- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 16 May 2016 18:10
- Hits: 628
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
บจ. Market Cap รวม 75% ประกาศกำไร 1Q59 ที่ 1.82 แสนล้านบาท ลดลง 8% YoY แต่เชื่อว่าเมื่อประกาศครบจะมีกำไรไม่น้อยกว่า 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะนำไปสู่การปรับลดประมาณการ ตัวเลือกการลงทุนที่ดียังคงเป็นหุ้นที่คาดว่าจะมีฐานกำไรแข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น เช่น SEAFCO (FV@B 11.75) และ RS (FV@B 14.80) และหุ้นกลุ่ม Soft Commodity ที่ยังมี Upside กว้าง KSL (FV@B 4.82)
SET Index 1,394.69
เปลี่ยนแปลง (จุด) -4.62
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 50,233.54
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ 4,116.16
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -362.77
นักลงทุนสถาบันในประเทศ 1,077.67
นักลงทุนรายย่อย -4,831.06
สภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP Growth 1Q59 คาด 2.8 - 3.5%yoy
ปัจจัยในประเทศ วันนี้ให้น้ำหนักต่อการรายงาน GDP Growth งวด 1Q59 ของสภาพัฒน์ฯ โดย Consensus ในตลาดคาดเฉลี่ยที่ 2.8%yoy ทรงตัวจาก 2.8%yoy ในงวด 4Q58 เทียบกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 3.1%yoy อย่างไรฝ่ายวิจัยมีโอกาสที่จะปรับประมาณการ GDP Growth ปี 2559 ลง หากแผนการลงทุนภาครัฐล่าช้ากว่าที่คาด หรือมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนไม่มีความต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในระยะต่อไป
สำหรับ เศรษฐกิจโลก การประชุมธนาคารกลางสำคัญๆ อาทิ Fed ECB และ BOJ ที่ผ่านมา ทั้งหมดยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อ สัปดาห์นี้จะมีการประชุมธนาคารกลาง 5 แห่ง โดย 17 พ.ค. ประชุมธนาคารกลางชิลี เซอร์เบีย โปรตุเกส 19 พ.ค. ประชุมธนาคารกลางมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่ง Consensus คาดว่าทุกธนาคารกลางจะยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ผ่านการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ ขณะที่สหรัฐรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในส่วนภาคการบริโภคส่งสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง กล่าวคือ ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 1.3% mom (สูงสุดตั้งแต่ มี.ค.58)มากกว่าที่ตลาดคาด เทียบกับเดือน มี.ค. ที่ติดลบ 0.3% โดยได้แรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนเดียวกัน สำรวจโดย ม.มิชิแกน เพิ่มขึ้น 7.6% จากครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 95.8 จุด อย่างไรก็ตามผลสำรวจการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ใน Bloomberg ยังอยู่ที่เดิม โดยคาดว่าโอกาสขึ้นในรอบถัดไป (14-15 มิ.ย.) มีเพียง 4% โดยน้ำหนักการขึ้นสูงสุดอยู่ในช่วง 4Q59 เป็นต้นไป
โดยภาพรวมนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังจำเป็นในหลายธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยหนุน Money Supply (M2) โลกเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสที่ Fund Flow จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นได้อีกรอบ แม้เพิ่มขึ้นของ M2 จะเกิดขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับในอดีต
ราคา Soft Commodity อ่อนตัวช่วงสั้น แนะนำสลับไปหุ้นที่ยังมี upside
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำตาล กากถั่วเหลือง และ ยางพารา เริ่มย่อตัวลง ซึ่งถือเป็นการปรับฐานในระยะสั้น หลังจากปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยประเด็นเรื่อง Supply ที่มีแนวโน้มลดลง ยังจะทำหน้าที่เป็นแรงหนุนในระยะยาว ทั้งนี้กากถั่วเหลืองปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 30.38% ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน หนุนให้ TVO([email protected] ) ซึ่งราคาขายผลิตภัณฑ์อ้างอิงกับราคาตลาดโลก และมีรายได้จากการขายกากถั่วเหลืองกว่า 60% ของรายได้รวม ปรับตัวขึ้นกว่า 22% (ในช่วงเดียวกัน)กดดันให้ Upside แคบลงเหลือเพียง 9.68% นักลงทุนจึงอาจขายทำกำไรในระยะสั้นแล้วรอซื้อกลับเมื่อราคาเริ่มอ่อนตัว ในทิศทางเดียวกันกับราคายางพาราที่ปรับตัวขึ้นเกินกว่า 60% ytd โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 18% ในช่วงเดือนเม.ย. ส่งผลให้หุ้นที่ได้รับผลบวกจากราคายางที่เพิ่มขึ้นอย่าง STA([email protected]) ปรับตัวขึ้นจนเต็มมูลค่าแล้ว จึงแนะนำขายทำกำไร และ Switch ไปเข้าหุ้นที่ยังคง Laggard กว่า อย่าง KSL([email protected]) ที่แม้ราคาจะปรับตัวขึ้นมาตอบสนองกับราคาน้ำตาลทรายโลกที่ปรับตัวขึ้น 16.49% ในรอบเดือนที่ผ่านมา ทำให้หุ้นในกลุ่ม ทั้ง KBS([email protected]), KTIS([email protected]) และ KSL([email protected]) ปรับตัวขึ้นแล้ว แต่ยังคงเหลือ Upside อยู่ราว 18% จึงยังคงแนะนำซื้อ KSL([email protected])
