- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 26 April 2016 16:54
- Hits: 717
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET มีแนวโน้มลดลงทดสอบ 1,400 จุดอีกครั้ง ยังแนะนำให้ทยอยรับรู้กำไรเป็นรายหุ้น ขณะที่ให้ถือหุ้นที่อิงสินค้าโภคภัณฑ์/มีกำไรเด่นใน 1Q59 (TMT, PTT, WORK, IRPC, KCE) Top picks TMT([email protected]) และ TVO([email protected])
ระหว่างรอการประชุม FED และ BOJ ตลาดอาจจะแกว่งตัวไปก่อน
การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย. ที่จะเริ่มขึ้นในวันนี้เป็นวันแรก ตลาดเชื่อว่า FED น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่เดิม 0.25-0.5% เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังส่งสัญญาณชะลอตัว ล่าสุดยอดขายบ้านใหม่(New Home sales) เดือน มี.ค. ลดลง 1.5%mom มาอยู่ที่ระดับ 5.11 แสนหลัง สอดคล้องกับยอดสร้างบ้านใหม่ เดือนเดียวกัน ลดลง 8.8% mom และเช่นเดียวกับภาคการผลิต ดัชนี PMI (Markit) เดือน เม.ย. ยังหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน อยู่ที่ 50.8 จุด (ต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย.56 ) ขณะที่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โดย Bloomberg และ Wall Street มีความเห็นตรงกันว่า การประชุมในรอบนี้จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอน
ส่วนพรุ่งนี้จะมีการประชุมธนาคารกลาง(BOJ) 27-28เม.ย. ตลาดให้น้ำหนักต่อการประชุมในรอบนี้ โดยคาดจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังเงินเฟ้อยังต่ำ 0.9% และ ดัชนีชี้นำ ภาคการผลิตและการบริโภค ยังไม่ฟื้นตัว (ดัชนี PMI ภาคการผลิต และ ยอดค้าปลีก หดตัวติดต่อกัน 4 และ5 เดือนติด ตามลำดับ) ขณะที่ Bloomberg สำรวจนักเศรษฐศาสตร์พบว่า 23 ราย จาก 41 ราย (ราว 56%) คาดจะมีมาตรการกระตุ้น อาทิ ลดดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากกับ BOJ ลงอีก 20 bps สู่ -0.3% และ เพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ (ETF และ J-REIT)
ขณะที่ไทย วานนี้กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกอย่างเป็นทางการ เดือน มี.ค.(รูปดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 1.3%yoy ชะลอตัวจาก 10.2% ใน ก.พ. แต่นับว่าขยายตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 2 สินค้าส่งออกที่ขยายตัวคือ หมวดยานยนต์ เครื่องจักร และทองคำ สวนทางสินค้าหมวดเกษตรที่ยังหดตัว โดยภาพรวมยอดส่งออกในงวด 1Q59 ขยายตัวได้ที่ 0.9% ขณะที่การนำเข้า(ในรูปดอลลาร์) ยังคงหดตัว 6.9%yoy ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ระดับ 2,966 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยรวมตลอดปี 2559 ASPS ประเมินยอดส่งออกและนำเข้าไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า
เตรียมปรับลดกำไรตลาดลงตามการปรับลดของกลุ่ม ธ.พ. และ ICT
เนื่องจากมีปัจจัยกดดัน ทำให้ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับลดประมาณการกำไรตลาดฯ ในปี 2559 จาก 90.25 บาท/หุ้น ลงสู่ 88.66 บาท/หุ้น จากการปรับลดประมาณการฯ ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลง 2 รอบ รวมกว่า 8.1% สะท้อนผลจากการลดดอกเบี้ย MLR, MRR และ MOR ลง ส่วนกลุ่ม ICT คาดจะมีการปรับประมาณการลงตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป เพื่อสะท้อนผลของต้นทุนใบอนุญาต 4G ที่มีราคาสูงมาก ดังที่กล่าวไปแล้ววานนี้ ประกอบกับ หากพิจารณาหุ้นรายบริษัทที่ฝ่ายวิจัยศึกษาใน SET จำนวน 164 บริษัท พบว่า เริ่มมีหุ้นที่ราคาปัจจุบันเกินมูลค่าพื้นฐาน หรือ มี upside จำกัด กล่าวคือราคาหุ้นเกิน Fair Value และ มี upside จำกัด รวมกันราว 25% ของหุ้นที่ cover ทั้งหมด ที่เหลือ 17% มี upside 5-10% และ 11% มี upside 10-15% ที่เหลือ 46% มี upside 15%
โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า หุ้นที่มี upside เหลือไม่ถึง 10% มีสัดส่วนเกือบครึ่งถึง 43% สะท้อนถึงภาวะการปรับขึ้นของราคาหุ้นที่ร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่บางบริษัทนั้นปัจจัยพื้นฐานอาจปรับขึ้นไม่ทัน ดังเช่นหุ้นหลายบริษัทที่ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ switch ไปยังหุ้นบริษัทอื่นที่ยังมี upside สูงกว่า อาทิ BCP, TOP และ BANPU แนะนำให้ switch ไป IRPC ขณะ SVI แนะนำให้ switch ไป KCE ส่วน DTAC แนะนำให้ switch ไป ADVANC และหุ้นธ.พ. SCB และ KTB แนะนำให้ switch ไป KBANK และ สุดท้าย GFPT แนะนำให้ switch ไป BR เป็นต้น
ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง แต่ขายหุ้นไทยเล็กน้อย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 335 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 10 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 3.2 พันล้านเหรียญ) และยังเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 4 ประเทศเดิม คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 175 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 9) รองลงมาคือ ไต้หวันถูกสุทธิราว 151 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) อินโดนีเซียซื้อสุทธิสุทธิราว 9 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) และฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 3 แสนเหรียญ ยกเว้นตลาดหุ้นไทย เริ่มชะลอการซื้อลง และสลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 1 แสนเหรียญ หรือเพียง 4 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 331 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิราว 645 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 691 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.09 บาท/ดอลลาร์
กลยุทธ์ให้เน้นน้ำหนักไปที่สินค้าโภคภัณฑ์ TMT, TVO, KSL, PTT
ด้วยแนวโน้มกำไรตลาดที่อาจจะต่ำกว่าคาด ดังกล่าวข้างต้น ทำให้กลยุทธ์การลงทุนในระยะ 1-2 เดือน ให้เน้นหนักไปที่สินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ สามารถขยับขึ้นมายืนอยู่เหนือ 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากปัญหา Oversupply ที่เริ่มผ่อนคลายลง ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดขึ้นมา 22% (ใกล้เคียงสมมุติฐาน ของ ASPS ที่ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2559 และ 50 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลในปี 2560 แต่ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 32 เหรียญฯต่อบาร์เรล) ยังแนะนำสะสมหุ้น PTT(FV@B330), PTTEP(FV@B80) แต่ให้ขายทำกำไรหุ้นโรงกลั่น ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาล ทำให้ค่าการกลั่นมีแนวโน้มลดลงชัดเจนในช่วง 2H59 ประกอบกับราคาหุ้นโรงกลั่นขึ้นมา ชนะตลาดฯ ต่อเนื่อง ล่าสุดนักวิเคราะห์ ASPS จึงปรับลดคำแนะนำ TOP(FV@B68) เป็น Switch จากเดิม เนื่องจากธุรกิจหลักของ TOP เป็นโรงกลั่นถึง 70% ที่เหลือ 25% เป็นปิโตรเคมี
และเห็นว่าราคาตลาดปัจจุบันมี upside จำกัดเพียง 3% ตามมาด้วย BCP([email protected]) ธุรกิจหลักคือโรงกลั่น (มีธุรกิจปิโตรเคมีอยู่บ้าง) ราคาตลาดมี upside จำกัด จึงยังแนะนำขาย ส่วน PTTGC(FV@B67) แม้ธุรกิจหลักคือปิโตรเคมี 75% (อะโรเมติกส์ 25% และ โอเลฟินส์ 50%) ที่เหลือ25% เป็นธุรกิจการกลั่น แต่เนื่องจากราคาตลาดมี upside เหลือเพียง 5.93% จึงแนะนำให้ switch มายัง IRPC ([email protected]) ซึ่งมีธุรกิจหลักคือปิโตรเคมี 75% ที่เหลือเป็นธุรกิจโรงกลั่น 25% ขณะที่ราคาตลาดของ IRPC ยังมี upside 13%
ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ขยับเร็วกว่าน้ำมัน คือ ราคายางพาราพบว่าปรับตัวขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าราคาน้ำมัน กล่าวคือราคายางแผ่นรมควันเพิ่มขึ้น 53%ytd มาอยู่ที่ 1803 เหรียญฯต่อตัน และ ยางแท่งปรับขึ้น 34%ytd มาอยู่ที่ 1571 เหรียญฯต่อตัน ซึ่งนับว่าดีต่อหุ้น STA([email protected]) แต่เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นมาค่อนข้างแรงคือ 30% มาอยู่ที่ 13.30 มีค่า Expected P/E 33 เท่า จึงแนะนำให้ขายทำกำไร และ switch ไปเข้าหุ้นที่ยัง laggard เช่น TVO เป็นต้น
