WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      SET ยังได้รับแรงหนุนจากหุ้นโภคภัณฑ์ แต่อาจถูกหักล้างจากหุ้น ธ.พ. และ ICT ทำให้ SET แกว่งตัวเชิงลบ กลยุทธ์ยังแนะขายรายหุ้นที่ upside จำกัด แต่ยังให้ถือหุ้นโภคภัณฑ์/มีกำไรเด่น 1Q59 (TMT, PTT, WORK, IRPC, KCE, TVO) วันนี้ Top pick คือ COM7(FV@B9) Growth stock มั่นใจแผนธุรกิจใหม่จะหนุนกำไรเติบโตต่อเนื่อง

FED ยังกังวลต่อเศรษฐกิจในประเทศ จึงเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นใน 4Q59
     ผลสรุปการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาด โดยยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25-0.5% ที่เดิม ประเด็นให้น้ำหนักในรอบนี้ คือ Fed ให้น้ำหนักต่อเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น โดยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง และภาคครัวเรือนที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังกังวลต่อภาคการผลิต และเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่าคาด แต่อย่างไรก็ตามยังเปิดโอกาสให้มีการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป วันที่14-15 มิ.ย.


     เป็นที่สังเกตว่าการประชุมในรอบนี้จะแตกต่างจากการประชุมในรอบที่แล้ว 15-16 มี.ค. ซึ่งให้น้ำหนักไปที่ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมกับปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในประเทศปี 2559 เหลือ 2.2% จาก 2.4% และลดคาดการณ์เงินเฟ้อสิ้นปี 2559 ลงเหลือ 1.2% จาก 1.6% ลง รวมถึง ปรับลดประมาณการดอกเบี้ย (Dot plot) สิ้นปี 2559 เหลือ 0.875% จากเดิมรอบ ธ.ค. 2558 คาดไว้ที่ 1.375% ทำให้โอกาสขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เหลือเพียง 2 ครั้ง จากเดิมคาด 4 ครั้ง


      จะเห็นว่าการประชุมที่เหลือจากนี้ถึงสิ้นปีมีเพียง 5 ครั้ง หากจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ก็น่าจะเกิดในช่วง 4Q59 เป็นอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนจากการที่ IMF ล่าสุด ได้ออกมาปรับลด GDP Growth โลกลง 0.2% เหลือ 3.2% ขณะที่สหรัฐ ถูกปรับลด 0.2% อยู่ที่ 2.4% น่าจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงนี้


      ขณะที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระหว่างวันที่ 27-28 เม.ย. (ทราบผลช่วงสายของวันนี้) ให้น้ำหนักต่อการประชุมในรอบนี้ โดยตลาดคาดว่า BOJ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ ลดดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากกับ BOJ ลงอีก 20 bps สู่ -0.3% และเพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ (ETF และ J-REIT) ปัจจุบัน ฯ BOJ ยังคงวงเงินซื้อพันธบัตร(QQE) ที่ระดับ 80 ล้านล้านเยนต่อปี โดยแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัว ล่าสุด รายงานเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. พลิกกลับมาติดลบ 0.1% อีกครั้งหนึ่งจาก 0.3% ในเดือน ก.พ. คาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารญี่ปุ่นอีกครั้ง

