- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 25 April 2016 17:28
- Hits: 1261
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ICT และ ธ.พ. (NIM ลดลงหลังมีการปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อ) กดดัน SET แกว่งตัว 1,415-1,400 จุด แนะนำให้ทยอยรับรู้กำไรเป็นรายหุ้น ขณะที่ให้ถือหุ้นที่อิงสินค้าโภคภัณฑ์/มีกำไรเด่นใน 1Q59 (TMT, PTT, BDMS, WORK, IRPC, KCE) Top picks TMT([email protected]) และ TASCO(FV@B39) ซึ่ง Laggard และ P/E ต่ำมาก
ส่งออกไทยดีกว่าคาด…ขณะต่างประเทศให้น้ำหนัก BOJ มีโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
สัปดาห์นี้ตลาดน่าจะให้น้ำหนักการประชุมของธนาคารกลางโลกสำคัญ ๆ คือ 27-28เม.ย. ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ซึ่งตลาดคาดน่าจะมีมาตรการเพิ่มเติม หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจส่งสัญญานชะลอตัวชัดเจน โดยเฉพาะภาคการผลิต พบว่าดัชนี PMI ภาคการผลิต ยังคงหดตัวติดต่อกัน 4 เดือนติด และต่ำกว่า 50 จุด คือมาอยู่ที่ 48 จุด และเช่นเดีวกับภาคส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องตลอด 6 เดือนแรก โดยผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg จำนวน 41 ราย พบว่าราว 56% เชื่อว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม อาทิ ลดดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากกับ BOJ ลงอีก 20 bps สู่ -0.3% และ เพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ประเภท ETF และ J-REIT จากเดิมที่ 3 ล้านล้านเยน และ 9 หมื่นล้านเยน เป็นต้น
ส่วนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(FED) 2 วัน เริ่มพรุ่งนี้ (26-27 เม.ย.) คาดว่ายังคงชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป โดยคาดว่าน่าจะเป็นช่วง 4Q59 หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ฯ ยังส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากภาคการผลิต คือ ดัชนี PMI (Markit) เดือน เม.ย. หดตัว 2%mom มาอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด (ทำระดับต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย.56 ) และอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำที่ 1% สะท้อนได้จาก Fed Fund Rate ล่าสุดยังทรงตัวในระดับ 0% แต่โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยจะมีน้ำหนักมากขึ้นใน ก.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 47% (เดิมคาดไว้ที่ 36%) และรอบ ธ.ค. โอกาสเพิ่มเป็น 63% (เดิมคาดที่ 50%) ในสถานการณ์นี้กดดันค่าเงิน Dollar แกว่งตัวในทิศทางอ่อนตัว และทั้งหุ้น น้ำมันและทองคำ
ขณะที่ไทย วันนี้จะมีการรายงานยอดส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์ เดือน มี.ค. ในเบื้องต้นผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ในประเทศ (Consensus) คาดว่าจะกลับมาหดตัว -5% หลังจากที่ขยายตัว 10.2% ในเดือน ก.พ. สวนทางกับกระทรวงการคลังที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่าน่าจะมีแนวโน้ม ขยายตัว ระดับ 9%yoy (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) ซึ่งจะทำให้การส่งออกในงวด 1Q59 เป็นบวก อย่างไรก็ตามยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นขยายตัวเพียงในตลาดอาเซียน ขณะที่ตลาดส่งออกหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ยังไม่ฟื้นตัว โดยรวมทให้เชื่อว่าการส่งออก(X) ตลอดทั้งปี 2559 น่าจะทรงตัว ตราบที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวล่าช้า โดยสมมุติฐานของ ASPS คาดว่าจะหดตัว 1.5%(ในรูปดอลลาร์) เทียบกับ หดตัว 5%(ในรูปดอลลาร์) ในปี 2558 แต่ประเด็นนี้น่าจะสะท้อนในตลาดหุ้นไปแล้ว
หุ้น Domestic Play ยังถูกกดันจากหุ้น ธ.พ. และ ICT