กำไร 1Q59 ไม่โดดเด่น แต่ไม่นำไปสู่การปรับลดประมาณการ
จากข้อมูลที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมถึงช่วงบ่ายวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา มีบริษัทจดทะเบียนประกาศงบฯ 1Q59 แล้วราว 282 บริษัท คิดเป็น 75% ของ Market Cap ทั้งตลาด ในเบื้องต้นจากข้อมูลที่ประกาศมาแล้ว พบว่า บริษัทฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 21.7%qoq แต่ลดลง 8%yoy ในเบื้องต้น กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิมากที่สุด qoq 5 ลำดับแรก คือ ขนส่ง เพิ่มขึ้นถึง 1937% ตามด้วย พลังงาน เพิ่มขึ้น 177% ปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 52% อาหาร เพิ่มขึ้น 30% และ วัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 12% ส่วนกลุ่มฯ ที่มีการลดลงของกำไรสุทธิมากที่สุด qoq 5 ลำดับแรก คือ ประกันฯ ลดลงถึง 247% ตามด้วย สื่อ-บันเทิง ลดลง 202% ยานยนต์ ลดลง 63% อสังหาฯ ลดลง 60% และ โรงพยาบาล ลดลง 58%
แต่หากพิจารณากลุ่มฯ ที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิ yoy มีเพียง 4 กลุ่มเท่านั้น คือ ปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 36% ตามด้วย วัสดุก่อสร้าง 9.8% ค้าปลีก 4.7% และ อาหาร 2% ตรงข้ามกับกลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิลดลง yoy คือ ประกันฯ ลดลงถึง 201% ขนส่ง ลดลง 115% ท่องเที่ยว ลดลง 69% ยานยนต์ ลดลง 64% และโรงพยาบาล ลดลง 60%
โดยปกติ ไตรมาสที่ 1 มักจะเป็นไตรมาสที่บริษัทจดทะเบียนทำกำไรสุทธิได้สูงสุด ดังนั้น 1Q59 กำไรสุทธิจึงไม่ควรต่ำกว่า 2.1 แสนล้านบาท จากที่ประเมินไว้ทั้งปีที่ราว 8.4 แสนล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิที่ประกาศออกมาแล้ว 75% แต่เหลือบริษัทที่ยังไม่ได้ประกาศงบอีกราว 25% จึงมีความเป็นไปได้ที่กำไรจะใกล้เคียงกับที่คาดไว้ แม้ว่าผลประกอบการหุ้นที่มี Market Cap. ใหญ่จะไม่โดดเด่นในไตรมาสนี้ก็ตาม แต่เชื่อว่าขณะนี้ยังไม่มีความเสี่ยงที่จะต้องปรับประมาณการลง ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรตลาดปี 2559 ที่ 8.4 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 88.66 บาท บนระดับ PER เป้าหมายที่ 16.23 เท่า ได้เป้าดัชนี ณ สิ้นปีที่ 1438 จุด
ในระยะสั้น เริ่มเห็นต่างชาติขายทำกำไรในหุ้นในภูมิภาค
Fund Flow ที่ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชียตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ. 59 กว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญ (15 ก.พ. - 27 เม.ย. 59) เริ่มมีการขายทำกำไรระยะสั้นในช่วงนี้ สังเกตได้จากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกัน 12 วันทำการ (28 เม.ย. 59 - ปัจจุบัน) โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวมกว่า 3.4 พันล้านเหรียญ ขณะที่วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิราว 435 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 404 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 12) ตามมาด้วยเกาหลีใต้และอินโดนีเซียที่สลับมาขายสุทธิราว 136 ล้านเหรียญ และ 26 ล้านเหรียญตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ คือ ฟิลิปปินส์ที่ถูกซื้อสุทธิราว 7.5 ล้านเหรียญ และไทยวานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิราว 116 ล้านเหรียญ หรือ 4.1 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ซื้อสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ขายสุทธิราว 4.8 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) โดยรวมยังส่งผลให้เงินบาททรงตัวถึงอ่อนค่าอยูที่บริเวณ 35.43 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์