- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 07 April 2016 16:48
- Hits: 772
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันนี้แม้หุ้นพลังงานจะนำตลาด แต่ยังคงถูกกดดันด้วย ธ.พ. จากทิศทางดอกเบี้ยขาลง และหุ้น ICT ทั้งนี้ยกเว้นหุ้นมีกำไรเด่นงวด 1Q59 (BDMS, ERW, CENTEL, WORK, PTT, IRPC, KCE) เลือก BDMS(FV@B25), WORK(FV@B45) KCE(FV@B100) เป็น Top picks ซึ่งคาดหุ้นทั้ง 3 จะให้ผลตอบแทนชนะตลาดใน เม.ย.
สต๊อกน้ำมันลดลง สวนทางคาดการณ์ หนุนหุ้นน้ำมันฟื้นตัวช่วงสั้น
วานนี้ มีรายงานสต็อกน้ำมันของสำนักสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) สิ้นสุดสัปดาห์ (1 เม.ย.) สต็อกน้ำมันดิบลดลงครั้งแรกในรอบ 8 สัปดาห์ ลดลง 4.93 ล้านบาร์เรล VS ตลาดคาดการณ์เพิ่มขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรล หลักๆ มาจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา และการกลับมาผลิตของโรงกลั่นหลังสิ้นสุดฤดูกาลซ่อมบำรุง สอดคล้องกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงเหลือ 9.008 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จากสูงสุดราว 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดกว่าจะกลับมาผลิตต่ำกว่า 9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์หน้า) สวนทางกับน้ำมันสำเร็จรูปที่ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.79 และ 1.43 ล้านบาร์เรล จากปริมาณการใช้น้ำมันในภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย และปริมาณการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น
โดยรวมทำให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวระยะสั้น หลังจากที่ปรับฐานนานเกือบ 3 สัปดาห์ โดยราคาน้ำมันดูไบตลาดล่วงหน้า อ่อนตัวหลังจากที่แตะระดับสูงสุด 37.7 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยลงมาที่ระดับต่ำสุดในสัปดาห์นี้ที่ 33.81 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือลดลง 10% ทำให้ล่าสุดดีดขึ้นมาที่ 34.92 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตรงกันข้ามกับค่าการกลั่น (น้ำมันสำเร็จรูป – น้ำมันดิบ) ลดลงมาที่ระดับ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากที่เคยแตะระดับสูงสุด 10 เหรียญฯต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี เพราะนอกจากราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวแล้ว คาดว่ากำลังผ่านพ้นฤดูหนาวที่จะมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะดีเซลสูงสุด
ขณะที่การประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่จะมีขึ้น วันที่ 17 เม.ย. นี้ แม้ว่าจะยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอิหร่านและผู้ผลิตรายอื่นๆ อย่างไรก็ตามการเริ่มหันหน้าหารือกัน ทำให้เชื่อว่าความกังวลต่อปัญหา oversupply น่าจะลดลง ประกอบกับ เงินดอลลาร์ที่ยังแกว่งทรงตัวถึงอ่อนค่า น่าจะมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัวถึงฟื้นตัวในระยะสั้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งในสถานการณ์นี้ถือว่าดีต่อหุ้นน้ำมันที่คาดว่าจะฟื้นตัวในระยะสั้น ทั้ง PTT, PTTEP รวมถึง IRPC ที่ยังคงเป็น Top pick ในกลุ่มโรงกลั่นที่ได้รับผลบวกทั้งภาพอุตสาหกรรม และโครงการ UHV ที่เสร็จตามแผนในปลายเดือน มี.ค. 2559
แม้หุ้นน้ำมันฟื้นตัว แต่ยังถูกกดดันจาก หุ้น ธ.พ. สื่อสาร ในช่วงสั้น SET ยังต่ำกว่า 1400 จุด
แม้วันนี้คาดว่าหุ้นน้ำมันจะฟื้นตัวตามทิศทางราคาน้ำมันดังที่กล่าวข้างต้น แต่ปัจจัยกดดันจากหุ้นใน 2 กลุ่มใหญ่ยังมีอยู่คือ ธ.พ. ซึ่งแม้ว่า กนง. ได้ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% แต่ด้วยสภาพคล่องทางการเงินที่สูง และความต้องการใช้สินเชื่อน้อย ทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต้องประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว 5 ราย โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ได้แก่
SCB ลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% อยู่ที่ 6.275%
KBANK ลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% เหลือ 6.25%