SET อาจจะมีขาขึ้นจำกัด จากแรงกดดันของ ธ.พ. และ ICT
       ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าฝ่ายวิจัยเตรียมปรับลดประมาณการกำไรตลาดปีนี้ลงจาก 90.25 สู่ 88.66 บาท/หุ้น ทำให้อัตราการเติบโตลดลงเหลือราว 28% ทั้งนี้ หากพิจารณาการเติบโตของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า การเติบโตหลักๆ มาจากกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่ม ICT เป็นปัจจัยกดดัน กล่าวคือ
       กลุ่มพลังงาน Market Cap. คิดเป็น 16.6% คาดว่ากำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2559-60 เติบโตถึง 249% และ 13% ตามลำดับ โดยคาดธุรกิจน้ำมันและถ่านหิน (เฉพาะที่ฝ่ายวิจัยศึกษา) กำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2559 จะเติบโต 21.4% และเติบโต 3.8% ในปี 2560 โดยให้น้ำหนักการลงทุน มากกว่าตลาด เชื่อว่าราคาน้ำมันโลกกำลังมีการฟื้นตัวขึ้น หลังปัญหา oversupply คลี่คลาย และดอลลาร์ที่อ่อนค่า ทั้งยังมีโอกาสรวมกำไรจาก stock gain หากราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยเลือก PTT (FV@B330) เป็นหุ้น top pick กลุ่ม รวมทั้ง PTTEP (FV@B80) แต่เนื่องจากราคาปัจจุบันเริ่มมี upside เหลือน้อยลง จึงแนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
      กลุ่ม ธ.พ. Market Cap. คิดเป็น 14.2% โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรในปีนี้จะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (แม้ข่าววันนี้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษ แต่ถือว่าเป็นเงินฝากที่มีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกับเงินประจำที่มีสัดส่วนราว 30% ของเงินฝากทั้งระบบ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเงินฝากออมทรัพย์) ซึ่งจะกระทบต่อ NIM ขณะที่คาดการณ์ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ยังอยู่ในระดับสูง จึงยังให้น้ำหนักลงทุน น้อยกว่าตลาด จากภาพรวมกำไรสุทธิปี 2559 ทรงตัวจากปี 2558 ยังเลือก KBANK(FV@B190) เป็น top pick และซื้อ TISCO (FV@B50)
กลุ่ม ICT Market Cap. คิดเป็น 8.7% คาดว่ากำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2559 จะหดตัวแรง 42.6% แต่จะกลับมาเติบโต 14.2% ในปี 2560 โดยนักวิเคราะห์ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ไว้ ภายใต้สมมติฐาน ADVANC จะประมูลได้คลื่น 900 MHz รอบใหม่ แต่ก็ยังได้รับการชดเชยจากมาตรการเยียวยา ทำให้ยังรักษาฐานลูกค้า 2G เดิม แต่จะต้องมีปรับลดประมาณการฯ ปี 2560 ลง หลักๆ มาจากตาม ADVANC เพื่อสะท้อนต้นทุนใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ที่รับรู้เข้ามาเต็มปี ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักลงทุน เท่ากับตลาด และยังแนะนำ ADVANC (FV@B210) ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุด และฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง
     กลุ่มปิโตรเคมี Market Cap. คิดเป็น 3.6% คาดว่ากำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2559-60 เติบโต 23% และ 9% ตามลำดับ ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุน เท่าตลาด โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลัก จาก Spread ทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์และกลุ่มอะโรเมติกส์ ที่น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นน่าจะผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้วในงวด 1Q59 แต่ในงวด 2Q59 คาดยังประคองตัวได้จากแรงหนุนโดยช่วงฤดูกาลที่หยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นหลายแห่งทั่วโลกหลังจากเดินเครื่องเต็มที่ไปแล้วในช่วงฤดูหนาว และช่วงฤดูกาลขับขี่ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะอ่อนตัวลงในงวด 3Q59 ถึงต้น 4Q59 ซึ่งเป็นช่วง low season ฝ่ายวิจัยจึงให้ switch หุ้นที่มีโครงสร้างของโรงกลั่นเป็นหลัก ได้แก่ TOP และ BCP ไปยังหุ้นที่มีสัดส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลัก คือ IRPC ([email protected])
      กลุ่มค้าปลีก Market Cap. คิดเป็น 8.7% คาดว่ากำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2559-60 เติบโต 11% และ 15.8% ตามลำดับ โดยให้น้ำหนักการเติบโตในงวด 2H59 เป็นหลัก นำโดยกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กจะเติบโตแรงและน่าสนใจ เช่น COM7 จากยุคทอง 4G หนุนยอดขายและอัตราทำกำไรสินค้าสมาร์โฟน ตามด้วย TNP และ BEAUTY จากการเปิดสาขาเชิงรุก ขณะที่ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่จะผูกติดกับภาวะเศรษฐกิจซึ่งคาดจะทยอยฟื้นตัวในงวด 2H59 โดยผู้ที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่า คือ HMPRO และ ROBINS จากกลุ่มลูกค้ากลาง - บน มีกำลังซื้อสูงกว่า ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาด เลือก COM7 (FV@B9) เป็น Top pick
      กลุ่มอสังหาฯ Market Cap. คิดเป็น 6.8% คาดว่ากำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2559-60 เติบโต 14% และ 2% ตามลำดับ โดยหากพิจารณาเฉพาะในส่วนของธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย (เฉพาะที่ฝ่ายวิจัยศึกษา) นั้น คาดว่ากำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2559 นี้จะหดตัวเล็กน้อย 1.5%yoy แต่กำไรปกติเพิ่มขึ้น 7% yoy ก่อนที่จะกลับมาเติบโต 6.8%yoy ในปี 2560 ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักเท่ากับตลาด โดยกลยุทธ์การลงทุนหุ้นในกลุ่มนี้ เน้น Selective Buy เลือกหุ้นที่มีกำไรเติบโตสูงกว่ากลุ่มฯ, ราคามี upside และ Div Yield น่าสนใจ รวมถึงระดับ PER ซื้อขายไม่แพง ได้แก่ SC ([email protected]) และ ANAN ([email protected])

