- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 04 April 2016 17:31
- Hits: 1353
บล.เอเซียพลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนี ยังผันผวน และต่ำ 1,400 จุด ตราบที่ยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ ยังให้ทยอยขายหุ้นที่มี upside จำกัด แต่ให้ถือหุ้นมีประเด็นบวก/ผลกำไรเด่นงวด 1Q59 (BDMS, ERW, CENTEL, WORK, PTT, IRPC, KCE) เลือก BDMS(FV@B25) และ KCE(FV@B100) เป็น Top picks ซึ่งให้ผลตอบแทนชนะตลาดใน เม.ย.
ดัชนียังติดแนวต้าน 1,400 จุด ..ตราบที่ยังขาดประเด็นหนุนใหม่ ๆ
เงินเฟ้อในไทยเดือน มี.ค. ยังคงติดลบ 0.46% ใกล้เคียงกับติดลบ 0.5% ใน ก.พ. แต่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ทำให้เฉลี่ย 3 เดือนแรกของปีนี้ติดลบ 0.5% หลักๆ มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงกว่า 16.06% yoy สวนทางกับราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ผักและผลไม้ เพิ่มขึ้น 0.97%) ขณะที่ทั้งปี 2559 ASPS ประเมินเงินเฟ้อจะอยู่ที่ติดลบ 0.5% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 45 เหรียญฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้แม้สภาพคล่องโลกยังมีอยู่สูง และเอื้อให้ดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป แต่เนื่องจากรัฐมีแผนระดมทุน (Future Fund) เพื่อลงทุนโครงการขนาดใหญ่ปีนี้ราว 1 แสนล้านบาท น่าจะดึงเงินออกจากระบบ ซึ่ง กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยที่ 1.5% ไปถึงสิ้นปี
และรัฐยังคงเดินหน้ากระตุ้นผู้มีรายได้น้อย (C) แม้ได้กำหนดวงเงิน 1.6 แสนล้านบาทในปี 2559 (เทียบกับ 1.7 แสนล้านบาทในปี 2558) และกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงสงกรานต์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ (9 -17 เม.ย. 59 นำใบเสร็จ ร้านอาหาร - ท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท) ล่าสุด รมว.เกษตรฯ เตรียมเสนอให้อัดฉีดเงินหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท 7 หมื่นหมู่บ้าน รวม 7 หมื่นล้านบาท (คล้ายกับที่ทำแล้วปลายปี 2558) เพื่อช่วยปัจจัยการผลิตฯ เป็นหลัก
ส่วนต่างประเทศ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ยังส่งสัญญาณขัดแย้งกัน กล่าวคือ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม คือ ดัชนี ISM ภาคการผลิต เดือนมี.ค. พลิกกลับมาฟื้นตัว โดยเพิ่มขึ้น 4.6% มาอยู่ที่ระดับ 51.8 หลังจากที่ติดลบต่อเนื่อง 5 เดือนก่อนหน้า ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมหนัก และภาคก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานเดือน มี.ค. กลับเพิ่มขึ้นที่ 5% (จากที่ทรงตัวที่ระดับ 4.9% นาน 2 เดือน) และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 1% ทำให้เชื่อว่าการประชุมของ Fed ในรอบถัดไปคือ 26 -27 เม.ย. และรอบ 14 -15 มิ.ย.น่าจะยังคงดอกเบี้ยฯ ตามเดิม สะท้อนจากผลสำรวจ Fed Fund rate ล่าสุด พบว่ารอบ เม.ย. จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยและรอบ มิ.ย. มีโอกาสเพียง 24% ซึ่งน่าจะทำให้ Dollar Index มีทิศทางอ่อนตัวหรือแกว่งตัวระยะสั้น อยู่ที่ 94.58 จุด ซึ่งยังถือว่าเป็นปัจจัยหนุนสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น
เข้าสู่เดือน เม.ย. คาด Fund Flow ยังมีส่วนหนุนดัชนีขึ้นต่อ