KTB ลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% เหลือ 6.275%
TMB ลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% เหลือ 6.775% และลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% เช่นกัน เหลือ 7.775% และ
BBL ลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% เหลือ 6.25%
โดยรวม ธ.พ. ขนาดใหญ่ 4 ราย จะได้รับผลกระทบมากสุด ได้แก่ KBANK, BBL, KTB และ TMB เนื่องจากมีสัดส่วนของสินเชื่อ Corporate และ SMEs รวมกันเฉลี่ยสูงถึง 60% เว้นแต่ SCB มีสัดส่วนราว 50% จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า ภายใต้สมมติฐาน การเติบโตสินเชื่อ และ การตั้งสำรองฯ ต่อหนี้ที่มีปัญหายังคงที่เดิม ด้วยเหตุนี้ทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มธ.พ. เตรียมปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มฯ ลงราว 5% พร้อมปรับลดน้ำหนักเป็น น้อยกว่าตลาด จากเท่ากับตลาด โดยผลกระทบรายหุ้น มีดังนี้
BBL ปรับลดประมาณการปี 2559-60 ลง 6.5% และ 2.5% จากเดิม คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2Q59 คาดว่าจะหดตัวลงจากงวด 1Q59 จากผลกระทบของ NIM ที่รับรู้เต็มที่ทั้งไตรมาส ภายหลังลดประมาณการ คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2559 ทรงตัวจากปี 2558 แต่กลับไปฟื้นตัวราว 10.4% ในปี 2560 เช่นเดียวกับ
TMB ปรับลดประมาณการปี 2559-60 ของ TMB ลง 7.5% และ 5.8% จากเดิม โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2Q59 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากงวด 1Q59 ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2559 เติบโตลดลงเหลือ 4.9% yoy (อ่านรายละเอียดจากรายงานกลุ่ม ธ.พ. วันนี้)
แต่ยังคงเลือก KBANK เป็น Top pick จากการฟื้นตัวของธุรกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่า ธ.พ.ใหญ่อื่นๆ จากความได้เปรียบทั้ง coverage ratio สูง และศักยภาพการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ สูง
เช่นเดียวกับกลุ่มสื่อสาร ปัญหาต้นทุนให้บริการที่สูงขึ้น หลังจากที่ ADVANC จะต้องเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ด้วยต้นทุนที่สูงเท่ากับที่ JAS เคยประมูลไว้แล้วทิ้งไป โดยรวมจะทำให้ผลประกอบการในงวด 1Q59 ลดลง 27%qoq และ 20%yoy และตลอดปี 2559 จะลดลง 22% จากปี 2558 อย่างไรก็ตามยังคงแนะนำซื้อ ADVANC (อ่านรายละเอียดจาก Market Talk วันอังคารที่ผ่านมา)
ดัชนีชี้นำของไทยขัดแย้ง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคหดตัว แต่ของนักลงทุนฟื้น
ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งภาวะภัยแล้งรุนแรงทำให้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้อย่างล่าช้า กดดันให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. โดย ม.หอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 73.5 ลดลงราว 1.6%mom และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อย่างไรก็ตาม ยังสวนทางกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประจำเดือน มี.ค. โดยสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) ที่ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน ปัจจัยที่ขัดแย้งกันในทั้ง 2 ดัชนี ทำให้ต้องให้น้ำหนักต่อผลของมาตรการกระตุ้นภาคการบริโภค (C) ของภาครัฐ ผ่านกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร SMEs ข้าราชการ อสังหาริมทรัพย์ และมาตรการภาษี วงเงินรวม 1.6 แสนล้านบาทในปี 2559 (เทียบกับ 1.7 แสนล้านบาทในปี 2558) และล่าสุดมาตรการกระตุ้นในช่วงสงกรานต์ ผ่านการลดหย่อนภาษี ผ่านการกิน-เที่ยว ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท คาดว่าจะยังเป็นตัวหนุนให้ C ฟื้นตัวได้อีกในช่วง 2Q59
