WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน



กลยุทธ์การลงทุน
  แม้ Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยช้าลง แต่ประเด็น Brexit กดดันค่าเงินโลกผันผวน และ ทำให้ SET แกว่งตัวแคบ 1412-1430 จุด กลยุทธ์เลือกหุ้นธุรกิจสดใส (WORK, MCS) หรือหุ้นปันผลสูง (ADVANC, PTT, RATCH, TCAP) Top picks เลือก RATCH(FV@B60) และ ADVANC(FV@B189)

Brexit ยังกดดันตลาดเงิน และตลาดหุ้นโลก
  ผลการสำรวจการลงประชามติออกจากสหภาพยูโรของอังกฤษ หลายสำนักรายงานแนวโน้มการออกเพิ่มขึ้น อาทิ ของ Bloomberg พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มเป็น 46.3% ขณะที่มีสัดส่วนลดลงเหลือ 41% ที่ต้องการอยู่ต่อ และส่วนน้อย 12.8%ไม่ลงความเห็น ทั้งนี้เชื่อว่าปัจจัยหนุนให้ คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการออกจากสหภาพยุโรป น่าจะเป็นเรื่องปัญหาทางการเงิน เพราะมิใช่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเป็นสมาชิกเดือนละ 1.4 พันล้านปอนด์ เท่านั้น แต่ยังมีความคล่องตัวในการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปฯ โดยอังกฤษ จะต้องยอมสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางการค้า และการลงทุน บางประการไป ดังที่กล่าวไปใน Market Talk วานนี้ ขณะที่ยังมีแนวทางอื่น ๆ ทดแทน เช่น ทำสัญญาทางการค้ากับ ยูโร ทั้งแบบ นอร์เวย์ (European Economic Area (EEA)) หรือ การเจรจาการค้าแบบทวิภาคิ (Bilateral treaties) เช่นเดียวกับ สวิสเซอร์แลนด์ ทั้งหมดนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องรอผลการลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตามผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดเงินและตลาดทุน เห็นได้จากที่มีการโยกย้ายเงินทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อเข้าในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า อย่างพันธบัตรรัฐบาล สะท้อนจาก Yield พันธบัตรรัฐบาลเยอรมันปรับตัวลงสู่แดนลบเป็นครั้งแรกที่ระดับ -0.004% และ Yield พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลดลงทำระดับต่ำสุดของปี ที่ 0.17% เช่นเดียวกับทองคำที่ยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด 1,284.11 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีแนวโน้มขึ้นไปแตะแนวต้านที่ 1,300 ทั้งนี้ มองว่าสถานการณ์ปัจจุบันราคาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าทั้งพันธบัตรและทองคำเริ่มปรับตัวขึ้นมามากแล้วน่าจะเริ่มเห็นการปรับสถานะและขายทำกำไรออกมา

ผลประชุม FED วันนี้ไม่มีอะไรใหม่ แต่ความกังวล Brexit หนุน Dollar แข็งค่าเกินไป
  คาดผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) 14-15 มิ.ย. ซึ่งจะทราบผลอย่างเป็นทางการในเช้าวันพรุ่งนี้ คาดว่าจะไม่มีประเด็นใหม่ โดยน่าจะยังคงเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นช่วงปลายปีนี้ เพราะจาการเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุด ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว กล่าวคือ รายงานยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. แม้ดีกว่าที่ตลาดคาดอยู่ที่ระดับ 0.5%mom แต่ลดลงจาก 1.3%mom ในเดือน เม.ย ขณะที่ภาค การผลิตยังมีทิศทางชะลอตัว โดยพบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ยังคงหดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน รวมถึงยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน พ.ค. ที่ออกมาแย่กว่าคาด
  ขณะที่ วันนี้จะเป็นวันแรกของการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) 15-16 มิ.ย. ตลาดคาดว่าจะยืนดอกเบี้ยในระดับต่ำและคงวงเงิน QQE ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี เช่นเดิม หลังจาก นายก ชินโสะ อาเบะ เพิ่งตัดสินใจเลื่อนแผนการขึ้นภาษีขาย (Sale Tax) ครั้งที่ 2 จาก 8% เป็น 10% เลื่อนเป็น ต.ค.2562 หลังจากญี่ปุ่นประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงเดือน เม.ย.59 ประกอบกับภาคการบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนจาก ยอดค้าปลีกที่ชะลอตัวติดต่อกันนาน 7 เดือน และเงินเฟ้อ ล่าสุด ยังคงติดลบ 0.3%
  อย่างไรก็ตามความกังวลต่อการลงประชามติ (Brexit) ยังคงกดดันความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินยุโรป ซึ่งช่วยหนุนให้ Dollar index มีทิศทางแข็งค่า โดยล่าสุดอยู่ที่ 95.04 จุด แต่คาดว่าหากผลการทำประชามติของอังกฤษ สรุปว่ายังอยู่ในสหภาพยุโรปต่อ ค่าเงิน Dollar Index น่าจะกลับมาอ่อนค่าอีกรอบ ซึ่งกดดันสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนในช่วงสั้น อาทิ ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น

