WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน



กลยุทธ์การลงทุน
  ประเด็นแวดล้อมตลาดหุ้นไทยวันนี้ค่อนข้างออกมาในทางลบ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ย่อตัวลง การลงประชามติ Brexit รวมถึงการประชุม Fed คาดจะทำให้ SET Index ซึ่งปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วงที่ผ่านมา ปรับฐาน กลยุทธ์ยังแนะขายหุ้นแพง (TOP, PTTGC, SCB, ROBINS, HMRPO) มายังหุ้นที่มี upside (PTT, WORK, ADVANC) เลือก WORK (FV@B 45) เป็น Top Pick

คาด Fed ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ แต่ต้องให้น้ำหนัก Brexit มากขึ้น
  ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากใกล้จะถึงวันลงประชามติของสหราชอาณาจักร (Brexit) วันที่ 23 มิ.ย. ซึ่งจะมีน้ำหนักต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของหลายธนาคารกลางทั่วโลก ขณะที่สัปดาห์นี้จะมีการประชุมธนาคารกลางสำคัญๆ ทั่วโลก เริ่มจาก 14-15 มิ.ย. การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คาดว่ายังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน พ.ค. ออกมาแย่กว่าคาด อีกทั้งล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย ม.มิชิแกน เดือน มิ.ย. ลดลงมาสู่ 94.3 จุด (ติดต่อเป็นเดือนที่ 2) ขณะที่ผลสำรวจ Fed Fund Future รอบ มิ.ย. เป็น 0% ไปแล้ว และให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นในช่วง 4Q59 เป็นต้นไป สอดคล้องกับความคาดหมายของ ASPS
  จากนั้น 15-16 มิ.ย. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าจะยืนดอกเบี้ยในระดับต่ำและ คงวงเงิน QQE ที่ 80 ล้านล้านเยน/ปีตามเดิม หลังจาก นายก ชินโสะ อาเบะ เพิ่งตัดสินใจเลื่อนแผนการขึ้นภาษีขาย (Sale Tax) ครั้งที่ 2 จาก 8% เป็น 10% เดิมคาดว่าจะขึ้น เม.ย.2560 เลื่อนเป็น ต.ค.2562 เนื่องจากญี่ปุ่นประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงเดือน เม.ย.59 ประกอบกับภาคการบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนจาก ยอดค้าปลีกที่ชะลอตัวติดต่อกันนาน 7 เดือน และเงินเฟ้อ ล่าสุด ยังคงติดลบ 0.3%
  16 มิ.ย ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตลาดคาดยังคงดอกเบี้ย 0.5% หลังจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในฝั่งภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนจาก PMI ภาคการก่อสร้างและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลงติดต่อกัน 5 และ 4 เดือนติด ประกอบกับรอผลการลงประชามติ (Brexit) 23 มิ.ย. (โพลสำรวจล่าสุด ของ Financial Times พบว่าออกมาสูสีกัน 44% อยู่ต่อ ขณะที่ 46% อยากออก และ 11 %ไม่ลงความเห็น) ประเด็นดังกล่าวกดดันค่าเงินยูโรอ่อนค่าต่อเนื่องตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางกับดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่า กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และน้ำมัน ให้ปรับฐานช่วงสั้น
  ไทย ตลอดเดือน มิ.ย. คาดว่าจะมีการประมูลงานก่อสร้างภาครัฐ โดย 21 มิ.ย. ประมูลโครงการสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และ ปลายเดือน มิ.ย. ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี) สีชมพู(แคราย-มีนบุรี) และ สีเหลือง(ลาดพร้าว- สำโรง) การลงทุนของภาครัฐจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วง 2H59

แรงซื้อหุ้นในภูมิภาคเริ่มชะลอตัวลง หลังซื้อสุทธิติดต่อกันนานถึง 12 วัน
  วันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นไต้หวันยังหยุดทำการต่อเนื่องอีก 1 วัน แต่ตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมพบว่า แรงซื้อหุ้นในภูมิภาคของนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอตัวลง และได้สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 13 ล้านเหรียญ หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกันนานถึง 12 วันทำการ และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า มีเพียงตลาดหุ้นอินโดนีเซียเท่านั้นที่ยังคงถูกซื้อสุทธิราว 7 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่ง ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 9 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วัน) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 8 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิต่อเนื่องถึง 12 วัน) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 85 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่ขายสุทธิราว 612 ล้านบาท
  ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิราว 1.8 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 5.4 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 โดยมียอดซื้อสะสมรวมสูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท)

ภาษีที่ดิน กระทบกลุ่ม ธ.พ. และนิคมฯ ส่วน อสังหาฯ เกิด Sentiment เชิงลบช่วงสั้น
  ประเด็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ ครม. มีมติเห็นชอบร่างฯ ไปเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้าง sentiment เชิงลบให้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย และนิคมฯ ไม่น่าจะรุนแรงมากนัก กล่าวคือ

กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย : มีทั้งผลดีและผลเสียต่อกลุ่มฯ กล่าวคือ
  ผลดี ในแง่ของ supply ที่ดิน ทำให้ผู้ที่ถือครองที่ดินในเมืองที่มีมูลค่าสูง มีแนวโน้มที่จะระบายที่ดินออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการถือครองที่ดินที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาที่ดินสำหรับการพัฒนาในอนาคตได้ง่ายขึ้น ส่วนภาระภาษีจากการถือครองที่ดินของผู้ประกอบการคาดว่าจะไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากรูปแบบการพัฒนาโครงการในปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญไม่นิยมถือครอง หรือสะสมที่ดินเปล่าเหมือนในอดีต ผลเสีย ในด้าน Demand จะกระทบผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 และผู้ที่ซื้อเพื่อการลงทุน จะต้องเสียภาษีเพิ่ม ทำให้ตลาดของการซื้อเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรน่าจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเภทคอนโดฯ ที่มีสัดส่วนการซื้อเพื่อลงทุน – เก็งกำไร มากกว่าโครงการแนวราบ ส่วนผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากจะจัดเก็บภาษีเมื่อราคาเกิน 50 ล้านขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยไม่ถึง 5% ของตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวม
  กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม : แม้ผู้ประกอบการฯ จะมีที่ดินเพื่อใช้ในการพัฒนาหลายโครงการ แต่เชื่อว่าน่าจะได้รับผลกระทบน้อยเนื่องจากส่วนใหญ่ที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งมีราคาไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยกำลังอยู่ในระหว่างการสอบถามไปยังผู้ประกอบการรายต่างๆ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยในส่วนของ WHA มีพื้นที่นิคมฯระหว่างพัฒนาเพื่อขายของ HEMRAJ อยู่ 1.05 หมื่นไร่ ซึ่งในส่วนนี้ ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะต้องเข้าข่ายเสียภาษีที่ดินในเกณฑ์ใด เนื่องจากยังมีความคลุมเครือในการตีความว่าที่ดินดังกล่าวจะเป็นที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์หรือไม่ เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้ขออนุญาตจาก BOI ไปเรียบร้อย และได้มีการพัฒนาปรับปรุงที่ดินเพื่อให้พร้อมสำหรับการขาย ซึ่งหากเข้าข่ายเป็นที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อจัดทำเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย เป็นเวลา 3 ปี จะทำให้ WHA มีภาษีค่าที่ดินราว 8 ล้านบาท/ปี เท่านั้น ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่หากในกรณีเลวร้ายที่สุด ถ้าที่ดินทั้งหมดถูกตีความเป็นที่ดินไม่ทำประโยชน์ จะทำให้ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น 158 ล้านบาท/ปี ในปีที่ 1-3, 315 ล้านบาท/ปี ในปีที่ 4-6 และ 473 ล้านบาท/ปี ตั้วแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป จะถือว่ากระทบอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับประมาณการกำไรสุทธิช่วง 3 ปีข้างหน้าที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 4-5 พันล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยมองว่าโอกาสที่ที่ดินระหว่างพัฒนาจะถูกตีความเป็นที่ดินไม่ทำประโยชน์น่าจะมีโอกาสน้อย และกว่าที่กฏหมายจะบังคับใช้ในปี 2560 น่าจะทำให้ WHA มีเวลาในการแก้ไขปัญหาส่วนนี้


  กลุ่มธนาคารพาณิชย์ : เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เองก็อยู่ในสถานะที่เป็นผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่เป็นหลักประกัน โดยหลายส่วนอาจเป็นที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ หรือเป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ (NPA) ซึ่งมีอัตราภาษีสูง ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานของการใช้อัตราภาษีสูงสุดสำหรับสินทรัพย์แต่ละประเภทบนมูลค่าของ NPA สุทธิจากค่าเผื่อการด้อยค่า ณ สิ้นปี 2558 ตามที่เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน พบว่ากรณีเลวร้ายจะกระทบกำไรกลุ่มฯ ในปี 2560 เพียง 1.7% ของคาดการณ์ปัจจุบัน 2.16 แสนล้านบาท โดย ธ.พ. ที่กระทบมากเรียงตามลำดับ ได้แก่ TCAP (3.9%), KTB (3.6%), KKP (2.9%), BBL (2.2%) เนื่องจากมีการถือครอง NPA ที่ส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงกว่า ธ.พ.อื่นๆ


  อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเด็นที่คาดว่าน่าจะกระทบกำไรกลุ่มฯ นั่นคือ การลดค่าธรรมเนียมธุรกรรม digital banking ของ ธ.พ. ให้เหมาะสมและสอดรับแนวคิดธุรกรรม Any ID ของภาครัฐ เพื่อลดการใช้เงินสดในระบบลง ซึ่งฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบรายธนาคาร ภายใต้กรณีเลวร้ายคาดจะกระทบกำไรกลุ่มฯ ปี 2559 ราว 2-3% จากคาดการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ เชื่อว่า กลุ่ม ธ.พ. น่าจะได้รับปัจจัยกระทบต่างๆ กดดันภาพรวมกำไรสุทธิปี 2559 ให้ลดลงจากปีที่แล้ว จึงคงน้ำหนักลงทุนน้อยกว่าตลาด แนะนำให้ switch ออกจากหุ้นที่เต็มมูลค่าทั้ง KBANK(FV@B175) SCB (FV@B130) ไปลงทุนใน BBL (FV@B180), TCAP ([email protected]), TISCO (FV@B50)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!