- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 27 May 2016 17:41
- Hits: 435
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันนี้ตลาดน่าจะรอผลแถลงการณ์ประธาน Fed ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการคาดเดาทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ และอาจกดดันสินค้าโภคภัณฑ์ แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันน่าจะยืนใกล้ 50 เหรียญฯ การปรับฐานจึงเป็นโอกาสสะสม PTT, PTTEP วันนี้ยังเลือก KCE(FV@B25) เป็น Top pick จากประเด็นบวกที่การเข้าไปคำนวณ SET50 ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสเดินหน้าต่อ และยังมีแนวโน้มกำไรสดใสตลอดปีนี้
ดัชนี 1,400 จุดยังผ่านยาก หากหุ้นน้ำมันปรับฐาน
วันนี้ เป็นวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ คาด SET Index น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยมีแนวต้าน 1,400 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายที่เบาบาง ตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐวานนี้ที่ปรับลดลง แม้การประกาศตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจจะประกาศออกมาค่อนข้างดี เชื่อว่านักลงทุนน่าจะยังรอถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ในค่ำคืนนี้ (ตามเวลาในประเทศไทย) เพื่อดูว่าจะมีการส่งสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยฯ ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. ที่จะถึงนี้หรือไม่
ขณะที่สถานการณ์น้ำมันโลกวานนี้ มีการปรับย่อลงมาหลังจากขึ้นไปทดสอบ 50 เหรียญ/บาร์เรล ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว โดยสัปดาห์หน้า 2 มิ.ย. จะมีการประชุมประจำครึ่งปีแรกของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ซึ่งตลาดยังคงให้น้ำหนักไปที่การหารือกันเพื่อข้อตกลงว่าจะมีการตรึงหรือปรับลดปริมาณการผลิตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ราคา 50 เหรียญ/บาร์เรลในปัจจุบัน ผู้ผลิต non-OPEC ยังไม่มีกำไร จึงเชื่อว่าน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวจนกว่าการประชุมจะเสร็จสิ้นลง
ส่วนประเด็นอื่นๆ ในประเทศนั้น วันนี้จะมีการประมูลในอนุญาตคลื่น 900 MHz ซึ่งมี ADVANC เพียงรายเดียวที่เข้าประมูล ซึ่งคาดว่าราคาประมูลน่าจะจบที่ใกล้เคียงกับ ราคาตั้งต้นไว้ที่ 75,654 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีคู่แข่งขัน แม้การได้คลื่น 900 Mhz จะสูงกว่าประมาณการ แต่ถือว่าช่วย เรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้าอีกกว่า 7 ล้านราย ที่อาจจะสูงเสียให้กับคู่แข่งขัน และรักษาความเป็นผู้นำต่อไป ขณะที่ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมากเกินไป เทียบกับมูลค่าพื้นฐานที่ได้รวมต้นทุนค่าคลื่น 900 MHz ที่ 189 บาท ยังมี Upside อีกกว่า 20% จึงยังแนะนำสะสม
กลยุทธ์การลงทุนจึงต้องเป็นลักษณะ selective buy อาทิ
หุ้นโภคภัณฑ์ หุ้นน้ำมัน : PTTEP, PTT เน้นลงทุนระยะยาว จากโอกาสที่จะปรับประมาณการขึ้นตามราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี และ เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ – soft commodities : KSL ตามทิศทางราคาน้ำที่ยังอยู่ในระดับสูง
หุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตโดดเด่นในปีนี้ อาทิ CK แรงหนุนจากโครงการก่อสร้างภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี, SEAFCO ผู้นำด้านเสาเข็มอันดับ 1 และได้ประโยชน์ตาม CK, MCS กำไรโดดเด่น Backlog มหาศาล มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการในอนาคต, WORK กำไรทั้งปีสดใสจากการปรับขึ้นค่าโฆษณา และมีโอกาสได้กำไรเพิ่มเติมจากการ waive ค่าธรรมเนียมฯ
หุ้นส่งออก จากการเข้าสู่ช่วง High Season : KCE โดดเด่นด้วยการขยายกำลังการผลิตและเปิดโรงงานใหม่ สร้างกำไร New High ต่อเนื่อง, TU ยังคงแข็งแกร่งในแง่ปัจจัยพื้นฐาน จากธุรกิจแบรนด์ในต่างประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารต้นทุนของกลุ่มบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากการขยายตลาดใหม่ๆ
หุ้นเช่าซื้อ – ลิสซิ่ง : ASK, THANI สินเชื่อยังเติบโตได้ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งยังได้ประโยชน์อีกทางจากแนวโน้มต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยที่ยังอยุ่ในระดับต่ำ
ภาคการผลิตสหรัฐเริ่มดูดี แต่ยังไม่มั่นคง.... Fed ยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าถึง 4Q59
ดัชนี ชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐ เริ่มส่งสัญานที่ดีขึ้น แม้โดยภาพรวมยังมีความขัดแย้งกันอยู่ กล่าวคือ ตลาดแรงงานยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการณ์รายสัปดาห์ (21 พ.ค.) ลดลง 1 หมื่นราย สู่ระดับ 2.68 แสนราย ทำให้อัตราการว่างงานยังอยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคภาคครัวเรือน สะท้อนจากยอดรอขายบ้านใหม่ (Pending Home sales) เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 5.1%mom (สูงสุดในรอบ 10 ปี) ดีกว่าที่ตลาดว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 0.7% และสอดคล้องกับยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) ในเดือนเดียวกันรายงานในช่วงต้นสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 16.6%mom (สูงสุดในรอบ 8 ปี)