AAV ราคาหุ้นขึ้นต้อนรับพันธมิตรใหม่ แต่เป็นโอกาสขาย
  ราคาหุ้น AAV ขึ้นทำระดับสูงสุดของวันที่ 6.25 บาท แม้จะต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้ที่ 6.45 บาทเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นตอบรับประเด็นบวกใหม่ คือการปรับโครงสร้างการถือหุ้นใหม่ หลังจากที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ได้ตัดสินใจซื้อหุ้น AAV (ถือหุ้น 55% ในสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่เหลือ 45% ถือหุ้นโดย Air Asia Berhad จากประเทศมาเลเซีย) จากครอบครัว แบเลเว๊ลด์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 39% ที่ราคาหุ้นละ 4.20 บาท พร้อมกับเตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือจากนักลงทุนในราคาเดียวกัน
  แม้มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งมีฐานะการเงินมั่นคงมาก ต้องการต่อยอดธุรกิจ ทั้งสินค้าปลอดภาษี และ ธุรกิจการบิน ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจมีฐานนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อกิจการในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามอาจจะถูกหักล้างจากภาวะธุรกิจการบินที่มีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และต้นทุนน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากจุดต่ำสุดในต้นปี 2559 แต่น่าจะกลับเป็นขาขึ้นอีกครั้งในปี 2560
  ขณะที่ระยะสั้น ราคาหุ้นปัจจุบันเกินจากมูลค่าพื้นฐาน (ประเมินโดย EV/EBITDA ประมาณ 5.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าสายการบินทั่วโลกที่ 5 เท่า ขณะที่ THAI 10 เท่า และ BA 5.7 เท่า) และ สูงกว่าราคาที่ทำคำเสนอซื้อ (tender offer) อยู่ที่หุ้นละ 4.2 บาท เท่านั้น จึงแนะนำให้ขาย

ความกังวลเรื่อง Brexit กดดันให้ต่างชาติชะลอซื้อหุ้นในภูมิภาค
  ความกังวลต่อการลงประชามติ Brexit ยังคงกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมไปถึงตลาดหุ้นเอเชีย และยังส่งผลให้ต่างชาติเริ่มชะลอการซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค โดยวานนี้ต่างชาติได้สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 27 ล้านเหรียญ และซื้อสุทธิเพียง 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 91 ล้านเหรียญ และอินโดนีเซีย 54 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 109 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 7 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) และไทย 2 ล้านเหรียญ หรือ 74 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 4) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่ขายสุทธิสูงถึง 901 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาแรงซื้อส่วนใหญ่กลับมาจากนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน 4 วัน โดยมียอดรวมสูงถึง 6.2 พันล้านบาท
  ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิราว 1.7 หมื่นล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิราว 609 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกันถึง 8 วัน)