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 139 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) โดยเป็นการขายสุทธิ 2 ประเทศ คือ ไต้หวันสลับมาขายสุทธิราว 129 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) และเกาหลีใต้ขายสุทธิ 126 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลือเป็นตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่ยังคงซื้อสุทธิ หุ้นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แต่ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ และ 4 หมื่นเหรียญ ตามลำดับ ส่วนไทยซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาค ราว 114 ล้านเหรียญ หรือราว 4.0 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 2.0 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิสูงถึง 4.1 พันล้านบาท เช่นเดียวกับ ต่างชาติซื้อสุทธิราว 1.9 พันล้านบาท (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) ซึ่งหนุนให้ เงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง
ดังที่กล่าวไว้เมื่อวันศุกร์ถึงแนวโน้ม Fund Flow ในเดือน เม.ย. คาดว่าจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง และน่าจะหนุนตลาดหุ้นเอเชียในระยะสั้น ตราบที่สภาพคล่องโลกยังสูงอยู่ สะท้อนได้จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี (2549-2558) พบว่านักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยถึง 7 ปี และดันดัชนีขึ้น โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึงราว 3.49% พร้อมด้วยโอกาสที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกสูงถึง 90%
ทั้งนี้หากพิจารณา Money Supply โลกในช่วงปีนี้ พบว่าเพิ่มขึ้นทุกแห่ง กล่าวคือ 2M59 (ม.ค. – ก.พ. 59) เริ่มจากประเทศพัฒนาแล้วคือ สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8%, ยุโรป 1% (ยกเว้นญี่ปุ่น Money Supply ลดลง 0.2%) ส่วนฝั่งประเทศกำลังพัฒนานำโดย จีน เพิ่มขึ้น 2.3% และกลุ่ม TIP พบว่า อินโดนีเซีย ลดลง 0.6% ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 0.4% และไทย 1.1% ซึ่งสอดคล้องกับยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดเอเชีย (5 ตลาดรวมกัน) อยู่ที่ราว 1.8 พันล้านเหรียญฯ ในเดือน ก.พ. 2559 และเพิ่มขึ้นเป็น 9.4 พันล้านเหรียญ เดือน มี.ค. 2559 จะเห็นเพิ่มขึ้น 2558 กว่า 4 เท่าตัวจากเดือนก่อนหน้า
และโดยรวมทำให้ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 2559 จนถึงต้นเดือน เม.ย. 5 ประเทศรวมกัน พลิกกลับมาเป็นบวกสุทธิ 9.3 พันล้านเหรียญฯ นำโดยหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิสะสม 5 พันล้านเหรียญ ตามมาด้วยเกาหลีใต้, ไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มียอดซื้อสุทธิสะสมราว 3 พันล้านเหรียญ, 864 ล้านเหรียญ, 206 ล้านเหรียญ, 178 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
ผลประกอบการ 1Q59 ของ ธ.พ. ไม่สดใส
ขณะนี้นักวิเคราะห์กลุ่ม ธ.พ. ของ ASPS เริ่มทำการประเมินผลประกอบการงวด 1Q59 ของหุ้น ในธนาคารพาณิชย์ คาดว่าไม่สดใส หากพิจารณาผลการประเมินสินเชื่อผ่านการแกะรายงาน ธ.พ. 1.1 ซึ่งพบว่า ยอดสินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้) ในช่วง 2M59 เติบโตน้อยมากเพียง 0.35% จากสิ้นปี 2558 และยังต่ำมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายทั้งปี 2559 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 5.23% yoy เนื่องจากยังเป็นช่วงต้นปี ความต้องการสินเชื่อยังน้อย อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ธนาคารยังคงนโยบายระมัดระวังต่อเนื่องต่อไป