ASPS มีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรตลาดในปี 2559-2560 จากแรงกดดันของหุ้น ธนาคารพาณิชย์ หลังจาก 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่-กลาง ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลงขาเดียว เริ่มจากลูกค้าชั้นดี ลด MLR ลง 0.25% ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่ามีสินเชื่อที่ถูกปล่อยโดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ราว 60% ของพอร์ตรวม ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ต้องปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลงราว 1 หมื่นล้านบาท
หลังจากนั้น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีธนาคารพาณิชย์อีก 3 แห่ง ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลงมาอีก 0.25% นำร่องโดย BBL, KBANK และล่าสุด คือ SCB ซึ่งคาดว่าธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ อาทิ KTB และ BAY ก็น่าจะทยอยปรับลดลงมาตาม ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินว่ามีสินเชื่อที่ถูกปล่อยโดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ราว 20 – 30% ทำให้นักวิเคราะห์ต้องปรับลดประมาณการกำไรปี 2559 ลงมาเป็นครั้งที่ 2 อีกราว 5 พันล้านบาท (รวมเป็นลดลง 1.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งจะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่ม ธ.พ. ในปี 2559 ทรงตัว ไม่เติบโตจากปี 2558 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการเติบโตบ้าง
ขณะที่กลุ่ม ICT นั้น แม้จะยังเหลือเวลาที่ผู้ให้บริการมือถือสามารถรับเอกสารการประมูลคลื่น 900 MHz ได้ถึงวันที่ 17 พ.ค. แต่ภาพที่ออกมาขณะนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า ADVANC น่าจะมีโอกาสประมูลคลื่นนี้ไปได้มากที่สุด จากความพร้อมด้านการเงิน และ ความจำเป็นในการรักษาฐานลูกค้า ขณะที่ DTAC ไม่น่าจะสู้ด้วยราคาเริ่มต้นที่สูง 75,654 ล้านบาท ส่วน TRUE มีข้อจำกัดด้านเงินทุนหลังจากที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตการประมูลที่ผ่านมา 7.63 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุด นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับประมาณการกำไรปีนี้ของ DTAC ลงราว 550 ล้านบาท หรือ -14.7% และปรับลดปีหน้าลงอีกราว 703 ล้านบาท หรือ 19.2% สะท้อนรายได้ที่หายไปจากการที่ ADVANC ไม่มีความจำเป็นต้อง Roaming กับ DTAC หากชนะการประมูลคลื่น 900 MHz
ADVANC มีแนวโน้มปรับลดประมาณการปี 2560 จากต้นทุนค่าตัดจำหน่ายคลื่น 900 MHz (ในกรณีชนะการประมูล) ซึ่งจะรับรู้ในงบฯ ตั้งแต่ 2H59 และ รับรู้เต็มปี 2560 ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะกดดันกำไรตั้งแต่ปี 2560 ให้ลดลงต่ำกว่าประมาณการปัจจุบันราว 10%-15% (ยังไม่รวม Upside จากศักยภาพแย่งลูกค้าจากคู่แข่งสูงขึ้น จากคลื่นที่มีมากขึ้น) และกดดันมูลค่าพื้นฐานลดลงเหลือ 185-190 บาท ขึ้นอยู่กับราคาชนะประมูล (จาก 210 บาท)
การปรับประมาณการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อภาพรวมประมาณการกำไรปี 2559 ของบริษัทจดทะเบียน เบื้องต้นประเมินว่าน่าจะ ทำให้ EPS ปรับลดลงจาก 90.25 บาท/หุ้น มาอยู่ที่ราว 88.66 บาท/หุ้น หากคงระดับ PER เป้าหมายของตลาดหุ้นไทยไว้ที่ 16.23 เท่า (Market Earning Yield Gap 5%) จะให้เป้าหมาย SET Index อยู่ที่ราว 1,440 จุด ซึ่งเมื่อเทียบกับ SET Index ปัจจุบันถือว่ามี Upside ไม่มากนัก
หลังรายงานงบ 1Q59 ตลาดน่าจะให้น้ำหนักงวด 2Q59 ชะลอตัวตาม NIM ที่ลดลง
กลุ่ม ธ.พ. 10 แห่งที่ฝ่ายวิจัยศึกษา รายงานกำไรสุทธิงวด 1Q59 ที่ 4.72 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่นักวิเคราะห์ ASPS คาด 4.88 หมื่นล้านบาท ราว 3.2% ส่งผลให้กลุ่ม ธ.พ. มีผลการดำเนินงานไตรมาสแรกเติบโต 8.5% qoq แต่ลดลง 9.9% yoy และคิดเป็นสัดส่วนราว 23.7% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2559 ที่ 1.99 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นแยกเป็นราย ธ.พ. พบว่า