กลยุทธ์การลงทุน เลือกหุ้นผันผวนน้อยกว่าตลาด : RATCH, TCAP
  แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะมีความผันผวนมากขึ้น เพราะนอกจากใกล้เคียงกับดัชนีเป้าหมายปี 2559 (อิง EPS และ Target P/E 16.3 เท่า) ยังถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกดังกล่าวข้างต้น รวมถึงปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ล่าสุดมีประเด็นของการพิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงินของ ธ.พ.ในระบบ e-payment ของ ธ.พ.ให้สอดคล้องกับนโยบาย National e-Payment ที่รัฐบาลผลักดัน ทั้งในส่วนของ การรับชำระเงินแบบ Any ID และธุรกรรม EDC (การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ในการชำระเงิน) ฝ่ายวิจัยประเมินว่าในกรณีเลวร้ายภายใต้สมมติฐานถอดรายได้ค่าธรรมเนียมฯ จากบริการ ATM บัตรเดบิตและบริการอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ และถอดรายได้ค่าธรรมเนียมฯ จากบริการบัตรเครดิต (ซึ่งมีสัดส่วนต่อรายได้รวม 17.3% และ 18.5% ตามลำดับ) ออกไปอย่างละ 50% จะกระทบกำไรกลุ่มฯ ราว 5-6% โดย ธ.พ.ใหญ่ (BBL, BAY, SCB, KBANK) ได้รับกระทบมากสุด จึงแนะนำให้ switch ไปยัง ธ.พ.เล็ก คือ TISCO, TCAP
  กลยุทธ์การลงทุนยังแนะนำให้ขายทำกำไรหุ้นที่ราคาปัจจุบันเกิน Fair Value หรือมี upside เหลือน้อย และสลับมายังหุ้นแนะนำด้านล่าง คือ
  1) หุ้นผันผวนน้อย แต่เงินปันผลสูง คือ เป็นหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำกว่า 12 เท่า, Beta ต่ำกว่า 1 เท่า, Dividend Yield ตั้งแต่ 4% มี upside ตั้งแต่ 14% ขึ้นไป และฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ โดยเลือก RATCH เป็น Top pick ในกลุ่มนี้
  RATCH (FV@B60) คาดกำไรปกติงวด 2Q59 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากงวด 1Q59 จากผลของช่วงฤดูกาล ที่เป็นช่วงฤดูร้อน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด งวด 2Q59 ของทุกปี นอกจากนี้คาดจะเริ่มรับผลบวกจากโรงไฟฟ้าหงสา ที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์เต็มที่ทั้ง 3 เฟส เป็นไตรมาสแรกในงวด 2Q59 และจะทำให้กำไรมีแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่นใน 2H59
โดยภาพรวมคาดกำไรปกติในปี 2559 เติบโตสูงถึง 38.3%yoy จากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าหงสา 3 เฟส และเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้านวนครในช่วงกลางปี 2559 อีกทั้งแผนการหยุดซ่อมโรงไฟฟ้าหลักมีน้อยกว่าที่เกิดขึ้นในปี 2558 ขณะที่ในเชิง Valuation นั้น ถือเป็นหุ้น Defensive เติบโตต่อเนื่องในระยะยาว และให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสม่ำเสมอกว่า 4.5% และมีระดับ P/E ต่ำเพียง 12 เท่าในปีนี้ และลดลงเหลือ 10.2 เท่าในปีหน้า ปัจจุบันมี upside 16.5%
  2) หุ้นปันผลสูง และ upside สูง คือ หุ้นที่มี Dividend Yield ตั้งแต่ 5% ขึ้นไป มี upside ตั้งแต่ 14% ขึ้นไป และฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ
  และ 3 หุ้นที่ราคาในช่วงที่ผ่านมาปรับลงไปมาก สะท้อนประเด็นลบแล้ว (หุ้นบางบริษัทปรากฏอยู่ในตารางด้านบน) หรือ ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มคำแนะนำ เช่น
  ADVANC (FV@B189) แม้แนวโน้มกำไรช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะ 2H59 ที่ต้องมีต้นทุนค่าใช้คลื่นเพิ่มขึ้นในส่วนคลื่น 900 MHz ที่ประมูลกลับมาได้ แต่ด้วยศักยภาพการแข่งขันที่ยังคงเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจผู้ให้บริการมือถือ และน่าจะรักษาลูกค้าที่ใช้งานอยู่เกือบทั้งหมด ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันยังมี upside อีกกว่า 16% พร้อมปันผลที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 6% ต่อปี
  INTUCH (FV@B75) ในฐานะที่เป็นบริษัทแม่ของ ADVANC จึงได้รับผลกระทบจากการอ่อนตัวของกำไรงวด 2H59 แต่ราคาหุ้นที่ปรับลงน่าจะสะท้อนแนวโน้มกำไรลดลงแล้ว โดยราคาหุ้นปัจจุบันยังมี upside สูงถึง 35% อัตราผลจอบแทนเงินปันผลสูงมากถึง 7.4% ต่อปี
  BJCHI ([email protected]) หลังประกาศรับงานโครงการเรือผลิตและกักเก็บปิโตรเลียม มูลค่ากว่า 2.8 พันล้านบาท ส่งผลให้ความกังวลเรื่อง Backlog หายไป โดยปัจจุบันมีเพียงพอรองรับประมาณการรายได้ปี 2559 ทั้งปี และมีบางส่วนล้นไปปี 2560 เชื่อการรับงานใหม่ยังมีต่อเนื่องในช่วง 2H59 โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี upside สูง 28% และคาดหวัง Dividend Yield ได้สูงถึง 6.4%
  JWD ([email protected]) แม้แนวโน้มผลประกอบการงวด 2Q59 อาจจะยังไม่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงคลังสินค้า 2 แห่ง แต่แนวโน้มของธุรกิจบริหารรถยนต์ที่จะรับรู้รายได้จากงาน On-site เข้ามาเพิ่มขึ้น จึงคาดหวังการฟื้นตัวของผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึง Catalyst จากการประกาศลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง ทำให้เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ฝ่ายวิจัยจึงได้ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น ทยอยซื้อสะสม ราคาหุ้นปัจจุบันยังมี upside ราว 13.5%

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!