แต่คาดว่าแนวโน้มจะดีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. เป็นต้นไปเนื่องจากความต้องการสินเชื่อเพื่อการทำธุรกิจบางประเทศ เช่น การประมูลใบอนุญาต 4G เป็นเงินรวมเกือบ 8 หมื่นล้านบาท และกรณีการซื้อกิจการของ BIGC โดยกลุ่ม บ.ทีซีซีฯ มูลค่ากว่า 1.2-1.3 แสนล้านบาท ทำให้เป็นโอกาสของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่เน้นสินเชื่อธุรกิจ (corporate loan) เช่น BBL, KBANK เป็นต้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายย่อย หรือ เน้นสินเชื่อ SMEs อาจทรงตัวหรือชะลอตัวลงจากการตั้งสำรองฯ ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้ม NPL ที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งคาดว่าจะทำจุดสูงสุดในช่วง 2Q59 ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวใน 2H59
และจากการ company visit หุ้น KBANK (FV@B240) คาดว่างวด 1Q59 กำไรสุทธิเติบโตถึง 62.3%qoq แต่ลดลง 28.3%yoy แม้รายได้จากธุรกิจหลักยังทรงตัว รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ หรือ credit cost ที่ยังทรงตัวสูง แต่ผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายดำเนินงานหลังพ้นช่วงฤดูกาล ช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานฟื้นตัว ส่วนแนวโน้มกำไรสุทธิงวด 2Q59 ประเมินว่ายังทรงตัวจากงวด 1Q59 โดยคาดกำไรสุทธิปี 2559 เติบโต 6.1% yoy บนสมมติฐานที่ยังยึดหลักระมัดระวังภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าๆ โดยมุมมอง NPL ยังเป็นขาขึ้นและคาดทำ peak ในช่วง 2Q-3Q59 ที่ 3.5-3.6% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังเลือก KBANK เป็น top pick ต่อไป จากการฟื้นตัวของธุรกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่า ธ.พ.ใหญ่อื่นๆ จากความได้เปรียบทั้ง coverage ratio สูง สินเชื่อกระจายตัวดี ศักยภาพการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ สูง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้จัดทำประเมิน SCB (FV@B132) ซึ่งคาดว่างวด 1Q59 ทำได้เพียงทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง yoy เหตุจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้จากธุรกิจหลักยังทรงตัว และเชื่อว่างวด 2Q59 ยังทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่ TISCO (FV@B50) คาดงวด 1Q59 กำไรอาจะเติบโตทั้ง qoq และ yoy จากการลดลงของค่าใช้จ่ายฯ ชดเชยรายได้จากธุรกิจหลักทรงตัว
SET ยังถูกกดดันจากหุ้นใหญ่ที่จะที่ขึ้น XD ในวันนี้คือ BIGC, INTUCH, SCC
ในเดือน เม.ย. มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากที่จะขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อเตรียมจ่ายเงินปันผลเป็นลำดับถัดไป ซึ่งจากที่ฝ่ายวิจัยรวบรวม พบว่า มีมากถึง 122 บริษัท โดยบริษัทที่มีสัดส่วน Market Cap ที่มีนัยสำคัญต่อ SET ที่ขึ้น XD ในเดือน เม.ย. ดังตารางด้านล่าง
โดยในวันนี้ (4 เม.ย.) จะมีหุ้น Market Cap ใหญ่ขึ้น XD พร้อมกันถึง 3 บริษัท จึงอาจกดดันดัชนีโดยรวมมีการปรับตัวลงมาในวันนี้ได้ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่ากลุ่มหุ้นปันผลสูง มักจะปรับตัวลงในช่วงสัปดาห์แรกหลังขึ้น XD ราว 0.7% ความน่าจะเป็นที่ราคาหุ้นจะลดลงสูงถึง 60% ซึ่งการปรับลดลงนี้เป็นผลมาจากทั้ง XD effect และจะมีพฤติการของการขายทำกำไรระยะสั้น เพื่อสลับไปยังหุ้นอื่น (ที่คาดว่าจะ outperform กว่า) ซึ่งพบว่าการปรับฐานของหุ้นหลัง XD น่าจะกินเวลา 1-2 สัปดาห์ (แต่หากไม่ขาย และถือต่อไป 1.5 เดือน จะมีโอกาสราว 60% ที่หุ้นปันผลสูงจะฟื้นกลับขึ้นมา โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 2.5%)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์