WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      SET ยังต่ำกว่า 1,400 จุด ด้วยอิทธิพลของหุ้นธนาคาร จากผลกระทบการลดดอกเบี้ยสินเชื่อ และหุ้น ICT จากผลกระทบต้นทุนดำเนินงาน ADVANC สูงขึ้น ยังแนะนำให้ถือหุ้นที่คาดว่ายังให้ผลตอบแทนชนะตลาดในช่วงหลังสงกรานต์ (BDMS, ERW, WORK, PTT, IRPC, KCE) เลือก PTT(FV@B330) KCE(FV@B100) เป็น Top picks

World Bank ปรับลด GDP เอเชียฯ ลง ยกเว้นฟิลิปปินส์ และไทย
      ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังคงมีอยู่และเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลก ทั้งนี้ล่าสุด ธนาคารโลก (World bank) เผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2559 ในภูมิภาคเอเซีย ประจำเดือน เม.ย. (แต่ยังไม่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก) มีการปรับลดการคาดการณ์ในภูมิภาคเอเซียลง ทั้งนี้แม้ยังคงประมาณการ GDP Growth ของจีนที่ 6.7% (คงเดิมจากคาดการณ์ครั้ง ต.ค.58) แต่ถือว่าชะลอตัวจากปี 2558 อย่างมาก ส่วนประเทศในกลุ่ม TIP มีการปรับลดลงทุกประเทศ นำโดยมาเลเซียปรับลดมากสุดราว 0.3% อยู่ที่ 4.4% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ปรับลด 0.2% อยู่ที่ 5.1% ยกเว้น ฟิลิปปินส์ ยังคงคาดการณ์ที่ 6.4% และไทยที่มีการปรับเพิ่ม 0.5% มาอยู่ที่ 2.5% แต่คาดว่าตลาดน่าจะให้น้ำหนักน้อย เพราะตัวเลขใหม่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด (Consensus) ที่ 3% ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผลของกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินมาต่อเนื่อง ตั้งแต่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย SME ข้าราชการ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และมอเตอร์เวย์ เป็นต้น

ค่าเงินเอเชียแข็งค่า นำโดยเงินเยนแข็งค่ากว่า 11% เป็นอุปสรรคต่อภาคส่งออก
      ขณะที่ค่าเงินโลกยังผันผวน หลัง Fed ได้เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลให้ Dollar ยังคงแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่า (ล่าสุด Dollar Index อยู่ที่ 93.95 จุด) ขณะที่ยูโรยังคงทรงตัว 1.14 ดอลลาร์ต่อยูโร สวนทางกับเงินในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงกว่า 1 เดือน นำโดยเงินเยนที่ปรับตัวแข็งค่าราว 11% จากจุดอ่อนค่าสูงสุดครั้งก่อน (29 ม.ค. 2559 ล่าสุด 108.10 เยนต่อดอลลาร์) และเป็นการแข็งค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557 แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังมีการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้ง QQE และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลงสู่แดนลบ (ล่าสุด -0.1%) แต่มาตรการดังกล่าวอาจจะดูน้อยกว่าประเทศพัฒนาอื่น ๆ ขณะที่เงินเยน ยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามการประชุม BOJ ใน 26-27 เม.ย.นี้ ซึ่งอาจจะทำให้เงินเยนหยุดแข็งได้หาก มี มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก ที่กระทบจากการแข็งค่าของเงินเยน
   ส่วนเงินเอเชียยังคงแข็งค่าในลักษณะเดียวกันในอัตราที่น้อยกว่า คือ เงิน ริงกิตข็งค่า 3.82% เงินเปโซ แข็งค่า 1.51% และเงินบาท แข็งค่า 1.12% ซึ่งถือว่ายังเป็นในลักษณะที่ใกล้เคียงกันจึงไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจมาก และตลาดหุ้นมากเหมือนในญี่ปุ่น แต่ถือเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดหุ้น เพราะตราบที่เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า น่าจะดึงเงินทุนต่างชาติกลับเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย

เข้าสู่ฤดูกาลทำ Earning previews งวด 1Q59 ยังกดดันตลาดหุ้นโลก
ดังที่กล่าวไปก่อหน้านี้ว่าขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูกาลการทำประมาณการงบกำไรขาดทุนงวด 1Q59 ของภาคสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าน่าไม่สดใสนัก และคาดว่ายังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในงวด 2Q59 จากผลกระทบของการลดดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารของ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มลงไปราว 5% ปัจจัยนี้ถือว่ายังคงกดดันตลาด แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาหุ้นกลุ่ม ธนาคารฯ ปรับตัวลงแรงมากจึงทำให้ราคาหุ้นโดยรวมน่าจะทรงตัวได้
     เช่นเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ น่าจะเข้าสู่ช่วงการรายงานงบกำไรขาดทุนงวด 1Q59 เช่นกัน โดยจากการสำรวจตลาดหุ้นสหรัฐ เฉพาะ S&P500 โดย Reuters นักวิเคราะห์ในตลาดฯ ประเมินว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมจะหดตัวถึง 7.7%yoy (หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน) โดยเฉพาะกลุ่ม ธ.พ. และสถาบันการเงินชั้นนำจะเริ่มทยอยประกาศสัปดาห์นี้ คือ JPMorgan Chase & Co, Bank of America Corp, Wells Fargo & Co, Citigroup Inc, Morgan Stanley และ Goldman Sachs Group Inc ซึ่งโดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าในงวด 1Q59 ผลประกอบการน่าจะย่ำแย่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2550-2551 ผลจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ราคาน้ำมันระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน โดย ธ.พ. ยักษ์ใหญ่ 6 แห่ง คาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 20% ซึ่งน่าจะกดดันตลาดหุ้นสหรัฐ S&P500 โดยระยะสั้นคาดจะติดแนวต้าน 2,100 จุดได้ ส่วนบริษัทที่ประกาศแล้วคือ Alcoa Inc. (บริษัทผลิตอลูมิเนียมยักษ์ใหญ่) กำไรสุทธิลดลงถึง 92%yoy (จาก 195 ล้านเหรียญฯ เหลือ 16 ล้านเหรียญ)

คาดตลาดหุ้นไทยยังแกว่งตัว แต่น่าจะฟื้นตัวในช่วงหลังสงกรานต์ : PTT, KCE, WORK
    ในช่วงก่อนเข้าสู่เทศกาลวันหยุดยาว เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ พบว่าตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัว (ลดลง 2.9% หลังจากที่แตะระดับสูงสุด 1,410 จุดเมื่อปลายเดือน มี.ค. 2559) ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับสถิติในอดีต (ข้อมูลย้อนหลัง10 ปี ระหว่าง 2549 – 2558 พบว่า ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัว แต่มีบางกลุ่มฯ ที่สามารถ outprtform ได้)
แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนีน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาว ด้วยโอกาสที่จะเกิดขึ้นถึง 9 ใน 10 ปี ให้ผลตอบเฉลี่ยราว 2.3% โดยกลุ่มที่ outperform ได้ดีกว่าตลาด คือ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มพลังงาน และกลุ่มบันเทิง
สำหรับนักลงทุนที่สามารถถือหุ้นได้นาน พร้อมรับความผันผวนของตลาดหุ้นได้ แนะนำให้ถือหุ้นข้ามจากช่วงสงกรานต์ เพราะจากสถิติค่อนข้างระบุชัดเจนว่า หากถือหุ้น 1 สัปดาห์ก่อนหยุดสงกรานต์ และถือหุ้นยาวไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. SET จะให้ผลตอบแทนที่ดีราว 2% ด้วยโอกาสที่จะเกิดขึ้นถึง 80% โดยกลุ่มที่ outperform ตลาด ก็ยังคงเป็นกลุ่มโรงพยาบาล ตามด้วยกลุ่มชิ้นส่วนฯ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงาน จึงยังชื่นชอบ BDMS (FV@B25), KCE (FV@B100) บันเทิง คือ WORK (FV@B45) และพลังงาน&ปิโตรเคมี คือ PTT (FV@B330) และ IRPC ([email protected])

ต่างชาติขายหุ้นไทยติดต่อกันเป็นวันที่ 5 กว่าหมื่นล้านบาท
     แรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเอเชียเริ่มแผ่วเบาลงอย่างเห็นได้ชัด โดยภาพรวมวานนี้มียอดขายสุทธิในเอเชียราว 108 ล้านเหรียญ แต่ยังคงซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ไต้หวันและฟิลิปปินส์ แต่ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 8 ล้านเหรียญ และ 6 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนที่เหลือขายสุทธิ คือ อินโดนีเซียขายสุทธิสุทธิราว 33 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยเกาหลีใต้ขายสุทธิ 29 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วัน) และไทยขายสุทธิกว่า 62 ล้านเหรียญ หรือ 2.2 พันล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวมสูงถึง 9.5 พันล้านบาท) สวนทางนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 2.1 พันล้านบาท และเป็นไปในทิศทางเดียวกับทางด้านตราสารหนี้ คือ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท แต่นักลงทุนต่างชาติกลับขายสุทธิราว 3.6 พันล้านบาท

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!