ธ.พ. ที่ทำกำไรสุทธิได้ดีกว่าคาด คือ LHBANK (สูงกว่าคาดถึง 21%) กำไรสุทธิงวด 1Q59 เติบโต 24.1% qoq และ 74.1% yoy และ KBANK (สูงกว่าคาด 8%) กำไรสุทธิงวด 1Q59 เติบโตถึง 76.1% qoq แต่ยังลดลง 22.2% yoy
ธ.พ. ที่ทำกำไรสุทธิตามคาด คือ TCAP กำไรสุทธิงวด 1Q59 หดตัวเล็กน้อย 0.6% qoq แต่ยังเพิ่มขึ้น 1.4% yoyและ KKP กำไรสุทธิงวด 1Q59 เติบโตถึง 12.9% qoq และ 66.6% yoy
ธ.พ. ที่ทำกำไรต่ำกว่าคาด คือ BBL (ต่ำกว่าคาด 3%) กำไรสุทธิงวด 1Q59 เพิ่มขึ้น 8.3% qoq (แต่ยังลดลง 11.6% yoy), TISCO (ต่ำกว่าคาด 9%) กำไรสุทธิงวด 1Q59 ทรงตัวใกล้เคียงกับงวด 4Q58 แต่ยังเติบโต 5.2% yoy, TMB (ต่ำกว่าคาด 10%) กำไรสุทธิงวด 1Q59 หดตัว 20.0% qoq แต่ยังเพิ่มขึ้น 27.8% yoy และ SCB (ต่ำกว่าคาด 11%) กำไรสุทธิงวด 1Q59 หดตัวทั้งรายไตรมาสและรายปี คือ -10.6% qoq และ -19.8%yoy
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2Q59 โดยรวม จะไม่สดใส เนื่องจากจะได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเต็มไตรมาสดังกล่าวข้างต้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ คาดว่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงงวด 1Q59 เช่นเดียวกับระดับ credit cost ที่ยังทรงตัวสูงตาม NPL ที่จะถีบตัวขึ้นสูงสุดในไตรมาสนี้
แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากหุ้นธนาคารได้ปรับตัวลดลงสะท้อนผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยแล้ว จึงแนะนำให้เลือกลงทุนเป็นรายหุ้น เฉพาะ KBANK(FV@B238) ซึ่งเชื่อการฟื้นตัวของธุรกิจจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่า ธ.พ.ใหญ่อื่นๆ ทันทีเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว จากความได้เปรียบทั้ง coverage ratio สูง สินเชื่อกระจายตัวดี ศักยภาพการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังเป็นแต้มต่อเหนือ ธ.พ.ใหญ่อื่นๆ และตามมาด้วย TISCO (FV@B50) เป็นหุ้นธนาคารพาณิชย์รายย่อยที่ไดกระทบจากดอกเบี้ยขาลงน้อย ขณะที่ valuation สูงจูงใจมากที่สุดในกลุ่ม
หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ปรับฐานช่วงสั้น..มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อ TMT เด่นสุด
ในภาวะตลาดปรับฐานโดยได้รับแรงกดดันจากหุ้น ธ.พ. และ ICT คาดว่าสินค้าที่อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นกลุ่มที่ช่วยประคองตลาด เริ่มจากราคาน้ำมันดิบที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้อาจจะเห็นการปรับฐานช่วงสั้นก็ตาม แต่ปัจจุบันพบว่าราคาน้ำมันดิบดูไบได้ขยับขึ้นมายืนอยู่เหนือ 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล อย่างสบายๆ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากกแรงกดดัน Over Supply ที่เริ่มลดลง สะท้อนจาก กำลังผลิตน้ำมันในสหรัฐที่ลดลง ผ่านการรายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลงอีก 8 หลุม เหลือ 343 หลุม (ลดลงติดต่อกัน 5 สัปดาห์) และนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงต่ำกว่า 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การเจรจาระหว่างผู้ผลิตน้ำมันโลกเพื่อดูแลระดับราคาน้ำมันดิบถือว่าเป็นปัจจัยหนุนอีกประการ ติดตามผลการประชุม OPEC ที่จะมีขึ้นอีกรอบ เดือน มิ.ย. นี้ โดยภาพรวมราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับตัวขึ้นกว่า 22% ytd และล่าสุด 41.14 เหรียญฯต่อบาร์เรล ทำให้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบของ ASPS ที่ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2559 และ 50 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลในปี 2560 มีความเป็นไปตามมากขึ้น (ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 32 เหรียญฯต่อบาร์เรล)