ส่วนภาคการผลิต เริ่มมีบางสัญญาณที่ฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนี ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน เม.ย. เบื้องต้น เพิ่มขึ้น 3.4% ดีกว่าที่ตลาดว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 0.5% หลักมาจากคำสั่งซื้อเครื่องบิน (เครื่องจักรในโรงงานในอุตสาหรกรมยังทรงตัว) และหากตัดราคาน้ำมันและอาหารสด พบว่าเพิ่มขึ้น 0.4% ดีกว่าคาดที่ 0.3% เล็กน้อยเท่านั้น แต่ยังขัดแย้งกับดัชนีภาคการผลิตส่วนใหญ่ที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง อาทิ PMI เดือน พ.ค. ยังหดตัว 0.4%mom และตัวเลขยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังคงหดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน
โดยภาพรวมคาดว่ายังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะผลักดดันให้ Fed พิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ สอดคล้องกับค่าเงิน Dollar Index กลับมีทิศทางอ่อนค่าลง มาอยู่ที่ระดับ 95.15 จุด หลังจากที่แข็งค่า 2% ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับผลสำรวจ Fed Fund Future ใน Bloomberg พบว่า นักลงทุนในตลาดกลับมาให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 14-15 มิ.ย. ลดลงเหลือ 28% จากต้นสัปดาห์ที่คาดที่ 34% เช่นเดียวกับ ASPS ยังเชื่อ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดใน ช่วง 4Q59 และตลาดน่าจะให้น้ำหนัก ต่อถ้อยแถลงของประธาน Fed เจเน็ต เยลเลน ต่อทิศทางดอกเบี้ย ที่จะมีขึ้นในวันนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การคาดการณ์ของตลาดอย่างไรต่อไป ถือว่ามีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นโลก
Dollar Index อ่อนค่า หนุนสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสฟื้นตัวตัว แนะสะสม PTT, PTTEP
การที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มมีสัญญานที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นปัจจัยหนุน Demand สินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันในสหรัฐ (ผู้บริโภคน้ำมันอันดับ 1 ของโลก) สะท้อนจากสต็อกน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลงดังที่นำเสนอไปวานนี้ (สต็อกน้ำมันกลั่น Heating Oil และน้ำมันดีเซล ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา) และ เช่นเดียวกับ จีน (ผู้บริโภคน้ำมันอันดับ 2 ของโลก) ที่เริ่มกลับมานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น ล่าสุดเดือน เม.ย. นำเข้าเพิ่มขึ้น 3.2% และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยผ่อนคลายปัญหา Over Supply ลงได้ (จากก่อนหน้าที่ supply ลดลงจากแหล่งผลิตหลัก ๆ เช่นสหรัฐ เพราะผู้ประกอบการประสบปัญหาต้นทุนผลิต หรือ เกิดไฟไหม้ที่แคนาดา เป็นต้น)
ในสถานการณ์นี้จึงคาดว่า ราคาน้ำมันน่าจะพักฐานช่วงสั้นเท่านั้น หลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า ทั้ง WTI และ Brent ที่สามารถขึ้นไปแตะระดับ 50.5 เหรียญฯต่อบาร์เรลได้ ขณะที่น้ำมันดิบดูไบที่วานนี้ยังคงปรับตัวขึ้นราว 1.5% ล่าสุด 46.44 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าดีกว่าสมมติฐานของ ASPS
ทั้งนี้ ตลาดน่าจะให้น้ำหนักต่อการประชุมกลุ่ม OPEC ที่กรุงเวียนา ในวันที่ 2 มิ.ย. นี้ ไม่ว่าจะมีผลต่อการควบการผลิตหรือไม่ ASPS เชื่อว่า ราคาน้ำมันระดับ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะยังคงไม่เห็นการผลิตเพิ่มเติมจากระดับปัจจุบัน เนื่องจากผู้ผลิตรายใหม่ ๆ ล้วนมีต้นทุนสูงกว่าผู้ผลิตรายเดิมในตะวันออกกลาง ราคาหุ้นที่ย่อตัวจึงเป็นโอกาสสะสมหุ้น PTTEP(FV@B80) และ PTT(FV@N330) เนื่องจากโอกาสที่จะมีการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบอีก 5 เหรียญฯ นับจากปี 2560 มีความเป็นไปได้สูงขึ้น
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นเอเชียมากขึ้น ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา
วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 261 ล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อทุกตลาด ยกเว้นเกาหลีใต้เพียงแห่งเดียวที่ยังขายสุทธิราว 8 ล้านเหรียญ โดยตลาดที่ซื้อ 4 ประเทศ นำโดย คือ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิสูงสุดราว 180 ล้านเหรียญ และยังเป็นการซื้อสุทธิที่สูงที่สุดในรอบ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน 53 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), อินโดนีเซีย 20 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) และไทยที่ซื้อสุทธิราว 15 ล้านเหรียญ หรือ 537 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 312 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 2.6 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1.2 หมื่นล้านบาท
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์