ราคากากถั่วเหลือง ปรับตัวขึ้นกว่า 14.72% ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ล่าสุด 317.20 เหรียญต่อตัน (ย่อตัวเล็กน้อย หลังจากขึ้นไปสู่ระดับ 328 เหรียญต่อตันในสัปดาห์) จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในบราซิล ส่งผลให้ปริมาณกากถั่วเหลืองออกมาน้อยลง และความต้องการใช้เพื่อทำเป็นอาหารสัตว์มากขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าดีต่อ TVO ([email protected]) ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตกากถั่วเหลืองจำหน่ายในประเทศรายใหญ่ ช่วยหนุนอัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin (Gross margin ที่เพิ่ม 0.5% และจะหนุนกำไรเพิ่มขึ้น 6%) ขณะที่ราคาหุ้นที่ผ่านมาขึ้นเพียง 6-7% เท่านั้นเอง
ราคาน้ำตาลโลก วานนี้ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด 15.63 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้น 9.37% หลังจากย่อตัวระดับ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์เมื่อกลางเดือน เม.ยง ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นไปทดสอบ High เดิม ที่ 16.71 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่ง ณ ระดับราคาปัจจุบันใกล้เคียงกับ สมมติฐานที่นักวิเคราะห์ของ ASPS ประเมินไว้ที่ 15.5 เซ็นต์ต่อปอนด์ (มีโอกาสจะดีกว่าสมมติฐานได้) ดีต่อผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศ อาทิ KSL ([email protected]) ที่มีโครงสร้างรายได้มาจากน้ำตาล 70% ของรายได้รวม และยังมีการกระจายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เอทานอล และโรงไฟฟ้า ขณะที่ราคาปัจจุบันยังมี upside สูงถึงกว่า 20%
และด้านราคาเหล็กโลก พบว่าราคาสินแร่เหล็ก 62% Fe ที่ท่าเรือ Tianjin ล่าสุด อยู่ที่ 65.5 เหรียญต่อตัน ปรับตัวลดลง 5% จากระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน ที่ 68.7 เหรียญต่อตัน แต่นับว่ายังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาสินแร่เหล็กปีนี้เพิ่มขึ้นแรงกว่า 50% ซึ่งนับว่าดีต่อผู้ประกอบการเหล็ก อาทิ TMT ([email protected]) (หลังจากนักวิเคราะห์กลุ่มพื้นฐานได้ปรับประมาณการกำไรขึ้น โดยคาดกำไรงวด 1Q59 โดดเด่นมากที่ 265 ล้านบาท เติบโต 3.1 เท่าตัว QoQ และ 2.8 เท่าตัว YoY) ขณะที่ ราคาหุ้นปัจจุบันมี Ex. PER เพียงแค่ 7.5 เท่า และมี Dividend Yield น่าจูงใจมากถึง 10.7% แม้ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปแล้วกว่า 8 % (นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์) แต่ยังคงมี Upside อีก 3.7%
สุดท้าย ดัชนี BDI ยังคงปรับตัวขึ้น นับตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นแล้วกว่า 16% ล่าสุดอยู่ที่ 690 จุด สูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินแร่เหล็กของประเทศบราซิล ซึ่งเป็น 1 ในผู้ส่งออกหลักของโลกมีปริมาณการส่งออกในงวด 1Q59 เพิ่มขึ้น 7.5% yoy มาอยู่ที่ 85.3 ล้านตัน โดยส่งออกไปยังจีนถึงกว่า 54% ซึ่งมีระยะทางในการขนส่งสูงกว่าออสเตรเลียถึงกว่า 2 เท่าตัว หนุนความต้องการใช้เรือเทกองขนาด Capesize ให้เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากฐานที่ต่ำมากอย่างฉับพลัน เช่นเดียวกับ ดัชนี BSI และ BSHI (ดัชนีค่าระวางเรือขนาด Supramax และ Handsize ที่ TTA และ PSL ให้บริการ) ซึ่งสถานการณ์นี้คาดจะ สร้าง Sentiment เชิงบวกระยะสั้น ให้กับกลุ่มเดินเรือ แม้ระยะสั้นธุรกิจเดินเรือ ยังขาดทุน แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจึงแนะนำให้เก็งกำระยะสั้นเท่านั้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์