World Bank ปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบโลกขึ้น 4 เหรียญฯ ดีต่อ PTT, PTTEP
      การรายงานสต็อกน้ำมันของสำนักสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) สัปดาห์ล่าสุด (22 เม.ย.) พบว่า เพิ่มน้อยกว่าตลาดคาด (เพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล vs ตลาดคาดเพิ่มขึ้น ราว 2.4 ล้านบาร์เรล) ขณะที่ทางฝั่งน้ำมันสำเร็จรูป พบว่าสต๊อกน้ำมันเบนซินกลับมาเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล หลังจากปรับตัวลดลง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน แต่ทางฝั่งสต๊อกน้ำมันดีเซลยังคงลดลงต่อเนื่อง 1.7 ล้านบาร์เรล ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งจากการผลิตที่ลดลง (Utilization rate เหลือ 88.1%) และ กำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐที่คงลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 8.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลง 4.9% yoy) และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับช่วย ลดแรงกดดันปัญหา Oversupply โลก
นอกจากนี้การชะลอขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ได้กล่าวข้างต้นส่งผลให้ Dollar Index ยังคงแกว่งตัวอ่อนค่า ระดับ 93-94 จุด จึงทำให้ นำมันดิบดูไบปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดของปีที่ 42.66 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นกว่า 20% นับตั้งแต่ต้นเดือน เช่นเดียวกับราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า WTI และ Brent ล่าสุดที่ 45.29 และ 47.18 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ขึ้นทำระดับสูงสุดของปี


       ด้วยปัจจัยดังกล่าว หนุนให้ World Bank ปรับเพิ่มประมาณการ ราคาน้ำมันดิบโลกปี 2559 ขึ้นอีก 4 เหรียญฯต่อบาร์เรล สู่ระดับ 41 เหรียญฯต่อบาร์เรล (จากเดิม 37 เหรียญฯต่อบาร์เรล ประเมินไว้ในเดือน ม.ค.) ซึ่งใกล้เคียงกับสมมุติฐานของนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงาน ASPS ที่ประมาณไว้ที่ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปี 2559 และ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2560 ขณะที่นักวิเคราะห์พลังงาน ของไทย ส่วนใหญ่ใช้สมมติฐานในช่วง 40-50 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือ เฉลี่ยที่ 42.4 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2559 และ 50.2 เหรียญฯต่อบาร์เรลในปี 2560 ซึ่งไม่ห่างจาก ASPS มากนัก ในสถานการณ์นี้ถือว่า เป็น Sentiment เชิงบวกให้กับกลุ่มพลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงแนะสะสม PTT(FV@B330) และ PTTEP(FV@80)