ตามมาด้วยราคาน้ำตาลโลก ล่าสุด 15.26 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้น 10.64% wow หลังจากย่อตัวลงไปที่ 14.29 เซ็นต์ต่อปอนด์ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่คาดว่ามีโอกาสขึ้นไปทดสอบ High เดิม ที่ 16.71 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งทำให้เชื่อว่าสมมติฐานที่นักวิเคราะห์ของ ASPS ประเมินไว้ที่ 15.5 เซ็นต์ต่อปอนด์ มีความเป็นไปได้ หรือ มีโอกาสจะดีกว่าสมมติฐานได้ ยังชื่นชอบ ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ KSL ([email protected])
เช่นเดียวกับ ราคากากถั่วเหลืองโลก มีสัญญาณปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาขึ้นสูงถึง 328เหรียญต่อตัน (ล่าสุด 312.40 เหรียญต่อตัน) ทำให้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. ราคากากถั่วเหลืองขึ้นไปแล้วกว่า 19.5% เหตุจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในบราซิล ส่งผลให้ปริมาณถั่วเหลืองออกมาน้อยลง และความต้องการใช้เพื่อทำเป็นอาหารสัตว์มากขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ ซึ่งในสถานการณ์นี้ดีต่อ TVO ([email protected]) ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตกากถั่วเหลืองจำหน่ายในประเทศรายใหญ่ ช่วยหนุนอัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin (Gross margin ที่เพิ่ม 0.5% จะหนุนกำไรเพิ่มขึ้น 6%)
และด้านราคาเหล็กโลก พบว่าราคาสินแร่เหล็ก 62% Fe ที่ท่าเรือ Tianjin อยู่ที่ 68.7 เหรียญต่อตัน (ล่าสุด วันที่ 21 เม.ย.) ส่งผลให้ราคาสินแร่เหล็กปีนี้เพิ่มขึ้นแรงกว่า 50% ซึ่งนับว่าดีต่อผู้ประกอบการเหล็ก อาทิ TMT ([email protected]) (หลังจากนักวิเคราะห์กลุ่มพื้นฐานได้ปรับประมาณการกำไรขึ้น โดยคาดกำไรงวด 1Q59 โดดเด่นมากที่ 265 ล้านบาท เติบโต 3.1 เท่าตัว QoQ และ 2.8 เท่าตัว YoY) ขณะที่ ราคาหุ้นปัจจุบันมี Ex. PER เพียงแค่ 7.5 เท่า และมี Dividend Yield น่าจูงใจมากถึง 10.7% แม้ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปแล้วกว่า 8 % (นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์) แต่ยังคงมี Upside อีก 25%
Money Supply ยังหนุนให้ต่างชาติซื้อหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 9
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ด้วยมูลค่ากว่า 268 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 4 ประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 125 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8) รองลงมาคือ ไต้หวันซื้อสุทธิราว 254 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) อินโดนีเซียซื้อสุทธิสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) และฟิลิปปินส์ ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิราว 7 ล้านเหรียญ ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 1 ล้านเหรียญ หรือ 50 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1.4 พันล้านบาท
แม้ในเดือน เม.ย. นี้ต่างชาติจะขายสุทธิสะสมหุ้นไทยกว่า 2.9 พันล้านบาท แต่ด้วย Money Supply ที่เพิ่มขึ้น และจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่า มีโอกาสสูงถึง 70% ที่ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทย โดยมีมูลค่าเฉลี่ยราว 5.7 พันล้านบาท ทำให้เชื่อว่าน่าจะมีแรงซื้อจากต่างชาติกลับเข้ามาในช่วงท้ายของเดือนนี้
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 2.2 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 3.0 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์