกัด แต่ผลกระทบต่อจิตวิทยา โดยเฉพาะค่าเงินน่าจะยังเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น ขณะที่ด้านพื้นฐานตลาดหุ้นไทย ความกังวลต่อความสามารถในการทำกำไรยังมีอยู่ โดยเฉพาะการที่ ทางการต้องการให้ลดค่าธรรมเนียมของกลุ่มธ.พ. น่าจะกดดันให้มีโอกาสปรับประมาณการกำไรของหุ้น ธ.พ. ปีนี้ลดลง 2% และ ปรับลดปี 2560 อีก 10-12% ซึ่งน่าเท่ากับ กำไรตลาดจะหายไป 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และ อาจจะถึง 2 หมื่นล้านบาทในปี 2560 แต่อย่างไรก็ตามการที่ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้นในปัจจุบันอาจจะทำให้มี กำไรจาก สต๊อกน้ำมัน ซึ่งน่าจะมาช่วยชดเชย กำไร ของ ธ.พ. ที่ลดลงดังกล่าวได้
จึงยังคงประมาณการกำไรตลาดในปีนี้ที่หุ้นละ 88.60 บาท และ 97.6 บาท ในปีหน้า ซึ่งพบว่าตลาดหุ้นไทยยังมีค่า Expected P/E 15.92 เท่า สิ้นปีนี้ ซึ่งนับว่าค่อนข้างแพง แต่จะลดลงเหลือ 14.45 เท่าในปีหน้า กลยุทธ์การเลือกหุ้นรายตัวยังน่าจะให้โอกาสในการสร้างกำไรในระยะยาว
ระยะสั้นยังแนะนำให้ขายหุ้นที่ราคาปัจจุบันเกิน Fair Value หรือมี upside เหลือน้อย ได้แก่
หุ้นการบิน ซึ่งส่วนใหญ่เต็มมูลค่า AAV และ THAI และ ให้ switch มายัง BA ซึ่งนอกจากราคาหุ้นปัจจุบันมี upside ที่สูงกว่าแล้ว แนวโน้มการทำกำไรยังโดดเด่นกว่าสายการบินทั้ง 2 แห่ง จากที่ BA เป็นสายการบิน premium และ ยังมีการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินทำให้ ประสิทธิการทำกำไรที่ดีกว่าเช่น
ธนาคารพาณิชย์ แนะนำขายเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ BAY, SCB, KBANK ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากค่าธรรมเนียมที่ลดลงข้างต้นมากสุด และ ให้ switch มายังหุ้นได้รับผลกระทบน้อยสุดคือ TISCO, TCAP ทั้งยังสามารถคาดหวัง Dividend Yield ได้สูงถึงกว่า 5-6%
หุ้นโรงไฟฟ้า IPP พบว่า EGCO ราคาหุ้นปัจจุบันเกือบเต็มมูลค่าแล้ว แนะนำให้ switch มาเข้า RATCH และ GLOW ซึ่งมี upside มากกว่ามาก ๆ รวมทั้งผลตอบแทนจากเงินปันผลที่เหนือกว่าเช่นกัน
หุ้นระบบรถไฟฟ้า/ขนส่งมวลชน แนะนำขาย BEM เชื่อว่าราคาหุ้นปัจจุบันตอบรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้ว ขณะที่การบันทึกบัญชี ค่าสัมปทานที่จ่ายให้รัฐในงบกำไรขาดทุนต่ำกว่าที่จ่ายจริง ยังเป็นความเสี่ยงที่จะกดดันผลการดำเนินงานในอนาคตใช้ จึงให้ switch มายัง BTS แทน ซึ่งมีโอกาสเติบโตจากการขยายโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ไม่แพ้ BEM คาดว่าผลการดำเนินงานปี 2559/60 จะเติบโตสูงถึง 20%yoy
กลุ่มค้าปลีก แนะนำขายทำกำไร BIGC, HMPRO, ROBINS เนื่องจากราคาปรับขึ้นมามากจนเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงทางด้านราคาของผู้ประกอบการเพื่อรักษายอดขายและ Market share ไว้ จึงไม่น่าจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยฯ ในปีนี้ แนะนำให้ switch CPALL ที่ยังน่าสนใจกว่าในกลุ่ม Big cap และได้ประโยชน์จากช่วงเทศกาลบอลยูโร หรือเลือก COM7 สำหรับ Mid cap ที่คาดกำไรจะเริ่มโดดเด่น 2H59 จากหลายแหล่งรายได้เสริมอื่นๆ
หุ้นวัสดุก่อสร้าง DRT ราคาเต็มมูลค่าแล้ว แนะนำสลับไปลงทุนใน SCC คาดผลการดำเนินงานฟื้นตัว 2H59 จากแรงกระตุ้นการใช้วัสดุก่อสร้างของเมกะโปรเจ็คภาครัฐ อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมียังอยู่ในช่วงขาขึ้นช่วยหนุนผลการดำเนินงาน รวมทั้ง TASCO ยังน่าสนใจในแง่ของ upside ที่เปิดกว้างถึง 50%
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ยังคงได้ sentiment บวกต่อเนื่องจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ อย่างไรก็ตาม STEC และ ITD upside เหลือจำกัดมาก จึงแนะนำขาย และสลับมายัง CK ที่ upside มากกว่ามาก และมีความพร้อมในการเปิดประมูลทั้งแง่ของฐานะการเงิน และประสบการณ์
หุ้นถ่านหิน/โรงไฟฟ้า BANPU upside เหลือน้อยมาก เช่นเดียวกับ DEMCO, GUNKUL แนะนำ switch ไปยัง IRPC ที่ยังมี upside หรือ PTT, PTTEP ที่ยังได้อานิสงส์เชิงบวกจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
กลุ่ม ICT แนะนำขาย JAS, TRUE, SIM ที่ราคาเกิน Fair Value รวมทั้ง DTAC ที่แนวโน้มธุรกิจไม่สดใส มายัง ADVANC ที่ยัง laggard ราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยลบไปหมดแล้ว และยังคาดหวังเงินปันผลได้ในระดับสูง รวมทั้ง INTUCHได้อานิสงส์จากการเป็นหุ้นแม้ ADVANC เงินปันผลสูงเช่นกัน
ตรงกันข้ามแนะนำให้สะสมหุ้นที่มีเงินปันผล และ upside สูง มี P/E ต่ำ และ ความผันผวนของราคาหุ้นน้อยกว่าตลาด ดังปรากฏในตารางถัดไป
หุ้นผันผวนน้อย แต่เงินปันผลสูง คือ เป็นหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำกว่า 12 เท่า, Beta ต่ำกว่า 1 เท่า, Dividend Yield ตั้งแต่ 4% มี upside ตั้งแต่ 14% ขึ้นไป และฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ โดยเลือก RATCH เป็น Top pick ในกลุ่มนี้ รายละเอียดดังตารางด้านล่าง
หุ้นปันผลสูง และ upside สูง คือ หุ้นที่มี Dividend Yield ตั้งแต่ 5% ขึ้นไป มี upside ตั้งแต่ 14% ขึ้นไป และฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ ได้หุ้นที่น่าสนใจดังตารางด้านล่าง
นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์: ภราดร เตียรณปราโมทย์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์: พาสุ ชัยหลีเจริญ
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์: ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์