แม้ต่างชาติซื้อหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง แต่กลับขายหุ้นไทยติดต่อกันถึง 4 วัน
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องวันที่ 12 ด้วยมูลค่าราว 104 ล้านเหรียญ แต่เป็นการซื้อสุทธิเพียง 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 154 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11) และฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิราว 3 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติสลับมาขายสุทธินำโดย ไต้หวันขายสุทธิราว 85 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) ตามมาด้วยอินโดนีเซียขายสุทธิสุทธิราว 28 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และ ไทยต่างชาติขายสุทธิ แต่เล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 57 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยมีมูลค่ารวม 1.5 พันล้านบาท) ตรงข้ามกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 667 ล้านบาท
  ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 3.1 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 2.3 พันล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ในระยะสั้น Fund Flow ที่เริ่มไหลออกทั้งในตลาดหุ้นและตราสารหนี้น่าจะกดดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.14 บาท/ดอลลาร์

กลยุทธ์ฯ เน้นหุ้นโภคภัณฑ์และหุ้นที่มีกำไรเด่นในปี 2559 TMT, TVO, COM7, WORK
      ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน เนื่องจากความเสี่ยงจากการปรับลดกำไรของตลาดที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะแรงกดดันจากหุ้นใหญ่ในกลุ่ม ธ.พ. และ สื่อสาร ขณะที่หุ้นที่อิงกับสินโภคภัณฑ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก (Global Play) สะท้อนจากที่ World Bank มีการปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันดิบโลกดีขึ้น ดังกล่าวข้างต้น และ ราคาสินค้าปิโตรเคมีที่มีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีโดยเฉพาะ ในฝั่งโอเลฟินส์ โดยรวมจึงให้น้ำหนักการลงทุนไปยังหุ้นที่อิงสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมี upside เหลือเกิน 10% ขึ้นไปเช่น PTT, IRPC, TMT, TVO, KSL เป็นต้น
      ขณะเดียวกัน ให้สะสมหุ้นที่มีผลกำไรในงวดที่ 1Q59 ที่ขึ้น และยังดีต่อเนื่องตลอดปีนี้ กล่าวคือนอกจากหุ้น Global Play ดังกล่าวแล้ว ยังแนะนำให้สะสมหุ้นที่เติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศบางธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรเฉพาะตัวเช่น WORK, หุ้นโรงพยาบาล เช่น LPH และ COM7 ซึ่งจากการได้รับฟังข้อมูลจากผู้บริหาร ซึ่งให้เกียรติมาบรรยายในงาน "บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุนที่ ASPS" วานนี้ ทำให้มีความเชื่อมั่นต่อบริษัทมากขึ้น โดยเฉพาะแผนการทำธุรกิจ หลังการจับมือกับ TRUE โดย COM7 จะได้รับสิทธิบริหาร True shop 166 แห่งจากทั้งหมด 308 แห่งทั่วประเทศ โดยเชื่อว่าจะเป็นช่องทางการทำธุรกิจใหม่ที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและประสิทธิภาพการทำกำไร (มีความเสี่ยงน้อย เพราะไม่ต้องลงทุน สินค้าคงคลัง และเลือกสาขาที่จะเปิดได้)

      และมีโอกาสที่จะทำกำไรได้สูงกว่าประมาณการกำไรที่ ASPS มีการปรับเพิ่มไปล่าสุดวานนี้ เนื่องจาก ASPS จัดทำประมาณการอย่างระมัดระวัง (อ่านรายละเอียด COM7 ใน Equity Talk วานนี้) ทั้งนี้หากยึดประมาณการกำไรล่าสุด คาดว่า จะเติบโตเฉลี่ย 28% ต่อปี สูงสุดในกลุ่มค้าปลีก ทั้งนี้แม้ ธุรกิจหลัก (จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ + สินค้าไอที) เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว แต่การเข้าสู่ยุค 4G และ การที่บริษัทยอดขายที่ทำได้สูงกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งมีฐานลูกค้ากระจายตัวทั้งระดับกลาง - บน บวกกับ ความสามารถและวิสัยทัศน์ของทีมผู้บริหาร ทำให้เชื่อว่าจะสามารถเพิ่ม ประสิทธิภาพการกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ที่เหนือคู่ จึงเลือก COM7 เลือกเป็น Top pick ในกลุ่มค้าปลีก

นักวิเคราะห์ :
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!