ขณะที่สหรัฐ คลายความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยใน1H59 มีน้ำหนักมากขึ้น สะท้อนจากวานนี้มีการเปิดเผย Fed minutes ในการประชุม15-16 มี.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ามติคณะกรรมการของ Fed เห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ต่อการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.5% ต่อไป เนื่องจากมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ ล่าสุด ผลสำรวจ Fed Fund rate ลดลง โดยรอบ เม.ย. คาดว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย และรอบ มิ.ย. โอกาสขึ้นดอกเบี้ยลดลงเหลือเพียง 19% (เดิม 24%) กดดันให้ Dollar Index มีทิศทางอ่อนตัวลง อยู่ที่ 94.49 จุด ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น
SET มักลงก่อนสงกรานต์ 1 สัปดาห์ แต่จะฟื้นตัวได้ในช่วงหลังสงกรานต์
เหลือเวลาอีกราว 1 สัปดาห์ ก็จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน อาจทำให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้อาจจะดูเงียบเหงาซบเซาลงไป เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนก็จะหยุดพักผ่อนท่องเที่ยว จากข้อมูลเมื่อปี 2558 พบว่า ในช่วงต้นเดือน เม.ย. มูลค่าการซื้อขายต่อวันจะอยู่ที่ราว 3.8 – 4.3 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนสงกรานต์ มูลค่าซื้อขายลดลงเหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้ นักลงทุนที่ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงในช่วงวันหยุดยาว จึงอาจมีการขายหุ้นออกมาเพื่อปรับพอร์ตถือเงินสดมากขึ้น
จากการรวบรวมข้อมูลของฝ่ายวิจัย 10 ปีที่ผ่านมา (2549 - 2558) พบว่า ตลาดหุ้นไทยมักปรับตัวลงเฉลี่ย 0.3% ในช่วง 1 สัปดาห์ ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ด้วยโอกาสถึง 5 ใน 10 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกลุ่มฯ ที่สามารถ outprtform ได้สวนตลาด คือ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มโรงพยาบาล รวมทั้งกลุ่มพลังงาน
อย่างไรก็ตาม SET มักจะปรับขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เปิดทำการหลังเทศกาลสงกรานต์ จนกระทั่งถึงสิ้นเดือน ด้วยโอกาสที่จะเกิดขึ้นถึง 9 ใน 10 ปี ให้ผลตอบเฉลี่ยราว 2.3% โดยกลุ่มที่ outperform ได้ดีกว่าตลาด คือ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มพลังงาน และกลุ่มบันเทิง
สำหรับนักลงทุนที่ถือหุ้นระยะยาว และสามารถรับกับความผันผวนของตลาดในช่วงวันหยุดได้ ฝ่ายวิจัยก็ขอแนะนำให้ถือหุ้นข้ามช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะจากสถิติค่อนข้างระบุชัดเจนว่า หากถือหุ้น 1 สัปดาห์ก่อนหยุดสางกรานต์ และถือหุ้นยาวไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. SET จะให้ผลตอบแทนที่ดีราว 2% ด้วยโอกาสที่จะเกิดขึ้นถึง 80% สำหรับกลุ่มที่ outperform ตลาด ก็ยังคงเป็นกลุ่มโรงพยาบาล ตามด้วยกลุ่มชิ้นส่วนฯ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงาน
ฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำให้ถือหุ้น BDMS (FV@B25) และ KCE (FV@B100) รวมทั้ง WORK (FV@B45) ต่อไปจนถึงหลังสงกรานต์
ต่างชาติกลับมาขายสุทธิในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 2
วันอังคารที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไต้หวันหยุดทำการต่ออีกหนึ่งวัน แต่ตลาดหุ้นอื่น ๆ อีก 4 แห่ง ยังคงเปิดทำการปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 222 ล้านเหรียญ แต่ยังซื้อสุทธิในอินโดนีเซียประเทศเดียวราว 27 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลือสลับมาขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ขายสุทธิ 191 ล้านเหรียญ และ 9 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนไทย ขายสุทธิ 49 ล้านเหรียญ หรือ 1.7 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วัน) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิสูงถึง 4.8 พันล้านบาท
ส่วนวานนี้ แม้ตลาดหุ้นไทยหยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันจักรี แต่ตลาดหุ้นอื่นยังคงเปิดทำการเป็นปกติ และพบว่าต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 138 ล้านเหรียญ แต่ยังซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย ถูกซื้อสุทธิราว 82 ล้านเหรียญ และ 1 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ยังคงถูกขายสุทธิราว 208 ล้านเหรียญ และ 12 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์